000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > ลำโพงเสียงหลุดตู้
วันที่ : 19/06/2016
11,943 views

ลำโพงเสียงหลุดตู้

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

เสียงหลุดตู้ คือลำโพงที่ฟังแล้วรู้สึกว่าเสียงไม่ได้ก้องอยู่ในตู้ เสียงทั้งหมดหลุดลอยอยู่นอกตู้ ไม่รู้สึกว่าเสียงพุ่งออกมาจากดอกลำโพงหน้าตู้ หากแต่เสียงทั้งหมดล่องลอยอยู่นอกตู้

เสียงหลุดตู้ที่ถูกต้อง ต้องให้เสียงที่

  1. หลุดตู้ตลอดเวลา ทุกๆช่วงความถี่เสียง (Out of Box)
  2. ลำโพงต้องเสมือน ?ล่องหน? หายไปอย่างสมบูรณ์ (Invisible)
  3. ต้องสามารถบ่งบอก ชี้แสดงตำแหน่งของแต่ละชิ้นดนตรีในวงได้ ไม่ใช่ฟุ้งเลอะเทอะ มั่วหรือแกว่ง,วอกแวกไม่อยู่นิ่ง (Focus,Stable)
  4. ต้องให้ลำดับตื้นลึกของแต่ละตำแหน่งชิ้นดนตรี ไล่จากหน้าไปหลังวงได้ ไม่ใช่ลอยออกมาจากตู้จริง แต่เป็นหน้ากระดานหรือเข้าแถวเรียงหนึ่ง (Depth of Field)
  5. แต่ละชิ้นดนตรีต้องมีทรวดทรง (3D) ดีอยู่ ใหญ่,เล็กแตกต่างกันไป (3D Image)
  6. ขนาดของแต่ละชิ้นดนตรีต้องใหญ่,เล็กสมจริง ไม่บาน,บวม (Scale)

ถ้าลำโพงใดให้ได้ไม่ครบทั้ง 6 ข้อ ไม่ถือว่า ?เสียงหลุดตู้?จริง

ทำอย่างไรจึงจะทำให้ได้ลำโพงเสียงหลุดตู้ได้จริงๆ

  1. ต้องเอียงลำโพง (Toe in) ให้ลำเสียงทุ้ม,กลาง,แหลมครบทั้งหมดและมาตัดกันด้านหน้าเรา ห่างจากจมูกออกไปสักครึ่งเมตร
  2. ต้องเอาหน้ากากลำโพงออกหมด
  3. ถ้าเป็นระบบลำโพงไบ-ไวร์ ก็ต้องเดินสายลำโพง 2 ชุดแยกอิสระ (สายยี่ห้อเดียวกัน,รุ่นเดียวกัน) เข้าขั้วลำโพงแหลม,ขั้วลำโพงทุ้ม (เอาสายเชื่อมออก...อย่าลืมเอาสายเชื่อมออก(ถ้ามี) อย่าให้สายลำโพง 2 ชุดนี้แตะต้องกัน (ได้ที่เดียว ที่ขั้วลำโพงแอมป์)
  4. ต้องฟังทดสอบทิศทางสายลำโพง (สายเสียง,สายไฟAC,สายภาพ,สายดิจิตอล) ว่าต้องตามทิศทางหรือย้อนทิศ (อย่าเชื่อลูกศรที่เขาสกรีนมาบนสายเด็ดขาด)
  5. ห้ามสายลำโพงแตะต้องกับสายไฟเด็ดขาด ยิ่งอยู่ห่างยิ่งดี ให้ห่างมากที่สุด (ครึ่งเมตรขึ้นไป)
  6. อย่าพันทบสายลำโพงแม้จะเหลือยาวเกินไป
  7. ยกสายลำโพงสูงหนีพื้นห้อง (ที่มักสั่นง่าย,มีเหล็กเส้นในพื้นปูน)
  8. ถ้าจะให้ดียกสายลำโพงด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด (ใหม่...เอาออกจากซอง ?สี? (สีมีตะกั่วจะกวน) สัก 1 คืบจากพื้นห้องและทับบนสายอีก 1 คืบ (อย่าลืมสอด 1 รีมกระดาษกั้นสายชุดแหลมกับชุดทุ้มไม่ให้แตะต้องกัน)
  9. ตั้งลำโพงหนีชั้นวาง,หนีฝาห้อง,หนีมุมห้อง ซึ่งจะทำให้เกิดเสียงอู้ก้องได้
  10. พยายามลดความก้องภายในห้องทุกวิถีทาง
  11. ฟังทดสอบทิศทางหัวเสียบที่ปลายสายลำโพงภายในตู้ลำโพงว่าต้องให้หัวเสียบหงายหรือคว่ำ (ไล่ฟังทดสอบแต่ละเส้น/หัว) ถ้าทำได้ตัดหัวออกบัดกรีไปเลย (ระวังดอกแหลมขาดต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทำให้)
  12. แยกสายลำโพงภายในตู้ลำโพงไม่ให้แตะต้องกันหรือแตะต้องตูดแม่เหล็กหรือไปทาบถูกขดลวดบนแผงวงจรแบ่งเสียง
  13. ลำโพงที่บนแผงวงจรมีการใช้ตัวป้องกันดอกลำโพงเช่น ตัว Poly Switch (แบนกลมเล็กๆ) หรือกระเปาะดวงไฟ พวกนี้จะลดความนิ่ง,แน่น,หลุดตู้
  14. ขันดอกลำโพงทั้งซ้าย,ขวาให้แน่นและแน่นพอๆกัน (เท่ากัน) ทั้ง 2 ข้าง
  15. ถ้าตูดแม่เหล็กของดอกลำโพงมีอะไรครอบอยู่ เอาออกได้ให้เอาออก เช่นพวกกระบอกยาง (เอาสวยเท่อย่างเดียว) แม้แต่สติ๊กเกอร์ (สี) ที่ปะที่ตูดแม่เหล็กก็ให้แกะออก
  16. ขั้วรับสายลำโพงของตู้ลำโพงมีผลเอาเรื่องทีเดียว ถ้าใช้ของดีเสียงจะกระหึ่มขึ้นได้มากกว่า 15 % (เสียงค่อยจะ ค่อยลง,เสียงดังก็จะยิ่งดังขึ้น?Dynamic Range กว้างขึ้น) เสียงจะกระเด็น หลุดตู้มากขึ้น
  17. ฟังทดสอบทิศทางสายลำโพงในตู้,ทิศทางชิ้นส่วนอุปกรณ์ (L,C,R) บนแผงวงจรแบ่งเสียง (สำคัญมากที่สุด)
  18. พยายามให้เสียงจากดอกลำโพงทุกดอกเกิดในตำแหน่ง ?หนึ่ง?เดียวกัน (Point Source) ดอกลำโพงทุกๆดอก (ดอกแหลม,ดอกกลาง,ดอกทุ้ม) จึงต้องอยู่ใกล้กันที่สุด
  19. ลำโพงฮอร์นที่ไม่ดีมักให้เสียงที่พุ่ง (พ่น) ออกมา (ถ้าไม่ก้องเพราะปากฮอร์นเอง) นั่นไม่ใช่เสียงที่หลุดตู้จริง เพราะเวลาเสียงค่อย,เสียงดัง อาการพ่นออกมาจะไม่เหมือนกัน (Non Linearity) และไม่มีทรวดทรงเป็นตัวตน (3D) มีแต่ฟุ้งเฟ้อไปหมด (ขอย้ำว่าไม่ใช่ลำโพงฮอร์นจะเป็นแบบนี้ทุกคู่ บางคู่ก็ทำได้ดีแต่มักแพงมากๆ)
  20. ลำโพงที่ตัวตู้หนักเสียงจะนิ่งและหลุดตู้ได้ดี
  21. ตู้ลำโพงยิ่งหน้าแคบ,ลบขอบมุมตู้,ลดการสะท้อนจากตัวตู้ได้ดี เสียงจะยิ่งหลุดตู้

ทั้ง 21 ข้อเป็นวิธีการทำให้เสียงหลุดตู้เท่าๆกับเป็นตัวบ่งชี้ว่าลำโพงที่เรากำลังพิจารณาจะซื้อมาเล่นนั้นมีวี่แววว่าจะให้เสียงหลุดตู้ได้ดีแค่ไหนด้วย

ข้อดีของการฟังเสียงหลุดตู้

  1. ได้บรรยากาศดุจเราอยู่ในหรือจมอยู่ในสนามเสียง ในเหตุการณ์จริง (Holographic)
  2. ช่วยให้การนำฟังเสียงหนังได้อรรถรสขึ้นมาก ถ้าเป็นการฟังแบบ 2CH เซอราวด์จะได้บรรยากาศน้องๆหรือใกล้ เคียงกับการฟังระบบเซอราวด์ 5.1 CH เต็มขั้นเลย หรือถ้าเป็น 5.1 CH จริงๆก็จะได้บรรยากาศที่หล่อหลอมเป็น หนึ่ง เดียวจากลำโพงแต่ละ CH (ร่องเสียง)
  3. จะรู้สึกว่าเสียงทั้งหมดเหมือนดังกว่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้ไม่ต้องเร่งดังให้หนวกหูชาวบ้านหรือเป็นภาระแก่แอมป์และลำโพง ความเพี้ยนจึงต่ำลงและการสวิงเสียงค่อยสุดไปดังสุดกว้างขึ้น กระหึ่มขึ้น
  4. เสียงสดมีชีวิตชีวาขึ้น รายละเอียดดีขึ้น ความกังวานดีขึ้น บ่งบอกสภาพแวดล้อมของห้องแสดงดนตรีได้ชัดเจนขึ้น ช่วงโหมดนตรีหลายชิ้นก็ไม่มั่ว ยังแยกแยะได้ดี

มันไม่ง่ายอย่างที่คิด

อาการเสียงหลุดตู้ได้จริงๆ จะเป็นไปได้องค์ประกอบอื่นๆที่นับเนื่องย้อนกลับจาก ลำโพง ถอยมาสายลำโพง,เพาเวอร์แอมป์,สายสัญญาณ,ปรีแอมป์,สายสัญญาณ,แหล่งรายการ สายไฟ AC ของแต่ละเครื่อง,สายไฟ AC ของห้องเสียง,ของบ้าน ,อะคูสติกของห้อง,การถูกรบกวนจากคลื่นความถี่สูงภายนอก (โทรศัพท์มือถือ,IPAD,PC/โน้ตบุ๊ค,รีโมท, นาฬิกาไฟฟ้า, อุปกรณ์ดิจิตอลอื่นๆ,WIFI/LAN (ภายในห้องฟัง,จากข้างบ้าน) ทั้งหมดล้วนมีผลต่อ ความหลุดตู้ ทั้งสิ้น (อาจถึง50 ? 60 %) จนอาจทำให้นักเล่นหลายๆคนหมดโอกาสที่ได้รับประสบการณ์ของเสียงหลุดตู้และคิดว่า ไม่มีอยู่จริง หรือ มันก็ทำได้แค่ นี้แหละ นักวิจารณ์เพ้อเจ้อไปอย่างนั้นเอง คิดไปเอง?ว่าเข้านั่น

ขออย่าท้อถอยในการปรับปรุง คัดสรรลำโพงที่ เสียงหลุดตู้ ไว้ก่อน อาจยังแสดงออกไม่ได้กับชุดของคุณ (ที่ยังไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว) แต่อย่างน้อยคุณไม่มาอั้น มาหลงประเด็นโดยลำโพงที่เสียงยังไม่หลุดตู้ได้จริง เมื่อคุณเริ่มที่คุณทราบว่ามันให้เสียงหลุดตู้ได้ จากนั้นคุณก็ไล่คลำไปจะจากต้นน้ำมาหามันหรือจากมันย้อนขึ้นไป (แต่อย่างแรกน่าจะง่ายและเห็นชัดกว่า) ค่อยๆแก้ไขไปทีละเปาะ ทีละจุด จนจบแล้วความมหัศจรรย์จะปรากฏแก่คุณ

อย่าหลงทาง

บางคนหลงประเด็น คิดเอาว่าจะใช้ Equalizer (EQ) ไม่ว่าจะเป็นแบบอนาลอคหรือดิจิตอลมาช่วยยกบางความถี่เสียง (ให้ดังขึ้น) ซึ่งจะหลอกหูว่าเหมือนเสียงพุ่งลอยออกมามากขึ้นก็ตีว่าเสียงหลุดตู้ขึ้น ให้ย้อนกลับไปอ่าน อย่างไรที่เสียงหลุดตู้ได้จริง ในช่วงต้นๆของบทความนี้ก็จะข้าใจว่า มันแค่ดึงเสียงมากองอยู่หน้าเรา เป็นหน้ากระดาน ไร้ทรวดทรง (3D) ความตื้นลึกของวงเสีย ชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นในวงจะเหมือนขยับ-เขยิบออกมาหาเรา ทุกครั้งที่ชิ้นดนตรีนั้นๆเล่นมาถึง โน้ต ที่อยู่ในช่วงการยกเสียงโดย EQ พูดง่ายๆมีแต่ความวอกแวก แกว่งไปมาของแต่ละตำแหน่งชิ้นดนตรี (ดูบทความเกี่ยวกับ EQ ในเว็บนี้เพิ่มเติมด้วย)

เสียงสังเคราะห์

บางอัลบั้มบันทึกมาโดยผ่านตัวสร้างสนามเสียง (ทั้งหมดใช้การทำงานในรูปดิจิตอลเรียก DSP ) อุปกรณ์นี้จะทำให้เรา (ผู้บันทึกเสียง) จัดวางแต่ละชิ้นดนตรีไว้ตรงไหนก็ได้ในเวทีเสียง เป็นการจัดลำดับการมาถึงหู ช้า-เร็ว,มุมมาถึงของเสียง นั้นๆ ซึ่งถ้าชุดเครื่องเสียงของเราแน่จริง มันก็ให้บรรยากาศได้อย่างนั้นจริงเช่น ลำโพงคู่เดียวระบบสเตอริโอ 2 CH ธรรมดา แต่ฟังแล้วเสียงปรากฏรอบตัวเราได้ดุจระบบเสียงรอบทิศหรืออาจถึงขั้นเสียงวิ่งวนไปมาอยู่ที่เพดานห้องได้ (แผ่นCD อัลบั้ม RHYTHM BASKET,A TASKET,A TISKET,A CHILD?S ของ Brent Lewis ที่ผมใช้เป็นแผ่นทดสอบอ้างอิงประจำ)

อย่างไรก็ตาม การจูนชุดเครื่องเสียงต้องเป๊ะ ลำโพงต้องเอียง (TOE IN) เป๊ะๆ (เพื่อดึงสัญญาณเสียง L-R,L+R ได้แม่นยำ) ห้องต้องไม่ก้อง,อู้,อื้ออึง

ปรากฏการณ์แบบนี้ทำให้บางคนตีความว่านี่คือเสียงหลุดตู้ ซึ่งจริงๆไม่ใช่ เนื่องจากอาการนี้จะรับรู้ได้กับอัลบั้มบางแผ่นที่บันทึกมาแบบนี้เท่านั้นหรือตอนดูจากเสียงหนังที่บันทึกเซอราวด์มา (ดูแบบ 2CH) โดยเลือกเสียงออกจากเครื่องเล่นแผ่น ภาพไปที่ LT,RT (เอาร่องเสียง 5.1 CH จากแผ่น ผ่านวงจรผสมแบบเล่นเฟสหรือMATRIX DECORDER เป็น 2CH (LT,RT)

โดยจะสังเกตว่า ตำแหน่งนั่งฟังต้องตรงกลางเป๊ะๆ ต้องเอียงลำโพงให้ได้มุมพอดี พ้นไปจากนี้เสียงจะกลับสับสน,วอกแวก

ตรงกันข้าม ลำโพง,ชุดเครื่องเสียงที่เสียงหลุดตู้จริงจะพบว่าลำโพงล่องหนหายไป เราไปนั่งฟังตรงไหนก็ยังรู้สึกว่านักร้อง,นักดนตรีทั้งหมด ก็ยังปักหลักอยู่ตรงนั้น (แถวลำโพง) โดยไม่เอียงมาหาตำแหน่งที่เรานั่งฟัง ไม่ฟุ้ง,วอกแวก,สับสน

สรุป เรื่องเสียงหลุดตู้ เป็นอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่าการทำให้เสียง พ่นออกมาห่างตู้ได้ มันไม่ตื้นเขินหรือง่ายขนาดนั้นและไม่ง่ายเลยที่จะทำได้จริง ทุกองคาพยพของชุดเครื่องเสียง ต้องดีและเที่ยงตรง ทำเสียงหลุดตู้ ได้ทุกๆชิ้น ทุกขั้นตอนอย่างแท้จริงไว้ก่อนจึงจะได้ ผลลัพธ์สุดท้ายที่คู่ควรสมกับราคาคุยว่า เสียงหลุดตู้

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459