000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > เราต้องการ -ซุปเปอร์สเปค- จริงหรือ
วันที่ : 28/06/2016
7,022 views

เราต้องการ “ซุปเปอร์สเปค”จริงหรือ

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ปกติการวัด,ตรวจสอบ,กำหนดมาตรฐานเครื่องเสียง เรามักกำหนดด้วยค่าการวัดทางไฟฟ้าด้วยการป้อนสัญญาณทดสอบและวัดด้วยเครื่องมือ วัดกันอย่างง่ายๆด้วยเครื่องมือธรรมดา จนถึงวัดกันอย่างสลับซับซ้อนด้วยเครื่องมือวัดที่แพงลิบลิ่ว วัดกันในห้องทั่วไปถึงวัดกันในห้องเฉพาะเช่น ห้องไร้เสียงก้องมูลค่าเป็นล้านๆบาท ค่าที่ได้เรียกสเปค (มาจากคำว่า Specification)

การวัดผลทางสเปคใช้ในการตรวจสอบ ควบคุมการผลิต ดูสถานะของอุปกรณ์จนถึงใช้เปรียบเทียบระหว่างอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เหมือนกันในการวิจารณ์ทดสอบของสื่อต่างๆ

การวัดสเปคมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดี คือ เราควบคุมเงื่อนไขการวัดได้ ข้อมูลจะ “นิ่ง” และมาตรฐานด้วยวิธีการเดียวกัน เป็นใครวัดก็ต้องได้ค่าตัวเลขเหมือนกันเสมอถึงอุปกรณ์ชิ้นเดียวกันนั้นเป็นการเปรียบเทียบที่มีตัวตน จับต้องได้ (ชั่ง,ตวง,วัดได้)

ข้อเสีย คือ “เครื่องเสียง” ทำมาให้ “คนฟัง” ไม่ได้ให้ “เครื่องมือวัดฟัง” ขบวนการรับรู้เสียง (เสียงดนตรี) ของมนุษย์มันเป็น 3 มิติ (ใช้หูสองข้าง) ถ้าจะพูดให้ลึกจริงๆต้องพูดว่า 4 มิติ โดยมิติที่ 4 คือเวลา เสียงที่มาเร็วมาช้า การนั่งฟังประเดี๋ยวประด๋าวกับนั่งฟังนานๆล้วนให้ผลลัพธ์แห่ง “ความรู้สึก” ที่ต่างกันซึ่งไม่มีเครื่องมือวัดที่ไหนในโลกบอกได้ลึกซึ้งขนาดนี้ การรับฟังแบบ 3 มิติ กว้าง,ตื้น-ลึก,สูง-ต่ำ ล้วนผนวกกันเข้าเป็น “บรรยากาศ” การรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ การเกิด-ดับของเสียงนั้นๆอย่างทันทีทันใดแค่ไหน ทรวดทรง (มิติ) ของเสียง รายละเอียดแม้ช่วงสลับซับซ้อน การสวิงเสียงจากค่อยสุดแห่งเสียงกระซิบถึงดังสุดแห่งความมันส์ น้ำเสียงที่ต่างๆกันไปของนักร้องแต่ละคน เครื่องดนตรีแต่ละชิ้น แต่ละยี่ห้อ แต่ละเกรด การสอดใส่อารมณ์ของนักร้อง นักดนตรี จังหวะจะโคน ทั้งหมดช่วยเสริมสร้าง “จินตนาการ” แห่งการฟังให้สมจริงมากน้อย สิ่งเหล่านี้ไม่มีเครื่องวัดหรือวิธีการวัดใดในโลกจะแจกแจงออกมาได้หมดจดอย่างเก่งก็เพียงบางเสี้ยวส่วน อย่างผิวเผินด้วยมุมมอง (วัด) ที่จำกัด

จริงๆแล้ว ถ้าจะอาศัยการวัดจริงๆเพื่อสอดรับกับผลของการฟังให้ครบทุกแง่มุม อาจทำได้ แต่ต้องใช้เทคนิคการวัดที่ละเอียดอ่อนหลากหลายแง่มุมกว่าปัจจุบันมากนักจนชาวบ้านไม่มีทางเข้าใจได้ แม้แต่วิศวกรไฟฟ้าอีเล็กโทรนิกส์ก็ยังอาจงงเป็นไก่ตาแตก วัดสเปคลำโพงอย่างเดียวก็อาจเป็นหน้าๆไม่ใช่แค่ไม่ถึง 10 บรรทัด มิต้องพูดถึงภาคขยาย ซึ่งผลการวัดอาจมีนับ 10 หน้า วิธีการวัดเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก 1 เล่ม ซึ่งผู้ที่เชี่ยวชาญจริงๆอาจแค่ดูสเปค (ที่ละเอียดหลากแง่มุมอย่างยิ่ง) ก็พอจะคาดเดาได้ว่าเสียงน่าจะออกมาเป็นอย่างไร น่าฟังมากน้อยแค่ไหน (คนนี้ต้องสามารถเทียบเคียงระหว่างค่าสเปคที่ได้กับประสบการณ์แห่งการรับฟังจริงๆได้ด้วย ไม่ใช่เก่งแต่ทางไฟฟ้าอย่างเดียว)

คิดในแง่นี้แล้วก็คงไม่ต้องมาถกเถียงกันว่า สเปคกับการฟังจริงควรเชื่อด้านไหน ถ้าวัดกันอย่างหยาบๆอย่างปัจจุบัน สเปคไม่สามารถบอกอะไรเราได้มากนักเทียบกับประสบการณ์ฟังจริง แต่ถ้าสเปคนั้นๆถูกวัดอย่างสารพัดแง่มุมจริงๆย่อมช่วยให้เราเห็นภาพที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์นั้นๆได้ชัดขึ้นๆ (ตามการวัดที่หลากมิติขึ้น) เข้าใกล้ประสบการณ์แห่งการรับฟังได้จริงๆแบบนี้ก็เชื่อสเปคได้

แย่หน่อยที่ปัจจุบัน วิศวกรออกแบบเครื่องเสียงมักฟังไม่เก่งจริง หลายๆท่านคิดว่าตัวเอง “บรรลุ” แล้ว แต่จริงๆไม่ใช่ยังได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

เมื่อฟังไม่เก่งจริงไม่สามารถตีบทได้แตกว่าเสียงนั้นๆมีอะไรขาด อะไรเกิน ทำไมทรวดทรงหรือตำแหน่งของนักร้อง,นักดนตรีจึงเป็นอย่างนั้นๆ พวกเขาก็จะไม่รู้ปัญหา เข้าไม่ถึง จึงเป็นไปไม่ได้ว่าพวกเขาจะหาวิธีการแก้ไขนั้นๆได้

ด้วยเหตุนี้เราจึงมักพบแต่เครื่องเสียงที่ดี (Good) แต่ไม่ยิ่งใหญ่ (Great) วัดสเปคได้ดี (Objective) แต่ฟังไม่น่าประทับใจ (Subjective) เข้าทำนองสวยแต่รูปจูบไม่หอม

ในแง่ของการฟังยิ่งน่ากลัวเข้าไปอีก นักฟังหลายๆท่านแม้แต่ระดับโลกก็ยังฟังอย่างเข้าใจผิด นำความรู้สึกที่ต่างกันมาปนเปกันคิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ยังมองไม่ทะลุ ตีบทไม่แตก บ่อยๆที่หลงหรือหลอกตัวเอง สับสนในสิ่งที่ดูเผินๆเหมือนกัน แต่จริงๆไม่ใช่ ลืมคำว่าผลจินตนาการของการฟังหรือ Psychoacoustic ไปหมด เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้ผลการฟังนั้นๆผิดเพี้ยนไปได้ง่ายๆ มิพักใยต้องพูดถึง อารมณ์ในการฟังขณะนั้นๆ (ทะเลาะกับเมียมาก็ฟังได้อย่างหนึ่ง พึ่งถูกหวยมาก็อารมณ์อีกอย่าง)

ผู้เขียนเอง ไม่ได้รังเกียจทั้ง 2 ฝ่ายหรือลำเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตราบเท่าที่ทำทุกอย่างอย่างรู้จริงแทบตลอด ซึ่งว่าไปแล้วท้ายสุดก็กำลังพูดถึงสิ่งเดียวกันนั่นเอง

เอาละ เราก็ได้ทราบที่มาที่ไปของคำว่าสเปคและคู่แฝดกับมันคือ การฟัง เราจะขยายความต่อไปในเรื่องของสเปคคือ ซุปเปอร์สเปค

ซุปเปอร์สเปคคืออะไร

ซุปเปอร์สเปคคือ การขยายขอบเขตของสเปคแต่ละตัวให้กินขอบเขตกว้างขึ้น เช่น ความถี่ตอบสนอง (Frequency Response) ปกติสเปคความถี่อยู่ในช่วง 20Hz – 20 KHz  ซุปเปอร์ก็เป็น 0Hz – 100KHz  การสวิงดังค่อย (Dynamic Range) ปกติสเปคสัก 76 – 80 dB ซุปเปอร์สเปคเป็น 120 dB การแยกสเตอริโอ (Stereo Separation) สเปคปกติ 70 dB ซุปเปอร์สเปค 80 dB ความเพี้ยน ( THD หรือ Total Harmonic Distortion) สเปคปกติ 0.01%  ซุปเปอร์สเปคเป็น 0.001% สัญญาณรบกวน (Signal to Noise Ratio หรือ S/N) สเปคปกติ 79 – 89 dB ซุปเปอร์สเปคเป็น 100 dB กำลังสำรอง (Dynamic Headroom) สเปคปกติ 1.5 dB ซุปเปอร์สเปคเป็นมากว่า 2 dB

โดยทั่วไปสเปคปกติที่ยกตัวอย่างมาถือว่าดีมากแล้ว อยู่ในระดับไฮเอนด์กันเลย แต่ซุปเปอร์สเปคจะล้ำไปกว่านั้นอีก บางสเปคอาจมองว่าไม่ต่างกันมากนักเมื่อดูจาก “ตัวเลข” แต่ในแง่ของการ “ฟังจริงๆ” จะให้ผลเป็นความรู้สึกที่ต่างกันมากทีเดียว

ถ้าเป็นในอดีตซุปเปอร์สเปคเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้,ไร้สาระเกินไป,จะเอาไปทำไม,ฟังไม่ออกหรอก,เอาไว้ให้หมาฟังอะไรประมาณนั้น

ถ้าเป็นเมื่อก่อนซุปเปอร์สเปคทำได้ยากมากหรือไม่ก็แพงระยับจนในแง่ธุรกิจไม่คุ้มเลย แต่ปัจจุบันการพัฒนาด้านเทคโนโลยี่ของอะไหล่อุปกรณ์ของการผลิต ของแหล่งรายการ (เช่น SACD,DVD AUDIO,DOWN LOAD) ทำให้สิ่งนี้ไม่อยู่ไกลเกินเอื้อม ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป

เราจะมาไล่พิจารณาไปทีละตัวว่าความเป็นซุปเปอร์สเปคมันช่วยให้อะไรดีขึ้นได้บ้าง

ความถี่ตอบสนอง (Frequency Response) เมื่อก่อนเราระบุหรือเน้นทำให้ได้แค่ช่วงความถี่ที่หูได้ยินคือ 20Hz – 20KHz (จริงๆแล้วหูคนส่วนมาก ได้ยินแค่ 30Hz – 18KHz มีแต่หูเด็กแรกเกิด เด็กเล็กๆที่ได้ยินกว้างอย่างสเปคนั้น) จนผู้ออกแบบเครื่องเสียงบางค่ายจำกัดช่วงความถี่ใช้งานของภาคขยายไว้แค่ 20Hz – 20 KHz เหนือหรือต่ำกว่านั้นจะถูก “กรอง” ทิ้งอย่างตั้งใจ นัยว่าเพื่อลดการสูญเปล่าเพราะขยายออกไปหูก็ไม่ได้ยินจะเป็นเสียงรบกวนเสียมากกว่า

แต่ปัจจุบันค้นพบว่าเครื่องเสียงยิ่งทำให้ตอบสนองช่วงความถี่ได้กว้างพบว่า ยิ่งทำให้มันทำงานในช่วงความถี่ 20 Hz – 20 KHz ได้สมบูรณ์แบบ (Perfect) ยิ่งขึ้นเท่านั้น มันจะตอบสนองได้ฉับไวขึ้น ฉับพลันขึ้น หัวโน้ตจะคมชัดรายละเอียด หัวโน้ตจะดี เสียงจะสดสมจริงขึ้น ปลายแหลมจะมีประกายมีลมหายใจของตัวโน้ตเหมือนมีการแตกตัวของอณูอากาศ รอบตัวโน้ต(Airy) ขณะที่ยิ่งลงความถี่ได้ต่ำจะยิ่งรู้สึกว่าเสียงอบอุ่นหวานโดยไม่ขุ่น รู้สึกถึงคลื่นอากาศที่โอบล้อมรอบตัวเรา มันเป็น “ความรู้สึก(Feeling)” ไม่ใช่แค่ได้ยิน (Hearing) อีกต่อไป มันสมจริงกว่า

การที่ตอบสนองได้กว้างๆผลพลอยได้คือ ทรวดทรง,มิติเสียง,ตำแหน่งชิ้นดนตรีในเวทีเสียงจะชัดเจน เป็นตัวตน นิ่งยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีแหล่งรายการที่ให้เสียงได้กว้างขนาดนี้แล้วเช่น แผ่นSACD ( 0 Hz – 100 KHz) , DVD-AUDIO ( 10 Hz – 100 KHz) , การDOWN LOAD จากเว็บไซด์ขายเพลงระดับไฮเอนด์ , แผ่นเพลงจาก Blu-ray แม้แต่แผ่น CD ปกติก็เริ่ม “แหกคอก” จากข้อตกลงร่วมกันในสมุดปกแดง (Red Book) เช่นโดยระบุว่าเป็น Blu-Spec CD (สเปคแบบแผ่น Blu-ray หนังที่บันทึกกันเต็มสูบ)

การสวิงดัง-ค่อย (Dynamic Range) ปกติแผ่น CD จะให้สเปคได้ระดับ 80 – 90 dB ซึ่งก็ถือว่าโหดต่อทั้งเครื่องขยายและลำโพงมากพอจนปัจจุบันต้องมีการแอบกดการสวิงในช่วงดังมากๆเอาไว้และดึงช่วงค่อยมากๆให้ดังขึ้น (ลดความกว้างของการสวิงลงเรียก Compressed อย่างเก่งก็น่าจะเหลือแค่ 76 – 80 dB  (CD ทั่วๆไป)) (CD เพลงไทย เพลงแร็ปวัยรุ่นน่าจะเหลือ 60 – 65 dB)

การนำเสนอซุปเปอร์สเปคระดับสูงกว่า 96 d B ผู้เขียนคิดว่าไม่น่าจะมีผลดีอะไร รังแต่จะทำให้ภาคขยาย (ปรี,เพาเวอร์แอมป์) ถูกขับจนยอดคลื่นหัวขาด (Clip) ส่งผลเป็นความเพี้ยนคู่ควบเลขคี่ออกมาที่ทำให้เสียงกระด้าง,กร้าวจัด,แข็ง รายละเอียดตรงที่ Clip จะหายหมด ปลายเสียงห้วนจัดกร้าว ส่วนลำโพงจะถูกขับจนโดมแหลมหรือกรวยลำโพงขยับไปไม่ได้อีกแล้วยอดคลื่นก็จะหัวขาดเช่นกัน ให้ปลายเสียงที่สกปรก,หยาบ,มีเม็ดทราย ไม่เกลี้ยงสะอาดหรือรื่นหู และอาจทำให้วอยส์เบียดได้ง่ายๆ ถ้าเร่งวอลลูมมากหน่อยหรือกำลังขับแอมป์ไม่ถึงส่งผลเป็นฝูงความเพี้ยนคู่ควบออกมาเผาวอยส์คอยล์ทีละรอบๆจนเงียบไปในที่สุด

สรุปง่ายๆคือ ซุปเปอร์สเปคสำหรับ Dynamic Range) เป็นสิ่งที่ไม่น่าสนับสนุน แม้ฟังเผินๆจะเหมือนเสียงสด ตื่นตัวกว่า แต่เสียงจะเป็นอีเล็กโทรนิกส์กว่าและเสี่ยงอย่างที่กล่าวแล้ว (ผู้เขียนจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับพวกเสียง HD ของแผ่น Blu-ray เพราะผู้เล่นต้องเข้าใจและตระหนักให้ดี อีกทั้งมีโอกาสส่งเสียงรบกวนชาวบ้านได้มากขึ้นด้วย ต้องคอยหรี่วอลลูมในช่วงสวิงดังๆ)

การแยกสเตอริโอ (Stereo Separation) ตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี จะพบว่ายิ่งมาก (มากกว่า 80 dB ตลอดทุกช่วงความถี่) เวทีเสียง จะยิ่งกว้างจนถึงขนาดแผ่ “โอบ” มาด้านหลังทั้งซ้ายและขวาดุจเซอราวด์ (ระดับซุปเปอร์สเปค) ความกังวานจะเปิดโปร่งทะลุ ไม่ใช่กังวานแบบฟุ้งขุ่น จะรู้สึกถึงความกังวานที่มีมิติได้ด้วย! (มีการวิ่งลับหาย มีการวิ่งสะท้อนไปมา) ยิ่งตัวเลขมากยิ่งบ่งบอกว่าภาคขยายซ้ายกับขวามีการรบกวน,รั่วกวนกัน ดึงกำลังกัน น้อยแค่นั้น

ความเพี้ยนคู่ควบ (THD) จริงๆแล้วเรื่องของความเพี้ยนสามารถพูดเป็นบทความได้อีกบทหนึ่งทีเดียว เพราะความเพี้ยนมี หลายรูปแบบ ทำความเพี้ยนคู่ควบ (THD) ที่เกิดจากการขยายที่ไม่เป็นเชิงเส้น (Linearity) ความเพี้ยนที่เกิดจากคลื่นต่าง ความถี่ตีรวนกันเอง (IMD หรือ Intermodulation Distortion) ที่บั่นทอนการแยกแยะสุ้มเสียงให้แตกต่างกันไปได้ ทำให้เสียงนักร้องชายแต่ละคนต่างๆกันไป เสียงเครื่องดนตรีแบบเดียวกันแต่ต่างเกรดเสียงแตกต่างกันไป ฯลฯ) ความเพี้ยนจากการสวิงฉับไวหรือคลื่นกระแทก (Transient Intermodulation Distortion หรือ TIM) อันทำให้หัวโน้ตหรือยอดคลื่นเกิดการสวิงกระเพื่อมไม่หยุดทันที (Ringing) ส่งผลเป็นคลื่นความถี่สูงเป็นแผงแถมออกมาให้เสียงกร้าว,แข็ง,จัด,สากหู,ฟังนานๆหูล้า

ดังนั้น จะมาดูแต่ความเพี้ยน THD อย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเกิดออกแบบวงจรเอาแต่ลดความเพี้ยน THD ลงมากๆ (จนได้ ซุปเปอร์สเปค  THD 0.001 %) แต่กลับก่อให้เกิดความเพี้ยน TIM หรือ IMD มากขึ้น (ไม่ได้ระบุสเปคบอก) อย่างนี้ก็ใช้ ไม่ได้  ไม่ควรทำ ที่ถูกต้องจึงควรระบุครบทุกรูปแบบความเพี้ยนทั้ง 3 นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมบางเครื่องความเพี้ยน THD 2% กลับน่าฟังกว่าเครื่องที่ความเพี้ยน 0.1 – 0.001 % )

อัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวน (S/N) ในอดีตเราคิดแต่ว่าถ้าไม่ได้ยินสัญญาณหรือเสียงรบกวนแปลกปลอม (ที่เกิดจากสัญญาณกวน Noise) ก็ถือว่าสอบผ่าน ใช้ได้แล้ว แต่ปัจจุบันพบว่าเงียบไม่พอต้องเงียบลึกกว่านั้นถึงขั้นเงียบ “สงัด” เหมือนบรรยากาศตอนตี 3 ที่สงัดกว่าตอนเที่ยงคืน จนเรารู้สึกว่าพอเพลงจบหรือช่องไฟระหว่างตัวโน้ตนั้นมันเกลี้ยงสะอาด สงัด เหมือนเสียงที่กระเด็นออกมาจากฉากหลังที่มืดสนิท มันจะให้อารมณ์ที่ ดึงดูด เชิญชวน น่าสนใจ เร้าใจ ชวนติดตาม มากกว่าการได้แค่เงียบไม่มีกวน

อย่าลืมว่า ถ้าเงียบไม่จริง แม้หูเราไม่ได้ยินเสียงกวนแต่จิตใต้สำนึกเรารับรู้ได้ วงจรไฟฟ้ารับรู้ได้ ย่อมป่วนการทำงานและความรู้สึกการกวนนั้นอาจกวนที่ความถี่สูงและต่ำกว่าหูได้ยินแต่ประสาทสัมผัสเรารับรู้ได้ วงจรไฟฟ้ารับรู้ได้ ถูกกวนได้

กำลังสำรอง (Dynamic Headroom) อุปกรณ์ที่มีค่า Dynamic  Headroom สูง แสดงว่ามันมีขีดความสามารถสวิงการทำงาน ขึ้นไปได้มากกว่านั้น ทำให้เราฟังแล้ว โปร่ง โล่งใจ ไม่รู้สึกว่ามันตื้อหรืออั้น จะฟังออกได้ชัดในช่วงที่ดนตรีโหมขึ้นมา หลายๆชิ้นสลับซับซ้อน ถ้าอุปกรณ์มีค่า Dynamic Headroom ต่ำหรือสูงไม่พอ เสียงทั้งหลายจะเริ่มกอดกัน ตีรวนกันจนฟังไม่ได้ศัพท์ แยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร ดูมันกลืน,มั่ว,จมแบน เจี๊ยวจ๊าวไปหมด ไม่รู้อะไรอยู่ตรงไหน ตื้นลึกกว่ากันอย่างไร เวทีเสียงถอย,หุบตัวลง ไม่สง่า โอ่อ่าอีกต่อไป

บทส่งท้าย สิ่งที่นำมาพูดถึง นับเป็นกุญแจสำคัญของการเล่นเครื่องเสียงทีเดียว ช่วยแก้ข้อข้องใจที่ถูกถกเถียงกันมานานและขยายความให้กว้างยิ่งขึ้น เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่าเครื่องเสียงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มิใช่อย่างหนึ่งอย่างใดแต่เพียงอย่างเดียว

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459