000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > รายงานบททดสอบ > เครื่องเสียงบ้าน > Accuphase E 650 (อินทรีเกรทแอมป์ แห่งปี)
วันที่ : 12/10/2018
10,548 views

Accuphase E 650 (อินทรีเกรทแอมป์ แห่งปี)

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

E 650 เป็นอินทรีเกรทแอมป์รุ่นสูงสุด ล่าสุดจาก Accuphase (มาแทนรุ่น E 600) จริงๆ แล้ว ถ้าลงท้ายด้วย 50 จะเป็นรุ่นที่ทาง Accuphase เอง เตรียมสำหรับการออก Series ใหม่ เฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี ของบริษัท

            E 650 ถือเป็นอินทรีเกรทแอมป์ที่ Accuphase ปล่อยฝีมือแบบสุดลิ่มอย่างคาดไม่ถึงว่า จะมีการทุ่มเทกับอินทรีเกรทแอมป์ขนาดนี้ ไม่ว่ายี่ห้อไหนในโลก

จุดเด่นของ E 650

  • ปรีระบบบาลานท์แท้ไล่จากขาเข้าถึงขาขับดันก่อนภาคสุดท้ายออกลำโพง (ขาออกเป็น Triple Push-Pull ต่อข้าง)
  • ทำงานขยายแบบ Class A แท้ ตั้งแต่ 0 W. ถึง 30 W. ที่กำลังขับมากกว่านี้ ภาคขาออกจะปรับตัวเป็น Class AB (ก่อน A) อย่างราบรื่น
  • วอลลูมระบบอิเล็กทรอนิกส์ระดับซุปเปอร์ไฮเอนด์ เทคโนโลยี่ AAVA ยกมาจากปรี C-3850 นักเล่นไฮเอนด์ระดับเทพ จะเข้าใจดีถึงความสำคัญสุดๆ ของวอลลูม
  • ภาคขาออกใช้ทรานซิสเตอร์ MOS FET เหมือน E 600 แต่เปลี่ยนยี่ห้อจาก Toshiba เป็น Vishay ที่รองรับจุดประสงค์การใช้งานได้ดีกว่า (จัดแบบ 3 ขนาด)
  • วงจรปรับทุ้ม, ปรับแหลม, ใช้ Loudness (ทั้งหมดกดตัดออกได้) เป็นแบบบาลานท์ทั้งหมด
  • ภาคขยายหูฟัง ที่ออกแบบมาเทียบเท่ากับแอมป์หูฟังระดับเทพแยกกล่อง
  • กำลังขับ Class A 30 w (8 โอห์ม), 60 W. (4 โอห์ม), 120 W. (2 โอห์ม) ที่ Class AB (เครื่องโยกตัวเองไปเอง) 75 W. (8 โอห์ม), 120 W. (4 โอห์ม), 140 W. (2 โอห์ม)
  • มิเตอร์เปลี่ยนจากเข็มเป็นแถบ LED (เพิ่มแถบมากขึ้นเพื่อดูได้ละเอียดขึ้น)... Series ใหม่จะเป็นแบบนี้หมด แสดงกำลังขับละเอียด, กว้าง, และเมื่อเสียบแผงโมดุล DAC 50, AD 50 เพิ่มจะแสดงสถานะการทำงานเพิ่ม) มิเตอร์ตัดออกได้
  • ช่องรับสัญญาณ เข้าบาลานท์ (XLR) 2, ออก 2 รับแบบ RCA อีก 5 ชุด
  • กดเลือก Absolute Phase ได้
  • เลือก โมโน / สเตอริโอ
  • เลือก แยก ปรี, เพาเวอร์แอมป์ได้
  • เลือกลำโพง A, B, A/B, OFF
  • ปุ่ม sub sonic Iter (25 Hz) สำหรับ Phono
  • ด้านหลังมีช่องเสียบแผงวงจรเพิ่มได้คือ

            AD 50 (ใหม่) สำหรับภาคจานเสียง MM / MC

            MM เลือกอัตราขยาย 66 / 40 db

            MC เลือกความต้านทานขาเข้า 30/100/200 โอห์ม

            (มีกล่องปิดผนึกแยกภายใน cisolation) สำหรับ แผงทั้ง 2

  • วอลลูม ที่หมุนขนาดใหญ่ ขณะหมุนจะหนึบ ให้ความรู้สีกเหมือนหมุนวอลลูมกลไกอนาลอกระดับไฮเอนด์
  • วงจร Zobel Network ขาออกใช้ขดลวดแบบเส้นลวด 4 เหลี่ยม ขนาดใหญ่ ไม่ให้บั่นทอนกระแสได้
  • วงจร ป้องกันแบบ MOS FET ไม่ใช้รีเลย์ให้เสียงแย่ลง
  • วงจร ป้อนกลับ (Remote Sensinbg) คร่อมที่ ขั้วลำโพงขาออก (ภายในเครื่อง) เพื่อปรับตัวเองตามคุณสมบัติของลำโพงที่ใช้เพื่อให้ได้ค่า ความสามารถ ในการหยุดการสั่นค้างดอกลำโพง (DF) สูงสุด (ได้ถึง 800 ดีกว่า เพาเวอร์แอมป์แยกชิ้น 80 % ในท้องตลาด)
  • มีแผงประตูปิดสวิชส์กดต่างๆ หน้าเครื่อง ลดการรบกวน และทำให้แผงหน้าเครื่อง เกลี้ยง สะอาด ไม่รกตา

การออกแบบโดยรวมจะเป็น DUAL MONO ไล่จากหม้อแปลงกลมมหึมา (1 ลูก), ตัวเก็บประจุ 50,000 ไมโครฟารัด 2 ลูก (Accuphase สั่งทำมาโดยเฉพาะ) แผงที่เหลือทั้งหมด แยก ซ้าย, ขวา อิสระคนละแผง (โมดูล)

  • ครีบระบายความร้อนขนาดใหญ่ ภายใน 2 ข้าง แยกซ้าย, ขวา ไม่ให้ความ ร้อน ซ้าย, ขวา มาผสมตีกันเอง
  • ขั้วลำโพงขนาดใหญ่ หัวเสียบชุบทอง ตัวเครื่องอลูมิเนียมอาโนไดซ์หนา ประณีต สีทอง
  • รีโมท RC-220 ฟังก์ชั่นครบ เป็นอลูมิเนียมอาโนไดซ์สีทอง
  • สายไฟ AC ถอดได้
  • แผงเสียบเพิ่ม (ซื้อต่างหาก)
                AD 50 แผงจานเสียง

            DAC 50 แผง DAC (เข้าได้ทั้ง optical, coaxial, HDMI) (ได้ถึง DSD สูงสุด)

  • ขนาดตัวเครื่อง กว้าง 465, สูง 151, ลึก 428 มม. หนัก 25.3 กก.
  • ทำในญี่ปุ่น
  • สเปคที่ระบุเป็นสเปครับประกัน (การใช้งานจริงจะมีแต่สเปคดีกว่านี้ แต่ไม่แย่กว่าที่ระบุ)
  • ราคา 350,000 บาท

ผลการทดสอบ

            จากเครื่องเล่นแผ่น OPPO BDP 105 (ปรับปรุงภาคจ่ายไฟโดย PERFECT POWER) ต่อออกสายเสียง MADIGRAL CZ-JEL 2 (บาลานท์) เข้า E 650 ทางช่องบาลานท์ ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 หัว WBT เข้าลำโพง AE รุ่น AE 300 (2 ทางทุ้ม 5 นิ้ว, วางหิ้ง) วางอยู่ขาตั้งของ TARGET 24 HJ เอียงลำโพง ปรับให้ได้มิติตรงกลางเวที, โฟกัส มีทรวดทรงที่สุด เอาหน้ากากลำโพงออก ลำโพงซ้าย, ขวา ห่างกันประมาณ 2 เมตร ห้องฟัง 3.85 X 9 X 2.4 เมตร นั่งฟังห่าง 3.6 เมตร พื้นปูพรม ผนังมีฟองนํ้าเก็บเสียง SONEX (รุ่นทำเยอรมัน สีขาว)

            สายไฟ FURUKAWA CB-10 (3 เส้น) เรียงทิศถูกต้อง หัวเสียบตัวผู้, ตัวเมีย เป็น WATT GATE เสียบเต้าเสียบตัวเมีย MONITOR ACOUSTIC รุ่นท๊อป (สีเทา) ที่กำแพง แล้วมาเข้าตัวกรองไฟ PHD รุ่น POWER STATION ออกสายไฟ AC ที่มากับ E 650 เอง ไป E 650 ออกสายไฟ AC FURUKAWA CB-10 (เรียงทิศถูกต้อง) ไปเข้ากล่องแปลงไฟภาคจ่ายไฟ ของ TV SONY (แยกอยู่นอกเครื่อง) และออกไป CB-10 ไปจอ LCD SONY 32 นิ้ว, สายไฟ AC ยกมาจากอินทรีเกรท Mark Levinson No. 383 ไปเข้าเครื่องเล่น OPPO BDP 105 สายภาพ HDMI ของ Monster HD 2000 (ย้อนทิศ) ไปจอ LCD
            ตัว OPPO BDP 105 มีฐานรองเครื่อง PPSP รุ่น เล็กสุดของ TOM BO (รวมทั้ง ขาเดือยแหลม 4 ตัว MAGIC SPIKE)
                    ด้านบนของ OPPO มีแผ่นแร่อาเกตขนาด 2 ฝ่ามือ และมีแท่งควอตซ์ สูง 1 ตับ วางรอบ 2 แท่ง แท่งอ๊อบซิเดียน 1 แท่ง ก้อน อ๊อบซิเดียนกลมขนาด 3 นิ้ว มีโครงปิรามิด ทำจากควอตซ์สูง 1 ศอก วางคร่อมทั้งหมด
                    มีตัวสลายการสั่น EQUITOP รุ่น H วางอยู่ บน OPPO ด้วย พร้อมหางปลา TOM BO 1 ตัว ด้านซ้ายบนมีกล่องสลายสนามแม่เหล็กไฟฟ้าและซับแรงสะเทือน ของ Zensonice Fision Brix วางอยู่บนซ้าย / หน้า ของ OPPO รอบๆ OPPO มีกล่องดูดคลื่นวิทยุ (RF) ของ PERFECT POWER RT-1 วางซ้าย 1 กล่อง, ขวา 1 กล่อง, ล่าง 1 กล่อง, หลัง 1 กล่อง ใต้ทีวี LCD อีก 1 กล่อง ด้านหลังที่นั่งฟัง 2 กล่อง, ขวามือ 1 กล่อง ที่แผงไฟ AC เข้าห้องเสียง 1 กล่อง ที่เต้าเสียบ ตัวเมียที่กำแพง MONITOR ACOUSTIC อีก 1 กล่อง หัวเสียบกรองไฟ PHD 2 ที่แผงไฟนอกห้องเสียง 3 หัว, ในห้องเสียง 4 หัว


                 

  แท่งโฟกัสกระแสไฟ (แท่ง HFC Q-01 ที่แผง ไฟเข้าห้องเสียง) พุ่มอะมิทิส ขนาด 6 กำปั้น ตั้งอยู่ด้านขวาของ OPPO ห่างออกไปครึ่งเมตร, ที่พื้นด้านขวา ขนาด 1 กำปั้น
                    ก้อนแร่ทัวมาลีน วางในห้อง ที่เต้าเสียบตัวเมีย MONITOR ACOUSTIC 1 ก้อน, ขาเข้าตัวกรองไฟกล่อง PHD 1, ออก 1, ใกล้สายไฟ AC ของ E 650 (1 ก้อน), เข้าจอ LCD SONY 1 ก้อน, เข้า OPPO 1 ก้อน, ใกล้ขาขวาด้านหน้าเรา 1 ก้อน
                    กล่องตัวอย่างควอตซ์ของ JUDY HALL 4 กล่อง ในห้องที่มีการทำระบบระบายกระแส EDDY ที่กล่องกรองไฟ PHD ด้วย
                    ภายในห้อง ไม่มีรีโมทใดๆ (แม้แต่ของแอร์) นอกจากของ OPPO, ไม่มีโทรไร้สายบ้าน, มือถือ, VDO เกมส์, PC, โน๊ตบุ๊ค, นาฬิกาไฟฟ้า, ลำโพงคู่อื่นๆ, ไม่มี WiFi / LAN (นอกจากรั่วมาจากภายนอก 7 spots) ไม่มีหลอด LED ในห้อง (แม้ไม่เปิดไว้ก็มีผลไม่ดี) ไม่ได้เสียบแผงวงจร DAC ที่ทางไฮเอนด์ใส่มาด้วย

ลองฟังเพลง (CD)

            E 650 เครื่องนี้ผ่านการใช้งานประจำมาเป็นเดือนแล้ว น่าจะเบินอินได้มากพอแล้ว (เท่าที่ฟังดูก็เป็นเช่นนั้น)

            ขณะฟังกดตัดวงจรทุ้ม, แหลม, loudness ออกหมด ใช้ชุดลำโพง A

            สายลำโพงเป็นซิงเกิ้ลตามลำโพง AE 300 (ยกสายสูงหนีพื้นห้อง) ตัดมิเตอร์ออก (DISPLAY OFF)
            E 650 ให้สไตล์เสียงที่ต่างจาก Accuphase ในอดีต เมื่อ 10 ปีที่แล้วไล่ถอยไปอีก 30 ปี เสียงแน่น (Solid) ขึ้นมาก ตอบสนองฉับไวขึ้น (Transient Response ดีมาก), แต่กลับฟังผ่อนคลายได้อันเป็นจุดเด่นของ Accuphase มาแต่ไหนแต่ไร เสียงร้องที่สอดใส่อารมณ์กันแบบถึงก้นบึ้ง ฟังแล้วได้อารมณ์ดีมากๆ (ดีกว่ารุ่นก่อนๆ เสียอีก) เสียงจะออกสด เปิดโปร่งทะลุ (Transparency) คุณมองเข้าไปเห็นอะไรๆ ที่สอดแทรกผสมมากับโน้ตแต่ละตัว เก็บได้ทุกเม็ดทุกชิ้นดนตรีในวงแม้ชิ้นนั้นๆ จะค่อยมากๆ แค่ไหน (Low Level detail สุดยอด), ประกอบกับฉากหลังที่เงียบจนสงัด! จากการที่ค่า S/N สูงมาก)

            ทำให้สังเกตรายละเอียดค่อยๆ, ช่องไฟระหว่างตัวโน๊ต, คำร้องได้ดีมาก ม่านหมอกในวง (เวที) ไม่มีเลย E 650 ให้เสียงเกลี้ยงสะอาดปราศจากเสี้ยนสากแม้ช่วงความถี่สูงมากๆ

            (แสดงว่า ความเพี้ยน THD ตํ่ามากๆ) พร้อมๆ กับแจกแจง “บุคลิกเสียง” ของดนตรีแต่ละชิ้น ออกมาได้อย่างสมจริง คุณรับรู้ได้ไม่แค่เสียงฉาบแต่ “เห็น” ลักษณะของฉาบนั้นๆ ได้ด้วย เสียงกลองใหญ่ที่เต็มไปด้วยบุคลิกจนเห็นตัวกลอง ว่าควรมีลักษณะอย่างไร เสียงพูด เสียงร้องที่ฟังแล้วรู้เลยว่า คนร้องควรมีหน้าตา รูปร่าง อย่างไร แสดงถึงค่าความเพี้ยนความถี่ผสม (IMD) ตํ่ามาก

            จุดเด่นอีกข้อคือ แจกแจงเสียงค่อยเสียงดังได้เด่นเรียกว่า ชัด ไม่ว่า ขณะนั้นเสียงโดยรวมดังหรือค่อยแค่ไหน Dynamic Contrast เยี่ยมมาก

            ความดีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อย่าว่าแต่อินทรีเกรทแอมป์ด้วยกันเลย ขนาดแยกชิ้นดังๆ หลายยี่ห้อก็ยังทำไม่ได้หรือได้ไม่ดีกว่าเลย ผมแทบไม่เคยฟังได้จากอินทีเกรทแอมป์ระดับไฮเอนด์ซุปเปอร์ไฮเอนด่ไหนมาได้ถึงระดับที่ E 650 มาถึง!

            E 650 ให้นํ้าหนักเสียงได้ นิ่ง, แน่น, กระชับ ไล่ตั้งแต่ทุ้มที่ทั้งหนัก, แน่น เปรียะ, กระชับยิ่ง คิดดูว่า มันทำให้เสียงตีกลองใหญ่ จากลำโพง AE 300 (กลาง /ทุ้มแค่ 5 นิ้ว) ฟังได้เหมือนมีซับ 15 นิ้วแอคตีฟเสริม! เสียงเกาดับเบิ้ลเบสที่สเกลสมจริงดุจนักดนตรีแบกดับเบิ้ลเบสมายืนเล่นต่อหน้าชัด แยกแยะ ทั้งเส้นสาย และนํ้าหนักทุ้มที่ทิ้งตัวลงพื้นห้อง เสียงเปียโนที่อิ่มใหญ่สมจริง (แสดงว่า Power Band width ของ E 650 กว้างมาก แม้ที่ความถี่ต่ำๆ กำลังก็ไม่ตก) คุณลืมทุ้มที่อ้วนๆ อิ่มๆ ของ Accuphase รุ่นก่อนๆ ได้เลยเพราะเสียงยุคใหม่ของ Accuphase ทุ้ม ทั้งแน่น หนัก และกระชับดียิ่ง

            ด้านเวทีเสียง E 650 วางตำแหน่งชิ้นดนตรีได้เป๊ะๆ นิ่ง ไร้อาการวอกแวก โดยสิ้นเชิง เวทีกว้างโอบมาหลังเราได้ด้านหน้าเราที่ลอยออกมา ด้านหลังที่ลึกเลยลำโพงออกไป สูง-ตํ่า ที่วิ่งเลยศีรษะเราได้ ไปวิ่งอยู่บนเพดานห้องได้ พูดง่ายๆ ลำโพงล่องหนหายไปเลย มีแต่บรรยากาศที่อลังการ

            E 650 มีบุคลิกเสียง Accuphase ดั้งเดิม ส่วนตัวลดลง มีความเป็นกลาง (Neutral) มากขึ้น น่าฟังขึ้น นํ้าหนักเสียงควบแน่นตลอดทุกช่วงความถี่ (เป็น Current Amp ที่ดี) รายละเอียดเก็บทุกเม็ดดุจ...แอมป์ PURE CLASS-A ทุกกระเบียดนิ้ว

            สรุปการฟังเพลง E 650 คือ อินทิเกรทแอมป์ที่เสียงดีที่สุดตัวหนึ่งเท่าที่ผมเคยทดสอบ, ฟัง, ผ่านมา แม้แต่ของ Accuphase เองตลอด 40 ปีที่ผ่านมา (ดีกว่ารุ่น 40 ปีที่แล้ว 4-5 เท่า ดีกว่ารุ่นเมื่อ 15 ปีที่ แล้ว 2 เท่า)

            แน่นอน ด้วยราคาขายของ E 650 ที่ 350,000 บาท คุณอาจจะคิดว่า เล่นเป็นปรี-เพาเวอร์แยกชิ้นหลายๆ ยี่ห้อได้ แต่ผมจะบอกคุณอย่าง ปรี / เพา-เวอร์แอมป์กว่าครึ่งในท้องตลาดระดับ 5-6 แสนบาท ก็ยังเทียบไม่ได้กับ E 650 ตัวเดียว! (อย่าลืมว่า E 650 ตั้งใจถอดแบบ, วิญญาณ, เทคโนโลยี่สูงลิบ จากปรี-เพาเวอร์แยกชิ้นรุ่นสูงสุด ของ Accuphase เองคือ C-3850 และ A-250 (เกือบ 2 ล้านบาท) มอง แค่นี้ก็... จบแล้ว!

            เอามาดูหนังได้ไหม

            จะบ้าหรือ เอาแอมป์กำลังขับแค่ 30 W.RMS / CH ที่ 8 โอห์ม มาดูหนัง!

            ไม่ลองไม่รู้ ก็สุ้มเสียง, มิติ, บรรยากาศ มันสุดยอดขนาดนั้น ถ้าเอามาดูหนังจะเกิดอะไรขึ้น (ตอนนั้นยังไม่ทราบว่ามันสวิงเป็น Class AB ได้)

            สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความรู้สึกว่า กำลังฟัง “พลังเสียง” จากแอมป์ 200 W.RMS / CH ที่ 8 โอห์ม ยังไงยังงั้นกันเลย! มันทำให้ลำโพง AE 300 (วางหิ้ง, 2 ทาง 19,800 บาท) กลายเป็นดุจฟังจากลำโพง 12 นิ้ว 3 ทางวางพื้นได้เฉยเลย (ระดับราคา 1-2 แสน บาท / คู่) ด้วยน้ำหนักเสียงดุจใส่ซับ เสียงพูดที่ชัดและเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง คุณเข้าถึงได้ทุกอารมณ์ของทุกตัวแสดงเสียงที่สมจริงมากๆ ตามภาพ, วัตถุในภาพที่เห็น ขนาดเสียงแมลงวัน, ยุงบิน ยังได้ยิน (ไม่เคยสังเกตมาก่อนด้วย) เสียงลม, เสียงฝน ฯลฯ มันทำให้ดูหนังได้สนุกอย่างเหลือเชื่อ บางเรื่องเหมือนเพิ่งได้ดูเรื่องนั้นเป็นครั้งแรก ทั้งๆ ที่ดูมาเป็นสิบเที่ยว (มันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ คุณต้องลอง)

            ในด้าน บรรยากาศ ความเป็นเลิศในเรื่องการจำลองบรรยากาศของ E 650 ยิ่งช่วยให้ฟังเสียงหนังได้ดุจกำลังฟังเซอร์ราวด์ชุดใหญ่ ไม่ว่าเสียงวิ่งในองศาไหน ซ้าย-ขวา หน้า-หลัง บน-ล่าง, แม้แต่อยู่บนเพดานห้อง เสียง “ป่า” ที่มาจากทุกทิศทาง (เรื่อง JUMANJI ภาค 2), เรื่อง THE LAST WITCH HUNTER, THE PASSENGERS, l-ROBOT, THE GREAT WALL ฯลฯ (ลืมบอกไปว่าดูด้วยลำโพง AE 300 คู่เดียว)

            และน่าแปลก E 650 ทำให้ดูภาพดีขึ้น ใส, สว่าง, คมชัด, มีพลังยิ่งขึ้นด้วย

            สรุป ถ้าคุณไม่รวยขนาดมหาเศรษฐี เล่นเครื่องเสียงชุดละหลายๆ ล้านบาท และชอบทั้งดูหนัง, ฟังเพลงระดับ 50:50 คุณเอา 2 ชุด (ดูหนัง) + ชุด (ฟัง เพลง) มารวมเล่นเป็น E 650 คุณจะไม่ผิดหวังเลย แม้ว่าคุณจะใช้แค่ลำโพงราคาประหยัดอย่าง AE 300 หรือ เครื่องเล่น CD ราคาประหยัดอย่าง DENON 720 (18,900 บาทที่น่าฟังกว่าอีกยี่ห้อญี่ปุ่น 130,000 บาทได้!) เพราะคุณภาพ, เสียง ของ E 650 แยกชิ้น... อาย!

            หมายเหตุ หลังจากผมทดสอบกับลำโพง AE 300 ซึ่งเป็นระบบ Single Wire ผมก็กลับมาต่อกับลำโพง Monitor Audio BR-5 ซึ่งต่อสายลำโพงเป็นไบ-ไวร์ ปรากฏว่า ความทะแม่งเกิดขึ้นทันทีเสียงกลับออกมา นุ่ม, มนๆ, ทึบๆ, กลางสูง ถึงสูงวูบวาบ ปลายแหลมพอดีแต่ไม่สุด มิติออกเบลอๆ เสน่ห์ของเสียงหาย 60% มันเกิดอะไรขึ้น ทั้งๆ ที่ BR-5 เสียงอิ่มอลังการกว่า AE 300 อยู่แล้ว เล่นเอาผมมึน ไป 1 คืน... เกิดอะไรขึ้น

            เคราะห์ดีที่ผมหวนนึกถึงวงจรขาออกลำโพง E 650 ที่ใช้การตรวจสอบสัญญาณขาออก (Remote Sensing) เพื่อป้อนกลับมาปรับภาคขยายให้เหมาะสม ลงตัวที่สุด

            แน่นอน มันมีตัวตรวจชุดเดียว เพื่อลำโพงชุดเดียว แต่นี้การต่อ ไบ-ไวร์ มีสายลำโพง 2 ชุด ชุดหนึ่ง ไปวงจรแบ่งเสียงและออกดอกแหลม

            อีกชุดไปวงจรแบ่งเสียงออกดอกกลาง / ทุ้ม

            เท่ากับว่ามีลำโพง 2 ชุด ต่อคร่อมขั้วลำโพงขาออก (ผมใช้ขั้วชุด A) โดยมีวงจรตรวจจับชุดเดียว มันก็เลยงง ไม่รู้จะจับตรวจตามใจลำโพงชุดไหน ก็เลยทำงานผิดพลาด

            ผมจึงจัดการเอาสายจั้มเปอร์คร่อมบวกแหลม กับบวกทุ้ม, ลบแหลมกับลบทุ้ม, ที่หลังลำโพง (สายจั้มเป็นเงินอย่างดี ราคาเป็นพันบาท) (ทิศทางถูก ต้องทั้ง 4 สายจั้ม) ตอนนี้ตัวตรวจจับจะเสมือน เห็นลำโพงชุดเดียว เป็น Single Wire ทั่วไปอย่างตอน AE 300

            ปรากฏว่า ทุกอย่างกลับมาดีเยี่ยม เหมือนตอน ฟังจาก AE 300

            *ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทางผู้ขายต้องแจ้งเตือนผู้ซื้อ E 650 ไว้ก่อนทางแก้ก็ทำอย่างผม เดี๋ยวนี้ สายจั้มเปอร์ดีๆ ก็มีขาย (เป็นหมี่นก็ยังมี)

หมายเหตุ : ขอขอบคุณ บริษัท ไฮเอนด์ ออดิโอ จำกัด

โทร. 02-101-1988, 02-102-1168 ที่เอื้อเฟื้อ Accuphase E 650 สำหรับการใช้งานในครั้งนี้

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459