000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > ปกิณกะ > คืนสู่ธรรมชาติ (จริงๆ)
วันที่ : 01/04/2016
6,850 views

คืนสู่ธรรมชาติ (จริงๆ)

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ในงานโตเกียวออดิโอแฟร์ครั้งล่าสุด ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วนี้เองพานาโซนิคออกเครื่องเสียง   สเตอริโอรวมชุดใหม่ล่าสุด ใช้ชื่อว่า ตระกูล L-Compo ซึ่งมาจากคำว่า

          Live การลงตัวทั้งรูปแบบ หุ่น ในชีวิตประจำวัน อย่างกลมกลืน ไม่ฝืนความรู้สึก

          Listen ให้การฟัง สุ้มเสียงที่น่าประทับใจ

          Life การให้ความรู้สึกเข้าถึงธรรมชาติ ชีวิต (L มาจาก 3L นี้เอง)

          รุ่นแรก รุ่นเดียวในตระกูล L นี้คือ SC-LS 10 ต่อไปถ้าตลาดยอมรับก็อาจมีรุ่นอื่นๆตามออกมา   ถ้าสังเกตให้ดี มอง SC-LS 10 นี้แล้วจะนึกถึงอีดยี่ห้อของทางยุโรปไม่ได้ นั่นคือ B&O (แบงก์แอนด์อ๊อฟเซ่น) ที่เลื่องชื่อด้านการออกแบบที่ล้ำสมัยในการใช้งาน แต่กลับใช้ง่ายที่สุด ประกอบกับคุณภาพระดับแนวหน้าเหนือกว่าค่ายญี่ปุ่นมาก รูปทรงก็สุดหรู มีสไตล์แบบคนสมัยใหม่ ไม่มีใครเหมือนจริงๆ ยิ่งมองนานยิ่งชอบ แต่ราคาก็หรูตามจนผวา ชุดลักษณะนี้มาถึงบ้านเราเห็นขายกันร่วมแสนบาท

          จึงมองออกว่าพานาโซนิคออกรุ่น SC-LS 10 มาก็เพื่อมาชนกับ B&O รุ่นนั้นโดยตรงก็มาดูว่าใครจะเหนือกว่าใคร

          ญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่นทำอะไรก็ต้องหวังการผลิตทีละมากๆได้ เรื่องจะมาทำกันแบบอุตสาหกรรมเล็กๆในครอบครัวไม่ค่อยมี จึงไม่แปลกที่เมื่อได้สัมผัสกับ SC-LS 10 แม้จะดูแปลกตาฉีกรูปแบบไปจากสไตล์ชุดคอมโปของญี่ปุ่นด้วยกัน แต่ ก็ยังคงวางหมากไว้เพื่อง่ายต่อการผลิตทีละมากๆได้ เริ่มตั้งแต่การใช้พลาสติกเป็นตัวตู้ทั้งหมด แม้ว่าดูแล้วคงจะลงทุน ไปกับแม่พิมพ์มหาศาล (แต่ก็ใช้พลาสติกเนื้อดี) ขณะที่ของ B&O ใช้โลหะในหลายๆส่วนดูมั่นคงแข็งแรงกว่า ว่าไปแล้ว ของพานาโซนิคออกไปทาง “เลดี้” สะท้อนความรู้สึกที่คนญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญต่อบุรุษมากกว่าสตรี

          ขณะที่ของ B&O “หน้าต่างกระจกใส” ด้านหน้าจะเลื่อนออกไปทางซ้ายและขวา เมื่อเราเอื้อมมือเข้าไปใกล้เพื่อใส่ตลับเทปหรือแผ่นซีดี แต่ของพานาโซนิคผู้ใช้ต้องกดปุ่มเลื่อนบานประตูช่องใส่แผ่นซีดีให้วิ่งขึ้นพร้อมกับลิ้นชักวางแผ่นซีดีจะเลื่อนออกมารอ ผู้ใช้ใส่แผ่น แล้วกดปุ่มเก็บลิ้นชัก พร้อมบานประตูเลื่อนลงมาปิด ส่วนช่องไฟเทปก็เหมือนกัน ผู้ใช้ต้องกดปุ่ม ให้แผงควบคุมการเล่นเทปด้านล่างหน้าแง้มออกมา เป็นช่องใส่ตลับเทปด้านหลังแผงนี้ แล้วกดปุ่มเก็บอีกที

          ลิ้นชักใส่แผ่นซีดี ดูจากรูปเห็นเงาวาว อย่านึกว่าเป็นโลหะ จริงๆเป็นพลาสติกทั้งนั้น ลองเคาะดูก็ไม่ได้แข็งแรงบึกบึนอะไร ส่อให้เห็นว่า พานาโซนิคก็ไม่ได้ตั้งใจให้มันอยู่ในระดับหรูสุด ด้วยราคาขายที่ญี่ปุ่น 115,000 เยน (ประมาณ 28,750 บาท) ก็คงให้ได้แค่นี้

          ขณะที่ B&O เน้นความเรียบง่ายและบริสุทธิ์ของน้ำเสียง ปุ่มยกเสียงทุ้ม แหลม ก็ไม่ได้ตูมตามอะไร แต่ลงทุนแยกระบบขยายแบบ 4 ภาคขยาย (ไบ-แอมป์) โดย 2 ภาคขับเฉพาะเสียงกลางและแหลมซ้ายและขวา จึงไม่แปลกที่ใครก็ตามเมื่อได้ฟัง B&O รุ่นนี้ สิ่งแรกที่รู้สึกได้คือ ความสะอาดเกลี้ยงเกลา และหมดจดของน้ำเสียง ความอิสระของเสียง แม้จะไม่ตูมตามเปิดสนั่นห้องอย่างพวกมินิคอมโปรุ่นเดอะในปัจจุบัน (ซึ่งน้ำเสียงไม่ต้องมาเทียบกับ B&O  เลย มันคนละชั้นกัน)

          แค่ของ SC-LS 10 กลับใช้แค่ภาคขยายสเตอริโอธรรมดาซ้าย-ขวา กำลังขับ 30 วัตต์ +30 วัตต์ (วัดที่ความถี่เสียง 1 KHz ลำโพง 4 โอห์ม) แต่เพิ่มน้ำหนักเสียงทุ้มด้วยลำโพงเสียงทุ้มระบบ D.D. ตัวลำโพงเสียงทุ้มแท้ภายในจะอัดลมดัน กรวยลำโพงเสียงทุ้มเก๊ขนาดที่ใหญ่กว่า (ไม่มีแม่เหล็ก มีแต่กรวยกับโครง) ให้ถ่ายทอดเสียงทุ้มออกสู่ภายนอกอีกที วิธีนี้ช่วยเพิ่มพลังของเสียงทุ้มให้อิ่มแน่นลงลึก โดยไม่ต้องกินกำลังขับมาก เท่าที่ได้ฟังดู ก็ให้เสียงทุ้มได้ไม่เลวแต่จะเอาตูมๆแบบมินิคอมโปบ้านเราประเภท 600 W. PMPO ขึ้นไป อย่างนั้นไม่ได้ (SC-LS 10 ถ้าคิดกำลังขับแบบ PMPO ก็คงอยู่ที่ 500-600W.PMPO เหมือนกัน) คือต้องเข้าใจว่าเป้าหมายตลาดของรุ่นนี้คือให้ “ผู้ดี”ฟังไม่ใช่จิ๊กโก๋ฟัง

          ระบบลำโพงของ SC-LS 10 เป็น 3 ทางเสียงทุ้ม 16 ซม. กลาง 6.5 ซม. สามารถแยกตู้ลำโพงซ้าย-ขวาทั้งสองออกจากตัวเครื่องได้

          นอกจากนั้น ยังมีปุ่ม V.BASS ปรับระดับเสียงต่ำ แต่ไม่มีปรับเสียงแหลม คงเห็นว่าพอเพียงแล้ว หรืออาจจะปรับไปตามการปรับเสียงเบส

          ภาครับวิทยุ รับได้ทั้ง AM/FM สเตอริโอ ตั้งสถานีล่วงหน้าได้ แบบกดกวาดหาคลื่นอิเล็คทรอนิกส์

          ภาคเทประบบออโตรีเวิร์ส เล่นได้กับทุกเนื้อเทป แถมวงจรถอดรหัสเสียง ลดเสียงรบกวน Dolby B (ไม่มี C ) ตั้งเวลาล่วงหน้าในเทปบันทึก หรือเล่นได้เพราะมีนาฬิกาไฟฟ้า และตัวตั้งเวลาภายในมาให้ด้วย เทปบันทึกได้ จะตั้งจังหวะการบันทึกจากแผ่นซีดีในตัวตามโปรแกรมเพลงที่ตั้งไว้ของแผ่นซีดีก็ได้ (EDIT) รวมทั้งรับแหล่งรายการจากภายนอกได้ (AUX) เช่น รับเสียงจากเครื่องเล่นเลเซอร์ดิสก์,เครื่องเล่นวีดีโอเทป,เครื่องรับทีวีภาคซีดี ใช้วงจรถอดสัญญาณดิจิตอลเป็นเสียงแบบ 1 บิท MASH ตั้งรายการฟังได้

          ให้รีโมทไร้สายมาด้วย ซึ่งครอบคลุมครบแทบทุกหน้าที่ (ส่วนล่างเลื่อนลงมาเผยให้เห็นปุ่มควบคุมภายในเพิ่มจากที่มีแค่ 6 ปุ่มด้านบน)

          ถ้าคิดกันในแง่นี้ แม้ว่า SC-LS 10 จะมีรูปแบบที่ฉีกตัวเองออกไปจากตลาดก็คงไม่สร้างความสนใจได้มากพอที่จะ นำมาเล่าสู่กันฟัง

          สิ่งสุดท้ายที่เป็นการ “เปิดศักราช”ใหม่ให้แก่เพื่อนพ้องต่างหาก ที่ทำให้อดนำมาเล่าสู่กันฟังไม่ได้ นั่นคือ ปุ่ม 3 ปุ่มได้แก่ปุ่ม SOUND SCAPE (1) ปุ่ม EFFECT (2) และปุ่ม SOUND MENU (3)

          ปุ่มแรก กดเพื่อเข้าสู่การเลือกต่อไปด้วยปุ่ม SOUND MENU โดยปุ่มหลังนี้จะเป็นตัวเลือก 3 รูปแบบได้แก่

          STREAM (เสียงไหลรินของลำธารกลางเกาะแก่ง)

          FOREST (เสียงขับขานเจื้อยแจ้วของหมู่นกในพงไพร)

          BEACH (เสียงซัดสาดไม่ขาดสายของเกลียวคลื่นสู่หาดทราย)

          เสียงทั้งสามถูกบันทึกมาในระบบสเตอริโอชัดแจ๋ว เข้าใจว่าคงบันทึกลงในหน่วยความจำอิเล็กทรอนิกส์ (IC Memory) และจะวิ่งวนไม่หยุด เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการพักผ่อนสามรูปแบบ

          แม้ว่าจะไม่ได้กดเล่นวิทยุหรือเทปหรือซีดี ก็สามารถเลือกฟังเสียงใดเสียงหนึ่งได้ในสามเสียงนี้โดดๆเป็นการผ่อนคลายกึ่งการเข้าสมาธิหรือใช้เสริมบรรยากาศของการตกแต่งสถานที่ได้อย่างดียิ่ง เช่น สวนจำลองในร่ม การมองดูท้องทะเลจากห้องแอร์โดยไม่ต้องเห็นแต่ภาพ (ของจริง) แต่ไร้เสียงคลื่นอีกต่อไป

          และเมื่อกดปุ่ม EFFECT (2) ก็สามารถให้เสียงบรรยากาศนี้แทรกเข้าไปกับแหล่งรายการที่เราเลือกฟังได้ทันทีไม่ว่า จากซีดี วิทยุหรือเทป (น่าจะรวมทั้งจากภายนอก AUX ด้วย)

          เท่าที่ได้ลองเล่นในงาน พร้อมๆกับจับความรู้สึกว่า การเสริมด้วยเสียง “บรรยากาศ”เหล่านี้เข้าท่าแค่ไหน พบว่าน่าสนใจมากทีเดียวเหมาะมากกับเพลงไลท์มิวสิค ไม่ว่าจะเลือกบรรยากาศไหนในสามบรรยากาศนั้น จริงอยู่ มีแผ่นซีดีบางอัลบั้มที่ทำมาแบบนี้เสร็จคือ ผสมเสียงดนตรีกับเสียงบรรยากาศทั้งสามนั้นแต่เท่าที่ฟังบ่อยๆ ที่มันขัดกับความรู้สึกส่วนตัว (อันเป็นของใครของมัน) บางทีอารมณ์เพลงกับเสียงบรรยากาศมันไม่ค่อยกลมกลืนกันหรือบ่อยๆที่ “ผิดคิว” สู้แบบนี้ที่เราเลือกใส่เองไม่ได้

          เมื่อคิดในแง่ของเสียงบรรยากาศโดดๆโดยตัดเสียงดนตรีออกไป มันดูซื่อและไร้มารยาดี จะมีอะไรเล่าบริสุทธิ์แต่ให้จินตนาการได้โอ่โถง กว้างขวาง ไร้ขอบเขต เท่าเสียงจากธรรมชาติ

          ลองฟังเสียงหยดน้ำจากก๊อกลงสู่พื้นน้ำท่ามกลางความเงียบ มันให้ความกังวานแผ่ซ่าน เปิดโล่งออก เย็นฉ่ำ แต่สงบสุขุม เสียงคลื่นซัดกระทบชายหาดหรือหินผา ดุจเสียงฮึกโหมพันตูแห่งวงดุริยางค์คราโหมกระหน่ำ หรือแผ่วเบาแห่งการจางหายของฟองคลื่น

          เหมือนที่ใครบางคนกระซิบบอกผมว่าเดี๋ยวนี้นักเล่นเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์ ชุดหนึ่งเป็นล้านบาท หรือกว่านั้น ในต่างประเทศบางคนบันทึกเสียงธรรมชาติ แล้วเอามาเปิดฟังที่บ้าน (แน่นอน ด้วยระบบบันทึกดิจิตอลเพื่อคุณภาพสูงสุด ซึ่งเป็นไปได้ที่เหนือกว่าแหล่งรายการที่จะหาได้ทั้งปวง ไม่ว่าจากซีดีเทปทั่วไป วิทยุ แผ่นเสียง แผ่นเลเซอร์ดิสก์)

          ผมเข้าใจแล้วว่า ทำไมจึงมีการทำต้นไม้น้ำไหลขายกัน ซึ่งทำเป็นต้นไม้ใบไม้ด้วยโลหะพร้อมตัวปั้มน้ำไหลวนเวียน ส่งน้ำขึ้นไปตามท่อ (ในลำต้น) ให้ไหลออกทางใบบนสุด แล้วไหลล้นลงสู่ใบต่อๆไป เรื่อยต่ำลงมาจนถึงแอ่งน้ำเบื้องล่างที่กระถาง

          ยิ่งต้นใดให้เสียงน้ำได้ “ไพเราะ” ยิ่งราคาแพง ในที่เงียบๆเช่นห้องนอนของคุณการได้ยินเสียง “แห่งธรรมชาติ” ที่เป็นตัวแทนแห่ง “ความชุ่มฉ่ำ” อย่างบริสุทธิ์ที่สุดโดยตรงๆไร้การบันทึกและเล่นกลับอย่างระบบเครื่องเสียงย่อมคืนสู่สามัญที่สุด เพื่อการเข้าถึงแก่นแห่งวิญญาณของตัวเราเองมากที่สุด

          ตลกดี เริ่มต้นเหมือนจะเชิญชวนให้เล่นเครื่องเสียง แต่ลงท้ายกลับยุให้เลิกเล่นเสียนี่

หมายเหตุ  บทความนี้ลงนิตยสาร TRENDY MAN เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459