000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > ระบบเสียง PA > เครื่องเสียง PA > Psychoacoustic (เรื่องที่วงการ PA คิดไม่ถึง)
วันที่ : 01/04/2016
7,781 views

Psychoacoustic (เรื่องที่วงการ PA คิดไม่ถึง)

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

Psychoacoustic แปลว่าจิตวิทยาทางเสียง เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ทั้งๆที่มันเป็นตัวบอก “ความเป็นมนุษย์” ได้ดีที่สุดอย่างที่ไม่มีเครื่องมือวัดใดๆสามารถจะเทียบเคียงได้ เป็นอะไรที่ลึกซึ้งแทบหาคำอธิบายไม่ได้ มันเป็นผลพวงขององค์ประกอบหลายอย่างมาชุมนุมกันทั้งปริมาณและเวลา

          มีตำราน้อยมากเกี่ยวกับสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม หรือนึกไม่ถึงทั้งวงการเครื่องเสียงบ้าน,เครื่องเสียงรถ,เครื่องเสียงสาธารณะ (Public Address หรือ PA)ยิ่งกับวงการ PA ไม่เคยเห็นใครพูดถึง Psychoacoustic เลยพวกเขามองแต่เครื่องไม้เครื่องมือ แต่ลืมความเป็นมนุษย์ที่พวกเขาต้องการบรรณการ

ปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดจาก Psychoacoustic

  1. ในอดีตยุคที่เราเล่นจานเสียงกัน (LP)  มีความเชื่อว่า วงจรการปรับการตอบสนองความถี่เสียงในภาคขยายหัวเข็มจานเสียง หรือ RIAA ถ้าผิดพลาดไม่เกิน +/- 1Db หูฟังไม่ออก (ในการบันทึกจานเสียง เขาจะกดความถี่ช่วงต่ำๆ ลงขณะเดียวกันก็ยกความถี่ช่วงกลางสูงถึงกลางสูงขึ้น เวลาเล่นกลับก็ต้องทำตรงกันข้ามคือ ยกความถี่ช่วงต่ำขึ้น และกดความถี่ช่วงกลางสูงถึงสูงลง ชดเชยในลักษณะตรงข้ามกันเป๊ะ เป็นกระจกเงาของกันและกัน ก็จะได้ความถี่ตอบสนองราบรื่นตามธรรมชาติ)

    แต่ภายหลังมีการวิจัยทดสอบและพบว่าจริงๆแล้ว “หู” ของเราสามารถแยกความแตกต่างหรือฟังความแตกต่างที่เกินไป หรือลดลงได้อย่างละเอียดถึงระดับ +/- 0.1 dB ทีเดียว เมื่อฟังอยู่นานๆและหลากหลายเพลง
  2. เครื่องเสียง,ระบบเสียง ที่ฟังครั้งแรก (ทันที) พบว่าคุณภาพแตกต่างกันแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ แทบไม่มีนัยสำคัญอะไรเลย แต่เมื่ออยู่กับสิ่งที่ดีกว่าไปนานๆเป็นอาทิตย์ๆขึ้นไป แล้วย้อนกลับมาฟังสิ่งที่แย่กว่า กลับพบว่า มันไม่ใช่แย่กว่าแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ หากแต่แย่กว่า 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว ความรู้สึกนี้ช่วยอธิบายว่า การฟังเครื่องเสียงไฮเอนด์ที่แพงมากกว่าแล้วดีกว่าแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ในเบื้องต้นจนไม่น่าลงทุนขนาดนั้น จริงๆแล้วมันไม่ใช่แค่ 5 เปอร์เซ็นต์
  3. ในการฟังทดสอบเทียบ A กับ B บางครั้งการฟัง A แล้วสลับไปฟัง B อาจแทบฟังไม่ออกถึงความแตกต่างแต่เมื่อ ย้อนกลับมาฟังจาก B ไป A พบว่ามีความแตกต่างที่ฟังออกได้ชัด
  4. เป็นความเข้าใจผิดของช่างเสียง ทั้งในการทำมาสเตอร์ การบันทึก การถ่ายลงแผ่น การปรับระบบเสียงสาธารณะ ระบบเสียงสถานเริงรมย์ ระบบเสียงคอนเสิร์ต ว่าต้องเร่งเสียงดังๆหรือใช้ตัวช่วยยกเสียงที่ค่อยๆให้ดังขึ้นด้วยเกรงว่าเสียงค่อยๆเหล่านี้จะถูกกลบลบหายด้วยเสียงที่ดังกว่า จริงๆแล้วตราบเท่าที่เสียงที่ออกมาเที่ยงตรง สมบูรณ์แบบ ชัดเจนทั้งสุ้มเสียงและมิติเสียงแล้ว จะกลับพบว่าแม้แต่เสียงที่ค่อยๆเหล่านั้นหูของเราก็ยังได้ยิน จับประเด็นได้อยู่ เรียกว่า COCKTAIL EFFECT เทียบได้กับเวลาเราไปงานเลี้ยงคอกเทลที่จอแจแต่เมื่อใครเรียกเราแม้จะเบาหรือ ขณะเราพูดคุยกับเพื่อน แม้ไม่ดัง (ค่อย…เมื่อเทียบกับเสียงจอแจรอบตัว) เราก็ยังฟังได้ชัดเจน

    นั่นคือ ในระบบเสียง PA ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งดังกันจนสนั่นหู หูอื้อแทบร้าว (ปวด) อื้ออึงไปหมดก็ สามารถได้ยินทุกอย่างชัดเจนได้ ขอแต่จูน,ติดตั้งออกมาได้เสียงสมบูรณ์แบบระดับเทพเหล่านั้น (การไม่เร่งดัง สนั่น  ก็ไม่ไปกระตุ้นปัญหาเสียงก้องในห้อง หรือเร่งจนภาคปรี,ภาคขยาย,ลำโพงทำงาน หนักจนเพี้ยน)
  5. ในการแปลการได้ยินของมนุษย์ เราใช้ข้อมูล (ลักษณะของเสียง) ทุกแง่มุมมาประกอบกัน ได้แก่
    5.1 ความถี่เสียงไล่จากทุ้มสุดไปแหลมสุดต้องครบและราบรื่นตลอดไม่เกินไม่ขาด (น้อยที่สุด)
    5.2 หัวโน้ต,หัวคำร้องต้องคมชัด มีรายละเอียดฮาร์โมนิกครบ
    5.3 หัวโน้ต,หัวคำร้องต้องห่อหุ้มเป็นก้อนเดียวกับตัวโน้ต (BODY) หรือตัวคำร้องไม่แยกตัวออกมาเป็นหนึ่งเดียวกัน
    5.4การสวิงเสียงค่อยสุดไปดังสุดต้องไม่เรียงกันอย่างเป็นเส้นตรง ไม่มีการกดการสวิงเสียงหรือยกการสวิงเสียง (COMPRESSED)
    5.5 ทุกเสียงต้องมีทรวดทรงเป็น 3 มิติ (3D)
    5.6 มีช่องไฟ ช่องว่างระหว่างตัวโน้ต (หรือคำร้อง) ไม่ติดกันพรืด
    5.7 ต้องมีช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีในวง โดยปราศจากม่านหมอก ต้องโปร่งทะลุ (TRANSPARENT)
    5.8 ต้องมีความกังวานที่ถูกต้อง ไม่แห้ง
    5.9 ความเพี้ยนต่ำทั้งแบบ THD (TOTAL HARMONIC DISTORTION) และ  IMD (INTERMODULATION DISTORTION....ความถี่ผสม) เพื่อไม่ให้ THD ไปกลบรายละเอียดและเป็นม่านหมอก และ IMD ต่ำเพื่อแยกแยะได้ว่าเสียงไหนเป็นเสียงอะไร ไม่ใช่ฟังแล้วบุคลิกเสียงเหมือนกันไปหมด
    5.10 ทุกเสียงต้องตอบสนองฉับไวอย่างเป็นธรรมชาติ อะไรควรช้า,อ้อยอิ่งก็ต้องช้า อะไรควรเร็วฉับไวก็ต้องเร็ว ไม่ช้าหรือเร็วเหมือนกันไปหมด
    5.11 ทุกเสียงต้องควบแน่น มีน้ำหนัก ไม่ว่าเสียงนั้นจะดัง หรือค่อยแค่ไหน หรือความถี่อะไร
    ถ้าทำได้ครบ 11 ข้อนี้จะพบว่า ระบบเสียงของเราเสียงดัง,ดี,ฟังชัด มีเสน่ห์น่าสนใจ ได้อารมณ์ โดยไม่ต้องเร่งกันจนแสบแก้วหูเลย
  6. ในยุคของเครื่องเสียงต้องมีปุ่มยกทุ้มลึกหรือ LOUDNESS วิศวกรเสียงสมัยนั้นอ้างว่าหูของมนุษย์จะตอบสนอง เสียงต่ำ (เสียงทุ้ม) แย่ลงๆเมื่อเราหรี่โวลลูมลง (เขาวัดกันออกมาเป็นกราฟ เรียก มูนเซนเคิร์ฟ) ซึ่งจริงๆแล้วพวกเขาหลงประเด็นกันหมดเลย ลองไปฟังลำโพงแบบดอกเดียว FULL RANGE ดีๆหรือลำโพงแกนร่วม 2 ทาง (COAXIAL) เราจะพบว่า ถ้าจัดชุดถูกต้อง ลำโพงดีพอ ไม่ว่าเราเร่งวอลลูมหรือหรี่วอลลูม ทุ้ม,กลาง,แหลม ก็จะยังเสมอกัน,ตามกันทัน ทุ้มไม่ได้ตกวูบลงแต่อย่างใด ที่พวกเขาค้นพบเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นแค่ปัญหาของการวางดอกแหลมห่างจากดอกกลางทุ้ม ยิ่งระบบลำโพงในสมัย 40 กว่าปีที่แล้วขึ้นไป ดอกแหลมจะห่างจากดอกทุ้มมาก ทำให้สูญเสียความเป็น “POINT SOURCE” (จุดกำเนิดเสียงร่วมเดียวกัน) เวลาหรี่ค่อยจะรู้สึกว่าแหลม “แหกหนี” จากกลางต่ำและทุ้มมาก แหลมจะเริ่มนำหน้าจึงเหมือนทุ้มลดลง....เป็นปัญหาของระยะห่าง ไม่ใช่หูมนุษย์
  7. ความสงัดเงียบของ “เครื่องเสียง” ของ “ชุดติดตั้ง” โดยต้องปลอดจากเสียงรบกวนใดๆทั้งสิ้นจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในระบบเอง,จากการกวนโดยคลื่นวิทยุความถี่สูงภายนอก (RF) เข้ามาสู่ตัวเครื่อง,ระบบลำโพง ,สาย,ไมโครโฟน เป็นความเข้าใจผิดอย่างมากของการติดตั้งระบบสเตอริโอ,PA ที่คิดแต่ว่ามีเสียงรบกวนออก ลำโพงไม่เป็นไร คนนั่งฟังอยู่ห่างเป็นสิบเมตร คงไม่ได้ยินหรอก หรือคลื่น RF คลื่นจากสายไฟแรงสูง (LF)กวน ไม่มีเสียงจิ๊ดออกมาก็ถือว่า “ไม่มีปัญหา”

    จริงๆแล้วต้องไม่มีเสียงกวนออกมาเลย (ให้ได้ยิน) หรือต้องทำวิถีทางที่จะป้องกันคลื่นกวน (RF, LF แม้หู ไม่ได้ยิน)เพราะวงจรไฟฟ้า “ได้ยิน” และทำงานเป๋ (SATURATE หรืออิ่มตัว,CLIP) ทำให้คุณลักษณะของ เสียงตามข้อ 5 (กลับไปดู) เสียหมด ผลคือ เสียงเหมือนไม่ชัด ไม่ดัง ไม่กระเด็นหลุดออกมา ช่วงโหมหลายชิ้น ฟังอื้ออึง,สับสน,ไม่ได้ศัพท์

    ถ้าเราแก้ปัญหานี้ได้จะพบว่า เราไม่ต้องเร่งดังมากๆ (คล้องจองกับข้อ 5 ) ก็จะยังได้ยิน ฟังชัดแม้จะมีเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมภายนอก
  8. ระบบเสียงควรตอบสนองความถี่ได้กว้างที่สุด (WIDE BANDWIDTH) เท่าที่จะทำได้

    เป็นความเชื่อผิดๆที่พยายามจำกัด ควบคุมการตอบสนองความถี่เสียง เช่น แค่ 50Hz ถึง 18KHz (ไปดูพวกพาว เวอร์แอมป์ PA หรือลำโพง PA ได้เลย) โดยคิดว่าเป็นการปลอดภัยกว่าถ้าจำกัดการตอบสนองนี้ไว้ทำให้ระบบ ทนด้วย

    มันอาจจะถูกอยู่บ้าง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยสุ้มเสียงที่ทึบ,ขุ่น ไม่ทะลุปรุโปร่ง ทุ้มที่ห้วน ขาดบรรยากาศโอบล้อมห่อหุ้ม,เสียงที่ขาดเสน่ห์ ขาดความโรแมนติก ชีวิตชีวา การตอกย้ำ การทิ้งตัวลงพื้นของทุ้ม ขณะเดียวกัน ปลายแหลมที่แห้ง,ห้วน,ด้วน ไม่พลิ้วระยิบระยับ ไม่มีอณูแตกตัวของอากาศรอบๆตัวโน้ต หัวโน้ต (ทุ้ม กลาง แหลม) ที่มนๆทู่ๆคลุมเครือ ไม่คม ไม่ชัด ไม่ฉับไว มีชีวิตชีวา ฟังแล้วเสียงดนตรีที่ต่างกัน,นักร้องต่างคน จะออกมาเสียงคล้ายๆกันไปหมด (เพราะระบบให้ฮาร์โมนิกไม่ครบ)

    พูดง่ายๆว่าเสียงตายซาก ขาดเสน่ห์ ขาดชีวิตชีวา ทำลายการถ่ายทอดความสามารถของนักร้อง,นักดนตรีไปหมด เหมือนคนร้องไม่เป็น,เล่นไม่เป็น

    เรื่องความทน, ความปลอดภัย ควรแก้ด้วยวิธีอื่นมากกว่า เช่น ออกแบบวงจร ดอกลำโพงที่มีคุณภาพดีพอ เผื่อไว้มากพอ (มี SAFETY MARGIN มากพอ)
  9. ใช้ตัวกดการสวิงของเสียงเอาไว้ (COMPRESSOR) เพื่อเร่งได้ดังๆหลอกหูว่า เสียงดัง,มีพลัง (แต่ตื้อ อื้ออึง เจี๊ยวจ๊าวไปหมด หารายละเอียดการแยกแยะอะไรไม่ได้) อีกทั้งป้องกันแอมป์พัง,ลำโพงพัง และเสียงหวีดหอนจากไมโครโฟน
    เป็นเรื่องน่าขยะแขยงทุกข์ทรมาน และน่าเบื่อหน่ายอย่างมาก ที่ต้องทนฟังระบบเสียง PA ที่ใช้การทำงาน แบบนี้
  10. ระบบเสียง PA มักไม่เคารพความเป็น POINT SOURCE  (ทุกเสียงดุจมาจากจุดกำเนิดร่วมเดียวกัน) มักเรียง ลำโพงเป็นสิบๆดอก ทั้งในแนวดิ่ง,แนวนอน, แยกตู้ซับห่างไกลมาก โดยลืมคิดไปว่า สำหรับหูของมนุษย์เสียง ไหนที่มาช้ากว่า จะเหมือนมันดังค่อยกว่าทั้งๆที่เอามิเตอร์วัดระดับเสียงได้ดังเท่ากับส่วนอื่นในระบบ (MASS EFFECT)

    พวกเขาคิดอย่างเดียวว่า สาดเสียงไปให้กว้างไกลที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ให้กว้างที่สุดดุจสาดส่องด้วยไฟสปอร์ตไลท์ พวกเขาเอา “เสียง” ไปเทียบเคียงกับ “แสง” ซึ่งเป็นเรื่องผิดอย่างมหันต์ เขาไม่เข้าใจคำว่า PSYCHOACOUSTIC เลย  ผลคือ พวกเขาได้ทำให้ทุกคนในงานได้ยินเสียงที่ “ห่วย” พอๆกันเหมือนกันไปหมด


    จริงๆแล้ว ถ้าติดตั้งระดับเทพ (ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่สมควรมาดำเนินธุรกิจด้านจัดระบบเสียง) รู้ลึกทุกแง่มุม และทำให้เกิดมิติ เสียงลอยตัว,โฟกัสชัดเจน มีทรวดทรง หลุดกระเด็นออกมาได้ และนิ่งมั่นคง ก็ไม่จำเป็นว่า ใครจะนั่งฟังอยู่ตรงไหนในการชมเพราะ “ทุกคน” จะได้ความรู้สึกเดียวกันดุจว่า มีของจริงมานั่งเล่น มายืนร้อง อยู่ตรงนั้นบนเวที (ไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าเขาแต่ละคน) เวลาเราไปฟังดนตรีแบบอะคูสติก (UN-PLUG ) ไม่มีระบบเสียงช่วยใดๆทำไมเรานั่งตรงไหนก็ดื่มด่ำกับเสียงตำแหน่งที่วงเล่น,ร้องอยู่ได้ ไม่เห็นจำเป็นต้องให้เสียงมาอยู่ตรงต่อหน้าเราเลย...!
  11. EQ (EQUALIZER) เหมือนพระเอกขี่ม้าขาว หรือ HOLY GRAIL หรือจอกทิพย์ของพระเจ้าที่นักจัดระบบ PA ฝากความเป็นความตายเอาไว้ คิดแต่ว่า เสียงมีปัญหาก็เอา EQ แก้กันง่ายๆทั้งๆที่มันไม่ควรใช้ EQ เลยด้วยซ้ำ เพราะเป็นการกระทำที่ผิด เป็นการแก้ปัญหาที่แกว่ง,ไม่อยู่นิ่ง (จากการติดตั้งเน่าๆและอะคูสติกของห้อง,DYNAMIC) ด้วยวิธีการแก้ที่นิ่ง,ตายตัว (STATIC) ของการปรับ EQ แช่ไว้ ซึ่งไม่มีวันแก้ได้จริงแบบเบ็ดเสร็จเลย ถ้าพูดละเอียดได้ยาวอีก 1 บทความ

สรุป

          ในระบบเสียง PA งานแสดง,งานคอนเสิร์ท,งานเปิดตัวสินค้า,งานโชว์ พวกรับจัดทำระบบเสียงหรือรับติดตั้ง ระบบเสียงมักพยายามทำให้ดูว่าใช้อุปกรณ์เพียบ ใช้พนักงานเยอะ แล้วคิดราคาสูงลิบลิ่วให้ดูขลัง ทั้งๆที่ผลงานเสียงออกมา ตั้งแต่พอกล้อมแกล้มจนถึงเลวร้ายถึงขั้นอุบาทว์หูอย่างไม่น่าเชื่อ (เป็นอย่างนั้นจริงๆและบ่อยมากด้วย) พวกเขาวางท่า ท่าดีทีเหลว รู้ไม่จริง ฟังไม่เป็น เก่งแต่การนำเสนอโครงการที่ดูดี เอาสวรรค์วิชาการมาอ้างอิง แต่ผลงานตกนรก น่าสงสารสุดๆที่ทั้งนักร้อง,นักดนตรี,นักแสดง ต้องมาฝากชีวิต คุณค่า อนาคตของตนกับความไร้เดียงสาของวงการ PA ที่มือ (หู) ไม่ถึง….!

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459