000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > จอภาพ OLED มาแรงแน่นอน
วันที่ : 18/07/2017
5,771 views

จอภาพ OLED มาแรงแน่นอน

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

คงจำกันได้ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว SONY นำเสนอจอภาพ OLED โดยมีการวางขายจริงจังเป็นรายแรกของโลก น่าเสียดายที่มีขนาดเล็กแค่ 10 นิ้ว (16:9) ซึ่งผู้เขียนเคยทำการทดสอบ ตอนนั้น ถ้าจำไม่ผิด ยังเป็นแค่ HD READY คือรองรับความละเอียดภาพแค่ 720 เส้น ไม่ใช่ FULL HD แต่ด้วยขนาดจอแค่นั้น ก็ถือว่ารายละเอียดยอมรับได้ สีสันออกสด ถือว่าเที่ยงตรงถูกต้อง แต่สีแดงจะแจ๋นไปนิด ซึ่งแก้ไม่ได้ ทรวดทรงวัตถุในภาพ พอใช้ ส่วนมืด ก็มืดสนิท ปัญหาอย่างเดียวที่ทำให้มันไปไม่รอด คือ แพงมาก ประมาณ 7 หมื่นกว่าบาท (จอ 10 นิ้ว!)

               จากนั้นไม่นาน SONY ก็โยนผ้า ถอดใจ เลิกพัฒนาจอ OLED อีกต่อไป เนื่องด้วยติดที่

               1. พลังความสว่างของภาพ ยังเป็นรองจอ LCD ปกติมาก จึงสู้แสงภายนอกไม่ค่อยได้

               2. จุดสีน้ำเงิน มีอายุสั้นกว่าจุดสีเขียวกับแดง ใช้ไปไม่นานจอจะออกอมแดง (สังเกตได้จากโทร.มือถือที่ใช้จอ OLED จะออกอาการอย่างนี้ทั้งนั้น)

               3. ราคายังสูงมากไป

               หลายปีต่อมา LG สร้างความฮือฮากับตลาดทีวีจอ LCD ด้วยการวางตลาดจอ OLED ขนาด 55 นิ้ว เป็นเจ้าแรกในโลก โดยทางเจ้าหน้าที่ของ LG เองยืนยันว่า ได้ยืดอายุของจุดสีน้ำเงินขึ้นอีกมาก จนน่าจะถึงจุดที่ตลาดยอมรับได้แล้ว

               และสำหรับพลังแสง ทาง LG ใช้การเติมจุดสีขาวเข้าไปเพื่อช่วยให้ “ตาดู” แล้วเหมือนว่าแสงมีพลังมากขึ้น ซึ่งก็ประสบความสำเร็จการขายในระดับไม่มากเอาเสียเลย เนื่องจากว่า ราคาตั้งตอนนั้นสูงลิบลิ่วถึง 3 แสนกว่าบาท ต้องคนมีเงินเหลือใช้ และชอบจอที่บางเฉียบ (ขณะนั้นบางกว่าจอ LCD ปกติถึงร่วม 3 เท่า) สีสันก็ถือว่าโอเค แม้ว่าจะออกแจ๋นไปบ้าง (Gamut ของเฉดสี หนักไปในช่วงกลางๆ เพื่อให้รู้สึกว่า ภาพสว่างมีพลังพอจะสู้กับจอ LCD ทั่วไปได้บ้าง) ผลคือ วัตถุในภาพออกแบน ทรวดทรงไม่ค่อยเป็น 3 มิติ

               แต่เมื่อ LG ตัดราคาลงมาอยู่ที่แสนกว่าบาท ยอดขายก็กระเตื้องดีขึ้นพอควร และท้ายสุดตัดลงมาเหลือประมาณ 7 หมื่นบาท ยอดขายไปได้สวยเลยทีเดียว (ตอนนี้เป็น FULL HD) ปัจจุบันจอ OLED FULL HD ของ LG อยู่ที่ 4 หมื่นกว่าบาทถึง 5 หมื่นกว่าบาท ทำให้หลายๆ คนตัดสินใจหามาใช้กัน และพิสูจน์ให้เห็นว่า จอ OLED ไปได้ ถ้าราคาไม่แรงมาก

               ขณะเดียวกัน ค่ายจอ LCD ก็ทำได้บางลง 50-100% จนท้ายสุดหนาแค่ 2 เท่าของจอ OLED ทำให้ข้อดีของจอ OLED ที่บางเบา ไม่เป็นจุดเด่นอีกต่อไป แถมมีข่าวว่า คนขาย, ผู้บริโภค มักไปจับยึดยกที่จออันบางเฉียบของ OLED จนจอแตกหักด้วย

               LG เป็นเจ้าแรกที่ประกาศว่า จะมุ่งจอ OLED อย่างจริงจังแบบรุกไม่ถอยแล้ว ด้วยการออกรุ่นใหญ่ 55-65 นิ้วที่เป็น OLED FULL HD (2K) และล่าสุด 55-75 นิ้วที่เป็น OLED 4K โดยคุยว่า เทคโนโลยีล่าสุด ช่วยให้ภาพสว่างยิ่งขึ้น (แต่ไม่ได้เอ่ยถึงอายุของเม็ดสีน้ำเงินว่า ได้ปรับปรุงอะไรล่าสุด หรือว่าดี, ยาวนานเกินพอ จนไม่ต้องพูดถึงแล้ว!) 

               นับเป็นความท้าทาย ที่กล้าทำจอ OLED ความละเอียดขนาด 4K ออกมา เพราะปกติ ยิ่งความละเอียดสูง UHD 4K เม็ดภาพยิ่งเล็กจิ๋ว จนยากที่จะเปล่งแสงออกมาได้สว่างอย่างน่าพอใจ (จอ OLED ทุกเม็ดภาพจะเปล่งสี/แสง ออกมาด้วยตัวของมันเอง ดุจหลอดนีออนจิ๋ว มิใช่จอ LED ที่ความสว่างมากน้อยเกิดจากดวงไฟ LED ส่องด้านหลังแผ่นภาพ LCD ที่จะให้สว่างเท่าใดก็ได้)

               ความสำเร็จของจอ OLED ของ LG ทำให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ต้องกลับมาจับตามองอย่างไม่กะพริบ เพราะมันตอบโจทย์ให้ผู้บริโภคได้แทบหมด ได้แก่

               1. ภาพโดยรวมโอเค ใช้ได้ค่อนข้างดีมากแล้วทั้งสีสัน, แสง

               2. จอมีน้ำหนักเบากว่าจอ LCD ปกติมาก สะดวกติดตั้งโยกย้าย

               3. จอแบน สะดวก เหมาะสม ในการแขวนไว้ที่ผนัง

               4. ราคาถูกลงตลอดเวลา

               แต่ไม้ตายที่ผลักให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ต้องลงมาเล่นตลาด OLED ด้วยกับ LG คือ

               1. ด้วยเทคโนโลยีหลักของ OLED เอง ทำให้สามารถ “พิมพ์” จอให้มีขนาดใหญ่เท่าไรก็ได้ ด้วยเทคโนโลยีทำนองเดียวกับการพิมพ์กระดาษนี่เอง

               2. นับวันต้นทุนของจอจะมีราคาถูกลงๆ

               3. เป็นไปได้ที่ต่อไป จอ OLED จะเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งบ้านแทนที่การทาสี แต่การใช้จอ OLED จะทำลูกเล่นได้สารพัดกว่ามากมายนัก

               4. จอ OLED จะมีอิทธิพลสูงในวงการโฆษณาต่อไป

               5. ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกแย่ ผู้ผลิตทีวีที่ใช้จอ OLED จะได้เปรียบสูงสุด เพราะปกติจอ LCD จะมีต้นทุนถึง 30% ของราคาทั้งเครื่อง

               พูดง่ายๆ ว่า ค่ายไหนที่ยังจมยึดอยู่กับจอ LCD ปกติ จะไม่มีทางแข่งขันกับค่าย OLED ได้เลย ยิ่งตลาดจอใหญ่ 55 นิ้วขึ้นไป ถึง 85 นิ้ว จอ LCD ลืมได้เลย ราคาน่าจะพุ่งไปถึง 1.2-2 ล้านบาท (4K) ขณะที่จอ OLED ไม่น่าเกิน 8 แสนบาท (และจะถูกลงเรื่อยๆ)

               จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า  ทำไมวันนี้ เราจึงได้เห็นจอ OLED จาก SONY และ PANASONIC (ซึ่งน่าจะใช้จอของ LG คงไม่ไปลงทุนค้นคว้าวิจัยเองใหม่ แต่วงจรภาพอื่นๆ ทั้ง SONY และ PANASONIC น่าจะทำเอง) (SAMSUNG เองอาจเป็นเสือซุ่มที่ตระเตรียมจอ OLED ไว้เช่นกัน เพราะมีทั้งเงินและเทคโนโลยีอยู่แล้ว)

               จอ OLED ให้ภาพที่สมบูรณ์แบบแล้วหรือ

               1. สีสัน ถือว่า ถูกจริตชาวบ้าน คือออกจัดจ้าน โฉ่งฉ่างดี แต่สำหรับระดับมืออาชีพ การไล่เฉดสีจากอ่อนสุดไปแก่สุดยังไม่เป็นเชิงเส้นเท่าที่ควร (Gamut Linearity ยังไม่ดี) ยังเน้นเฉพาะช่วงกลางๆ

               2. ความฉ่ำของสียังเป็นรอง LCD ทำให้ความแวววาวของสีสันยังเป็นรอง ดูใหม่ๆ ตื่นเต้นดี ดูนานๆ น่าเบื่อ เลี่ยน

               3. รายละเอียดของพื้นผิวยังโพลนไปหมด (Texture ยังไม่น่าประทับใจ) ยังอ่อนไหวต่อสัญญาณรบกวน (Noise) พูดง่ายๆ ว่า Low Level Detail ของสัญญาณภาพยังไม่น่าประทับใจ พอเร่งแสง เร่งสีเพื่อให้เหมือนภาพมีพลัง รายละเอียดผิวพรรณถูกลบเลือนเกลี้ยง

               4. ความอ่อนแก่ของแสง ไล่จากที่มืดไปที่สว่าง ยังไม่กว้างเท่าที่ควร กล่าวคือ ตรงไหนมืด ก็มืดตึดตื๋อ ดูไม่ค่อยออกว่าอะไรเป็นอะไรในบริเวณมืดๆ นั้น บริเวณที่ควรสว่างโร่เจิดจรัสจ้าก็ไม่สว่างเต็มที่ กลับสว่างพอๆ กับบริเวณปกติ ทำให้เหมือนภาพขาดไฮไลท์ (Dynamic Contrast ยังไม่เต็มที่) การไล่ลำดับแสงออกอั้น, ตื้อๆ เหมือนถ่ายทำกันช่วงบ่ายคล้อยเย็นทั้งเรื่อง

               5. ผลของข้อ 3, 4, 5 ทำให้วัตถุต่างๆ ในภาพ ไม่ได้ทรวดทรงเป็น 3 มิติ (3D) เท่าที่ควร ออกเป็นโปสเตอร์แบนๆ ทุ่งหญ้า, พุ่มไม้เขียวๆ ออกเขียวเป็นพรืด ไม่ค่อยเป็นใบๆ พุ่มดอกกุหลาบก็แดงเป็นพรืด ไม่เป็นกลีบๆ แดงอ่อนแก่ต่างกัน ใบหน้าคนแก่ มีสิวเสี้ยนแต่ไม่เห็นผิวหยาบกร้าน

               6. จากการที่จอ OLED บางเฉียบ ทำให้มันอ่อนไหวต่อการสั่นสะเทือนจากลำโพง จากลมแอร์, พัดลม อันทำให้ความคมชัดลดลง

               หลักการดูภาพจากจอ OLED

               1. ต้องทุ่มทุนกับสายภาพที่ดีที่สุด เท่าที่จะซื้อไหว เพื่อเก็บเกี่ยว Dynamic Contrast ให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด

               2. ทำทุกวิถีทางที่จะลดคลื่นความถี่สูงรบกวน (Noise) จากภายนอก (ที่มาทางอากาศ) (เช่นใช้กล่องดูดคลื่น RT-1 ดูรายละเอียดงานทดสอบในเว็บนี้) และลด Noise ภายในตัวจอเอง, ในตัวเครื่องเล่นแผ่น, ไฟล์

               3. กรณีต่อสายภาพ (เช่น HDMI) ผ่านเครื่องเสียงเซอราวด์ ต้องหา RT-1 มาลดการกวนต่อเครื่องพวกนี้ด้วย

               4. ป้องกันทุกวิถีทางมิให้ตัวจอถูกการสั่นสะเทือน ถ้าเป็นไปได้อย่าใช้ลำโพงที่มากับจอ พวกลำโพง Sound Bar ก็อยู่ใกล้จอเกินไป

               5. เปลี่ยนสายไฟ AC ใช้ของดีมีระดับเท่าที่งบไหว รวมทั้งพวกตัวกรองไฟ AC ต่างๆ (ดูทดสอบ กระบอกแม่เหล็ก HFC) (ตัวกรองไฟ PHD Power Station)

               6. อย่าให้จอ OLED เผชิญกับแสงแผดจ้าจากภายนอก ถ้าเป็นไปได้ควรดูในห้องไฟสลัวหรือมืด เพื่อไม่ต้องเร่งแสง, สีมาก การให้แสง, สีของจอ OLED จะได้เที่ยงตรงเป็นเชิงเส้นมากขึ้น (Linearity ดีขึ้น)

               7. ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าเชื่อมต่อ WiFi, LAN อินเตอร์เน็ตกับจอ สัญญาณพวกนั้นป่วนคุณภาพของภาพทั้งนั้น (หลอดส่องสว่าง LED ในห้องก็เช่นกัน)

สรุปส่งท้าย

               น่าเสียดายที่ผู้นำเข้า, คนขาย, ก็ยังไม่ทราบจุดดีจุดเด่นของตัวจอ OLED เอง หรือทำอย่างไรจึงจะโชว์ศักยภาพของจอ OLED ได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น

               เกือบ 100% ที่โชว์ตามโชว์รูม, ในห้าง, ผิดหมด เอาแค่เร่งสี, แสง เพื่อดึงดูดสายตา (แต่ไม่ดึงดูด...อารมณ์) แม้แต่ การเปิดตัวสินค้า OLED ต่อผู้สื่อข่างก็ยังทำผิดพลาด ชอบนักที่จะเอาสปอร์ตไลท์ ตู้ไฟส่องย้อนแสงเข้าตาผู้ที่ต้องการดูภาพจากจอ

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459