000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > อคูสติก มีชัยกว่าครึ่ง
วันที่ : 12/06/2016
8,340 views

อคูสติก มีชัยกว่าครึ่ง

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ลองหลับตานึกถึง นักร้อง,วงดนตรี ร้อง/เล่นกันในห้องที่บุเก็บเสียงจนทึบไปหมด เสียงแห้งผาด,ตาย ไม่มีความสด,สว่าง,กังวานพลิ้ว หรือตรงข้าม พวกเขาร้อง/เล่นกันในห้องที่ปราศจากการซับเสียงเท่าที่ควร เสียงอื้ออึง,ก้องตลบอบอวลไปหมด ฟังไม่ได้ศัพท์,มั่วไปหมด ต่อให้เป็นนักร้องระดับโลก วงระดับชาติ มันก็ไปไม่รอดทั้งสองกรณี

เช่นเดียวกัน ต่อให้เครื่องเสียงชุดนั้นๆจะดีเลิศขนาดไหน แพงลิบลิ่วขนาดไหน ติดตั้งจูนชุดอย่างสุดยอดพิถีพิถันขนาดไหน ถ้าห้องมีปัญหาด้านเสียง (อคูสติก) มันก็ป่วยการ เพราะจะไม่มีวันให้เสียง,มิติเสียงที่ดี สมจริงได้เลย

อคูสติก ของห้องฟังหรือห้องดูหนัง ห้องบันทึกเสียงจึงต้องลงตัว เหมาะสมที่สุด ว่าไปแล้วอย่าแปลกใจที่จะบอกว่าเราควรทุ่มทุนกับห้องมากที่สุด ถ้าจะว่าไปแล้วมากกว่าชุดเครื่องเสียงด้วยซ้ำเช่น มีงบ 500,000 บาท ควรกันไว้ 300,000 – 350,000 บาทสำหรับจัดการกับอคูสติกของห้อง (กรณีมีโครงสร้างหลักของห้องอยู่แล้ว ไม่นับงบส่วนนี้) พูดง่ายๆว่าของบอคูสติกห้องอยู่ประมาณ 60% ของงบรวม

ในอดีตสมัยห้างเซ็นทรัลเปิดอยู่ที่วังบูรพา ชั้นเครื่องเสียงจะมีห้องลองฟังขนาดใหญ่กำแพงโค้งเป็นวงกลมรอบ ในห้องนี้เก็บเสียงใช้ได้เลย ไม่อับทึบ ไม่ก้อง ผมได้มีโอกาสฟังเครื่องเสียงบ่อยในห้องนี้ เมื่อเด็กพนักงานยกจากชั้นวางโชว์นอกห้อง เอามาต่อลองฟังในห้อง (บริการอย่างนี้ไม่มีอีกแล้วในห้าง) เสียงที่ออกมาดูดีน่าฟังไปหมด ขนาดวิทยุกระเป๋าหิ้ว,แบก ลองได้ยกมาฟังในห้องนี้ไม่มีหรอกที่จะขายไม่ได้ จนเด็กให้สมญานามว่า “ห้องขายของหรือห้องเชือด”

สมัยตลาดหุ้นบ้านเราเปิดใหม่ ยุค พณ.ชาติชาย ชุณหะวัน ตลาดหุ้นเฟื่องฟูสุดขีด เพื่อนผมคนหนึ่งเปิดร้านขายเครื่องเสียงรถยนต์ มีห้องลองฟังลำโพงรถที่ติดอยู่ในตู้ลองนับสิบๆคู่ ตั้งแต่ราคาคู่ละ 3-4 พันบาทถึง 3-4 หมื่นบาท ห้องฟังนี้ไม่ได้บุเก็บเสียงอะไรเลย ฝาปูนกับกระจก ผมก็เตือนเขาแล้ว ผลคือฟังลำโพงกี่คู่ๆไม่ว่าราคาถูกแพงแค่ไหนเสียงมันอู้ก้อง สับสน เหมือนๆกันไปหมด จนผู้ซื้อเองก็ยัง “งง” ตัดสินใจไม่ถูก คนแล้วคนเล่าที่มาฟังออกอาการเหมือนกันหมด สุดท้ายแทบขายไม่ได้เลย เปิดอยู่ 3 เดือนก็เลิกไป ประกอบกับเพื่อนคนนี้เอาแต่นั่งฟังวิทยุรายงานหุ้นขึ้น-หุ้นลง ได้กำไรหุ้นทีแสน-สองแสนบาท ใจก็เลยไม่อยู่กับการค้า ดูถูกการขายที่พูดปากแฉะกว่าจะได้กำไรพัน-สองพันบาท

ในยุคเดียวกันนั้น เหตุการณ์เรื่องอคูสติกของห้องฟังก็เกิดกับร้านมิวสิคซาวด์ที่ขายเครื่องเสียงบ้านและทีวีด้วย ผมได้ขออาศัยห้องลองฟังเสียงของเขาในการทดสอบเครื่องเสียงอยู่พักใหญ่ แรกเริ่มห้องฟังออกก้องพอควร ฟังแยกความแตกต่างของอุปกรณ์ยากเอาเรื่อง ทำให้ร้านปิดการขายได้ยาก ลูกค้าฟังแล้วตัดสินใจไม่ได้ สับสน ไม่แน่ใจ จนผมต้องขอร้องให้เฮียโตแกซื้อฟองน้ำเก็บเสียง SONEX ของใช้แล้วจากเพื่อนผมที่เลิกเล่นเครื่องเสียง ได้มาประมาณ 30 แผ่น ก็มาปะ (ด้วยเข็มหมุดปักบนแผ่นชานอ้อยเดิม) ปรากฏว่าเสียง,มิติ คนละเรื่องเลย วันนั้นขายเครื่องเสียงได้ 2-3 ชิ้นทันที คือลูกค้า ฟังแล้ว แยกแยะความแตกต่าง ออกได้ง่าย อีกทั้งห้องก็สงบ ผ่อนคลาย มีสมาธิ สร้างอารมณ์คล้อยตามเพลงได้ง่าย

ในอดีตเมื่อ 30 ปีมาแล้วเช่นกัน ผมเคยไปร่วมออกงานเครื่องเสียงที่เชียงใหม่ของบริษัท สถาบันเครื่องเสียงฯ ห้องฟัง(โชว์) ค่อนข้างเล็กทีเดียวประมาณว่า 3x6 เมตรเท่านั้น เครื่องเสียงคือรีซีฟเวอร์สเตอริโอเคียวซีร่าของญี่ปุ่น ลำโพง B&W,KEF, เสียงออกมาอู้ก้องไปหมด อย่างนี้โชว์เสียงไม่ได้แน่ ดีที่ผมแนะนำให้หอบฟองน้ำเก็บเสียง SONEX ขึ้นไปด้วย ซึ่งก็ช่วย ได้มหาศาล (ไม่พอขาดอีก 3 แผ่นจึงจำต้องวิ่งไปซื้อใยแก้วสีเหลืองเอามาเสริม) เรียกว่า ห้องยี่ห้ออื่นๆแทบฟังกันไม่ได้เลย

อีกครั้งกับบริษัทฯ นี้ที่ขอนแก่น งานโชว์เครื่องเสียงใช้ห้องพักในโรงแรม เป็นลำโพง CELESTION,KLH พอจัดวางลำโพงเสร็จก็ไล่วางฟองน้ำ SONEX เกลี่ยไปทั่วๆเท่าที่จำนวน SONEX จะพอมี จริงๆต้องการมากกว่าอีกเป็นเท่าตัว พอจัดทุกอย่างลงตัว ก็โอเค ดีกว่าตอนฟังแบบไม่มี SONEX (อาจไม่รู้สึกดีขึ้นมากมายนักเพราะวางไปทีละแผ่นๆฟังไป เรื่อยๆ)  แต่พอวันสุดท้ายงานเลิก หยิบ SONEX ออกหมดเพื่อเก็บใส่กล่อง ความเหลือเชื่อก็ปรากฏ เสียงทั้งหมดอู้ก้องไป หมด  เรียกว่าฟังไม่ได้เลย มันต่างกันประมาณว่านรกกับสวรรค์เลย

ครั้งหนึ่ง ผมไปดูงานเทคโนโลยี่ที่ประเทศจีน (น่าจะเป็นที่เซินเจิ้น) มีการแสดงผลของ SONEX  โดยบริษัทฯ ใช้ชุดเครื่องเสียงเดียวกัน ลำโพง 2 คู่ แต่ละคู่อยู่คนละห้องชิดติดกัน ห้องหนึ่งบุด้วย SONEX อีกห้องเป็นห้องเปล่า รูปห้องเหมือนๆกัน พอเดินมายืนฟังห้องที่มี SONEX เสียงก็โอเค ชัดเจน,มีมิติ พอเดินไปยืนฟังห้องติดกันที่ไม่มี SONEX เสียงอื้ออึง สับสน ไม่มีมิติเลย

เมื่อ 30 ปีมาแล้วเช่นกัน ได้มีโอกาสเพื่อนพาไปนั่งฟังเครื่องเสียงของลูกสาวผู้นำเข้าแบตเตอรี่ญี่ปุ่นยี่ห้อดัง ทั้งห้องปะผนังด้วยพรมอัด ปรากฏว่าเสียงอับทึบ แห้ง ไม่มีชีวิตชีวา ไม่น่าฟังเท่าไรเลย ทั้งๆที่ใช้เครื่องเสียงชุดนั้นหลายแสนบาท

เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้วเพื่อนกับผมยกเครื่องเสียงไปฟังกันในห้องอักเสียงของเขาที่มีขนาดพอควรทีเดียว รอบกำแพง 4 ด้านเป็นไม้อัดปะด้วยใยแก้วสีเหลืองห่อด้วยผ้าดิบ ปรากฏว่า เสียงออกมาแห้งอยู่บ้างแต่ไม่แห้งผาดแบบปะพรมอัด เสียงไม่ค่อยมีเนื้อนัก ต้องวอลลูมมากจนเกือบสุด (ใช้เพาเวอร์แอมป์ที่ใช้ในห้องบันทึกเสียงของ YAMAHA  250W RMS/ข้าง ที่ 8 โอห์ม ลำโพง TANNOY ARDEN ดอก CONCENTRIC 12 นิ้ว ความไว 92 dB SPL/W/M ) เรียกว่าห้องดูดเสียงหายเกือบหมด

เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว คุณนิตพินัย บก.นิตยสาร WHAT AV ในเครือเดียวกับ WHAT GROUP ชวนไปฟังชุดโฮมเธียร์เตอร์ ขนาดเขื่องของเพื่อนเขาเป็นห้องขนาดใหญ่น้องๆมินิเธียร์เตอร์เลย จอฉายขนาด 150 นิ้ว เก้าอี้นั่งลดหลั่นแบบอัฒจรรย์ ลำโพง CANTON วางพื้นเป็นเซ็นเตอร์ 1 คู่,หน้า 1 คู่,หลัง 1 คู่ ซับแบบ PASSIVE/1 คู่ JBL 15 นิ้ว 2 ดอก/ตู้ ภาพก็โอเค สุ้มเสียงไม่เลว ผมก็ไปเช็คเฟสลำโพงแต่ละ CH ให้ และแนะนำให้ลองเอาลำโพงเซ็นเตอร์ซึ่งเหมือนคู่หน้า มาวางบน คู่หน้าเอาหัวทิ่มลง (เป็นลักษณะสมมาตรแนวตั้ง) ปรากฏว่ามิติดีขึ้น รายละเอียดดีขึ้น ที่น่าเสียดายก็คือฝาทั้ง 4 ของห้องเป็นระแนงไม้ เซาะร่องแนวตั้งทั้งห้อง ทำให้เสียงอู้ก้องเมื่อสวิงดังๆ โชคดีที่ห้องเขาใหญ่เอาเรื่องไม่อย่างนั้นจะเละไปหมด ผมให้เจ้าของห้องมาชิดแผงไม้ เอาหูแนบแผงห่างคืบหนึ่ง แล้วเขยิบหูห่างออกมาฟุตหนึ่ง ผมถามเขาว่ามันต่างกันไหม เขาว่าไม่ต่างกัน ผมก็บอกว่าแสดงว่าตัวแผงไม้วับเก็บเสียงไม่ได้จริง เป็นแค่ตีเสียงก้องใหญ่ให้เป็น “ฝุ่นเสียงก้อง” เท่านั้น เจ้าของดูท่าทางอึ้ง บอกเฉพาะแผงไม้พวกนี้หมดไปกว่าสามแสนบาท

ครับ ใครก็ได้ช่วยบอกผมทีว่าแผงไม้ซึ่งเป็นของแข็งจะดูดซับเสียงได้อย่างไร เช่นเดียวกับเสี่ยสำเพ็งคนหนึ่งเล่นเครื่องเสียงไฮเอนด์ มีการใช้ EQ 32 ความถี่ของ ALTEC LANCING ฝารอบห้องเขาไปซื้อเศษฟองน้ำเช็ดเท้าที่ปั้มทิ้งเป็นรูปแท่งวงกลมสูง 1 นิ้วเอามาปะไปทั่วห้อง ผมก็ลองยื่นศีรษะไปใกล้ๆกับผนังที่มีฟองน้ำปะห่างๆนั้นก็ไม่รู้สึกว่ามันจะเก็บเสียงอะไรได้ (เสี่ยใช้ EQ แก้เสียงก้อง วัดด้วยไมโครโฟนอย่างดี) ซึ่งผมฟังแล้ว ไม่น่าฟังเอาเสียเลย เสียงแบนๆไร้ทรวดทรง มิติไม่ดี นี่เป็นเหตุการณ์เกือบ 40 ปีมาแล้ว

เคยไปพูดออกรายการวิทยุ FM ในห้องพูดที่ปะรอบห้องด้วยกระดาษรังไข่ (เดี๋ยวนี้ใช้พลาสติกใสใส่ไข่แทน) เสียงก็ไม่ ก้องแต่ก็ด้านๆไม่สงัด ไม่กระชับ (กระดาษรังไข่ที่ทำเป็นหลุมๆไว้ใส่ไข่ ปะแล้วมันจะเกิดการก้องภายในช่องหลุมเป็น เหมือนกลองใบใหญ่)

ยุคเครื่องเสียงรถยนต์เฟื่องหนัก ผมลงไปร้านอู่เจริญประดับยนต์ จังหวัดระนอง คลุกคลีกับคุณนภดล มีกุล เจ้าของร้านที่ติดตั้งเครื่องเสียงรถระดับเทพ หนึ่งในสุดยอดของเมืองไทย ผมลงไปเพราะจะได้มีโอกาสลองความคิดแปลกๆกันเช่น ตีแผงไม้หนาปิดเต็มประตูรถกระบะจนถึงขอบหน้าต่างเลย ก่อนติดตั้งลำโพงบนแผงไม้ (ตอนนั้นใช้ลำโพง DYNAUDIO 6 นิ้วแยกชิ้น 2 ทาง), การเอาเส้นเอ็นผูกแผงวงจรแบ่งเสียง ลำโพงลอยห้อยใต้แผงติดตั้งลำโพงหลังของรถเก๋ง (เวทีเสียงลอยออกมาจากเดิมเป็นเมตรเลย มาถึงกลางรถ) ฯลฯ

วันนั้นได้ลองเอาแผ่นฟองน้ำเก็บเสียง SONEX วางอยู่ระหว่างลำโพงซ้าย,ขวาของแผงหลังรถเก๋ง ปรากฏว่าเสียงชัดเจนขึ้น มาก และหลุดลอยออกมาเป็นเมตรเช่นกัน เรียกว่าเอาออกแล้วไม่อยากฟังเลย

ที่ห้องบันทึกเสียงใหญ่ของสถานี ขสทบ. FM 102 MHz เขาบุทุกผนัง ( 4 ด้าน,เพดาน,พื้นพรมอัด) ด้วยชานอ้อยเจาะรู (อคูสติกบอร์ด) เสียงไม่เลว สงัดพอควร (สู้ SONEX ไม่ได้) แต่เมื่อปรบมือจะเกิดการก้องแถวๆ 800-900 Hz ทุ้มอาจไม่มีปัญหาเพราะลำโพงเล็ก ( 6 นิ้ว 2 ทาง JBL)

ไปงานแสดงเครื่องเสียงของสมาคมฯ เมื่อ 2-3 ปีมาแล้ว ทางบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) ทำห้องดูหนังมาโชว์แผงวัสดซับเสียงที่ออกใหม่ก็ดูกระชับกระทัดรัดดีอยู่ แต่จากเสียงหนัง พอประเมินได้ว่า ที่ความถี่ 1 KHz – 2 KHz น่าจะตกวูบ หายไป ทำให้เสียงขาดประกาย เสียงฟันดาบเหมือนหุ้มดาบด้วยผ้าหนาๆ เสียงกระจกแตกเหมือนกระจกติดฟิล์มหนาแตก ขาดความสด,คม,Impact ปลายแหลมเสียงขาดรายละเอียด หัวโน้ตหรือเสียงผิวหรือ Texture

เคยซื้อฟองน้ำเก็บเสียงยี่ห้อหนึ่งที่ทำในเมืองไทย ดูหน่วยก้านก็เข้าท่าดีอยู่หรอก เอาหูแนบชิด (ห่าง 1 คืบ) ก็รู้สึกว่าเก็บเสียงได้เกลี่ยตลอดทุกช่วงความถี่ได้ไม่เลวเลย ดีกว่าพวกระแนงไม้,ชานอ้อยเจาะรู,ใยแก้ว,ม่าน ก็เลยซื้อมา 4 – 5 ก้อนมาลองดู กะว่าจะเอาวางบนพื้นห้องฟังบริเวณลำโพง (2 ทาง,วางหิ้ง PROAC RESPONSE ONE SC ขาตั้ง TARGET 24 HJ) จะดูว่า ถ้าพื้นเก็บเสียงดีขึ้น (เดิมเป็นพรม)จะเกิดอะไรกับมิติเสียงได้บ้าง

ปรากฏว่า สิ่งเหลือเชื่อเกิดขึ้น เสียงทั้งหมดกลายเป็น “โมโน” เวทีเสียงหุบแคบลง แถมฟังนานๆเหมือนห้องฟังไม่มีอากาศหายใจ จนเมื่อเอาออกหมด (เหลือชิ้นเดียวระหว่างลำโพงซ้าย,ขวาก็ไม่ได้) เวทีเสียงก็กลับมาเปิดโล่งกระจายกว้าง มีตื้น-ลึก ลอยเหมือนเดิม อาการหายใจไม่ออกหายไป สุดท้ายต้องยกทั้ง 5 แผ่นเอาไปวางบริเวณเครื่องปั้มน้ำ ซึ่งเก็บเสียงได้ดีมากทีเดียว

กว่า 30 ปี เพื่อนอีกคนอยู่ลพบุรี (ทำไอศกรีมขาย) ไม่เชื่อผมในครั้งแรก เห็นกระแสแผงระแนงไม้เซาะร่องเก็บเสียงกำลังแรงตอนนั้น (เกือบ 30 ปีมาแล้ว) ไปจ้างช่างไม้มาทำในห้องเสียง (ดูหนัง) ปรากฏว่า เสียงก็ยังก้องๆอยู่เป็นเงาๆ สุดท้ายผมต้องแบกฟองน้ำเก็บเสียง SONEX ลงไป 2 กล่อง ไปตัดเป็นแผ่นบางอัดเข้าตามร่องไม้ที่ทำไว้ นั่นแหละเสียงถึงเป็นผู้เป็น คนได้ ดูหนังแล้วไม่อื้ออึงไปหมด

อีกคนไปหลงคารม “ผู้ที่วางฟอร์มว่าเกจิด้านอคูสติก” (ชื่อเป็นไทยแท้) ออกบูธโชว์ตัวในงานเครื่องเสียง เอาตำราอคูสติกภาษาอังกฤษมาวางโชว์ 2 – 3 เล่ม พูดง่ายๆว่าฟอร์มดี เพื่อนก็หลงคารม จ้างทำระแนงอลูมิเนียมเป็นร่องยาวๆแนวตั้ง (แบบระแนงไม้) แค่สูง 2 เมตร กว้างประมาณ 1.5 + 2.5 + 1.5 เมตร ค่าแผงประมาณ 130,000 บาท ทำไม่เสร็จก็ทิ้งหายไป ต้องเรียก 2 – 3 ครั้งจึงเสร็จ (เพื่อนอยู่ห้องคอนโด) ปรากฏว่าก็อีหรอบเดียวกันแผงระแนงไม้นั้นแหละแต่สงัดกว่า นิ่งกว่า เขาว่ารู้อย่างนี้ใช้ SONEX ไปเลยดีกว่า

มีวัสดุเป็นแผงซับเสียงทำ-ออกแบบโดยคนไทยนี่แหละ ก็ดูดีมีดีไซน์ดีน่าสนใจ ราคาก็ไม่ได้ถูกนัก ผมไปเห็นร้านขายอาหารที่ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่าเขาติดกันก้องบนเพดานของเขา ก็ไม่เห็นจะได้ผลอะไร มันก็ยังก้องเอาเรื่อง ผมลองเดินไปอยู่ใต้บริเวณเพดานที่มีการแปะแผ่นนี้นับร้อยแผ่น เทียบกับด้านหน้า (คนนั่ง) ที่ไม่มีก็แทบไม่รู้สึกต่างอะไร สุดท้ายร้านนี้ย้ายร้านเขยิบถัดมาอีก 2 ร้านก็ไม่เห็นแผ่นซับเสียงเหล่านี้แล้ว

แผ่นยี่ห้อเดียวกันนี้ ไปออกโชว์ในงาน “สถาปนิก (ปี...จำไม่ได้)” ทำเป็นห้องเลย ผมก็เดินไปลอง ก็ไม่ได้ผลอะไร พออยู่ในห้อง (เพดาน + ฝา /แบบโปร่งๆ) กับอยู่นอกห้องไม่ต่างกัน จริงๆผมเป็นคนชาตินิยม อยากเชียร์ของไทย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็คงลำบาก

มีเสี่ยคนหนึ่ง เมื่อ 40 ปีที่แล้ววงการเครื่องเสียงไฮเอนด์ไม่มีใครไม่รู้จักเราเรียกแกว่า เสี่ยกัง (อยู่ฝั่งธนฯ) เล่นลำโพงสูงเกินหัว Infinity IRS ประกอบด้วยตู้ซับ 1 คู่แต่ละตู้สูงถึงเพดานห้อง ดอกซับ 6 ดอกต่อตู้ขับด้วยแอมป์พันวัตต์ในตัว/ตู้ ลำโพงกลางแหลมดอกแผ่นฟิล์ม EM2M,EMIT เป็นสิบๆดอกเรียงแนวตั้ง ตู้สูงเกือบเพดานห้องเช่นกัน ขับด้วยเพาเวอร์แอมป์หลอด (น่าจะเป็นโมโน + โมโน) ของ AUDIO RESEARCH ปรีก็น่าจะเป็นทรานซิสเตอร์ เครื่องเล่นจานเสียง ชุดนี้หลายล้านบาท (เมื่อ 40 ปีที่แล้ว) ห้องฟังใต้ดิน แกสู้อุตส่าห์เอากระเบื้องผนัง,พื้นหินอ่อนจากอิตาลีแท้ๆเข้ามาก็เลยเป็นอันว่าแทบไม่มีวัสดุเก็บซับเสียงในห้องเลยผลคือเสียงก้องโดยเฉพาะเสียงหึ่งความถี่ต่ำ (25 Hz ลงมา) เป็นคลื่นค้าง (Standing Wave ) จากรัมเบิ้ลของเครื่องเล่นจานเสียงผสมกับจากเพลง เหมือนหูเราถูกปิด-เปิด หูซ้ายที,ขวาทีสลับกันตลอดเวลา ฟังนานๆจะอาเจียนเอา (ปัจจุบันแกเสียชีวิตไปนานแล้ว สอบถามน้าชายผมเขาเคยเป็นเพื่อนนักเรียนกัน)

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของประสบการณ์เกี่ยวกับอคูสติกของห้องฟังของผมตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่นับจากดิสโก้เธค,ห้องคาราโอเกะ,ร้านขายผ้า (แถวสำเพ็ง,ในห้าง),ร้านขายพรม/ผ้าม่าน,งานโชว์แสดงเครื่องเสียงทั้งในและนอก,โรงหนัง,โชว์รูม,ห้องแสดงดนตรี,ห้องเล่นดนตรี (ห้องสำเร็จรูปของ YAMAHA ที่ประเทศญี่ปุ่นในงานโชว์) ฯลฯ สรุปฟันธงได้เลยว่า อคูสติกของห้องฟังมีผลอย่างยิ่งยวดคาดไม่ถึงจริงๆ

ดังนั้น ในการจะเลือกใช้วัสดุอะไรมาซับเสียง,ทอนคลื่นค้างในห้อง ต้องเลือกให้ดีๆ และผู้ขายพิสูจน์ได้จริงๆว่ามีผลดี-เลวอย่างไร มีข้อเด่นข้อจำกัดแค่ไหน ควรมีการวัดทดสอบ (แต่ก็ต้องฟังดูเป็นครั้งสุดท้ายเพราะหลายอย่างตัวสเปคบอกเราไม่ได้ เสียงดนตรีไม่ใช่เสียงซ่าแซ่จากการวัดสเปคทดสอบ ต้องดูองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น Dynamic Range ,Texture เสียง,ความสงัด,ความฉ่ำกังวาน,ความฉับไว,ความกระชับของหางเสียง,มิติเสียง (กว้าง/ตื้น-ลึก/สูง-ต่ำ),ความทนทาน (อายุการใช้งาน) ติดไฟหรือไม่ ควันพิษมีไหม บริษัทนำเข้ามีการเก็บสต๊อกอย่างไร (ถ้าเก็บไม่ดีจะบั่นทอนอายุการใช้งานเป็นสิบปีได้ง่ายๆ!) กรุณาอย่าพิจารณาเรื่องราคาถูก-แพงกว่าเพียงอย่างเดียว ของแพงคือของที่ซื้อมาใช้แล้วไม่ได้ผลหรือได้ไม่คุ้มค่า

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459