000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > ปกิณกะ > เครื่องเสียงโบราณ (Vintage) น่าเล่นไหม
วันที่ : 01/08/2016
15,152 views

เครื่องเสียงโบราณ (Vintage) น่าเล่นไหม

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

คนที่สนใจแสวงหา เครื่องเสียงอายุ 40-50 ปีขึ้นไปมาเล่น มีเหตุผล 3 อย่าง

            1. มีความฝังใจ มีความหลังในอดีต กับเครื่องเสียงโบราณนั้นๆ อยากฟื้นความหลัง ดื่มด่ำกับความรู้สึกสมัยเด็ก, วัยรุ่น, วัยกลางคน

            2. ชื่นชมกับ ผลงานเครื่องเสียงในอดีต ในแง่ความสวยงาม ความเป็นศิลป์ พูดง่ายๆ เพื่อการเสพงานศิลป์มากกว่า คุณภาพเสียง เป็นนักสะสมของเก่าที่หายาก เคยดังในอดีต

            3. พวกนักเก็งกำไร ปั่นกระแส ปั่นราคา มีการวางแผนเป็นขั้นตอน กำลังระบาดไปทั่ววงการของเก่า ก็ไม่ว่ากัน มันเรื่องของการทำมาหากิน

            ถ้าคุณมีเหตุผล 1 ใน 3 ข้างต้น ก็ไม่แปลกที่คุณจะกระโดดลงมาเล่นของเก่าโบราณ คำตอบอยู่ในใจคุณแล้วว่า น่าเล่น

            แต่ในอีกมุมมองของ “นักฟัง” เพื่อคุณภาพเสียงที่เที่ยงตรง สมจริง เป็นธรรมชาติ เครื่องเสียงเก่าจะยังน่าเล่นหรือไม่

            ก่อนอื่น สิ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ เครื่องเสียงเก่าๆ ยุค 40-50 ปีย้อนหลังขึ้นไป ถูกผลิตและออกแบบมา เพื่อรองรับ, ใช้กับแหล่งรายการในสมัยนั้นๆ เพลงในสมัยนั้นๆ บ้านที่อยู่อาศัยสมัยนั้นๆ สิ่งแวดล้อมสมัยนั้นๆ ไม่ใช่สมัยนี้ ปัจจุบันนี้

            ยกตัวอย่าง ทำไมสมัยก่อน ลำโพงต้องเป็นตู้ใหญ่โต เป็นระบบปากแตรหรือฮอร์น (ดูบทความ ลำโพงฮอร์นน่าเล่นหรือไม่ ในเว็บนี้ประกอบ) เหตุผลก็คือ สมัยที่ภาคขยายเสียงเป็นเครื่องหลอด กำลังขับเฉลี่ยแค่ 3 วัตต์ RMS/ข้าง (สมัยนั้นยังไม่มีวงจรแปลงไฟบ้าน (AC) เป็นไฟตรง (DC) เพื่อเลี้ยงหลอดขยาย จึงต้องใช้ถ่านไฟฉายมาต่อเรียงให้ได้แรงดันสูงๆ เป็นลังเลย ยิ่งวัตต์สูงยิ่งเปลืองถ่านไฟฉาย) จึงมีแต่คนรวยเท่านั้นที่มีปัญญาเล่นเครื่องเสียง  ใครมีปัญญาเล่นเครื่องหลอดกำลังขับ 17 W.RMS/ข้าง หรูสุดแล้ว

            การทำลำโพงตู้ใหญ่ๆ ก็เพื่อช่วยปั๊มเสียงทุ้มให้พอมีบ้าง เพราะสมัยนั้นใช้ดอกลำโพงที่มีความไวสูงๆ เป็น 100dB SPL/w/m ขึ้นไป ดอกพวกนี้จะให้ทุ้มแย่ ลงไม่ลึก ได้แต่กลางต่ำ จึงต้องอาศัยตู้ลำโพง ระบบท่อวกวน (Transmission Line) , ท่อปากแตร มาช่วยเสริมทุ้ม และช่วยให้ระบบลำโพงมีความไวสูง ระดับ 98~110 dB SPL แต่เอาเข้าจริงๆ ทุ้มก็ยังไม่ถูกต้อง หรือมีคุณภาพสมจริงอยู่ดี

            เสียงแหลมก็เช่นกัน มีการจงใจแยกดอกแหลมห่างดอกกลางกับดอกทุ้ม เพื่อเวลาเปิดดังปกติ (ในบ้าน) จะเหมือนเสียงแหลมชัดเป็นผู้นำขึ้นมาได้ (มีการใช้ปากแตรฮอร์นช่วยด้วย จะได้ดังยิ่งขึ้น) และเพิ่มความเป็นจุดกำเนิดเสียงเดียวกัน ทุกๆ ความถี่ (หรือ Point Source) สังเกตว่า พอเปิดดังๆ เหมือนปลายแหลมถอย, จมลง เสียงโดยรวมเหมือนมั่วขึ้น ลำโพงสมัยเก่าจึงไม่ต้องพูดถึง ทรวดทรงเสียง (3D), เวทีเสียงที่ลึกแต่โอบตัวเราได้ มีแต่พุ่งออกมาเป็นหน้ากระดานเรียงหนึ่ง

            ในกรณีของแหล่งรายการ สมัยนั้น ยังฟังวิทยุกันเป็นหลัก (รายการเพลงดีกว่าปัจจุบันมากที่เอาแต่เปิดเชียร์) และหรือฟังจากเครื่องเล่นจานเสียง ซึ่งถือว่า เป็นแหล่งรายการที่ดีที่สุดในสมัยนั้น ส่วนเทปก็จะเป็นเทปม้วนเปิด (ต่อมาก็เทปคาสเซท, 8 Tracks)

            มีความพยายามสร้าง, ปั่นกระแสว่า เสียงจากเครื่องเล่นจานเสียงดีที่สุดในการฟังเพลง แม้ปัจจุบัน ซึ่งขอเชิญหาอ่านบทความของผมในเว็บนี้ ว่าด้วยเรื่อง CD กับจานเสียง ไหนน่าเล่นกว่ากัน (ดีกว่ากัน) ขอร้อง... ต้องอ่านให้ได้นะครับ ผมจึงจะไม่พูดซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม เครื่องเล่นจานเสียง พร้อมอุปกรณ์ประกอบ (หัว, อาร์ม, ภาคจานเสียง) นับเป็นสิ่งที่ถูกนำเสนอขาย,  เปลี่ยนมากที่สุดในวงการเครื่องเสียงเก่าโบราณ รวมทั้งตัวแผ่นเสียงเองก็เข้าสู่วังวนของการปั่นราคาจนเว่อร์ทะลุฟ้า

            ปัจจุบัน 2-3 ปีมานี้ มีความพยายามปลุกกระแสการเล่นเทปม้วนเปิด (Open Reel) ทั้งๆ ที่แทบหาม้วนเทปเพลงมาฟังไม่ได้ (ขายกัน ม้วน/อัลบั้ม หลายๆ พันบาท ร่วมหมื่นบาทก็มี!) (แผ่นเสียงที่วนเวียนขายกันในท้องตลาด ทั้งใหม่และเก่ารวมๆ ไม่เกิน 5,000 อัลบั้ม (นี่คิดอย่างเผื่อมากแล้ว) มีนักเล่นอาวุโสท่านหนึ่งบอกผมว่า เขาสะสมไว้ถึง 25,000 แผ่น (อัลบั้ม) ขณะที่แผ่น CD ทั่วโลกน่าจะไม่ต่ำกว่า 10 ล้านอัลบั้ม! (นักเล่นท่านนี้รวยมาก ปัจจุบันเพิ่งเสียชีวิตไป))

            จะเสียเงินเป็นแสนหรือนับล้านๆ บาทกับระบบเครื่องเล่นแผ่นเสียงเพื่อฟังแผ่นเสียงสุดโปรดไม่ถึง 100 อัลบั้ม ตลกไหมครับ

            ดนตรีสมัยเก่า บันทึกมาจำกัดมาก ทั้งความถี่ตอบสนอง (Frequency Response), การสวิงค่อย-ดัง (Dynamic Range), มิติเสียง (ยังไม่มีใครสนใจ หรือพูดถึงหรือให้ความสำคัญ), รายละเอียดหยุมหยิมไม่มี (Low Resolution), เสียงไม่ฉับไวนัก (Transient Response แย่), ไม่กระแทกกระทั้นนัก (Impact) จึงพอจะไปกันได้กับเครื่องเสียงสมัยเก่าพวกนั้น ไม่ฟ้องกันและกัน ระหว่างอัลบั้มแหล่งรายการกับชุดเล่น

            แต่ปัจจุบัน อัลบั้มบันทึกสมัยใหม่ สเปคสูงกว่าสมัยเก่าไม่ต่ำกว่า 30% ขึ้นไป จึงเป็นไปไม่ได้ที่เครื่องเสียงเก่าจะถ่ายทอดทุกเสียง ทุกแง่มุมของอัลบั้มสมัยใหม่มาให้เราได้ฟังครบ

            กรุณาอย่านำเสียงสมัยเก่าจากอัลบั้มโบราณ, เครื่องเสียงโบราณมาฟังเทียบกับเครื่องเสียงสมัยใหม่ที่เน้นการฟังจากไฟล์เพลงเป็นดิจิตอลจ๋า แล้วก็ข่มว่า เห็นไหมของเก่าเสียงดีกว่า โดยละเลยที่จะฟังเทียบกับเครื่องเสียง, ที่เป็นอนาลอกดีๆ อัลบั้ม CD ที่บันทึกดีๆ มันไม่ยุติธรรม และผิดธรรมเนียม

            พูดง่ายๆ ถ้าคุณอยากฟัง เสียงเก่าๆ แน่นอน ก็สมควรฟังกับเครื่องเสียงโบราณเก่าๆ เพื่อกอดคอ เข้าขากันออก เก่าเจอเก่า เป็นเสียง แก่ สมใจ ระลึกฟื้นฝอยสู่อดีตที่โหยหา

            แต่ถ้าคิดจะเอามาฟัง อัลบั้ม 20-40 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะปัจจุบันก็ลืมได้เลย มันมาผิดงานทั้งอัลบั้มและเครื่องเสียง

            นี่คือ ปัญหาการหลงยุค มาผิดงาน แต่ปัญหาที่น่าคิดที่สุดของการเล่นเครื่องเสียงเก่าโบราณคือ

            1. ชิ้นส่วนอะหลั่ย อุปกรณ์อีเล็คโทรนิคส์ เสื่อมหมดอายุแล้ว ตัวเก็บประจุแห้ง, ฝ่อหมดแล้ว (จะหาอะหลั่ยในยุคนั้น ของแท้ มาเปลี่ยนได้จากที่ไหน ปัจจุบันอะหลั่ยปลอม อ้างยี่ห้อเดียวกัน เช่น ตัวเก็บประจุของเจนเซ่น ของปลอมเต็มตลาด) จำไว้ว่า เมื่อไรก็ตามที่ตัวเก็บประจุผ่านการใช้งานไปพักใหญ่ๆ และหยุดใช้งาน เก็บไว้เฉยๆ มันจะเสียหรือเสื่อมหมด

            2. กรวย, ขอบ ดอกลำโพง, ผุ, เปื่อย, โครงขึ้นขี้เกลือผุหมด แม่เหล็กเสื่อม สายขึ้นขี้เกลือ, วอลลุมผุหมด

            3. ฝุ่นเกาะหนา เกิดปัญหาความชื้น, ไฟฟ้าสถิตย์

            4. หลอดหมดอายุ หลอดปลอม แอบเปลี่ยนหลอดดั้งเดิม

            5. น้ำยาในหม้อแปลงแห้ง, เสื่อมหมดแล้ว

            6. เครื่องถูกยำถูกซ่อมมา หรือถูกถอดอะหลั่ยไปจนซ่อมให้เครื่องอื่นๆ หมดแล้ว ใส่แต่อะหลั่ยบ้านหม้อมาให้

            7. รูรับ, ปล่อยสัญญาณขึ้นสนิม, ขี้เกลือหมดแล้ว

            8. ปรี, เพาเวอร์ วอลลุม, ซีเล็คเตอร์ หมดอายุแล้ว ใช้ไม่นานก็เสีย ลำโพงที่มีปุ่มปรับเสียง (เช่นกลางกับแหลม) ไม่น่าใช้ การจูนดีๆ ถูกต้อง มีตำแหน่งเดียวครับ ผิดไปจากนั้นไม่ได้เลย

            9. สายต่างๆ กรอบหมดแล้ว โดยเฉพาะเครื่องหลอดที่มักร้อนมาก

            10. ย้อมแมวทั้งเครื่อง

            นี่คือเหตุผลที่นักเล่นเครื่องเสียงเก่าโบราณหลายท่านเตือนว่า ไม่น่าเล่น ไม่ว่าด้านสุ้มเสียง และความทนทาน พูดง่ายๆ ใช้ไปซ่อมไป อาทิตย์หนึ่งอยู่ร้านซ่อม 5 วัน

            การเล่นเครื่องเสียงเก่าโบราณจึงต้องท่องให้ขึ้นใจ

            1. อย่าเชื่อว่า เสียงเก่าดีกว่าเสียงใหม่ มันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ

            2. อย่าเชื่อในสิ่งที่ตาเห็นว่าสภาพสวยกริ๊ป เจ้าของซื้อไปเก็บไม่ได้ใช้ ใช้น้อยมาก ย้อมแมวกันเนียนมาก

            3. สืบประวัติ, นิสัย การทำธุรกิจของผู้ขาย (ความรับผิดชอบหลังการขาย, ความซื่อสัตย์, ชื่อเสียงในอดีตและปัจจุบัน บุคคลอ้างอิงที่เชื่อถือได้)

            4. สืบราคาให้แน่ใจ อย่าใจร้อนเด็ดขาด อย่ากลัวว่า จะมีมือดีซื้อตัดหน้า

            5. ลองฟังแล้ว ต้องขอหิ้วไปเลย อย่าทิ้งค้างไว้ที่ร้าน อาจถูกแอบเปลี่ยนอะหลั่ยได้

            6. เพื่อนฝากมาเตือนว่า ถ้าท่านมีเครื่องเสียงเก่าและกำลังเสียอยู่ ระวังพวกที่คุยว่า ถนัดยี่ห้อนั้นเลยหรือร้านซ่อม (ที่ขายของเก่าด้วย) นำเครื่องท่านไปวางแช่ (ไม่สนใจซ่อมให้ ทั้งๆที่แอบตรวจแล้วว่า ซ่อมได้) แล้วลงประกาศขาย พอขายได้หรือลูกค้าวางมัดจำแล้ว ก็จะย้อนกลับมาขู่ท่านว่า ซ่อมไม่ได้ ไม่มีอะหลั่ย เกลี้ยกล่อมให้ท่านขายเขาถูกๆ (ถูกมาก) แถมพูดเอาบุญคุณว่าช่วยรับ (เศษเหล็ก) ไว้ให้ เผลอๆ ติดปลายนวม ยุท่านแลกกับของเก่าอื่นๆ ของทางร้านด้วย กำไรทุกเด้ง

            ดังนั้นก่อนจะฝากซ่อมของเก่าที่ไหน ให้สืบพฤติกรรมของร้านนั้นๆ จากร้านซ่อมอื่นๆ ร้านขายของเก่าอื่นๆ ด้วย

            7. บางร้านขายเครื่องเสียงเก่า (ทั้งมีหน้าร้านและมีแค่เว็บไซต์) ลงโฆษณาขายในเว็บไซต์ ทั้งๆ ที่ไม่มีของ ตัดหน้าร้านใกล้เคียงกันที่มีของ พอขายได้ก็วิ่งไปออดอ้อน (กดราคา) ขอซื้อราคาร้านค้าอาชีพเดียวกันเอามาปล่อย ตกลงไม่ต้องลงทุนสต็อคของเลย

            8. ถ้าท่านจะนำของเก่าไปฝากร้านขาย สืบให้แน่ใจจริงๆ ว่า เครดิตดีจริง ไม่ใช่ขายแล้วอ้างโน่นนี่สารพัดลากเป็นปีกว่าจะคืนเงินให้ บางร้านขอแลกเป็นของไป ไม่มีเงินจ่ายให้ หักดิบกันซื่อๆ เลย

            9. จะขายของเก่าที่บ้าน ระวังโจรสวมรอยเข้ามาปล้นถึงห้องนอน อันตรายทั้งตัวเราเอง, ลูกเมีย, พ่อแม่, คนใช้, หมาอีก 1 ตัว

            10. อย่าส่งของให้เด็ดขาด ถ้ายังไม่ได้รับ เงินสด” อย่าชะล่าใจว่า ผู้ซื้อได้โอนเงินเข้าบัญชีเราให้เรียบร้อยแล้ว เราโทรไปเช็คกับทางธนาคารก็มีเงินโอนเข้ามาจริงๆ ยอดตรง เราเลยเอาของไปส่งให้หรือโทรบอกเด็กส่งของให้ปล่อยของได้ เพราะคนที่ซื้อสามารถขอธนาคารโอนกลับคืนได้ โดยอ้างว่าโอนผิดบัญชี ถ้าผู้โอนและผู้แจ้งถอนโอน เป็นบุคคลเดียวกัน (เขาทำได้ทันที อาจจะรอสัก 1 ชั่วโมงแล้วมาขอโอนคืน)

            ดังนั้นถ้าเราตรวจสอบแล้วว่ามีเงินโอนเข้ามาจริง ให้รีบไปถอนออกเลยทันที เหมือนกันให้เหลือเงินในบัญชีน้อยที่สุด เช่นแค่ 1,000 บาทคาไว้

            11. พวกเครื่องเสียงที่มีการผลิตขึ้นมาใหม่ (แต่เป็นรุ่นเก่าโบราณ) อ้างว่าฉลอง 50 ปี, 70 ปี ทำมาจำกัด รีบซื้อด่วนก่อนหมด (ราคามักเว่อร์เหลือเกิน) ถ้าซื้อมาตั้งโชว์ และเงินเหลือๆ ก็ไม่ผิดกติกาอะไร น่าจะดีและปลอดภัยกว่ารุ่นเดียวกันที่เก่าโบราณจริงๆ อย่าสนใจปากหอยปากปู พวกขายของเก่าที่ใส่ไฟว่า เสียงสู้ของเก่าดั้งเดิมไม่ได้ เอาอะไรมาวัด มาฟังของเก่าดั้งเดิมอายุ 40-50 ปี ผุ, เสื่อมหมดแล้ว จะมาเทียบกับของใหม่กริ๊ป มันไม่ควรเทียบกันเลย จะฟันธงว่าใครดีกว่าใครไม่ได้

            12. การย้อมแมวเครื่องเสียงโบราณ มีการทำทั้งในบ้านเรา และย้อมกันที่ประเทศใกล้เคียงบ้านเรา ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน อุตสาหกรรมย่อมๆ เลย

            สรุป จะเล่นเครื่องเสียงทั้งที ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ต้องถามใจตัวเอง รู้จุดประสงค์ของการเล่น หาข้อมูลให้มากๆ จากทุกๆ แหล่ง อย่าแห่ตามกระแส เป็นคนมีสติ, เหตุผล, แล้วคุณจะสนุก, สุขใจ, ไม่พลาด

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459