000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > การจูนเครื่องเสียงด้วยอุปกรณ์เสริม
วันที่ : 14/11/2017
7,327 views

การจูนเครื่องเสียงด้วยอุปกรณ์เสริม

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

(บทความนี้ ใช้ได้กับอุปกรณ์ลดการสั่นและอุปกรณ์เสริมทั่วไป)

                มีการทำเครื่องเคียง (ของเครื่องเสียง) ประเภทอุปกรณ์ช่วยลดการสั่นของเครื่องเสียง (ไม่ว่า ตู้ลำโพง, เครื่องเล่นแผ่น, เครื่องเล่นไฟล์, ปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์, อินทิเกรทแอมป์, แม้แต่กับสายต่างๆ ฯลฯ) โดยอุปกรณ์เหล่านี้มักทำมาหลายแบบ ทั้งเป็นกรวยแหลม, ลูกกลม(วางบนเครื่อง, ใต้เครื่องมีเบ้าใส่กันวิ่ง), รูปทรงกลมแบน(หนา, บาง), รูปแท่งทรงกระบอก, รูปสี่เหลี่ยม แม้แต่รูปหางปลา และอีกสารพัดแล้วแต่จะคิดจินตนาการกันไป ว่ามันช่วยให้คุณภาพเสียง, มิติเสียง ดีขึ้นได้จริง

                ในที่นี้ผมจะไม่วิจารณ์ละว่า ของใครดีกว่าของใคร แต่ผมจะเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อได้ใช้อุปกรณ์เสริมทำนองนี้ว่า คุณจะพบอะไรบ้าง

สิ่งที่คุณจะได้พบ

                1. ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

                2. ใช้แล้ว เสียง, มิติแย่ลง คือ เสียงฟุ้งกระจาย หาตำแหน่งอะไรไม่ได้ มั่วไปหมด หรือ บางเสียงแจ๋นขึ้นมา บางเสียงเบาลง เสียงลากยาว ไม่หยุดกระชับ เสียงหยุดทันทีขาดลูกทอดเสียงฟังห้วนๆ ความกังวานหาย เสียงตีกัน กองเป็นกระจุก ไม่กระจายไปทั้งเวที เวทีเสียงตื้นเข้ามา เสียงถอยจมไปกองเป็นหน้ากระดานเรียงหนึ่ง ทรวดทรงชิ้นดนตรีไม่มี(แบน) ไม่เป็น 3D หรือเลือกเป็น 3D บางช่วงความถี่ เสียงไม่นิ่ง(วอกแวก, แกว่ง) รายละเอียดหยุมหยิมเบาๆ หายหมด เสียงสวิงไม่ขึ้น(อั้น, ตื้อ) การสวิงเสียงไล่จากค่อยสุดไปดังสุดไม่เป็นลำดับเส้นตรง (Linearity) เสียงอุ้ยอ้ายเฉื่อยชาขึ้น ทุ้ม, กลาง, แหลมไม่ราบรื่น (Frequency Response เสีย) กระฉับกระเฉงเกินขาดความผ่อนคลาย(ฟังนานๆ เหนื่อย) เสียงนักร้องกี่คน, เครื่องดนตรีชนิดเดียวกันต่างยี่ห้อ...ออกมาคล้ายกันไปหมด (ค่า IMD สูง) เกิดบุคลิกจำเจ ตายตัวอันหนึ่ง

                จะเห็นว่า การเพิ่มอุปกรณ์เสริมอย่างหนึ่งอย่างใดเข้าไป (แม้แต่พวกสายต่างๆ) ล้วนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไม่อย่างหนึ่งก็หลายอย่าง (หลายอย่างจริงๆ ที่เปลี่ยนไป) แน่นอนว่าอาการที่เปลี่ยนไปมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้ผู้ใช้(ผู้จูน) หลงประเด็น หลงทาง ได้ง่ายมากเหลือเกิน ดุจเต็มไปด้วยกับดัก ได้แก่ (ตัวอย่าง)

                1. เสียงนักร้องตรงกลางวง โฟกัส คมชัดขึ้น ไม่ฟุ้งกระจายเหมือนเดิม ก็ดีใจว่า มาถูกทาง แต่หารู้ไม่ว่า โทนเสียงนักร้องเปลี่ยน อาจหนุ่ม, สาวขึ้น ร้องขึงขัง ขยันมีชีวิตชีวาตื่นตัวดีขึ้น โดยลืมสังเกตว่า เสียงลงท้องของนักร้องหายไป รูปลักษณะของนักร้องผอมลง (ปกติเสียงเขาใหญ่ ตัวอวบ)...แสดงว่าความถี่คู่ควบ (Harmonics) ถูกเฉือนทิ้งหมด ฟังนานๆ เหนื่อย ขาดความผ่อนคลาย นักร้องเสียงคล้ายๆ กันไปหมด เปียโน 3 แสนเสียงพอๆ กับ 10 ล้านบาท แชมป์ไวโอลิน(กีตาร์) ไม่ได้ฟังดีกว่านักดนตรีคาเฟ่ และนักร้องชอบโผล่ออกมาแถวหน้าเสมอๆ ประเภท “โปรดสังเกตตลอด”

                2. เสียงที่เคยผอม พอจูนแล้ว เสียงอวบอิ่มใหญ่ขึ้น (สังเกตว่าต้องเร่งดังกว่าปกติ) ฟังอึกทึกครึกโครมดีขึ้น แต่จริงๆ แล้ว มันกดการสวิงของเสียงเอาไว้ โดยเฉพาะแถวๆ กลางสูง/สูงต่ำและสูงสุด ทำให้กลางต่ำ, ต่ำ(ที่ไม่ถูกสลายทิ้ง) เด่นขึ้นมา ใช้กับชุดที่เสียงแจ๋น, จัด, กร้าว, ผอมบาง, กำลังต่ำ เหมือนทุกอย่างลงตัวขึ้น น่าฟังขึ้น แต่ลืมไปว่า ความโปร่งทะลุ (Transparency) ของเสียงแย่ลง ทึบ, อับขึ้น (ถึงยกปุ่มแหลมขึ้นก็ช่วยไม่ได้ มีแต่แหลมดังขึ้น แต่ไม่โปร่งทะลุขึ้น เสียงทั้งหมดออกคลุมเครือ ไม่มีการกระแทกกระทั้น(Impact), อาจถึงกับอุ้ยอ้าย(เฉื่อย), ทรวดทรงมิติเสียงทะแม่งๆ เอาแน่ไม่ได้ แม้แต่จากชิ้นดนตรีชิ้นเดียวกัน, ลำดับตื้น-ลึกของตำแหน่งดนตรีในวงรวนไปหมด ความกังวานทึบ ความสด, ประกายหาย (Sparkle ไม่มี) บางคนฟังไม่เป็น บอกว่าเวทีเสียงด้านลึกดีขึ้น(แต่ถอยไปกองจมหลังตู้ลำโพงหมด)

                3. อุปกรณ์เสริมบางชิ้นใช้แล้ว เหมือนเวทีเสียงกว้างขึ้น แต่ลืมสังเกตว่า ทรวดทรงชิ้นดนตรี, นักร้อง แบนยืดออกในแนวนอนไปหมด, วงไม่มีลำดับตื้น-ลึก ไล่จากหน้าสุดไปหลังสุด เสียงกว้างแบบฟุ้งกระจาย เอาเรื่องราวอะไรไม่ได้ เบลอ, มั่วไปหมด กว้างแบนแบบจอหนัง ไม่กว้างโอบมาซ้ายหลัง, ขวาหลัง ความกังวานฟุ้งติดอยู่กับชิ้นดนตรี, ตัวนักร้อง(ไม่วิ่งหายลับไปหลังเวที) สังเกตว่า สเกลหรือขนาดของแต่ละชิ้นดนตรีก็บิดเบี้ยวไปหมด เช่น เสียงเปียโนดุจมาจากเปียโนยักษ์ ใหญ่คับเวที เสียงเขย่าลูกกระพรวน(แทมโบรีน)เหมือนเขย่าเศษแก้วแตกละเอียด เวลาไล่คีย์เปียโน, กลองชุด ขนาดของเปียโน, กลองหดตัว, บวมขึ้นตามโน้ตที่เล่น ฯลฯ

                4. อุปกรณ์เสริมที่ลดความฉับพลันของเสียง (Transient Response แย่ลง) จะหลอกหูว่า เสียงสุภาพ, สงบ, ผ่อนคลายขึ้น เล่น, ร้องช้าลง ทำให้เหมือนสังเกตว่ามีอะไรๆ ในวงมากกว่าที่เคย(เหมือนขับรถช้าลง ก็สังเกตสิ่งที่ขับผ่านข้างทางได้ง่ายขึ้น) แต่เสียงผิว (Texture) ของเสียงร้อง, เครื่องดนตรีหายเกลี้ยง ไม่มีเสียงลมหายใจ ริมฝีปาก เสียงกลืนน้ำลาย เสียงผิวฉาบ, ผิวกลอง (กลองผิวพลาสติก, ผิวสังกะสี, ผิวหนังสัตว์ ฟังแยกไม่ออก) เสียงเคาะแท่งไม้(ระนาด) เหมือนแท่งพลาสติก ไม่มีเสียงนิ้วรูดสายดับเบิ้ลเบส, เสียงลมจากทรัมเปต, เสียงอากาศแตกตัวรอบๆ สามเหลี่ยม(ไตรแองเกิ้ล), เสียงใสดุจระฆังของนักร้องสาว(กลายเป็นนักร้องแก่) ฯลฯ

                นี่แค่ประเด็นและเหตุการณ์ ประสบการณ์ที่ผมพบเจอกับเหล่าอุปกรณ์เสริมทั้งหลาย ไม่ว่ารูปแบบใด ถ้าคุณคิดจะซื้อมาใช้ มาลอง คุณต้องเจอแน่ๆ กับบางสิ่ง หรือหลายๆ สิ่งที่ผมพูดถึงมาทั้งหมด

อีกสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการใช้อุปกรณ์เสริมคือ

                1. ข้อจำกัดของอุปกรณ์เสริมนั้นๆ มันอาจใช้ได้ผลกับการเปิดเสียงในระดับความดังปกติ แต่ถ้าดังมากๆ มันจะเอาไม่อยู่ อะไรๆ ที่คุณจูนไว้ด้วยตัวมัน ก็หลุดเป้าหมด ตัวใครตัวมัน

                2. จากข้อ 1 เรื่องความดัง-ค่อย ยังมีอีกว่า แล้วแต่ชนิดเพลง ถ้าเป็นเพลงผู้ดีๆ ฟังสบายๆ แบบผู้ใหญ่ มันเอาอยู่ แต่ถ้าเจอเพลงแดนซ์, ฮิพฮอพ, ดิสโก้แรงๆ, แรพ, เรกเก้ ฯลฯ ที่มีการเดินเบสต่อเนื่องไม่หยุด (ง่ายๆ) มันก็มีสิทธิ์เอ๋อกินเหมือนกัน ออกทะเล เข้าป่าไปเลย

                3. ตำแหน่งการวางใต้หรือบนอุปกรณ์เครื่องเสียงนั้นๆ แบบว่า ต้องแห่นางแมวกันเลย (แค่วางอุปกรณ์เสริมลดการสั่นสะเทือน ตัวเล็กๆ ชิ้นเดียวบนเครื่องเล่น CD ลองคิดว่า คุณต้องลองฟัง ใช้/ไม่ใช้ ทีละจุดๆ ไล่ไปบนฝาเครื่อง แค่นี้ก็สุดมึนแล้ว) แต่เชื่อเถิดครับ มันคุ้มค่าที่จะยอมเสียเวลาควานหาจนเจอจุด (ตำแหน่ง) ที่ลงตัวดีที่สุดในทุกแง่มุมของเสียง (ไม่ใช่ด้านเดียวดังกล่าวตอนต้น)

                4. แม้แต่อุปกรณ์เสริมพิเศษ (ที่ไม่มีใครในโลกทำ) อย่าง กล่องดูดคลื่นขยะ RF ของ PERFECT POWER RT-1 (ดูรายงานทดสอบ 3 ตอนในเว็บนี้ ของแนะนำว่า...ควรดูอย่างยิ่งๆ มันดีขึ้นได้ถึง 100%) ก็ต้องแห่นางแมว หาตำแหน่ง หาทิศทางการวางกล่อง (ตั้ง/นอน/หมุน) เพราะแต่ละตำแหน่ง คลื่น RF กวนก็ต่างกันไปหมด

จะเห็นได้ว่า

                มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหา, ลงทุนกับอุปกรณ์เสริมอะไรสักอย่าง (ดูบทความ อุปกรณ์เสริม ตัวช่วยหรือตัวป่วน ในเว็บนี้ด้วย) แล้วสักแต่เอามาวางๆ ตามคำแนะนำของคนขาย (ที่จ้องจะขายลูกเดียว) โดยละเลยการเข้าใจดังที่ผมเกริ่นไว้ตอนต้น และแน่นอน คนขายช่วยอะไรคุณไม่ได้เลย จะให้เขามาจูนให้ที่บ้าน ก็เห็นใจเขาเถิด กำไรไม่กี่บาท ต้องมาเสียเวลากับคุณทั้งวัน อย่าลืมว่า ถ้าชุดของคุณยังมีข้อผิดพลาดเต็มไปหมดล่ะ (กรุณาอ่าน รายงานทดสอบ PERFECT POWER RT-1 ตอน 3 ผมจาระไน การจูนชุดให้ถูกต้องไว้ก่อนใช้พวกอุปกรณ์เสริม...อย่างละเอียด ในเว็บนี้)

                เหนือสิ่งอื่นใด ผู้ขายควรใจกว้างพอที่จะยินดีรับคืนสินค้า (คืนเงิน) ให้แก่ผู้ซื้อ ถ้าใช้แล้วไม่ได้ผลดีขึ้นจริง

                สุดท้าย คุณจะได้ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์เสริมได้มากน้อยเท่าใด จริงๆ แล้ว ชนิดของอุปกรณ์, ราคาค่าตัว, ไม่ได้เป็นหลักประกันความสมหวังของคุณได้เลย (ยืนยัน 100%) มันขึ้นกับว่า คุณนำไปใช้จูน เป็นหรือเปล่า พูดง่ายๆ คุณเอง ฟังเก่ง แค่ไหนต่างหาก (ติดตามเว็บ maitreeav.com ไปเรื่อยๆ แล้วพยายามนำไปทดลอง ปฏิบัติ คุณจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ เอง ใครก็หลอกคุณไม่ได้ และคุณก็จะไม่หลงหลอกตัวเอง!)

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459