000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > เครื่องเสียงรถยนต์ > บทความเครื่องเสียงรถยนต์ > เล่นลำโพงกี่ทางดี
วันที่ : 08/03/2016
13,190 views

เล่นลำโพงกี่ทางดี

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

          ในยุคแรกสุดของการเล่นเครื่องเสียงเมื่อ 50 ปีมาแล้ว ลำโพงยุคแรกจะใช้ดอกลำโพงแค่ดอกเดียว ขนาดประมาณ 5-8 นิ้ว ในการให้เสียงครบตลอดทุกช่วงความถี่ ตั้งแต่เสียงทุ้ม,เสียงกลาง,เสียงสูง โดยไม่ต้องมีวงจรแบ่งเสียงใดๆเรียกว่า ลำโพงแบบ FULL RANGE

          สาเหตุที่ต้องเป็นเช่นนั้น ก็เนื่องจากยุคนั้น  ภาคขยายเสียงยังเป็นหลอดและมีกำลังขับต่ำมากแค่ 3-5 W ใครมีสัก 15 W/ข้างถือว่าหรูมาก เมื่อภาคขยายกำลังจิ๊บจ๊อย จึงต้องออกแบบดอกลำโพงให้มีความไวสูง 90 dB SPL/w/m ขึ้นไป การไม่ต้องใช้วงจรแบ่งเสียงให้ลำโพง ทำให้ลดการสูญเสียกำลังที่วงจรนี้ลงได้เยอะมาก (วงจรแบ่งความถี่เสียงทั่วๆไปอาจลดความดังลงถึงครึ่งหนึ่ง) เมื่อไม่มีวงจรนี้ ทำให้ภาคขยายขาออกหยุดการสั่นค้างของกรวยลำโพงได้อย่างเด็ดขาดขึ้น (Damping Factor (DF) ) เพราะอย่าลืมว่าเครื่องหลอดต้องมีหม้อแปลงคั่นอยู่ระหว่างหลอดขาออกกับลำโพง ทำให้ความ ต้านทานขาออกของภาคขยายหลอดมีค่าสูง ผลคือค่า DF แย่ลง ปกติเราควรได้ค่า DF ไม่ต่ำกว่า 100 เพื่อให้ทุ้มไม่คราง ช่องไฟระหว่างตัวโน้ตสะอาด เสียงกลางแหลมเปิดโปร่ง แต่เครื่องหลอดให้ค่า DF แค่ 8-16 เท่านั้น (โดยประมาณ) ทำให้ทุ้มคราง เหมือนไปช่วยเพิ่มเนื้อเสียงให้กลาง จึงฟังอวบอิ่ม หวาน และขาดความคมชัดโปร่งทะลุ ทุ้มไม่กระชับ ไม่มีรายละเอียด ผู้ออกแบบดอกลำโพงจึงเลี่ยงไปทำให้ความต้านทานของดอกลำโพงขึ้นไป 16-32 โอห์มหรือทำขอบ กรวยให้ตึงตัวมากๆ เสียงจะกระชับไม่คราง บางครั้งออกแข็งๆ ก็ต้องยิ่งเพิ่มความไวของดอกลำโพงขึ้นไปทะลุ 100 dB SPL/w/m ก็มี แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเสียงทุ้มที่ห้วนแข็ง ขาดทุ้มลึก มีแต่ทุ้มต้น หรือไม่ก็ต้องทำตู้แบบมีช่องอากาศวกวนเป็นปากแตรอยู่ภายในตู้ (transmission Line) ก่อนระบายอากาศสู่ภายนอกเพื่อช่วยยืดทุ้มให้ลงลึกขึ้น หรือทำปากแตรอยู่หน้า ดอกลำโพง ( Horn Type)เพื่อเพิ่มความดัง

          ในยุคนั้น ดอกลำโพง FULL RANGE ทั้งหมด กรวยเป็นกระดาษปั้ม ขอบเป็นลูกฟูกรอน 3-4 วง และให้การตอบ สนองด้านความถี่สูงแย่มาก อย่างเก่งก็ไปได้แค่ 4 KHz  มุมกระจายเสียงก็แย่ ตัวตู้ใหญ่โตมาก ขนาดตู้เย็น 5-10 คิว

          ต่อมามีการทำดอกลำโพงเสียงแหลม ซึ่งก็คือดอก FULL RANGE แต่ลดขนาดลงเหลือเส้นผ่าศูนย์กลางแค่ 2-3 นิ้ว  กรวยกระดาษมีขอบลูกฟูกเหมือนกัน ตั้งใจให้ออกเสียงแหลม (ดอกเล็ก กรวยเล็ก จะตอบสนองฉับไวขึ้น จึงออกเสียงแหลมได้) ทำให้ต้องเพิ่มวงจรแบ่งความถี่เสียง (Crossover Network) แบบ 2 ทางเข้ามาในระบบลำโพง เพื่อแบ่งเสียง แหลมออกดอกแหลม เสียงกลางลงต่ำออกดอก FULL RANGE (หรือดอกกลางทุ้ม) ลำโพงยุคต่อมาจึงสดใสกรุ๊งกริ๊งขึ้น มาก เสียงกลางเปิดโปร่งขึ้น พร้อมๆกับที่ภาคขยายหลอดทำกำลังขับได้สูงขึ้นเป็น 25W/ข้างขึ้นไป ถึงประมาณ 40W/ข้าง (ไม่พูดว่าที่กี่โอห์มเพราะภาคขยายหลอดมีหม้อแปลงขาออก ลำโพงกี่โอห์มมันก็ให้กำลังเท่ากัน โดยเราต้องย้ายขั้วขาออก ของหม้อแปลงตามความต้านทานของลำโพงที่ใช้ด้วย)

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาทุ้มคราง กลางขุ่น เนื่องจาก DF ต่ำก็ยังเป็นยาดำแทรกแถมมากับเครื่องขยายหลอดอยู่ดี(ทั้งแอมป์บ้าน แอมป์รถ) แต่ก็มีภาคขยายบางเครื่องใช้ขาเข้าเป็นวงจรหลอด แต่ขาออกใช้ภาคขยายทรานซิสเตอร์ปัญหา DF ก็หมดไป

          ก้าวเข้าสู่ยุคทรานซิสเตอร์ ผู้ออกแบบลำโพงต้องเปลี่ยนแผนใหม่ กำลังขับไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ภาคขยายที่ใช้ทรานซิสเตอร์สามารถทำกำลังขับได้ตั้งแต่ 50W/ข้างขึ้นไปถึงนับร้อยๆวัตต์ต่อข้างได้ไม่ยาก อีกทั้งการไม่ต้องใช้หม้อแปลงที่ขาออก จึงสามารถออกแบบให้ได้ค่า DF สูงเท่าไรก็ได้ ราคากำลังขับต่อวัตต์ต่ำลงมาก อีกทั้งภาคขยายทรานซิสเตอร์สามารถขยายความถี่เสียงได้เป็นช่วงกว้างมาก ระดับ 20 Hz – 20 KHz ถือเป็นเรื่องขนม บางเครื่องไปได้ถึง 10 Hz (จริงๆคือ 0 Hz แต่ใส่ตัวเก็บประจุคั่นไว้ ป้องกันไฟตรง(DC) ที่อาจรั่วจากเครื่องอื่นที่ป้อนสัญญาณให้มัน) ถึง 100 KHz ก็ยังมี ( ไม่ได้ๆก็ 40 KHz – 70 KHz) ค่า DF ก็สูงถึง 100 บางเครื่องถึง 500 หรือ 1000 ก็ยังมี

          ทั้งหมดนี้ ทำให้ผู้ออกแบบดอกลำโพงมีอิสระมากขึ้น สามารถลดความต้านทานของดอกลำโพงลงเหลือแค่ 4 หรือ 8 โอห์ม เพื่อดึงกำลังขับออกมาจากภาคขยายได้เต็มที่ (ภาคขยายที่ออกแบบดีๆ สามารถให้กำลังขับเป็นเท่าตัวได้ เมื่อดอกลำโพงเขยิบจาก 8 โอห์มเป็น 4 โอห์ม บางเครื่องถึง 2 โอห์มก็ยังขับได้ไม่พัง และอาจได้กำลังขับเป็นอีกเท่าจาก 4 โอห์ม (เช่น 100Wที่ 8 โอห์ม,200W ที่ 4 โอห์ม, 400W ที่ 2 โอห์ม)

          จริงอยู่เมื่อความต้านทานลดลง ความสามารถของภาคขยายในการหยุดการสั่นค้างกรวยลำโพงก็ลดลงตาม แต่ถ้าภาคขยายพวกนี้ถ้าทำค่า DF ไว้สูงๆเผื่อไว้แล้ว เช่น 500 (ที่ 8 โอห์ม 20 Hz) ถ้าจะเหลือ 125 (ที่ 2 โอห์ม 20 Hz)ก็ยังหยุด ลำโพงได้อยู่หมัด

เนื่องจากดอกลำโพงจะให้ค่าความต้านทานแปรผันไปตามความถี่ที่ป้อนให้มันจึงมีโอกาสที่ระบบลำโพงหนึ่ง แม้ระบุว่า 8 โอห์ม แต่บางช่วงความถี่อาจเหลือแค่ 2 โอห์มหรือ 1.5 โอห์มก็ยังมี แต่เมื่อใช้กับแอมป์ค่า DF สูงพอ มีกำลังขับสำรอง สูงพอ (Dynamic Head Room ) ก็ไม่มีปัญหา

          นอกจากการลดค่าความต้านทานของดอกลำโพงลงเป็น 8 หรือ 4 โอห์มแล้ว (ดอกแหลมบางชนิดเช่นแผ่นฟิล์ม อาจเหลือ 2 – 1.5 โอห์ม) ผู้ออกแบบดอก สามารถลดความไว (Sensitivity) ของดอกลงได้เพื่อแลกกับการที่ดอกลำโพง (กลางแหลม หรือ FULL RANGE ) จะสามารถตอบสนองความถี่เสียงได้กว้างขึ้น อาจจะโดยการใช้วัสดุที่ทำขอบกรวย,ตัวกรวย ,วอยซ์คอยล์,แม่เหล็ก,โครงลำโพง ที่ดีขึ้น ปัจจุบันเราจึงได้เห็นลำโพง 6 นิ้วที่ตอบสนองความถี่ได้ 30Hz - 8KHz(-3 dB) โดยไม่จำเป็นต้องทำตู้เบสแบบท่อวกวน (Transmission Line) หรือใช้ตู้ใหญ่ๆด้วย แค่ตู้วางหิ้งก็ทำได้แล้ว แถมเสียงกระ ชับด้วย นั่นหมายความว่า ดอกนี้จะให้เสียงดับเบิ้ลเบสที่รับรู้ได้ชัด เสียงร้องที่ออกตัว “S” ตัว “ส” ได้ชัด เสียงฉิ่งฉับที่ชัดพอเพียงโดยไม่ต้องมีดอกแหลมก็ได้ ถ้าฟังกันแบบไม่พิถีพิถันมากนัก และแน่นอน ไม่ต้องมีวงจรแบ่งเสียงใดๆมาคั่นด้วย ความไวของระบบลำโพงก็จะสูงขึ้นมาก  ค่า DF ก็สูงขึ้น (วงจรแบ่งเสียงทำให้ค่า DF แย่ลง) ตัดปัญหาเสียง,มิติ,ผิดเพี้ยนเนื่องจากวงจรแบ่งเสียง (ต่อให้วงจรดีแค่ไหนก็ตาม) เสียงจึงออกมาอย่างบริสุทธิ์ที่สุด อิสระที่สุด ยังมีนักเล่นเครื่องเสียงประเภทเข้ากระดูกที่นิยมชมชอบการฟังลำโพงบ้านแบบ FULL RANGE ดอกเดียวอย่างนี้ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น,ยุโรป

          มีลำโพงรถ 6 นิ้ว (5.5 นิ้ว) หลายตัวที่เคยฟังผ่านหูซึ่งให้เสียงได้ขนาดนี้จาก FULL RANGE ดอกเดียว (ต่อตรง ) โดยเสียงกลางไม่อู้อี้ขึ้นจมูกด้วย

          อย่างไรก็ตาม ถ้าจะฟังกันแบบจับผิดจริงๆก็ยังจะพบว่ามันยังขาดประกายของปลายแหลม กรุ้งกริ้งยังดูทึบๆห้วนๆไปหน่อย ขาดความสดใสระยิบระยับ เสียงสีไวโอลีนยังขาดเสียงสัมผัสของเส้นสาย เสียงตีกลองยังดูคลุมเครือไม่รู้สึกถึงผิวหน้ากลอง เสียงเกากีตาร์ยังขาดเสียงกรีด,รูด เสียงร้องยังขาดเสียงลมหายใจหรือริมฝีปากหรือเสียงน้ำลายกระเด็น เสียงเคาะสามเหลี่ยม (Triangle) ยังขาดเสียงอณูอากาศแตกตัว พูดง่ายๆว่ายังขาดความคมชัดของ “หัวโน้ต” และลมหายใจของตัวโน้ต (AIRY)

         วิธีแก้ บางครั้งการยกปุ่มเสียงแหลมอาจช่วยได้บ้าง แต่ก็จะพลอยยกเสียงกลางสูงขึ้นมาด้วย เสียงกลางจะแข็งกร้าวขึ้น เสียงร้องอาจก้องขึ้นจมูก อีกวิธีอาจใช้ ปรี EQ มาช่วยยกเฉพาะปลายแหลมสุด แต่ก็น่าเสียดายที่ปรี EQ ติดรถ 99 % ช่วงความถี่สูงจะอยู่ที่ 8 KHz หรือ 10 KHz (ไม่เกิน 12 KHz ) ถึงแม้เป็น PARAMETRIC EQ เลื่อนจุดยกเสียงได้ แต่ก็มักจำกัดแถวๆ 10 KHz  ซึ่งจริงๆเราต้องการยกตั้งแต่ 12 KHz – 20KHz (ปลายแหลมสุด)

          สมมุติว่า เรามี EQ ที่ยกได้ตลอด เราก็จะพบว่าปลายแหลมที่ได้มันไม่สดใส ไม่อิสระ ไม่กระเด็นหลุดเป็นเม็ดๆออกมา  ไม่มีประกาย หรือลมหายใจของตัวโน้ต สักแต่ว่ามีเสียงดัง (ออกด้านๆขาดทรวดทรง,เส้นสาย) ที่เป็นเช่นนี้ เพราะถึงจะยกอย่างไร กรวยของ  FULL RANGE ระดับ 5 – 6 นิ้วมันก็ขยับเข้าออกได้ไม่ฉับไว (พลิ้ว) เท่าดอกเสียงแหลมที่เล็กแค่ 1 – 1.5 นิ้ว (บางดอก 0.5 นิ้ว) เป็นเรื่องของความฉับไว,ความเฉื่อย,เวลา (Timing หรือ Transient) ไม่ใช่เรื่องของระดับเสียง (Level) อย่างเดียว ยิ่งปัจจุบันดอกแหลมได้รับการพัฒนาไปไกลเช่น แบบโดมอลูมิเนียม,ติตาเนียม,แมกนีเซียม,เบอริลเรี่ยม,แผ่นฟิล์ม(Ribbon) ฯลฯ ซึ่งบางดอกให้ความถี่สูงได้ถึง 30 KHz ถึง 120 KHz ก็ยังมี ความฉับไวนั้นดอก 5 – 6 นิ้ว FULL RANGE ไม่มีทางขยับตามได้เลย มุมกระจายเสียงของดอกแหลมก็ดีกว่า ทำให้เสียง,มิติเสียง,เวทีเสียง “หลุด”ตู้หรือตู้ล่องหนได้ดีกว่า FULL RANGE มาก โดยเฉพาะด้านตื้น-ลึก,สูง-ต่ำ

          ขณะเดียวกัน อุปกรณ์ที่ใช้กับวงจรแบ่งเสียงก็มีคุณภาพดีขึ้นมากทั้งด้านไฟฟ้าและการฟังจริงๆ การที่ดอกลำโพง FULL RANGE (กลางทุ้ม)ดีขึ้นทำให้ลดความสลับซับซ้อนของวงจรแบ่งเสียงลงมาได้มาก  จากในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แผงวงจร 1 แผงอาจต้องมีอุปกรณ์แบ่งเสียงและชดเชยเกือบ 20 ตัว  ปัจจุบัน ลำโพงบางคู่ที่มีดอกกลางทุ้ม 1 ดอก,แหลม 1 ดอก อาจใช้แค่ตัวเก็บประจุตัวเดียวตัดออกดอกแหลม หรือมีตัวต้านทานลดความดังแหลมอีกสัก 1 ตัว หรือ บางทีมีขดลวดตัดออกกลางทุ้มอีก 1 ตัว โดยทั่วไปจึงเหลืออุปกรณ์แค่ 1,2,3หรือ 4 ตัวเท่านั้น ทำให้การสูญเสียความดังที่วงจรแบ่งเสียงลดลงได้มาก ความเพี้ยนก็ลดลง ค่า DF ก็ดีขึ้น (ยิ่งวงจรแค่ตัวเก็บประจุตัวเดียวตัดออกดอกแหลม ค่า DF ต่อดอกกลางทุ้มยิ่งดีที่สุด เหมาะกับพวกไม่ใช้เพาเวอร์แอมป์นอก ใช้ภาคขยายในตัววิทยุ-CD ขับตรง เพราะปกติค่า DF ของภาคขยายในตัววิทยุก็ต่ำอยู่แล้ว)

          ด้วยเหตุนี้ ระบบลำโพงเกือบทั้งหมดจึงเริ่มที่ 2 ทาง มีดอกกลางทุ้ม 1 ดอก,แหลม 1 ดอก และวงจรแบ่งเสียงแบบ 2 ทาง โชคดีที่ปัจจุบันดอกกลางทุ้มทำได้ดีมากจนสามารถให้เสียงกลางที่ดีมากพอจนยอมรับได้ ขณะที่ในอดีต เสียงกลาง (เสียงร้อง) จะเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของระบบ 2 ทาง (ถ้าไม่เสียงทึบก็อู้ก้อง หรือ แจ๋นขึ้นจมูก)

          ถึงกระนั้นก็ตาม ถ้าใครเคยฟังลำโพง 2 ทาง ที่ดอกกลางทุ้มเล็กแค่ 4 นิ้ว (วัดจริงจากขอบตัวกรวย ไม่ได้วัดกินไปถึงขอบโครงโลหะลำโพงซึ่งแบบนั้นจะบวกกว่า 5 นิ้ว) กับดอกแหลม และออกแบบมาดีๆจะพบว่าแม้มันจะให้ทุ้มสู้ดอกกลางทุ้มแบบ 6 นิ้วไม่ได้ แต่มันให้เสียงที่เป็นตัวตน หรือ เป็นชิ้นเป็นอัน ที่ดีกว่า เสียงร้องที่เราเห็นภาพปากขยับขมุบขมิบ

เสียงสีไวโอลีนที่ติดตามคันชักได้ตลอด,เสียงเกาสายดับเบิ้ลเบสที่เป็นเส้นสายไล่เรียงใหญ่เล็ก, มิติที่หลุดลอยยิ่งขึ้น ฯลฯ มันอาจไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรนักสำหรับข้อดีเหล่านี้คือ ไม่ได้ถึงขนาดนี้ก็ยังฟังได้ฟังดีมีอารมณ์กับ 6 นิ้ว 2 ทาง แต่เมื่อไรก็ตามที่ใครฟัง 4 นิ้ว 2 ทางจนเคยหู จะพบว่า ข้อดีที่เหนือกว่านี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ถ้าคุณเป็นนักฟังประเภทขุดคุ้ย แหวกชำแหละ ชอบสุดยอดแห่งเวทีเสียง,มิติเสียง แล้วละก็ 4 นิ้ว 2 ทางคือสิ่งที่คุณถามถึง

          อย่างไรก็ตาม ก็ต้องทำใจไว้อย่าง ยังไงๆ 4 นิ้ว 2 ทางก็ให้ทุ้มอิ่มเอิบ ลงลึก มีน้ำหนักสู้ 6 นิ้วไม่ได้ แม้บางคู่อาจออกแบบให้กินวัตต์มากเพื่อทุ้มที่ลงลึกขึ้น ก็จะได้แค่รับรู้ว่ามันมีทุ้มลึกลงได้ แต่จะไม่มีพลัง หรือ การหลุดกระเด็นออกมา (ไม่มี Dynamic) บ้างก็จงใจยกทุ้มโด่งหลอกหูว่า ดอกเล็กแต่ทุ้มเยอะเกินตัว นี่ก็เช่นกันจะเป็นแค่ “เบสโน้ตเดียว” ( One Note Bass ) ไล่สายเบสกี่เส้นๆก็เหมือนเล่นอยู่เส้นเดียว จุดอ่อนอีกข้อคือ ลำโพง 4 นิ้ว 2 ทาง ถ้าออกแบบไม่ดี เสียงกลางจะผอมบาง ขาดเนื้อหนัง,มวล (Harmonics) นักร้องดูผอมลง,หนุ่มสาวขึ้น พวกลำโพงถูกๆจะเป็นแบบนี้ ลำโพงที่จะไม่มีปัญหานี้หรือมีน้อย มักแพงและจริงๆลงทุ้มได้ลึกอยู่แล้ว (แต่ไม่มี Dynamic เท่านั้น)

          สำหรับผู้ที่ต้องการทั้งข้อดีของการใช้ดอกทุ้มกลาง 4 นิ้ว และยังอยากได้ทุ้มดีๆอิ่มๆมีน้ำหนักลงได้ลึก ก็ต้องหันไปเล่นเป็น 3 ทางคือ ดอกทุ้ม 6 นิ้ว,ดอกกลาง 4 นิ้ว,ดอกแหลม 0.5 – 1 นิ้ว วงจรแบ่งความถี่เสียงก็เป็นแบบ 3 ทาง มีข้อควรจำคือ ดอกลำโพงทุ้มกับดอกลำโพงกลาง ควรใช้วัสดุที่เหมือนกันทำกรวย เพื่อให้เสียงกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันมากที่สุด ส่วนดอกแหลมก็ต้องเลือกแนวเสียงที่ไปกันได้กับอีก 2 ดอก ไม่โดดเด่นเกิน อย่าลืมว่าดอกแหลมมีผลต่อคุณภาพเสียงกลางและคุณภาพเสียงทุ้มด้วย!  ไม่ใช่แค่อยู่ส่วนแหลม เพราะอย่าลืมว่า ดอกแหลมมีหน้าที่สร้างหัวโน้ตของทุกความถี่ จะฉับไว จะมีรายละเอียดแค่ไหน (Transient Detail) น่าเสียดายที่ลำโพงหลายๆคู่เข้าใจผิดไปเน้นแต่ดอกกลางทุ้ม ( กรณี 2 ทาง) ให้สวย,ดูดี แต่ลดคุณภาพดอกแหลมลง (เพราะโชว์ความสวยหรูอะไรไม่ได้)

          อีกข้อคือ การออกแบบวงจรแบ่งเสียง 3 ทางให้ได้ดีนั้น ยากมากๆ ยากกว่า 2 ทางเยอะ เพราะจุดแบ่งเสียงทั้ง 2 จะมีผลกระทบกันและกันตลอดเวลา ขยับอันหนึ่งก็กระเทือนอีกอัน น้องๆจับปูใส่กระด้ง นอกจากนั้นการใช้อุปกรณ์บนแผงวงจรมากชิ้นขึ้นก็มีจุดอ่อนมากขึ้น ไหนจะคุณภาพของ ไหนจะค่าทางไฟฟ้าที่ต้องเท่ากันซ้าย-ขวา (Match Pair) ไหนจะสไตล์สุ้มเสียงของแต่ละชิ้นจะกลมกลืนกันได้ไหมหรือขัดกันเอง

          สุดท้ายคือ การติดตั้งแค่ 2 ดอก (ซึ่งดอกแหลมต้องชิดติดกับดอกกลางมากที่สุดเพื่อเป็นจุดกำเนิดเดียวกัน (Point Source) ถ้ามีดอกกลางอีกดอกจะเอาที่ตรงไหนติด อาจเลี่ยงโดยเอาดอกกลางติดที่เสาหน้าติดกับดอกแหลม ดอกทุ้มติดที่ประตู (กรณีติดที่ประตูหน้า) ถ้าดอกกลางให้เสียงกินลงต่ำถึง 300 Hz หรือต่ำกว่านั้น ปัญหาเสียงไม่มาจากจุดกำเนิดเดียวกันก็จะไม่หนักหนานัก นอกจากเปิดเบามาก (ดอกทุ้มก็ควรตัดเสียงที่ต่ำๆสัก 100 Hz ลงมา)  การใช้ลำโพง 3 ทางมีข้อดีคือ ดอกทั้ง 3 แยกงานกันทำ ดอกกลางไม่ต้องขยับแรงๆเพื่อออกเสียงทุ้ม มันก็ให้เสียงที่กระจ่างชัด เป็นตัวตนกว่า ก็จะพลอยทำให้เสียงและมิติ,ทรวดทรงชิ้นดนตรี โดยรวมดีขึ้นได้มาก

          สรุป ดีที่สุดคือ ลำโพง 3 ทาง แต่มีข้อแม้ว่าต้องใช้ของดีทั้งหมด จะลดคุณภาพส่วนใดไม่ได้ ผู้ออกแบบจะต้องมือถึงจริงๆ การติดตั้งต้องเข้าใจปัญหาและสถานการณ์ เหนือสิ่งอื่นใดคือ มันราคาถูกไม่ได้ ไม่ยากที่จะทำลำโพง 3 ทางราคาถุกๆ ถ้าเพียงทำให้มันดัง โดยจับแพะชนแกะ ไม่ต้องพูดถึงคุณภาพเสียง,ความน่าฟัง,ความสมจริง,มิติเสียง ลำโพงแบบนี้หาได้ถมถืดแถวบ้านหม้อ เสียงที่ได้ก็ไม่ต่างจาก เสียงขยะ ดีๆนี่เอง

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459