000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > จับปูใส่กระด้ง
วันที่ : 14/11/2017
5,974 views

จับปูใส่กระด้ง

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

แฟนคลับท่านหนึ่งวางคำถามได้อย่างน่าสนใจยิ่ง ท่านพูดในทำนองว่า การเพิ่มเครื่องเคียง (หรือตัวช่วย) อันเป็นอุปกรณ์เสริม เช่น ขารองเครื่อง, ลำโพง, แท่นรองแอมป์, ตัวลดการสั่นสะเทือน, ตัวกรองไฟ, ตัวดูดคลื่นขยะความถี่สูง RF, สายต่างๆ, ผลึก/แร่, แผงอคูสติก, ฯลฯ ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น, หลักแสน เพื่อปรับปรุงเครื่องเสียง (และภาพ) ชุดเดิมที่ใช้อยู่ ให้ฟังดีขึ้น (ซึ่งจะถือว่า มีนัยสำคัญ ก็ต่อเมื่อ ความดีขึ้น ไม่ควรต่ำกว่า 15%...มีน้อยมากที่จะดีขึ้นถึง 40-50% ชิ้นไหนทำให้ดีขึ้นได้ 60-100% ถือว่า ถูกหวย! ซึ่ง 100% หาได้ยากยิ่งในท้องตลาดเครื่องเคียง)

                ในเรื่องที่มาที่ไป การใช้งาน ความคุ้มค่ามากน้อย ขอเชิญดูได้ในส่วนของบทความ “เครื่องเคียง...ตัวช่วยหรือยาพิษ” ในเว็บนี้

                ปัญหาสำคัญ ที่นักเล่นอุปกรณ์เสริมปวดศีรษะที่สุด และพาลจะเข้าป่า ออกทะเล หรือกู่ไม่กลับ ก็คือ

                1. เสริมเข้าไปแล้ว เหมือนจะมี “บางอย่าง” ดีขึ้น แต่ “บางอย่าง” ก็แย่ลง (บางทีแย่ลงมากกว่าดีขึ้น)

                2. อาการที่เหมือนจะดีขึ้น ฟังนานๆ มันถูกเน้นจนน่าเบื่อ, เลี่ยน รับไม่ได้ ต้องเอาออก

                3. พอเติมอุปกรณ์เสริมหลากหลายรูปแบบมากขึ้น กลับเป็นว่า อาการที่ดีขึ้น และ อาการที่แย่ลง มันแกว่ง, วอกแวก, ไม่อยู่ในร่องในรอย บางครั้ง, บางเพลง, บางแผ่น เหมือนโอเค แต่พอเปลี่ยนแผ่นกลับเละเป็นโจ๊ก ฟังไม่ได้

                4. เหมือนจับปูใส่กระด้ง เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ ขนาดว่าใช้อุปกรณ์เสริมชิ้นเดียว, แนวเดียว

                พูดง่ายๆ ว่า สร้างความสับสน วุ่นวายจนเจ้าของถอดใจ ยกทิ้งหมด หรือเลิกเล่นไปเลย (ยิ่งเล่นยิ่งออกทะเล หาฝั่งไม่เจอ)

                ทำอย่างไรจึงจะตีกรอบของปัญหา (โฟกัส) จนเอาอยู่ตรงเป้า, ได้ดีขึ้นอย่างเดียว และเหนือสิ่งอื่นใด...อย่างเป็นธรรมชาติด้วย

แนวทางตีกรอบปัญหา โฟกัสเป้า ไม่ให้ออกนอกทาง

                1. ชุดเดิมต้องตรวจสอบการจูนให้ “ถูกต้อง” ก่อน (กรุณาดูบทความ ทดสอบ PERFECT POWER RT-1 ตอนที่ 3 ประกอบ (ควรดูอย่างยิ่งครับ))

                2. ต้องแน่ใจว่าตัวอุปกรณ์หลักไม่มีปัญหา เช่น
                - ขั้วลำโพงออก สมมติชุด A กับชุด B ให้ฟังเลือกว่าชุดไหนชัดเจน ซ้าย-ขวา สมดุลกัน ก็เอาชุดนั้น แม้ลำโพงเป็นไบ-ไวร์ ก็ต้องเอาแค่ชุด A ออก (แต่ถ้าดีทั้ง A, B ก็แยก แหลม A, ทุ้ม B ได้)
                - ถ้าเล่นสายลำโพงไบ-ไวร์สำเร็จรูป (เข้า 2 ออก 4) เลิกเลย เพราะสายชุด แหลมจะกวนกับทุ้มภายในสายร่วมปลอกเดียวกัน จะทำให้เสียงแกว่ง เปิดดังๆ แจ๋น จัด กร้าว
                - สายลำโพงแหลม, ทุ้ม กรณีเดินไบ-ไวร์ห้ามแตะต้องกัน
                - อุปกรณ์ชิ้นส่วนบนแผงวงจรแบ่งเสียงในตู้ลำโพง ซ้าย, ขวากลับทิศกัน รวมทั้งสายลำโพงภายใน ซ้าย, ขวา ต่างหัว-ท้ายกัน หรือผิดทิศทั้งคู่
                - สายต่างๆ ภายในเครื่องเล่น, ปรี, เพาเวอร์, ลำโพง แตะต้องกัน พันมัดเป็นกระจุกรวมกัน
                - ทิศทางเส้นฟิวส์ของทุกเครื่อง
                - มีการรบกวนจากจอภาพ LCD, จาก Wi-Fi ภายใน/ภายนอกห้อง
                - ในห้องมีดวงไฟ LED หลายดวง
                - สัญญาณคลื่นโทร.มือถือกวน
                - ตอนกดย้อนกลับมาเล่นเพลงเดิมซ้ำ (CD) สมมติ ฟังทดสอบด้วยเพลงที่ 3 เป็นหลัก ต้องกดข้ามมาเพลง 2 แล้วข้ามกลับไปเพลง 3 กดหยุดชั่วคราว (Pause) แล้วจึงกด Play เล่นเพลง 3

                3. เครื่องกรองไฟ, เพาเวอร์แอมป์, สายลำโพง, สายไฟแตะกับพื้นห้อง (ที่สั่น ใต้พื้นปูนมีโครงเหล็ก)

                4. วางเครื่องใกล้จอ LCD เกินไป ต้องห่างกันมากที่สุด

                5. เครื่องเล่น CD อยู่ใกล้ เครื่องแอมป์, ปรีแอมป์ ต้องห่างกันมากที่สุด

                6. อย่าวางเครื่องซ้อนกัน

                7. เช็ค Absolute Phase แน่ใจว่า เพลงนั้น ทำให้กรวย (โดม) ของดอกลำโพง ขยับดันอากาศมาหาเรา

                8. อุปกรณ์เครื่องเสียงนั้นๆ ทำมาผิด เช่น พอเสียบเข้าช่อง CD ซ้ายเสียงเป็นตัวดี, ขวาแบนถอย (ทิศทางอุปกรณ์ภายใน ซ้าย, ขวา ผิด 1 ถูก 1) หรือช่อง VDO IN ซ้าย, ขวา แบนทั้งคู่, ช่อง TUNER IN ซ้าย, ขวา เป็นตัวตน หลุดลอยออกมาดีทั้งคู่ อย่างนี้เป็นต้น
                สายไฟ AC ที่ให้มากับเครื่อง ย้อนทิศหัว-ท้ายมาจากโรงงานเลย (กรณีปรีออกมี 2 ชุด ก็มีสิทธิ์เกิดอาการเดียวกับ INPUT ซ้าย, ขวา ต่างกัน)
                ลำโพงทำมาผิด (ขนาดวางหิ้ง 2 ทาง คู่ละ 6 หมื่น ดอกแหลม, ดอกกลางทุ้มต่อมาคนละเฟส กรวยขยับคนละทิศ, คู่ละ 1.3 ล้าน ดอกกลาง/ดอกแหลม ต่อกลับเฟสกับดอกทุ้ม, คู่ละ 3.5 ล้านก็เจอ ซับ 15 นิ้วต่อกลับเฟส)

                9. ห้องมีปัญหา เสียงก้อง

                10. ภายในห้องฟังเดียวกัน มีชุดอื่นวางอยู่ด้วย (เช่น แยก 2 ชุด ชุด 2CH STEREO ฟังเพลง, ชุดโฮมเธียร์เตอร์ลำโพงรอบห้อง, หรือมีลำโพงคู่อื่นๆ วางลอยไว้ ไม่ได้ต่ออะไร พวกนี้ป่วนทั้งนั้น)

                11. มีเครื่องฟอกอากาศ, พัดลมไอน้ำ, พัดลมธรรมดา เปิดใช้อยู่ ขนาดว่า เสียบสายไฟ AC ไว้ ไม่เปิดใช้ ก็ยังมีผล พวกนี้ดึงออกให้หมด

                12. ดึงสายไฟออกให้หมดก่อน สำหรับเครื่อง อุปกรณ์อื่นที่ยังไม่ได้ใช้ เหลือแต่อุปกรณ์หลักน้อยชิ้นที่สุด

                13. ลมจากเครื่องปรับอากาศที่มีผลต่อการขยับของดอกลำโพง

                14. เอาหน้ากากลำโพงออกหมด

                15. ถ้าชุดปกติทุ้มใช้ได้แล้ว ให้อย่าเพิ่งต่อชุดซับแอคตีฟจนกว่าจะจูนเครื่องเคียงเสร็จก่อน จึงค่อยต่อซับ แล้วอาจจะจูนอีกนิดหน่อยอีกที น่าจะทำให้การจูนง่ายกว่า

                16. ต้องจูนเครื่องเคียง “ทีละชิ้น” ลงตัวดีแล้ว ฟังสัก 3-4 วัน ค่อยเติมชิ้นอื่นๆ ลงไป (อีกทีละชิ้น) ฟัง 3-4 วัน แล้วค่อยเติมอุปกรณ์เสริมต่อๆ ไป ไม่ใช่ระดมใส่ทุกชิ้นพร้อมๆ กันหมด จับแพะชนแกะ งงตายเลย

                17. ยิ่งอุปกรณ์หลัก มีบุคลิกเสียงเป็นกลางแค่ไหน การจูนอุปกรณ์เสริมจะง่ายขึ้นแค่นั้น

                18. อย่าได้คิดเอา ความพิการ ไปแก้ความพิการ อุปกรณ์เสริมที่ดีจริงและถูกต้อง ไม่มีหน้าที่ไปแต่งเติม เสริมแต่ง หรือชดเชย ท้ายสุด คุณจะฟังออกว่า มันไม่ใช่ และ ผีเข้าผีออก ตลอด

                19. ขอความกรุณา อ่านเรื่อง EQ ชุบชีวิตหรือยาพิษ ในบทความของเว็บ maitreeav.com นี้ด้วย จะหูตาสว่างยิ่งขึ้น

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459