000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > เครื่องเสียงรถยนต์ > บทความเครื่องเสียงรถยนต์ > ความจริงของลำโพงกินวัตต์
วันที่ : 26/04/2016
39,640 views

ความจริงของลำโพงกินวัตต์

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

          ระบบลำโพงกินวัตต์ คือ ลำโพงที่ต้องเร่งวอลลูมเสียงมากกว่าปกติ พูดอีกอย่างคือ เป็นระบบลำโพงความไวต่ำ (LOW SENSITIVITY) แล้วเท่าไรจึงถือว่า เป็นลำโพงความไวต่ำ

          โดยทั่วไประบบลำโพงที่ค่าความไวต่ำกว่า 89 dB/w/m (ป้อนด้วยกำลังขับ 1 วัตต์  วัดห่างออกมาตั้งฉากได้ระดับเสียง 89 dB SPL) ควรจะถือว่า มันกินวัตต์แล้ว ความไวที่ต่างกันแค่ 1 dB จะต้องเร่งวอลลูมต่างกันอย่างรับรู้ได้ อย่างมีนัยสำคัญ ถ้าต่างกันแค่ 3 dB  ต้องใช้กำลังขับต่างกันถึง 10 เท่า และความรู้สึกจะเหมือนดังต่างกันเท่าตัว

          การใช้ลำโพงความไวสูง จึงใช้กำลังขับน้อยกว่า เป็นการประหยัดไม่ต้องใช้ภาคขยายกำลังขับสูงๆ   รู้อย่างนี้แล้ว ทำไมยังมีการทำระบบลำโพงความไวต่ำออกมาอีก โชคดีที่ระบบลำโพงรถยนต์ที่ถือว่าความไวต่ำ อย่างแย่ๆก็แค่ประมาณ 86 dB /w/m มักไม่ต่ำกว่านี้ แต่ระบบลำโพงบ้าน กลุ่มที่ความไวต่ำมักอยู่ที่ 85 – 87 d B /w/m  มีเหมือนกันที่ความไวต่ำอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะทำออกมาทำไม คือต่ำถึง 82 dB/w/m เรียกว่า ถ้าภาคขยายต่ำกว่า 200W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม อย่าได้มาแหยมขับมัน

สาเหตุที่มีการทำลำโพงความไวต่ำออกมาก็คือ

  1. ต้องการให้ความถี่ตอบสนองด้านทุ้มลงได้ลึก เช่นลึกถึง 35 Hz ( -3 dB ) จริง (อย่าไปสนใจสเปคลำโพงที่ระบุว่า ความถี่ตอบสนอง  25Hz – 20KHz) เพราะไม่ได้ระบุว่า เสียงตกลงไปกี่ dB ที่ความถี่ต่ำอย่างนั้น เผลอๆ -10dB ที่ 25 Hz ซึ่งไร้สาระ จริงๆอย่างเก่งก็ลงลึกได้แค่ 50 – 60 Hz ที่ -3dB
  2. ปกติระบบลำโพงบ้านที่จะลงความถี่ต่ำได้ลึกๆ จะต้องใช้ตู้ที่มีขนาดใหญ่อย่างก็ต้องลำโพงวางพื้นสูง 1.20 – 1.50 เมตรหน้ากว้างคืบครึ่งขึ้นไป แต่ผู้ออกแบบต้องการให้ตู้มีขนาดไม่ใหญ่ หรือเป็นลำโพงวางหิ้ง ซึ่งปริมาตรตู้ขนาดนี้ ทุ้มลึกจะแย่มาก วิธีที่จะให้ได้ทุ้มลงลึก อย่างน้อยระดับ 60Hz (-3dB ) จะต้องใช้ตู้หน้ากว้าง 9 นิ้ว สูง 1 ศอก ลึกคืบครึ่งถึง 2 คืบ

ความไวของระบบลำโพงอาจอยู่ที่ 89 dB /w/m แต่ถ้าลดขนาดตู้ลงเหลือ 3 ใน 5 เราอาจพบว่าต้องยอมให้ความ ไวลดลงมาเหลือ 85 dB/w/m

  1. ในทางกลับกัน ถ้าเรายอมให้ตู้ลำโพงมีขนาดใหญ่โต เกะกะบ้าง เราอาจทำให้ความไวของมันเพิ่มขึ้นได้ เช่น จาก 89 dB/w/m อาจไปถึง 92 dB/w/m หรือถ้าออกแบบความไวเท่าเดิม มันก็อาจลงความถี่ต่ำได้ลึกขึ้น เช่นจาก 60 Hz (-3dB) ก็อาจลงได้ถึง 25 Hz (-3dB)

การทำระบบลำโพงให้ลงความถี่ได้ต่ำเขาทำกันอย่างไร

          โดยทั่วไป ดอกลำโพงเสียงทุ้มมักมีความไวต่ำกว่าดอกลำโพงเสียงแหลม หรือดอกลำโพงเสียงกลาง บางทีความไวต่างกันได้ถึง 6dB ก็ยังมี เช่น ดอกทุ้มความไว 89 dB/w/m แต่ดอกเสียงกลาง กับ ดอกแหลม ความไว 90 และ 93 dB/w/m ตามลำดับ นั่นก็หมายความว่า ต้องหาตัวต้านทานมาลดสัญญาณที่ป้อนให้ดอกลำโพงเสียงกลาง และ ดอกแหลม เพื่อให้ระดับเสียงออกมาพอๆกับดอกทุ้ม ขณะที่ดอกทุ้มต้องการให้ความถี่ลงได้ลึก ก็ต้องหาตัวต้านทานมาลดระดับมันลงด้วย ความไวของมันจาก 89 dB/w/m อาจต้องเหลือ 87 dB/w/m และต้องปรับความต้านทานที่ลดดอกกลางกับดอกแหลมให้มีค่ามากขึ้นอีก สุดท้ายระบบลำโพงจะมีความไวเหลือแค่ 85 dB/w/m (เผื่อการสูญเสียในขดลวดและต้องเก็บประจุบนแผง วงจรแบ่งความถี่เสียง)

          แต่ถ้าตู้แบบวางพื้นและมีขนาดใหญ่พอ เราก็ไม่ต้องหาตัวต้านทานมาลดระดับที่ดอกทุ้ม ปล่อยความไว 89 d B/w/m ตามที่มันเป็นและลดความไวของดอกกลางกับดอกแหลมลงมา เบ็ดเสร็จแล้ว ก็อาจได้ระบบลำโพงที่มีความไวได้สูงถึง 88 dB/w/m ซึ่งจะกินวัตต์ต่างจากกรณีแรกที่ความไว 85 dB/w/m มาก

นอกจากความไวดอกลำโพงที่เป็นตัวกำหนดความไวระบบลำโพงแล้วยังมีสาเหตุอื่นที่มีผลเช่นกัน คือ

  1. วงจรแบ่งเสียงนั้นสลับซับซ้อนแค่ไหน ได้แก่ กรองความถี่ชันมากน้อยแค่ไหน (กรองกี่ชั้น....ORDER เท่าไร) ถ้ากรองชันไม่มาก (ลาดแบบหาดทรายหรือ ORDER เดียว) สัญญาณก็จะตกลงพอฟังออกแต่ถ้ากรองตัดชันแบบ เหวหรือหน้าผา….2 ORDER หรืออาจถึง 3 ORDER กรอง 3 ชั้น สัญญาณก็จะยิ่งตกจนแตกต่างกันมาก
  2. จุดแบ่งความถี่นั้นถูกต้องหรือไม่ เช่น ตัดเสียงออกดอกแหลมที่ความถี่สูงเกินไป เช่นที่ 2.5 KHz ขณะที่ดอกกลาง ทุ้ม (กรณีลำโพง 2 ทาง) ตัวมันเองให้ความถี่ขึ้นไปได้แค่ 900Hz แล้วก็วูบตกลงทันทีไม่ว่าจะด้วยตัวมันเองหรือตัวมันเองบวกกับวงจรแบ่งเสียงของมันจะเห็นว่า เกิดช่องโหว่ ระหว่างความถี่ 900 Hz  ถึง 2.5 KHz (คือกลางถึงกลางสูง) เวลาฟังจริงเสียงจะจมด้านๆเหมือนไม่หลุด,เข้ม พุ่งลอยออกมาหาเรา เหมือนไม่ดัง เร่งไม่ขึ้น สเปคความไวของระบบลำโพงอาจอาจดูดีเช่น 89 dB/w/m แต่เอาเข้า จริง เหมือนเร่งแล้วไม่ดังเหมือนลำโพงความไว 86 dB/w/m

     กรณีนี้เท่าที่พบจริง เมื่อเลื่อนจุดแบ่งเสียงของดอกแหลมลงมาที่ 1.5 KHz หรือเลื่อนจุดแบ่งเสียงของดอกทุ้มขึ้นไปที่ 1.5 KHz จะพบว่าเสียงทั้งหมดดังขึ้นมาก ช่วงกลางครบสมบูรณ์

บางครั้งผู้ออกแบบไม่สามารถเลื่อนจุดแบ่งเสียงของดอกกลางทุ้มให้สูงกว่า 800 Hz ได้ เพราะถ้าสูงถึง 1.5 KHz  จะเกิดเสียงอู้ก้องจากดอกกลางทุ้มทันที บ่อยๆที่มักแก้ปัญหาง่ายๆโดยเลื่อนจุดแบ่งเสียงของดอกแหลมให้ต่ำลงมาอีกอย่างน่ากลัว ถึงแถวๆ 1.5 KHz ซึ่งถ้าดอกแหลมไม่แน่จริง มันจะรับกำลังขับไม่ไหว จะพังเอาได้ง่ายๆ หรือถ้าไม่พังก็เพี้ยนเยอะ (เสียงแจ๋น,จัด,สากหู) ก็อาจใส่ตัวป้องกันแบบกระเปราะแก้วคล้ายหลอดไฟ หรือตัวป้อง กันแบบ SOLID STATE เข้าไปให้ดอกแหลม ผลคือมิติเสียงแย่ เสียงกลาง,แหลมสับสน หัวโน้ตสับสน

ถ้าจะให้ดีที่สุด ดอกกลางทุ้มควรตอบสนองความถี่ได้สูงถึง 4 KHz ขึ้นไป (บางดอกไปได้ถึง 8 KHz ทีเดียว) เพื่อให้ดอกแหลมทำงานที่ความถี่สูงระดับ 2.5 KHz – 3 KHz ขึ้นไป มันจะทน และความเพี้ยนต่ำ และไม่ต้องมีตัวป้องกันอะไร นี่เป็นกรณีที่ดีที่สุด แต่ผู้นำเข้าก็มักจะยังคงให้โรงงานใส่ตัวป้องกันดอกแหลมมา (SOLID STATE) ซึ่งถ้าเจอเราควรเอาออกเสีย (แล้วก็เชื่อมทางเดินสัญญาณแทน)

  1. ที่ตู้ลำโพง ติดตั้งดอกแหลมห่างจากดอกกลางทุ้มมากเกินไป (น่าจะตั้งแต่ครึ่งคืบขึ้นไป) ทำให้เสียงจากดอกแหลมกับจากดอกกลางทุ้มแตกแถวจากกัน ไม่ประสานความรวมเป็นคลื่นเดียวกัน (POINT SOURCE) ผลคือ เสียงจะ ผอมบาง กลางต่ำหาย ฟังแล้วเหมือนไม่มีน้ำหนักเสียง นักร้องจะหนุ่ม,สาวขึ้น เหมือนใช้แต่คอร้อง ไม่มีเสียงปอดและท้อง มวลเสียงเสีย การสวิงค่อย-ดัง (DYNAMIC RANGE และ DYNAMIC CONTRAST หดตัวลง) ช่วง ดนตรีโหมจะตื้อ ดนตรีหลายๆชิ้นจะมัวไปหมด กลืนจมไปหมด ไม่แยกแยะเป็นชิ้นเป็นอัน เหมือนถอยจม ไม่หลุดลอยกระเด็นออกมา เหมือนความไวลดลง

อาการนี้จะยิ่งเห็นชัด กรณีเครื่องเสียงรถยนต์ที่ร้านติดตั้งชอบนักที่จะให้แยกดอกแหลมหนีห่างดอกกลางทุ้ม เช่น ติดดอกแหลมที่เสา A ด้านหน้า (ข้างกระจกหน้ารถซ้าย-ขวา) หรือเกือบถึงขอบกระจกประตูรถ ห่างจากดอก กลางทุ้มเป็นฟุตหรือร่วมเมตร! (ที่ประตูหน้า) โดยร้าน (ช่าง)อ้างว่าเท้าจะได้ไม่ไปบังดอกแหลม (อ้าว! แล้วดอกกลางทุ้มล่ะ!) แถมอ้างว่า เสียงจะได้ลอยเหนือประตูได้ จริงๆแล้วถ้าติดตั้งอย่างถูกต้องเป็นงานที่สุด แม้ดอกแหลมจะอยู่ชิดติดดอกกลางทุ้ม (ซึ่งเป็นสิ่งควรทำ) เสียงทั้งหมด,เวทีเสียงก็ยังลอยขึ้นมาได้ ถ้ากระจกมองหลัง หรือ เพดานรถด้วยซ้ำไป

ทำไมลำโพงบ้าน ดอกแหลมกับดอกกลางทุ้มก็ติดกัน แต่มิติเสียง,ตำแหน่งชิ้นดนตรี (รวมเสียงแหลม) กลับหลุดลอยออกมานอกตู้ได้เป็นเมตรๆบางเพลงขนาดอยู่เหนือตู้ขึ้นไปเกือบเพดานห้องได้

เรื่องการบดบังจากขาก็เหมือนกัน ถ้าติดถูกต้องจริงๆ ลำโพงดีจริง (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นของแพงจัด) จะพบว่า การบดบังแทบไม่มีผลเสียอะไรเลย เสียงยังหลุดลอยออกมา,ขึ้นมา อยู่ด้านหน้าได้หมด

ร้านติดตั้งให้เราติดดอกแหลมห่างๆ ก้เพื่อให้เสียงผอมบางเหมือนใช้วิทยุไฮเพาเวอร์ตัวเดียวขับไม่พอ ต้องเพิ่มแอมป์นอก นี่คือลูกเล่นหลอกขายของนั่นเอง

การติดดอกแหลมห่างทำให้ต้องเร่งดังๆ เสียงจึงจะมีเนื้อขึ้นมาบ้าง (เอาความอื้ออึงมาเติมช่วงเสียงกลาง) แต่ก็จะจัด แสบแก้วหู เพราะดอกแหลมอยู่ใกล้หูเกินไป เสียงมาถึงก่อนดอกกลางทุ้ม คราวนี้ก็หลอกขายปรี EQ อีก มันส์ร้านเขาล่ะ

  1. ดอกลำโพงเสียงแหลมและดอกลำโพงเสียงกลางทุ้มต่อกลับเฟสกัน มันขยับดันอากาศสวนทิศกัน ผลคือ เสียงจมแบนทั้งคู่ หรือไม่ก็ดอกหนึ่งเสียงพุ่งออกมาดังกลบอีกดอกที่เสียงถอยจมแบนติดจอ เสียงที่จมทำให้เหมือนลำโพงเร่งไม่ขึ้น กินวัตต์ ลำโพงบ้านราคาแพงๆก็พบหลายครั้ง ลำโพงประเภท 3 ทาง – 4 ทาง คู่หนึ่งร่วมล้านกว่าบาทถึง 3 ล้านกว่าบาทก็เจอมาแล้ว ดอกลำโพงแต่ละดอกในตู้เดียวกันต่อกลับเฟสกัน เสียงเหมือนอั้น จมที่บางช่วงความถี่ (กรณี 3 – 4 ทาง) เหมือนเร่งไม่ขึ้น กินวัตต์มากเหลือเกิน
  2. ลำโพงบ้าน การออกแบบระบบเบส (รูระบายอากาศ) ไม่ดี เกิดการหักล้างกันระหว่างเสียงจากหน้าดอกโดยตรงกับเสียงจากรูระบายอากาศซึ่งอยู่ด้านหน้าตู้และใกล้ชิดกับดอกกลางทุ้ม (หรือดอกทุ้ม) จะพบว่าช่วงกลางขึ้นสูงเหมือนดังดีไม่กินวัตต์ แต่ช่วงเสียงกลางต่ำจะเหมือนโหว่,หาย,กลวงๆ ไม่มีมวล,เนื้อหนังขาดน้ำหนักเหมือนเร่งไม่ขึ้น กินวัตต์
  3. ขดลวดที่นำมาพันวอยส์คอยล์ของดอกลำโพง เดินทิศทางสายขดนี้ย้อนทิศหัวท้าย (ไม่ใช่กลับบวก,ลบผิด) ทำให้เสียงลอยออกมาแต่อั้นแบบอยู่ที่ระยะจำกัดหนึ่งมาไม่ถึงเรา เหมือนเร่งไม่ขึ้น คล้ายกินวัตต์ กรณีนี้พบกับดอกลำโพงของลำโพง 6x9, 3 ทาง ก็มี 4 ทางก็มี ลำโพงบ้านเจอบ้างแต่น้อยกว่า อาจเป็นเพราะเป็นลำโพงแยกชิ้น เกือบทั้งหมด
  4. อุปกรณ์อื่นๆ บนแผงวงจรแบ่งเสียงเดินย้อนทิศ ใส่ขาสลับข้าง (แม้จะเป็นแบบไม่มีขั้วก็ตาม) เช่น สายที่พ่วงเชื่อมบนแผง,ตัวต้านทาน,ตัวขดลวด,ตัวเก็บประจุ,และสายลำโพงที่เชื่อมจากขั้วหลังตู้ไปแผง จากแผงไปดอก
  5. หัวตัวยูปลายสายลำโพงภายในตู้ เสียบสลับหน้า-หลัง ถ้าเสียบไม่ถูก (ต้องฟังทดสอบดูอย่างเดียว) เสียงจะเบลอฟุ้ง ไม่โฟกัสและวอกแวก ช่วงโหมจะจมแบน,มั่ว เหมือนเร่งไม่ขึ้น
  6. การกระจุกอุปกรณ์บนแผงวงจร แต่ละตัวใกล้ชิดติดกัน แถมสายก็มาพาดผ่านหรือแตะขดลวด สนามแม่เหล็กจากขดลวดกระจายตัวออกไปป่วนอุปกรณ์อื่นๆหรือ เอาสายลำโพงที่ไปเข้าแต่ละดอกหรือจากขั้วหลังตู้มาแผงวงจร มามัดรวมๆกัน ทั้งหมดนี้ทำให้เสียงอั้น,ตื้อแบบคุ้มดีคุ้มร้าย ถ้ากดหยุดเล่นแผ่นสักพักแล้วขึ้นใหม่ เสียงเหมือนมีพลังดี มีทรวดทรง มีน้ำหนัก โฟกัสดี หลุดกระเด็นลอยออกมาเหมือนดังดีแต่สักพัก (สัก 10 – 15 วินาทีเป็นต้นไป) เสียงจะเริ่มถอยจม,แบน,ฟุ้ง เริ่มไม่เป็นชิ้นเป็นอัน สับสนไปหมด เหมือนพลังลดลง ค่อยลง อื้ออึงมากขึ้น แต่ถ้ากดหยุดชั่วคราว (PAUSE) รอสัก 10 วินาทีกดเล่น (PLAY) แผ่นใหม่ ก็จะกลับมาดีอยู่สักพักก็เป็นอีก

มันเกิดจากการอิ่มตัวของสนามแม่เหล็กจากขดลวดในแผงวงจรไปป่วนตัวอื่นๆหรือ สายลำโพงอิ่มตัวกันเอง

  1. ค่าชิ้นส่วนอุปกรณ์แบ่งเสียงของซ้ายกับขวาไม่เท่ากันเป๊ะ (MATCHED PAIR) หรือต่างกันมากเกินไป หรืออุปกรณ์ซ้าย,ขวา เสียบขาสลับกันด้านหนึ่งถูก เสียงโฟกัส หลุดลอย อีกด้านเสียบสลับขาเสียงถอยแบนจม สายก็เหมือนกัน ด้านหนึ่งย้อน ด้านหนึ่งตามทิศ ทั้งหมดสร้างความสับสนของมิติเสียง,ทรวดทรงเสียง ทำให้มั่ว,วอกแวก,สับสนเหมือนขาดพลัง เร่งไม่ขึ้น

การทำ MATCHED PAIR ค่าอุปกรณ์ซ้าย,ขวา ทิศทางสาย,ขา ซ้าย-ขวา จะช่วยให้เสียงหลุดลอย กระเด็นออก มาจากฉากหลังได้ วางตัวนิ่ง,ชัด เป็นลำดับชั้นในเวทีเสียง เวทีเสียงแผ่ลอยออกมาและโอบมาซ้าย-ขวา ความกังวานหลุดแยกจากเสียงตรงได้ดีขึ้น ทั้งหมดนี้ช่วยให้ฟังเสียง “เสมือน” มันดังขึ้นกว่าการปล่อยมั่วผิดๆถูกๆ ดังกว่าอย่างฟังออกชัด (อาจถึง 2 ขีดของการหมุนวอลลูม เช่น หมุนแค่ 9 นาฬิกา จะเหมือนหมุนถึง 11 นาฬิกา!)

  1. ระบบลำโพงมีความต้านทานสูงเกินไป ปกติลำโพงควรมีความต้านทาน 8 โอห์ม หรือ 4 โอห์ม (โดยเฉลี่ย) แต่ลำโพงบ้านบางคู่มีความต้านทานถึง 16 โอห์ม (32 โอห์มก็มี) เป็นดอกลำโพงรุ่น 40 ปีมาแล้ว อย่างนี้แอมป์ปัจจุบันขับไม่ออก เหมือนเร่งไม่ดังเอาเลย และมีแต่เสียงกลาง
  2. การติดตั้งที่ไม่ถูกต้อง กรณีลำโพงบ้าน ตู้ซ้ายกับขวาต่อสายลำโพงกลับเฟสกัน (ข้างหนึ่ง บวกเข้าบวก/ลบเข้าลบ อีกข้างบวกเข้าลบ/ลบเข้าบวก) ทำให้เสียงจากตู้ซ้ายกับขวาหักล้างกันเอง ยิ่งเร่งยิ่งตื้อเหมือนกินวัตต์มาก
  3. ตู้ลำโพงมีรูรั่ว แรงอัดอากาศภายในกับจากหน้าดอกลำโพงรั่วออกมาหักล้างกันเอง กรณีรถยนต์ ถ้าติดลำโพงที่ประตุหน้าและไม่พยายามปิดรูโหว่ที่โครงเหล็กประตูด้วยแผ่นไม้หรือยางกันสะเทือนหนาๆ อากาศจากหน้าดอกลำโพงกับหลังดอกลำโพงที่กลับทิศกันอยู่ก็จะรั่วผ่านรูโหว่เหล่านี้ หรือผ่านแผงประตูบางๆที่ปะปิดอยู่ออกมาหักล้างกันได้ เสียงจะเหมือนแบน,จม ไม่มีน้ำหนัก ไม่หลุดกระเด็นออกมา โดยเฉพาะที่ความถี่ต่ำถึงกลางต่ำจะสังเกตชัด

กรณีติดดอกลำโพงที่แผงหลังรถก็เหมือนกัน ควรตีแผงไม้ปิดมิดชิดด้านบนและด้านหลังเบาะหลัง เพื่อกันลมรั่วดังกล่าวและไม่ให้ความยวบยาบของหลังเบาะหลังดูดซับพลังงานไปหมด หรือแรงอัดไปมั่วสั่นแผงไม้กระดาษบางๆที่ปิดช่องใส่ยางอะไหล่ที่ภายในกระโปรงหลัง หรือการสั่นของกระโปรงหลัง พวกที่ไม่มั่นคงเหล่านี้จะดูดซับบั่นทอนพลังงานจากดอกลำโพงอย่างมาก ทำให้เสียงค่อยลงมาก ดังดีแต่เสียงกลางสูงและสูงกลายเป็นความไวที่แล้วแต่ว่าเป็นความถี่ไหน (SELECTIVE SENSITIVITY)

  1. ดอกลำโพงที่มีระบบปิดตูดแม่เหล็กด้วยฝาครอบโลหะ ป้องกันสนามแม่เหล็กกระจายไปกวนจอภาพแบบ CRT  (พวกจอ LCD,PLASMA ไม่กลัวกวน) จะอั้นการสวิงของเสียง ยิ่งถ้าดนตรีมากชิ้นยิ่งเห็นผล ทำให้เสียงไม่หลุด ลอยออกมาอย่างอิสระ ฟังแล้วเหมือนตะเบ็งไม่ขึ้น พวกลำโพงบ้านโฮมเธียเตอร์ส่วนใหญ่มาทำนองนี้
  2. การแยกวงจรแบ่งเสียงออกนอกตู้ลำโพง ลดการสั่นกวนทำให้เสียง “หลุดลอยกระเด็น”ออกมาได้ดีขึ้น เหมือนเร่งวอลลูมไม่มากก็ดังดี
  3. ใช้ลำโพงแบบไร้ตู้แต่แผงลำโพงใหญ่ เสียงจากหน้าและหลังดอกลำโพงจะหักล้างกัน ต้องใช้แอมป์วัตต์สูงมากๆมาขับเพื่อดันเสียงออก อ้างว่าให้เสียงราบรื่นดี แต่จริงๆไม่มี DYNAMIC เสียงแบน,อั้น,ตื้อและโคตรกินวัตต์

หมายเหตุ

          เป็นเรื่องน่าสงสารมากที่ผู้ผลิตลำโพงบ้านตู้สำเร็จ บ้านเราที่พยายามยกระดับเป็นไฮเอนด์ เอาแต่เน้นลำโพงวางหิ้งตู้เล็กๆหรือใหญ่กว่ามินิหน่อยเป็น 2 ทาง ดอกกลางทุ้มประมาณ 4 – 5 นิ้ว แล้วก็สร้างจุดขายว่าตู้เล็กแต่ให้เสียงทุ้มดุจลำโพงวางพื้น ซึ่งราคาขายก็ไม่ใช่ถูกๆ ระดับหมื่นกว่าบาทขึ้นไปถึงแสนกว่าบาทก็มี! แต่โทษที ลำโพงพวกนี้ทั้งหมดจะกินวัตต์มาก ความไวมีตั้งแต่ 83 dB /w/m ถึง 85dB/w/m ต้องใช้แอมป์เป็นร้อยๆวัตต์มาขับ

          ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องออกแบบตู้เล็ก,ดอกเล็ก ทั้งๆที่ทำในนี้ ไม่ต้องขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเลให้แพงโดยเปล่าประโยชน์ ทำไมไม่ทำเป็นตู้วางพื้นขนาดเขื่องไปเลย เพราะไม่มีปัญหาการขนส่ง นับเป็นความได้เปรียบลำโพงไฮเอนด์นอกมาก เมื่อตู้ใหญ่และวางพื้นก็ไม่ต้องหาขาตั้งมาวาง (ขาตั้งที่จะเข้ากันได้กับลำโพงแต่ละตู้นั้นหายากยิ่งกว่าหาเมียเสียอีก! แถมขาดีๆก็แพงมากด้วย) ตู้ใหญ่ก็ใช้ดอกใหญ่ได้ก็ได้ทุ้มลงลึก แถมไม่กินวัตต์ หาแอมป์ขับง่าย เปิดได้ดังลั่น ความเพี้ยนต่ำ ไม่ต้องหาดอกเล็กที่ทนวัตต์ได้สูงและแพงจัด ทำให้ใช้ดอกคุณภาพดีที่ไม่ต้องทนวัตต์มาก ราคาก็ไม่แพงมากด้วย นี่เป็นความได้เปรียบลำโพงนอก....แค่นี้คิดกันไม่เป็น

ทำไมลำโพงกินวัตต์มักราคาแพง

          สาเหตุคือ ระบบลำโพงกินวัตต์ มักมาจากผู้ผลิตที่ไม่สามารถทำดอกลำโพงเองได้ หรือไม่มีกำลังพอที่จะจ้างโรงงานทำดอกลำโพง ทำดอกตามสเปคของตนได้ จึงต้องหาดอกเอาจากที่มีการทำขายอยู่แล้ว ซึ่งมักไม่ลงตัวกับดอกอื่นได้ ไม่ว่าเรื่องความไว,เรื่องการตอบสนองความถี่,เรื่องการขยับฉับไว,เรื่องความต้านทาน,มุมกระจายเสียง ทำให้ต้องแก้ไข,ชดเชยด้วยวงจรแบ่งเสียงที่สลับซับซ้อน และใช้ชิ้นส่วนมากๆโดยไม่จำเป็น ซึ่งการแก้ไขแบบนี้ กินทั้งวัตต์ เสียทั้งค่าของ จึงกินวัตต์และแพง (เรากำลังพูดถึงวงจรแบ่งเสียงที่ใช้อุปกรณ์แค่ 4 ชิ้นกับที่ใช้อุปกรณ์เกือบ 30 ชิ้น)

          ชอบพูดกันว่า ลำโพงกินวัตต์ดี เพราะทนวัตต์ได้สูง มันแน่อยู่แล้ว ถ้าลำโพงกินวัตต์มากแต่รับกำลังขับได้ไม่สูง สวิงเสียงหน่อยก็พังแล้ว เร่งดังหน่อยก็พร่า จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่มันต้องรับกำลังขับได้สูง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องดีหรือจำเป็นอย่างนั้น ลำโพงที่กินวัตต์ต่ำ แม้ตัวเลขการรับกำลังขับจะต่ำกว่า แต่ไม่หมายความว่ามันให้เสียงได้ค่อยกว่า หรือได้ไม่ดังเท่าลำโพงกินวัตต์ อย่าลืมว่าการที่มันกินวัตต์ต่ำ เร่งนิดเดียวก็ดังลั่น แน่นอนว่ามันจะให้การสวิงเสียงได้สูง ดังลั่นห้องได้โดยกินกำลังขับแอมป์นิดเดียวเหมือนกัน แล้วมันจะต้องใช้แอมป์กำลังขับสูงๆหรือตัวมันต้องรับกำลังขับสูงๆไปทำไม

          ลำโพงกินวัตต์ ความไว 82 dB/w/m ต้องใช้แอมป์ข้างละ 200W.RMS ขับ ในช่วงสวิงแรงๆอาจต้องใช้แอมป์ถึง 2000W.MAX/ข้าง มาสวิงลำโพงก็ต้องรับกับกำลังขับสวิงได้ขนาด 2000W./ข้าง (PEAK MUSIC)

          ขณะที่ลำโพงความไวสูงเช่น 90 d B/w/m ใช้แอมป์แค่ 60W.RMS/ข้าง มาขับก็ดังลั่น ในช่วงสวิงแรงๆก็ใช้แอมปืแค่ 600W.RMS/ข้าง ลำโพงก็ไม่จำเป็นต้องรับกำลังขับสวิงได้เป็นพันๆวัตต์แค่ 600W/ข้าง (PEAK MUSIC) ก็เหลือเฟือแล้ว

ลำโพงกินวัตต์ กับลำโพงไม่กินวัตต์ใครเสียงดีกว่า

          เราจะมาตัดสินคุณภาพของลำโพงโดยดูจากแค่ความไว (กินวัตต์)ไม่ได้ ต้องดูสเปคตัวอื่นๆทุกตัวประกอบกันด้วย ลำโพงความไวสูงถ้าราคาไม่แพงมักพบว่าเสียงทุ้มจะลงได้ไม่ลึก เสียงกลางจะโด่ง บางครั้งทุ้มอู้ก้อง กลางก็ก้อง

          ลำโพงกินวัตต์   เสียงมักอับทึบ ไม่พุ่งโปร่ง หรือ เสียงเฉื่อย,ช้า ไม่ฉับไว รายละเอียดหยุมหยิมมักดีเฉพาะปลายแหลม

          ลำโพงความไวสูง   เสียงมักสด พุ่ง โปร่ง ฉับไว รายละเอียดหยุมหยิมดีตลอดทุกช่วงความถี่

          ลำโพงกินวัตต์   มักให้มิติเสียงดี อยู่ในร่องในรอย ขณะที่ลำโพงความไวสูงมักให้มิติไม่ดีนัก เสียงแกว่ง

          จะเห็นว่าเอามาเทียบกันโดยดูจากสเปคตัวเดียวไม่ได้   แต่ถ้าทั้งคู่ถูกออกแบบโดยพิถีพิถันที่สุด ด้วยราคาขายที่ค่อนข้างสูง ไม่ถูกนัก คิดทุกแง่มุมของสเปค ต่างกันแค่ความไว อย่างนี้เราจะพบว่า

          ลำโพงกินวัตต์ต่ำ (ความไวสูง) มักให้เสียงที่หลุดลอย ฉับไว เร็ว กระชับ โปร่งทะลุ เปิดเผยกว่า รายละเอียดหยุมหยิม แม้ช่วงค่อยสุดจะดีกว่า การสวิงเสียงจากค่อยสุดไปดังสุดจะกว้างกว่า เสียงตื่นตัวและสดกว่า แน่นอนมันเหนือกว่าลำโพงกินวัตต์แน่ แต่ที่มันเสียเปรียบคือ ราคามักจะพุ่งโลดกว่าลำโพงที่กินวัตต์ในกรณีที่ตู้มีขนาดสูสีกัน เพราะมันต้องใช้ดอกลำโพงที่แม่เหล็กมหึมาคุณภาพสูง วงจรแบ่งเสียงที่ง่ายสุด และทนวัตต์ได้สูงแบบว่าเผื่อไว้มากๆเพื่อการสูญเสียน้อยที่สุด

ระวังตายน้ำตื้นเรื่องลำโพงกินวัตต์

          มีสายสัญญาณเสียง(INTERCONNECT)สายลำโพงที่เน้นหัวโน้ต (LEADING EDGE)ให้คมชัดมากเกินไปจนตัวโน้ต (BODY) ตามไม่ทัน ผลคือ มีแต่ความถี่หลัก (FUNDAMENTAL) แต่ไม่มีความถี่คู่ควบ (HARMONICS) เสียงจึงผอม,บาง ขาดเนื้อหนัง,ขาดมวล พูดง่ายๆว่าถ้าลำโพงของคุณเป็นระบบ 3 ทาง (ทุ้ม,กลาง,แหลม) มันก็เหมือนกลางต่ำถึงทุ้มถูกตัดออกไป เสียงที่ไม่มีทุ้ม,กลาง-ต่ำ จะเหมือนไม่ดัง ไม่มีน้ำหนัก (แม้จะมีทุ้มลึก) เร่งวอลลูมเท่าไรเหมือนเร่งไม่ขึ้น (ทำให้หลงคิดว่าลำโพงกินวัตต์ นี่คือ “เรื่องจริง”ที่เกิดขึ้นแล้ว กับสายระดับโลกแพงลิบ กับลำโพงระดับร่วมล้านบาท

ขับไบแอมป์จะเหมือนลำโพงดังขึ้น

          ลำโพงบ้านหรือรถ ถ้าสามารถเล่นไบ-ไวร์ได้ (กรณีลำโพงรถอาจต้องมีการดัดแปลงบ้างที่แผงวงจรแบ่งเสียง) ให้ลองเล่นเป็น “ไบแอมป์” แยกแอมป์ขับลำโพงชุดแหลม 1 ตัว ขับลำโพงชุดทุ้ม 1 ตัว (กรณีรถยนต์ใช้วิทยุไฮเพาเวอร์ ให้ใช้ภาคขยายในตัวชุดหน้าขับลำโพงแหลม ภาคขยายชุดหลังขับลำโพงทุ้ม ปรับ FADER หน้า-หลังไว้กลาง)

          เมื่อขับไบแอมป์ (ไม่ใช่ไบ-ไวร์) ความรู้สึกที่ได้ยิน (เรียกว่า PHSYCHOACOUSTIC) จะเหมือนลำโพงคู่นั้นถูกขับด้วยภาคขยายกำลังขับเท่าตัว เช่น ซีกซ้ายใช้แอมป์ 20W. ขับแหลม/20W. ขับทุ้ม,ซีกขวา 20W. ขับแหลม/20Wขับทุ้ม เท่ากับ 20W+20W = 40W/ข้าง แต่ขับไบแอมป์จะฟังแล้วเหมือนภาคขยายของเราเขยิบกำลังขับเป็น 2 เท่าคือ 40Wx2 = 80W. พูดง่ายๆว่า 4 เท่าของกำลังขับ/ข้างเดิมสุด หรือพูดกลับกัน เหมือนลำโพงมีความไวสูงขึ้น ดังนั้น ถ้าเรามีแอมป์สเตอริโอ 2 ตัว ลำโพงกินวัตต์ ก่อนจะเปลี่ยนแอมป์ใหม่วัตต์สูงๆ ให้ลองเอาแอมป์เก่า 2 ตัวต่อไบแอมป์ ขับดูอาจใช้ได้ไม่ต้องเสียเงินอีก

สรุป

          ก็เป็นอันว่าหมดข้อสงสัยด้วยประการทั้งปวงเกี่ยวกับเรื่องของลำโพงกินวัตต์ ซึ่งจริงๆว่าไปแล้วมันควรหมดยุคไปแล้ว ยิ่งปัจจุบันรณรงค์เรื่องอนุรักษ์พลังงาน ลำโพงความไวสูงยิ่ง เป็นสิ่งจำเป็นและสมควรใช้อย่างยิ่ง เมื่อไรที่คุณฟังลำโพงความไวสูงดีๆแล้วคุณจะกลับไปฟังลำโพงกินวัตต์อีกไม่ได้เลย

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459