|
การทำเสียง...ใหญ่ โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ ตอนนี้พวกลำโพงบลูทูธพกพา หรือแม้แต่พวกตั้งโต๊ะขนาดเล็ก กะทัดรัด กำลังขายดี ได้รับความนิยมสูง เพราะราคาอยู่ที่หลักร้อยหลักพัน(พันกว่าบาท) ถ้าของฝรั่งมียี่ห้อก็ 2-3 พันบาทถึงร่วมหมื่นบาท การเล่นก็ง่ายๆ ยิงคลื่นวิทยุ (ระบบ Bluetooth) จากโทรศัพท์มือถือเข้าไป เสียงก็ออกมาแล้ว เลือกรายการ, เลือกเพลงที่โทรศัพท์นี่แหละ จุดขายอย่างสำคัญของพวกลำโพงบลูทูธเหล่านี้คือตัวเล็ก...เสียงใหญ่ บางยี่ห้อ บางรุ่น ยอมรับว่า เสียงดังลั่นห้องเกินตัวจริงๆ (พวกนี้มักขายดี) เขาทำกันได้อย่างไร ตัวเล็ก...เสียงดัง ถ้าเป็นของถูก จะใช้วิธีดังนี้ 1. ลำโพงเป็นดอกเดียว (โมโน) หรือ 2 ดอก (ซ้าย 1, ขวา 1) โดยใช้ลำโพงดอกเดียว ออกทุกความถี่เสียง (Full Range) ข้อดีคือ ไม่กินวัตต์ ความไวสูง อาจลูกเล่น พันวอยส์คอยล์ให้ความต้านทานลำโพงต่ำๆ เช่น 4 หรือแม้แต่ 2 โอห์ม ซึ่งจะให้เสียงดังกว่าพวก 6-8 โอห์ม แต่ภาคขยายเสียงจะร้อนมากและทุ้มจะเบลอ แต่คนทำคงไม่สนใจ เพราะทุ้มก็ลงได้ไม่ต่ำอยู่แล้ว เสียงทุ้มเบลอ, ยานคราง จึงหลุดพ้นช่วงการทำงานของระบบ อีกทั้ง เขาใช้ภาคขยาย Class D มันร้อนยากอยู่แล้ว แต่ยังไงก็จะกินไฟมาก ถ่านหมดเร็ว แต่ตรงนั้นเป็นปัญหาของผู้ซื้อ อยากได้ของถูก ตัวเล็กเสียงดัง ก็ต้องเปลี่ยนถ่านบ่อย แต่จะสนใจทำไม พวกนี้เล่นไม่กี่อาทิตย์, เดือนก็พังอยู่แล้ว 2. ทำตัวตู้ให้ไม่ต้องแข็งแรงมาก (ชอบอยู่แล้ว ลดต้นทุนได้อื้อ) ตู้สั่น เสียงก้อง ก็เหมือนดังขึ้น (แต่ขุ่น, มัว, ก้อง, อู้) 3. เวลาขาย วางลำโพงบนโต๊ะ, เข้ามุมชั้นวาง, หิ้งวาง เพื่ออาศัยเสียงก้องจากพื้นโต๊ะ, มุมห้อง, มุมชั้นวางมาช่วยเสริมความดัง (แต่คุณภาพความคมชัดหายหมด) 4. เพลงที่นำมาเปิดจะบันทึกแบบกดการสวิงเสียงไว้ ผลคือ ทุกเสียงในวงดังเท่ากันไปหมด ซึ่งจะหลอกหูว่า มันดังดี (แต่มั่ว, ตีกัน เหมือนหมากัดกัน อื้ออึงไปหมด) 5. ใช้วงจรกดการสวิงเสียงเอาไว้ (Compression) เพื่อหลอกหู ด้วยอาการเดียวกับข้อ 4 ถ้าเป็นของแพง ระดับหมื่นบาทขึ้นไป 1. ทำคล้ายของถูก แต่ดอกลำโพงคงทำมาต่ำสุดแค่ 4 โอห์มเพื่อไม่ให้ทุ้มคราง, กลางขุ่นก้อง คือ เน้นความถี่ต่ำครบ ชัดกว่า ดอกจึงต้องใช้ดีกว่า ให้เสียงตั้งแต่ทุ้มถึงแหลมได้ บางครั้ง แยก 2 ดอก (ดอกแหลม+ดอก Full Range) 2. เมื่อดอกดี ก็ทนวัตต์ได้สูง ก็ใช้ภาคขยายวัตต์สูงๆ ได้ ถ้าเอากำลังเป็นหลักก็ Class D ถ้าเอาสุ้มเสียงเป็นหลักก็ Class AB (ค่อนไปทาง B มากกว่า A) 3. ทำตัวตู้ให้ใหญ่ เสียงก็จะอิ่มใหญ่ได้มากขึ้น การที่ตู้ใช้วัสดุดีกว่า แน่นหนากว่า สั่นน้อยกว่า เสียงก็ “หลุด” ตู้ได้ดีกว่า จึงเหมือนมาถึงหูได้มากโดยไม่ต้องเร่งเยอะ เหมือนดังฟังชัดกว่า 4. ใส่วงจรกดการสวิงเสียงไว้ เพื่อหลอกหูว่า เสียงอิ่ม เยอะ ดัง ใหญ่ เช่นเดียวกับของถูก แต่การกดการสวิงอาจทำแค่พองาม เช่น เฉพาะเสียงทุ้ม ไม่แตะต้องกลางและแหลมมากนัก เสียงก็จะออกมาเป็นธรรมชาติ ได้อารมณ์กว่า น่าฟังกว่า 5. อาจเพิ่มวงจร ซุปเปอร์สเตอริโอ ทำให้เวทีเสียงกว้าง เลยตัวตู้ออกไป ฟังแล้วเหมือนมันอลังการกว่า หลอกความรู้สึกว่า ดังกว่าที่เป็นจริง (แต่ก็ระวัง วงจรประเภทนี้ ทำให้เสียงทั้งหมด ทรวดทรงออกแบน ติดจอ) 6. มักให้แบตแบบชาร์จได้มาด้วย เพราะกำลังขับสูง แบตหมดเร็ว ถ้าต้องซื้อแบตใหม่ทุกวัน อ่วมแน่ (ถ้าของถูกๆ แม้ให้แบตชาร์จได้มา ก็เป็นแบตคุณภาพต่ำ อายุสั้น ไม่กี่ทีก็ชาร์จไม่เข้า เก็บไฟไม่อยู่ หมดเร็ว) สุดท้าย คงเข้าใจแล้วนะครับว่า เขาเสกเสียงใหญ่กันอย่างไร ซึ่งท้ายสุดก็คงหนีไม่พ้นคำพูดอมตะที่ว่า “จ่ายอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น” ของฟรีไม่มีในโลก ตัวเล็ก เสียงดัง คุณภาพก็ต้องถอย www.maitreeav.com |