000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > เสน่ห์วินเทจที่คุณเองก็ไม่ทราบ
วันที่ : 01/08/2017
10,714 views

เสน่ห์วินเทจที่คุณเองก็ไม่ทราบ

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว มีโอกาสไปนั่งฟังชุดเครื่องเสียงโบราณที่อายุของแต่ละชิ้น 50 ปีขึ้นไป เรียกว่า เล่นกันสมัยพ่อหรือปู่โน่นไปเลย ท่านเจ้าของชุดได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจ ที่เขาอยากฝากไว้ให้นักเล่นเครื่องเสียงเก่าโบราณ (Vintage) ได้ตระหนักเอาไว้ (ต้องเรียนให้ทราบก่อนว่า ท่านเป็นนักเล่นวินเทจตัวพ่อเลย ของแพงระยับเท่าไหร่ ท่านซื้อมาเล่นหมดแล้ว ชุดวินเทจที่ท่านเปิดให้เราฟัง มูลค่าน่าจะร่วมล้านเศษ ท่านเป็นคนขี้เบื่อ ชอบลอง ไม่มีอะไรอยู่กับท่านได้นาน ท่านเน้น “ความน่าฟัง” ได้อารมณ์เป็นหลัก) ข้อคิดท่าน

                1. เราฟังเสียงวินเทจ เพื่อดื่มด่ำ เสพความรู้สึกเดียวกับผู้ฟังในอดีตหรือหูอดีตเขาฟังๆ กัน ไม่มากหรือน้อยกว่านั้น

                2. เพื่อเข้าถึงข้อ 1. อุปกรณ์อื่นๆ ที่มาเข้ากับชุดเดียวกัน ก็ต้องมุ่งไปในทิศทางเดียวกันตามข้อ 1. เพื่อสำเร็จข้อ 1. ด้วยกัน แม้แต่แหล่งกำเนิดเสียง (ซึ่งคงไม่พ้น จานเสียง)

                3. จะต้องไม่มีการไปปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขใดๆ ต้องคงสภาพเดิมที่สุด เพื่ออยู่ในกรอบของข้อ 1.

                บางท่าน ปรับโน่น เปลี่ยนนี่ เพิ่มนั่นนี่ (เช่นซุปเปอร์ทวีตเตอร์) โอเค มันอาจทำให้สุ้มเสียงชัดเจน สดใสขึ้น หรือการนำตู้ซับแอคตีฟมาช่วยทุ้มลึก

                การเพิ่มเติมทั้ง 2 อย่าง ทำให้การตอบสนองของชุดกว้างขึ้น (Bandwidth กว้างขึ้น) แต่มันก็ไม่ใช่ เสียงเดิม อารมณ์เดิมอีกต่อไป

                บางท่าน เล่น/ฟัง จากเครื่องเล่น CD (แน่อนอ จากแผ่น CD) หรือหลอกตัวเอง ด้วยการฟังจากไฟล์จากเว็บ (แม้เป็นเพลงเก่า) แต่มันไม่ใช่จานเสียง จากเครื่องเล่นจานเสียง แล้วจะได้อารมณ์จานเสียงของยุคนั้นได้อย่างไร

                บางท่าน หลอกตัวเอง (อีกครั้ง) แม้จะฟังจากแผ่นจานเสียง แต่เป็นแผ่นที่นำมาบันทึกใหม่ ซึ่งไม่มีทาง “เหมือนเดิม (Original)” ได้เลย เพราะสภาพแวดล้อม, อุปกรณ์ ตอนทำใหม่ แตกต่างโดยสิ้นเชิง กับสภาพแวดล้อม, อุปกรณ์ ในสมัยกว่า 50 ปีที่แล้ว (เช่น ปัจจุบัน มีการใช้ระบบตัดต่อ แก้ไขด้วยคอมพิวเตอร์, สายต่อยุคใหม่, มี PC, โน้ตบุ้ค, จอ LCD, รีโมทแอร์, รีโมทเครื่อง, ดวงไฟ LED, LAN/Wi-Fi, คลื่นวิทยุ/ทีวีดิจิตอลนับสิบๆ, คลื่น CB/VR, กระแสไฟ AC ที่เต็มไปด้วย “ขยะ”, นาฬิกาไฟฟ้า, มือถือที่ช่างพกเข้าสตูดิโอ ฯลฯ ทั้งหมดทั้งสิ้นล้วนทำลายความใสซื่อ บริสุทธิ์ของ “เสียง, บรรยากาศ” ดั้งเดิมแบบกู่ไม่กลับ แม้แต่ตอนส่งมาสเตอร์ไปทำเพลท, ทำแผ่น ที่นั่นก็จะพบกับปัญหาเดียวกันทุกประการ

                ผมจึงขอยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ว่า ชาตินี้ ไม่มีทางที่ใครจะ RE-ISSUE หรือ ปลุกมัมมี่มาสเตอร์เก่า ทำแผ่นใหม่ หรือแม้แต่ที่คุยว่า ถ่ายจากมาสเตอร์เทป Open Reel มาเป็น Open Reel ขายอีกที (ต่อให้ Direct Transfer 1:1 ด้วย) ก็ไม่มีทางได้ “บรรยากาศ, อารมณ์” แบบต้นฉบับได้เลย

                นี่คือเหตุผลที่แผ่นเพลงไทย (จานเสียง) บางแผ่นที่เป็นรุ่นแรก (Original) จึงมีราคา (ปั่น) พุ่งสูงเป็นหมื่นๆ อย่างแผ่นจูบ ของคุณพิทยา (30,000 บาท), แผ่นคุณหญิงพวงร้อย (แผ่นคู่ปก 2 สีต่างกัน) คู่ละ 85,000 บาท, แผ่นจากภาพยนตร์ “แผลเก่า” (สรพงษ์ ชาตรี) 15,000 – 25,000 บาท ฯลฯ

เครื่องเสียงวินเทจดีจริงหรือ

                อะไรทำให้ผู้ที่ฟังวินเทจไปนานๆ รับไม่ได้กับเครื่องเสียงยุคใหม่ ในอัลบั้มเดียวกัน

                1. การฟังเสียงวินเทจ 99% คือฟังจากจานเสียง ซึ่งเป็นเสียงอนาลอกแท้ๆ ไม่ใช่เสียงอนาลอกที่แปลงกลับจากดิจิตอล

                เสียงอนาลอก จะให้รายละเอียดของเสียง (เช่น การแยกแยะระดับเสียงอ่อน-แก่ เรียกว่า Resolution ของ Dynamic Contrast) ได้เป็นอนันต์ คือ มากมหาศาลนับไม่ได้ (Infinity Bit Depth) ขณะที่ระบบดิจิตอล CD ได้แค่ 16 บิท, SACD อาจได้ 24 บิท, หรือไฟล์ HD ได้ 24-32 บิท มันเทียบไม่ได้เลยกับ อินฟินิตี้ บิท จากอนาลอก

                พวกเสียงดิจิตอล พอกระโดดเข้าสู่ระดับ HD (Hi-Def) ก็สร้างปัญหา เกิดคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radio Frequency) ระดับ GHz แผ่กระจายไปป่วน “ทุกวงจร” ทุกอุปกรณ์ภายในเครื่องเล่น, ในห้องฟัง, ในสาย “ทุกเส้น, ทุกรูปแบบ”, ต่อสมอง ทำให้เสียงไร้วิญญาณ ชัดแบบ “ไร้สาระ” ขาดวิญญาณ, อารมณ์, เสน่ห์ นอกจากผู้ออกแบบ, ผู้เล่น จะรู้จักวิธีจัดการกับตัวแสบเหล่านี้อย่างเป็นงาน, ได้ผล ก็จะบรรเทาได้เยอะ

                แต่จะมีสักที่คนที่ตระหนักจุดนี้ มีแต่ปั่น, สร้างกระแส, หรือพากันออกทะเล ด้วยการเอาแต่เสาะแสวงหา DAC แปลกๆ มาเล่น, สายดิจิตอลแพงๆ มาเล่น หรือสาปส่งดิจิตอล และลากจูงกันมาฟังแต่แผ่นจานเสียงลูกเดียว โดยอ้างว่า ถ้าจะฟังไฮเอนด์ ต้องฟังจากแผ่นเท่านั้น แล้วก็จับมือสร้างกระแสไฮเอนด์อนาลอก ด้วยราคาเครื่องเล่นจานเสียงที่ซื้อรถ ซื้อคอนโด ซื้อบ้านได้เป็นหลังๆ หนักเป็นร้อยๆ กิโลกรัม หัวเข็มที่แพงกว่าแหวนเพชร อาร์มที่แพงระดับไม้ตีกอล์ฟโปรระดับโลก โดยลืมไปว่า ในยุค 50 ปีที่แล้วย้อนขึ้นไป ผู้ผลิตแผ่นจานเสียง ทำมาเพื่อให้เล่นกับเครื่องเล่นจานเสียงหลักร้อย, หลักพัน หรืออย่างแพงหลัก 1-2 หมื่นบาทเท่านั้น (ดูบทความ เล่นจานเสียงกับ CD ใครน่าเล่นกว่ากัน ในเว็บนี้เสริมนะครับ ขุดคุ้ย แฉอย่างถึงกึ๋นส์)

                ธุรกิจขายแผ่นจานเสียง จึงกลายเป็นธุรกิจสร้างกระแส ปั่นราคาเหมือนธุรกิจพระเครื่อง ยิ่งมีโซเชียล ยิ่งโกหกได้เนียน, คำโตยิ่งขึ้น

                นั่นเป็นส่วนหนึ่งของ “แหล่งรายการ”

                อย่าลืมว่า ผมพูดในฟากของผู้ที่ต้องการ “เสียง, บรรยากาศ” เดิม (ตามข้อ 1)

ระบบลำโพง

                ลำโพงยุควินเทจ ต่างจากลำโพงยุคนี้โดยสิ้นเชิงในเรื่องความไว (Sensitivity) เนื่องจากในยุค 50-70 ปีที่แล้ว ภาคขยายเสียงแบบหลอดยังทำได้กำลังขับที่ต่ำมาก แค่ 3-15 วัตต์/ข้าง ส่วนใหญ่ (ชาวบ้าน) 3 วัตต์/ข้างลำโพง จึงต้องทำดอกลำโพงให้มีความไวสูงมาก ระดับ 100-112 dB ระบบตู้ลำโพงแบบปากแตร (HORN) ช่วยเพิ่มระดับเสียง (Acoustic Gain) ลำโพงยุคนั้น จึงต้องตู้ใหญ่มากๆ (ระบบท่อวกวน Transmission Line)

                เพื่อให้ได้ความไวของระบบลำโพงรวม 100-115 dB/w/m และยังพอจะมีเสียงทุ้มบ้าง (แต่ไม่ลงลึกนัก อย่างเก่งก็ลงได้จริงๆ 80 Hz ก็หรูแล้ว)

                ต่อมามีการออกแบบตู้ลำโพงแบบตู้ปิด (Acoustic Suspension) เพื่อย่นย่อขนาดตัวตู้ จากขนาดตู้กับข้าว มาเป็น 2 กล่องใส่รองเท้า แถมทุ้มลงได้ลึกขึ้น ลงได้ถึง 30 Hz อย่างมีนัยสำคัญด้วย (ทุ้มอิ่มแน่น เป็นลูกๆ อย่างที่ลำโพงสมัย 50-70 ปีที่แล้ว ไม่มีทางทำได้เลย) แต่ก็ต้องยอมสูญเสียความไวลงเยอะ เช่นเหลือ 85-89 dB/w/m (โดยเฉลี่ยในท้องตลาดลำโพงปัจจุบัน) ทำให้ต้องใช้กำลังขับจากแอมป์สูงๆ ระดับ 80 วัตต์/ข้าง ถึง 100 วัตต์/ข้าง ที่ 8 โอห์ม โชคดีที่ยุคหลังจาก 40 ปีมานี้ ราคาแอมป์ (ภาคขยาย) ราคาต่อ 1 วัตต์ ถูกลงๆ ทุกวัน ทำให้การขับลำโพงรุ่นใหม่ๆ ให้ได้ความดังแบบคับห้อง สะท้านรูหู ไม่ใช่เรื่องเกินฝัน เปิดกันทีถึง 100 dB SPL ในบ้านได้สบายๆ พอๆ กับลำโพงวินเทจในอดีตได้เลย

                แต่...ลำโพงรุ่นใหม่พวกนี้จะให้ความฉับไว (Transient Response), ความเพี้ยนผสมเสียง (IMD), การแยกแยะไต่ระดับดัง-ค่อยได้ละเอียดยิบ (Dynamic Contrast) สู้ลำโพงที่กินวัตต์ต่ำๆ อย่างอดีตไม่ได้ (จากการที่ต้องใช้แอมป์วัตต์สูงขับ และดอกต้องรับ/สู้กับกำลังขับสูงๆ ได้ด้วย จึงต้องมีความหนืดตัวยั้งตัวดีพอ ไม่ขยับแบบ “กระโชก” ง่ายๆ ทั้งหมดนี้ล้วนบั่นทอน Dynamic Contrast ทั้งนั้น ทำให้เหมือนลำโพงไม่มีความละเอียดของ Bit Depth (HD) และ Resolution มากพอ เหมือนการ Touching ของคีย์ที่ไม่ดี ของเปียโนราคาถูก กลองราคาถูก ถ้าพูดภาษาดิจิตอล เหมือนลำโพง Bit Rate ต่ำ แทนที่จะเป็น บิทอนันต์ (เพราะลำโพงเป็นระบบอนาลอก)  ก็เหมือนทำได้แค่ 16, 24, 32, 64 บิท ซึ่งนักฟังอารมณ์วินเทจ รับไม่ได้ ยิ่งเคยชินกับการฟังจากลำโพงวินเทคฮอร์นใหญ่ เสียงใหญ่เต็มห้อง มาฟังจากลำโพงสมัยใหม่ทั่วๆ ไป (ไม่พูดถึงที่ซุปเปอร์ไฮเอนด์ ตัวตู้สูงท่วมหัว) จึงเหมือนลูกแมวร้องเพลง ไม่ใช่ราชสีห์หรือช้างคำรามร้อง พอเร่งดังก็ยิ่งออกอาการ “ตื้อๆ” “ยั้งๆ”...จบข่าว

สรุป จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมนักฟังวินเทจระดับเทพ จึงยึดมั่นอยู่กับเครื่องเล่นจานเสียง แผ่นต้นเดิม ลำโพงฮอร์นวินเทจความไวสูงลิบ และแน่นอน ภาคขยายเสียงหลอด (ที่ให้ความกังวานและเนื้อเสียง เข้าได้ดีที่สุดกับเสียงจานเสียงและลำโพงฮอร์น)

บทส่งท้าย ที่พูดมาทั้งหมด เป็นฟากการฟังแบบฟื้นคืนอารมณ์แบบ 50-70 ปีที่แล้ว ไม่เกี่ยวกับการนำชุดวินเทจเก่ามาฟังแบบเอาชัด, ครบ ยิ่งขึ้น ไม่ว่าด้วยกรรมวิธีเสริมใดๆ มันคนละจุดมุ่งหมายโดยสิ้นเชิง

(ห้ามพลาด! อ่านเพิ่มเติมในเว็บนี้ หัวข้อบทความ...เครื่องเสียงโบราณ (Vintage) น่าเล่นไหม ห้ามพลาดนะครับ ก่อนจะตัดสินใจอะไรลงไปเกี่ยวกับการเล่นเครื่องวินเทจ)

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459