000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > รายงานบททดสอบ > เครื่องเสียงบ้าน > S.M. Integrated Amp By Danai (อินทีเกรทแอมป์หลอด ระดับพระกาฬตัวจริง)
วันที่ : 22/02/2017
15,905 views

S.M. Integrated Amp By Danai (อินทีเกรทแอมป์หลอด ระดับพระกาฬตัวจริง)

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

S.M. Integrated Amp By Danai  (อินทีเกรทแอมป์หลอด ระดับพระกาฬตัวจริง)

S.M. เป็นอินทีเกรทแอมป์หลอดล้วนๆ รุ่นล่าสุด จากฝีมือคนไทย คุณดนัย บัวทรัพย์ ปรมาจารย์ด้านหลอดระดับตำนาน (ลุยมาอย่างช่ำชองร่วม 50 ปี...)

                คุณดนัย เล่าให้ฟังว่า อินทีเกรทแอมป์ S.M. นี้ทำกันอย่างสุดฝีมือ รวมทุกความรู้ที่คุณดนัยวิเคราะห์ วิจัย ทดสอบ ทดลอง ตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมา พูดง่ายๆ มันเป็นงานวิจัยมากกว่างานขายของ ถ้าเป็นเมืองนอกงานวิจัยแบบนี้ตีมูลค่าไม่ได้เลย เป็นล้านบาทแน่นอน

                กว่าจะทำ S.M. เครื่องนี้เสร็จผมได้ความรู้จากคุณดนัยเยอะ เสียดายที่ผมไปเอาดีทางทรานซิสเตอร์เป็นหลัก มาตลอดกว่า 40 ปีมานี้ แต่อย่างน้อยผมกล้าพูดได้ว่า เรื่องหลอดนี่คุณดนัยรู้จริงรู้ลึกแบบขึ้นสมองก็ว่าได้ ขนาดว่านอนๆ อยู่บางคืน ตี 1-2 คุณดนัยเกิดปิ๊งไอเดียอะไรก็ลุกขึ้นมาทำต่อ นั่งทำวิจัยวันหนึ่งสิบกว่าชั่วโมง ก็ต้องยกให้ท่านแล้ว

                S.M. เป็นอินทีเกรทแอมป์หลอดล้วน รวมทั้งภาคขยายหัวเข็มจานเสียง (เฉพาะหัว MM) ซึ่งคุณดนัยกล้าพูดว่า ภาคนี้ทำสุดฝีมือดีกว่ากล่องขยายหัวเข็มจานเสียงที่แยกต่างหากในยุคแรกๆ ที่ท่านทำด้วยซ้ำ (กล่องพวกนั้นตลาดหากันอย่างกับหาทอง) จึงกล้าพูดได้เต็มปากว่า แค่ภาคหัวเข็มนี้ใครได้ไปก็สุดคุ้มแล้ว จึงไม่ใช่แค่ใส่มาให้ครบๆ เท่านั้น

                ช่องรับสัญญาณขาเข้าจะมี 3 ชุด คือ ภาคหัวเข็มจานเสียง (MM) (หัว MC อาจจะเหมือนได้เปรียบหัว MM ในแง่น้ำหนักเบากว่า แต่ก็เลือกอาร์มเหมือนกัน และมักมีปัญหาเสียงรบกวน (S/N) ยังไม่นับว่าราคาสูงมากและละเอียดอ่อน พังง่าย สัญญาณออกตํ่ามาก ต้องมีภาคขยายหัวเข็มคั่นอีกทีก่อน ขณะที่หัว MM ถ้าได้ภาคหัวเข็มดีๆ ระดับเซียนก็มีสิทธิ์เล่นเอาหัว MC ปาดเหงื่อได้เลย ขณะที่หัว MM ถูกกว่ามาก หัวซื้อง่ายกว่า ช่องรับสัญญาณขาเข้าที่เหลืออีก 2 ชุด คือ CD และ AUX
                S.M. ไม่มี,ปุ่มปรับทุ้ม, แหลมให้มา (นอกจากปุ่มปรับใต้เครื่องต่อเสียงทุ้ม เพื่อให้ได้ความถี่เสียงราบรื่นน่าฟังที่สุด (ขอแนะนำว่า ท่านปรับมาลงตัวมากๆ แล้ว อย่าไปยุ่งอะไรอีก)
                ด้านหน้าเครื่องมีแค่ปุ่มเลือกแหล่งรายการอยู่ซ้ายมือสุด ปุ่มโวลลุ่มดัง-ค่อยอยู่ขวามือ สวิตช์โยกปิด-เปิด (รวม) อยู่ตรงกลาง
                ด้านหลังเครื่องด้านซ้ายสุด (มองจากด้านหลัง) มีช่องรับสายไฟ AC (IEC) มีช่องใส่ฟิวส์สำรองอยู่ด้านล่างใน (ผมเอาฟิวส์สำรองออก...เสียงและมิติดีขึ้น เส้นฟิวส์ที่ใช้เป็นของดีได้มาตรฐาน (จากการฟังทดสอบต้องให้หัวฟิวส์ด้านมี 250 V. อยู่ขวามือนะครับ มีผลไม่เบาเลย) ถัดไปเป็นขั้วรับสายลำโพงแบบ binding post มาตรฐาน 1 ชุด จากนั้นเป็นช่องรับสัญญาณเต้า 3 ชุด พร้อมขั้วสายดินสำหรับภาคจานเสียง
                ด้านบนหม้อแปลงไฟจะอยู่ตรงกลาง หม้อแปลงความต้านทานขาออกซ้าย, ขวาอยู่ 2 ข้าง (โปรดสังเกตว่าคุณดนัย พันหม้อแปลงทั้ง 3 เองด้วยมือนะครับ ท่านพันระดับของฝรั่งชิดซ้าย มีการใช้เทคนิคของเครื่องเสียง McIntosh ด้วย โดยท่านนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วย)
                หลอดขยายขาออกใช้ KT-88 ทำงานแบบ Push Pull คุณดนัยให้ความเห็นว่า ถ้าออกแบบดีๆ เป็นงานจริงๆ จะให้สุ้มเสียงได้น่าฟังกว่าแบบ Single End (คุณดนัยใช้วงจรแบบ ULTRA LINEAR สไตส์เดียวกับ McIntosh) ได้กำลังขับ 50 W. RMS/CH + 50 W. RMS/CH

              

ผมถามว่า ขาออกลำโพงไม่มีขั้วให้เลือก 4, 8, 16 โอห์ม อย่างชาวบ้าน หรือท่านว่าแบบนั้นถึงเลือกความต้านทานตรงกับลำโพงได้แต่จะไม่ได้แรงถีบ ได้แต่ความดังแรงกระแทกหายไป 20 เปอร์เซ็นต์ สู้ทำมาให้ลงตัว 8 โอห์มไปเลยดีกว่า (จริงๆ แล้วไม่มีลำโพงไหนในใลกให้ความต้านทานเปะ นิ่ง 4, 8, 16 โอห์มอะไรหลอก มันเปลี่ยนแปลงไปตามความถี่ตลอดเวลา)
                ภาค DRIVE ใช้หลอด 12BH7 2 หลอด/ข้าง, ภาคปรี (LINE) ใช้หลอด 6DJ8
                ภาคจานเสียงใช้หลอด 7025 (สเปคเดียวกับ 12AX7 แต่ 7025 ดีกว่ามากๆ)
                ตัวถังจะเป็นเหล็กหนาพิเศษ
                ด้านบนเครื่องแม้จะมีช่องให้ปรับแรงดันไฟ เผื่อให้เลือกใช้หลอดอื่นๆ ได้ แต่คุณดนัยให้คำเตือนว่า มันไม่ง่ายขนาดนั้น อย่างที่นักดัดแปลง หรือคนขายเครื่องชอบแนะนำให้ผู้ซื้อเปลี่ยนหลอดคุณภาพดีขึ้น (โด่งดัง) เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าต้องการเสียงดี, ถูกต้องที่สุด จะต้องเปลี่ยนค่าชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกับหลอดด้วย การปรับได้นี้จึงเอาไว้กรณีเครื่องเสีย, หลอดเสียและเปลี่ยนหลอดใหม่เบอร์/ ยี่ห้อเดิม
                คุณดนัยเปิดฝาล่างออกให้เห็นชิ้นส่วนภายใน โอ้...พระเจ้า มันช่างตรงข้ามกับความสะอาด เกลี้ยงเกลาด้านบนอย่างสิ้นเชิง
                ภายในล่างคุณจะเห็นชิ้นส่วนเป็นพันชิ้นละมั้ง และทุกชิ้นเดินและบัดกรีแบบสาย/ขา (Hard Wire) ทั้งหมด! ไม่มีการ “ทำงานง่ายๆ” แบบใช้แผงวงจร (อย่างเครื่องราคาถูก) เดินสายวางอุปกรณ์กันแบบ 2-3 ชั้น (LAYER) มีหลายจุดที่คุณดนัยเบิลอุปกรณ์จาก 1 ตัวเป็น 2 ตัวเพื่อรับกระแสไฟได้มากขึ้นและไม่ร้อน (สิ่งนี้คุณจะไม่มี วันได้พบเห็นกับเครื่องราคาถูกเลย)
                พูดตามตรงผมดูไล่ไปตามยังเหนื่อยแทน ให้ผม 2 หมื่นมานั่งทำอย่างนี้ผมก็คงต้องเปิดหมวกลา มันงานหินโคตรๆ และคุณดนัย นั่งเบิ่งตา, ก้มๆ เงยๆ ทำเอง “ทุกจุด” เครื่องหนึ่งนั่งทำ 2 เดือนกว่า
                ทุกอย่างที่คุณดนัยทดสอบ ทดลอง ท่านจะจดบันทึกไว้หมด ว่าวงจรเป็นอย่างไร ได้ลองปรับปรุงอะไรดูบ้าง ผลดี/ผลเสียเป็นอย่างไร ท่านจดละเอียดยิบ นี่เป็นเล่มที่ 26 แล้ว (ทุกเครื่องที่ท่านทำออกไปจะมีบันทึกไว้หมด! เพื่อสะดวกแก่การซ่อมบำรุงภายหลัง)
                โอเค...บางท่านอาจจะติว่า คุณดนัยไม่ได้ใช้อุปกรณ์ระดับเทพอย่างที่บางค่ายรับดัดแปลงให้ลูกค้ากระเป๋าหนัก (เครื่องนอกระดับหลายๆ แสน, เฉียดล้าน) แต่คุณดนัยก็พยายามดัดเลือก (ด้วยการ “ฟัง”) ในทุกชิ้นส่วนที่นำมาใช้ โดยยึดหลัก

  1. ได้มาตรฐาน ทนทาน
  2. สเปคโอเค
  3. เสียงต้องดีด้วย

                และถ้าการทำอย่างคุณดนัยได้ของดี, เสียงดี, ราคาชาวบ้าน เอื้อมถึง มันจะไม่ดีกว่าการทุ่มใส่แต่ชิ้นส่วนระดับเทพ แพงระเบิด แต่เสียงก็อย่างนั้นๆ (โอเคมันเปลี่ยนไป แต่ดีขึ้นน่าฟังขึ้นหรือเปล่า)

                คุณดนัยเปิดโอกาสให้ผู้นำเครื่องไปใช้อาจเพิ่มคุณภาพอะไหล่บางอย่างได้เอง เซ่น ขั้วสัญญาณ, ขั้วสายลำโพง, สายไฟที่ใช้แต่ผมว่า แค่ที่คุณดนัยทำมา S.M. นี่ก็หายบ้าแล้วครับ! ตัวเครื่องของ S.M. ค่อนข้างหนักน่าจะประมาณ 25-27 กก. ทุกเครื่องต้องสั่งทำนะครับ ชำระก่อน 60 เปอร์เซ็นต์ (คุณดนัยไม่ใช่คนรํ่ารวยอะไร ท่านจะได้นำไปซื้ออะไหล่และจ่ายค่าแท่นครับ) เนื่องจากทุกเครื่องคุณดนัยลงมือทำเอง ไม่มีลูกน้องจึงขอเวลาทำ 2 เดือนกว่าครับ

ผลการฟังทดสอบ

                จากเครื่องเล่นแผ่น OPPO BDP-105 (ปรับปรุงภาคจ่ายไฟ ภายในโดย POWER PERFECT) ออกสายเสียง MADRIGAL CZ-GEL 2 (บาลานซ์) เข้าหัวแปลงบาลานซ์เป็น RCA (ของ CARDAS… ตัวแปลงนี้แทบไม่มีผลเสียต่อเสียงเลย (99.5 เปอรเซ็นต์) เข้าช่อง INPUT AUX ของ S.M. (เสียงมีเรื่องราวดีกว่าช่อง CD, ทุ้มประสานกับกลาง/ แหลมได้ดีกว่า) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (หัว WBT) 2 ชุด ไบ-ไวร์ ไปเข้าลำโพง MONITOR AUDIO BR-5 (3 ทางวางพื้นเอาหน้ากากออก) เอียงลำโพง (TOE IN) ปรับให้ได้สุ้มเสียงครบ มิติ, ทรวดทรงเสียงดีที่สุด ยกสายลำโพงสูงหนีพื้นห้อง (ปูน/พรม) ด้วย ตั้งกระดาษพิมพ์ดีดใหญ่สูง 1 คืบ มีอีก 1 รีมคั้นสาย S-2 ชุดแหลมกับชุดทุ้มอีก 2 รีมทับบนสุด

                สายไฟ AC ที่เข้า S.M. ผมยกจากที่เดิมใช้กับอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 คือสาย NORDOST รุ่นถูกสุด ส่วนสายไฟ AC ของ No.383 เอง เอาไปใส่ที่ OPPO 105 สายไฟ AC เข้าจอ LCD TOSHIBA 24 นิ้ว FULL HD ใช้ของ CHORD รุ่นเล็กสุด สายไฟทั้งหมด ผ่านตัวกรองไฟ PHD POWER STATION โดยเลือกขั้วไฟ AC ขาออก ตรงตามแต่ละเครื่องที่มาต่อใช้ไฟได้ รวมทั้งเลือกใช้สายไฟ AC 2 ชุดที่ให้มาด้วย ว่าชุดไหนให้เฟสไฟตรงกับขาอุปกรณ์ภายในกล่อง PHD (2 อย่างนี้มีผลมาก PHD POWER STATION เป็นยี่ห้อเดียวในโลกที่คำนึงจุดนี้) มีการทำระบบระบายกระแสเหนี่ยวนำวน (EDDY CURRENT) ให้กับกล่อง PHD ด้วย กล่อง PHD วางอปูบนโต้ะไม้ (รวมทั้งชุดระบายกระแสเหนี่ยวนำด้วย...วางบนเก้าอื้ซักผ้าทำด้วยไม้)

                สายภาพ HDMI ของ MONSTER รุ่น HD-200 (เสียบย้อนทิศ) จาก OPPO 105 เข้า LCD TV TOSHIBA สายไฟ AC ที่เข้ากล่อง PHD ใช้ FURUKAWA CB-10 (3 เส้น) แยกอิสระ ทิศทางถูกต้อง (วนตาม ทิศ, ดินลงดิน) หัว WATTGATE (ตัวผู้/เมีย) เสียบเข้าที่เต้าเสียบตัว เมีย MONITOR ACOUSTIC รุ่นสีเทา (สูงสุด) (เฟสไฟเข้ากล่องถูกต้อง) ด้านบนของ OPPO 105 มีแผ่นแร่อาเกตฃนาด 6 ฝ่ามือ และมีแท่งควอตซ์ 3 แท่งวางรอบๆ มีแท่งออบซิเดียนวางบนอาเกต  และลูกกลมออบซิเดียน (ขนาด 2 นิ้ว) วางบนอาเกตเช่นกัน (บนฐานไม้รอง) มีโครงควอตซ์รูปพีรามิดสูง 1 ศอกวางคร่อมทั้งหมดนี้ พุ่มอะมิทิสขนาด 2 กำปั้นวางเคียงขวาหลังบนเครื่อง (แท่ง, แผ่นเหล่านี้ไม่แตะกัน)

                ใต้ OPPO มีแท่นรองก้น (ดูดซับ) การสั่นสะเทือน TOMBO รุ่น PSC-01 บวกขาแหลม MAGIC SPIKE มีก้อนแร่ทัวมาลีนสูงประมาณครึ่งคืบ หน้ากว้างประมาณ 1.5 นิ้ว วางบนเต้าเสียบตัวเมีย MONITOR ACOUSTIC ที่กำแพง 1 ก้อน, ใกล้สายไฟขาเข้ากล่อง PHD 1 ก้อน ขาออก 2 ก้อน ขาเข้า No.383 1 ก้อน, จอ LCD 1 ก้อน, OPPO 1 ก้อน, ปลายเท้าที่ผมนั่งฟัง (ที่พื้น 1 ก้อน) ทุกก้อนฟังทดสอบ ควํ่า/ หงาย-มุมเอียง

                หัวปลั๊กกรองไฟ PHD 2 เสียบที่ขาออกกล่อง PHD 1, ที่เต้ากำแพง 2 เต้าเปล่าในห้องอีก 2 แผงไฟ AC เข้าห้องเสียงอีก 2
                หัวเสียบปรับกระแสไฟ AC ของ High Fidelity Cable รุ่น MQ-0.5 (1 หัวที่แผงไฟ AC ขาเข้าห้องเสียง) มีพุ่มผลึกอะมิทิสขนาด 6 กำมือ วางอยู่ด้านขวาของ OPPO ห่างออกไป 50 ซม. (หมุนหาทิศทางแล้ว)
                กล่องตัวอย่างผลึกเม็ดจิ๋ว 12 ก้อนพร้อมหนังสือของ JUDY HALLS 5 กล่องในห้อง (กลางห้อง 1, รอบหลังที่นั่งฟัง 4 กล่อง) พวกนี้ช่วยเสียง, มิติ แต่ต้องหมุนหาทิศ
                ลำโพงซ้าย, ขวา ตั้งห่างกัน 2 เมตร ห้องฟัง 3.85 X 9 X 2.5 เมตร พื้นปูพรม นั่งพงห่างจากลำโพง 3.6 เมตร ผนังทั้ง 4 มีฟองนํ้าเก็บเสียง SONEX มีช่องอื่นๆ เยอะพอควร ไม่ก้องแน่ (แผ่น, หนังสือ, เครื่องมือจุกจิกต่างๆ)
                ปัดลมแอร์ (25 องศา, ลม LOW) ลงด้านหลังลำโพง ไม่ให้มากวนหน้าลำโพง (มีผลนะ) ไม่มีรีโมทอื่นใดในห้อง (แม้แต่รีโมทแอร์..ตัวแสบเลย) ก็ต้องเอาออกนอกห้อง เหลือแต่รีโมท OPPO (จำเป็น...ปรับดัง-ค่อย, เลือกเพลง)
                ไม่มีจอ LCD อื่น, PC/โน้ตบุ้ก, VDO เกมส์, โทรศัพท์ไร้สายบ้าน, โทรศัพท์มือถือ, นาฬิกาไฟฟ้า, นาฬิกาข้อมือ, การ์ดแม่เหล็กในกระเป๋าเสื้อ, WiFi/LAN (นอกจากที่รั่วมาจากภายนอก 6 spot... เซ็งไม่รู้จะทำอย่างไร)
                บางท่านอาจมองว่า ห้องทดสอบผมใช้ “ตัวช่วย” มากจนเวอร์หรือเปล่า เรียนตรงๆ ว่า แล้วแต่มุมมอง ผมไม่ได้ใช้สาย, ตัวกรองไฟที่แพงลิบจนเวอร์ ตัวช่วยผมเป็นแค่นํ้าจิ้มจุกจิก โดยเน้นทำชุดให้เสียงเที่ยงตรง สะอาด บริสุทธิ์ขึ้น โดยไม่ไปช่วยเสริมแต่งหรือบิดเบือนใดๆ เพื่อทำให้เราเข้าถึงตัวตนของอุปกรณ์ที่นำมาทดสอบได้จะแจ้งที่สุค ชุดผมจึงขี้ฟ้องระดับพระกาฬก็ว่าได้ ดีมาดีออก เลวมาเลวออก ชำแหละฟ้องกันถึงขุมขน ก้นบึ้ง ไม่กลบเกลื่อน ช่วยใดๆ
                อินทีเกรทแอมป์ S.M. น่าจะผ่านการเบิร์นอินมาเกินพอ เพราะคุณดนัยได้ฟัง, จูน, แก้ไขมาหลายเดือนแล้ว และก่อนฟังผมก็เปิดเพลงอุ่นครึ่งชั่วโมงก่อนทุกครั้ง

ผมจะวิจารณ์อย่างรวมๆ ก็แล้วกัน

                        1. แม้ว่า S.M. จะเป็นเครื่องหลอดล้วน แต่กลับให้เสียงที่ฉับไว เด็ดขาดเอาว่าดูหนังได้มันส์ก็แล้วกัน อาจไม่ซาดิสม์แบบตูมตามจนน่าเหนื่อย ทุ้มไม่ถึงกับกระแทก เข้ม คม แต่ก็ไม่ง้อซับก็แล้วกัน ไม่น่าเชื่อว่ากำลังขับแค่ 50 W. + 50 W. เอามาดูหนังได้สนั่นห้องเกือบ 40 ตารางเมตรได้ซึ่งปกติเป็นเรื่องปัญญาอ่อน ถ้าใครจะเอาเครื่องหลอดไปดูหนัง

                        2. ให้เวทีเสียง บรรยากาศ การดูหนังน้องๆ เซอราวด์ได้เลย แม้จะใช้ลำโพงแค่คู่เดียว เสียงวิ่งหน้า-หลัง แถมลอยอยูบนเพดาน ห้องได้ (2 ข้อนี้ ท่านที่จะนำไปดูหนังสบายใจได้เลย ไม่ต้องไปวุ่นวายซื้อชุดโฮมเธียเตอร์ให้เกะกะบ้าน) ต่อไปเป็นการฟังเพลง

                        3. เสียงจากแผ่น DVD คาราโอเกะ (เพลงไทย) สุดยอด เราก็รู้ว่าแผ่นไทยบันทึกมา 80% ในท้องตลาด (ไม่ได้เรื่อง) แต่ S.M. กลับทำให้เรารับฟังได้หมดและสอดใส่อารมณ์ได้แบบชวนติดตามน่าฟังอย่างยิ่ง แบบว่าดีกว่าทุกครั้งที่ผมเคยฟังๆ มา บางแผ่นฟังแล้ว อยากเข้าไปกอดนักร้อง หรือแทบเห็นน้ำตาไหลพรากแบบว่าไหลไปร้องไป

                        4. ให้การแยกแยะแจกแจงตำแหน่งชิ้นดนตรีต่างๆ ในวงได้ เปะ, นิ่ง, ไม่วอกแวก ให้ทรวดทรง 3D พอควร (ผมเทียบกับแอมป์ทรานซิสเตอร์ กลับแบนกว่า S.M.)

                        5. ให้เวทีเสียงได้กว้าง, โอ่อ่า การโอบมาซ้ายหลัง, ขวาหลัง อาจเป็นรอง Mark No.383 ของผมบ้าง แต่ก็ดีกว่าเครื่องหลอดส่วนใหญ่ที่เคยฟัง รวมทั้งตำแหน่งวิ่งที่เพดานเหนือศีรษะ เหนือลำโพง เกือบไม่ต้องหวังเลยกับเครื่องหลอดกว่าครึ่งในท้องตลาด ไม่ว่าราคาขนาดไหน แต่ S.M. ทำได้ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ของ No.383 พูดง่ายๆ เรื่องตำแหน่งเสียงเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคาดหวังจากเครื่องหลอดมาแต่ไหนแต่ไร แต่ S.M. ทำให้ความคิดของผมเปลี่ยบไปโดย สิ้นเชิง

                        6. ดวามสงัดไร้การกวนใดๆ น่าเสียดายที่ผมไม่ได้ลองกับ เครื่องเล่นจานเสียง แต่คุณดนัยก็ย้ำว่า ท่านเน้นความปลอดจากเสียงฮัมกวนในภาคจานเสียงอย่างยิ่งยวดกับช่อง AUX ที่ผมฟัง มันก็ให้การปลอดจากเสียงฮัมรบกวนใดๆ น่าจะได้ S/N ไม่ต่ำกว่า 90 dB ซึ่งเกินพอและวิเศษสุดแล้วเท่าที่จะเป็นไปได้กับเครื่องหลอด (No.383 เครื่องทรานซิสเตอร์ของผมน่าจะทำได้ถึง 100 dB S/N คือเงียบจน “สงัด”) ความเกลี้ยงสะอาดหมดจดและโปร่งทะลุของ No.383 จะดีกว่าแต่ถ้าไม่เทียบกัน ผมว่า S.M. ก็เหลือเฟือแล้วในมาตรฐานเครื่องหลอด (มันไม่แพ้ใครอยู่แล้ว)

                        7. รายละเอียดเสียงต้องเข้าใจก่อนว่า S.M. ไม่ใช่ MONITOR AMP ที่จะขุดคุ้ย ขี้ฟ้อง ทุกเม็ดหรือให้รายละเอียดได้แบบไมโคร ชำแรกทุกขุมขนโคนเส้น S.M. ให้รายละเอียดพองาม โดยห่างไกลจากคำว่า “คลุมเครือ” ที่มักเป็นยาดำแทรกกับทุกเครื่องหลอด จนหทำให้เข้าใจผิดว่ามันคือ ความนุ่มหวาน S.M. ให้คุณเข้าถึงเสียงผิว, เสียงกรีดนิ้วบนสายดับเบิลเบส, เสียงพลิ้วกระเพื่อมของเส้นสายเปียโน, ดับเบิลเบส, กีตาร์โปร่ง, เสียงกรุ้งกริ้งระยิบระยับของ สามเหลี่ยม, เสียงผิวปาก,ฯลฯ

                        8. จุดเด่นพิเศษของ S.M. คือ การถ่ายทอดอากัปกิริยาของ นักร้อง, เสียงร้อง, ของเสียงพูดพากย์ไทยจาก Blu-ray, DVD ได้ อย่างเข้าถึงอารมณ์ของผู้พูด ผู้ร้อง อย่างที่คุณจะต้องอึ้งและตื่นตะลึง (ยิ่งเร่งดังสักนิดจะยิ่งโอ้โห!) พูดตามตรง No.383 ของผมยังเป็นรองนิดหน่อยในแง่นี้! นี่ละมั้งที่เรียกว่าเสน่ห์ของหลอด (ที่ดีจริง...เน้นขอยืนยันว่าไม่ใช่เครื่องหลอดทุกเครื่องถ้าเป็นหลอดแล้วจะให้สิ่งนี้ได้อย่างง่ายๆ)
                9. S.M. ให้ความถี่ตอบสนองได้ค่อนข้างราบรื่นตั้งแต่ 35 Hz~25 kHz (+ 1.2 dB แถวๆ 60-80 Hz และ -1 dB ที่ 25 kHz, -3 dB ที่ 35 kHz)
                10. ให้พละกำลังที่เหลือเฟือ เสียงตีกลองใหญ่เพลงอารีรังจากแผ่น The Greatest Alto Female VOL. 1 (Top Music) ทั้งแน่น, หนัก, ทรงพลังยิ่งใหญ่ไร้การสั่นค้าง (!) ไม่น่าเชื่อว่า เครื่องหลอดจะทำได้ขนาดนี้ (น่าจะเพราะคุณดนัยพันหม้อแปลงเองทั้งหมดจึงรู้และแก้ปัญหาเรื่อง DAMPING FACTOR (เบสสั่นค้าง) ไว้ล่วงหน้าแล้ว

                สรุป ขออวยพรให้คุณเป็นคนโชคดีในไม่กี่คน ที่จะได้เป็น เจ้าของอินทีเกรทแอมป์หลอดระดับเทพตำนานอย่าง S.M. นี้ไม่ใช่ด้วยราคา (ลดแล้ว) 78,000 บาท อันเป็นค่าตัวของมัน หากแต่คุณดนัยท่านอายุ 63 ปีนี้แล้ว ท่านทำทุกตัวเก็บทุกเม็ดด้วยตนเองจึงต้องใช้เวลาจ่ายแล้วรอนานถึง 2 เดือนกว่า (อย่างเร็ว) คุณคิดว่า คุณดนัยจะมีเรี่ยวแรงทำได้อีกสักกี่ตัว

                วันหนึ่ง S.M. จะเป็นตำนานและหากันยังกับหาทอง (คุณภาพอย่างนี้ใส่เสื้อสูทหน่อยไม่น่าหนีมาจากค่ายฝรั่ง ราคาลดแล้ว 250,000 บาท!)

                ขอขอบคุณ คุณสมบูรณ์ (เพี่อนนักเล่นอาวุโส) ที่แนะนำชักนำให้ผมรู้จักคุณดนัย รวมทั้งคุณสันติที่คอยเป็นตัวเชื่อมและเจ้าของ S.M. เครื่องที่นำมาทดสอบนี้

                สำหรับท่านที่อยาก “เก็บตำนาน” ไว้เป็นของตนเองบ้าง ลองโทร.ไปคุยกับคุณดนัยได้ที่ 085-183-7920 ขอร้องนะครับขอร้องจริงๆ ท่านอายุหกสิบกว่าแล้วสุขภาพไม่ค่อยดีนัก ถ้าไม่จำเป็น กรุณาอย่าโทร.ไปรบกวนท่านเลยครับ สงสารท่านเถอะ (จริงๆ ผมไม่อยากให้เบอร์ท่านด้วยซ้ำ ใครอยากได้เครื่องท่านก็ไปสืบเสาะเอาเองในวงการ)

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459