000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > เทคนิคการทำห้องดูหนังฟังเพลง (ที่คุณนึกไม่ถึง!)
วันที่ : 29/10/2018
15,371 views

เทคนิคการทำห้องดูหนังฟังเพลง (ที่คุณนึกไม่ถึง!)

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

การฟังเครื่องเสียง ห้องฟัง เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด มันอาจทำให้เครื่องเสียงชุดละนับสิบล้านบาท เสียงเน่าสนิทฟังไม่ได้เลย เป็นเรื่องน่าเศร้าปนสมเพช ที่เจ้าของชุดยอมเสียเงินกับแค่สายไฟ, สายลำโพง นับล้านๆ บาท แต่ขี้เหนียว ไม่ยอมควักกระเป๋ากับการทำห้องฟังให้ดี (ไม่ได้หมายความว่า ต้องสวย หรูเริด อลังการ ผมหมายถึง ทางคุณสมบัติด้าน “เสียง” ไม่ใช่ “สวย”)

เทคนิคการทำห้องฟังเพลง, ดูหนัง

1. ห้องที่ดีที่สุด (แบบไม่เกี่ยงราคา) คือ ห้องใต้ดิน ลึกลงไปสัก 8 เมตร เหตุผลคือ ไม่มีกำแพงห้องฟังเพลงไหนจะนิ่งสนิท ไร้การสั่น เท่ากับแผ่นดินอัดแน่นแน่ เสียงจึงสงัดที่สุด

นอกจากนั้น ผืนดิน ช่วยขวางกั้นประจุไฟฟ้าสถิตย์, คลื่นวิทยุ (RF) ขยะสารพัด (ทั้งคลื่นมือถือ, WiFi, LAN แม้เป็นสายแต่มีคลื่น RF กระจายออกได้, คลื่นสถานีวิทยุ, ทีวี ฯลฯ) อาจไม่ 100% แต่ก็ช่วยได้เยอะทีเดียว (โดยเฉพาะ WiFi จำนวนมหาศาลจากรอบตัวเรา, และเสาถ่ายทอดสัญญาณมือถือที่แรงเอาเรื่อง, เสาไฟแรงสูงหลักของระบบการส่งกระแสไฟ ที่มีสิทธิ์ก่อเกิดประจุไฟฟ้าสถิตย์)

อย่างไรก็ตาม การทำห้องใต้ดิน ลงทุนสูงมาก ไม่ใช่แค่ขุดหลุมแล้วก่อกำแพง (ต่อไปดินจะอัดกำแพงเข้ามาจนร้าว, แตกหมด, น้ำรั่ว) ต้องให้ช่างที่เชี่ยวชาญ ต้องวางเสาเข็มโดยรอบห้อง ก่อนก่อกำแพง พูดง่ายๆ พอๆ กับทำสระน้ำดีๆ นี่เอง ห้องขนาดประมาณ 4 x 10 x 2.5 เมตร ค่าก่อสร้าง ล้านกว่าบาท (พอ) กับสายลำโพงหรือสายเสียง TRANSPARENT รุ่นท๊อปคู่เดียว! (2 สายก็ 2 ล้านบาท! หรือลำโพง 2 ทางวางหิ้งคู่เดียว 1 ล้านเศษ!)

นอกจากนั้น ยังต้องมีระบบกันซึมอย่างดี (ระดับทำเขื่อนกั้นน้ำ, ระบบดูดความชื้น เปิดทิ้งไว้หรือตั้งเวลาเปิด-ปิด เครื่อง 3 หมื่นกว่าบาท)

2. ขนาดของห้อง สูง, กว้าง, ยาว ไม่ควรหารกันลงตัว เช่น 4 กับ 2, 8 กับ 4, 2 กับ 6 คือ เลี่ยงได้ก็ดี จะลดการก้องสะท้อนระหว่างผนังได้มาก และเสียงไม่ก้องโด่งที่บางความถี่

3. การทำให้กำแพง ด้านที่อยู่ตรงข้ามกัน เอียงหนีกัน (นิดหน่อยแทบมองไม่ออก) ไม่ตั้งฉากขนานกัน ไม่ว่า ซ้าย/ขวา หน้า/หลัง เพดาน/พื้น ถ้าทำได้ การโด่ง, ลดของเสียงในแต่ละตำแหน่งในห้อง (NODE) จะแทบไม่มี เสียงจะเหมือนคล้ายกันและก้องน้อยไม่ว่ายืนที่ใดในห้อง (Standing Wave ลดลง)

4. ใช้วัสดุซับเสียงคุณภาพสูง (ที่ซับเสียงได้ พอๆ กันตลอดช่วงความถี่) (ทดสอบโดยการฟังเอา) ไม่ใช่ซับดีบางความถี่ เสียงจะอับทึบ ไร้ประกาย เปิดโปร่ง

5. การวางระแนงไม้ (หรืออลูมิเนียม) ที่ตีเป็นเส้นตรงแนวตั้ง มันไม่ได้ช่วยเก็บ, ซับเสียงอะไรได้เลย (ของแข็งจะซับเสียงได้อย่างไร?) เป็นแต่แปลงเสียงก้องรุนแรงที่บางช่วงความถี่ ให้ลดลง เป็นความก้องย่อมลงตลอดช่วงความถี่ พูดง่ายๆ เป็น “ฝุ่น” เสียง คละคลุ้งในห้อง (ค่าอัตราส่วน สัญญาณ/เสียงกวน หรือ S/N ของห้อง ลดลง ช่องไฟระหว่างเสียงตัวโน้ต, เสียงคำร้อง แย่ลงมาก ในเวทีเสียง เหมือนมีม่านหมอก, ฝุ่น

การทำระแนงแบบนี้ เขาใช้แต่ห้อง “แสดงดนตรี” ที่ต้องการฝุ่นเสียง เป็นความกังวาน (spacious) หรือ ambience ไม่ใช่ห้องฟังเพลงที่ต้องไม่เติมแต่งเสียงอะไรเข้าไป ความพริ้วกังวาน เขาใส่มาเรียบร้อยแล้วในตอนบันทึกเสียง (ห้องช่วยบันทึก เขาก็ทำแบบซับเสียง ไม่ใช่ตีทำฝุ่นเสียง หรือ diffuse เสียง)

6. อย่าเชื่อความคิดฝรั่งโบราณที่ว่า LIVE END, DEAD END คือ ช่วงบริเวณของห้องที่วางลำโพง ต้องทำให้เสียงไม่ถูกดูดซับนัก (LIVE), ส่วนช่วงนั่งฟัง ให้เก็บเสียงอย่างยิ่งยวด (DEAD) มันก็เท่ากับไปบิดเบือน เสียงจริงจากที่เขาบันทึก (MASTER) เครื่องเสียงดี, ติดตั้งระดับเซียน ความกังวานมันมาเต็มๆ อยู่แล้วจากที่เขาบันทึกมา ไร้สาระและโง่เขลาที่จะทำห้อง, เลือกเครื่องเสียงที่ช่วยเพิ่มการสะท้อนเสียงในห้องแล้วเข้าใจผิดว่าเป็นความกังวาน

7. การเดินระบบไฟ AC ในห้อง, การติดตั้งจัดวางเครื่องเสียงและอุปกรณ์เสริม มีผลต่อคุณภาพเสียงและมิติเสียง (รวมทั้งความก้อง) ถึง 85% ขึ้นไป พูดง่ายๆ ทำถูก ก็สวรรค์มีจริง, ทำผิด ก็ลงนรกลูกเดียว ป่วยการที่ทำผิดส่วนนี้ แล้วหลงไปคิดว่า เป็นปัญหาด้านอคูสติก ด้านห้อง มันเหมือน...ไปไหนมา สามวาสองศอก (เกาไม่ถูกที่คัน) พวกรับแก้ไข ด้วยอุปกรณ์เสริมประเภททำงานกับอคูสติก ส่วนใหญ่ก็แก้ได้ในระดับหนึ่ง แต่แก้แบบ อาหารไม่อร่อย ใช้วัสดุเกรดต่ำ แต่หลอกคนกินโดยใส่ซอส, ผงชูรส, เครื่องปรุง ซึ่งไม่ใช่ “ของจริง, เสียงจริง, มิติจริง” ใช้ไปสักพัก จะจับออกว่า มันทำให้บุคลิก กิริยาอาการ ที่จำเจ อยู่แต่ในกรอบอันหนึ่ง หลุดกรอบก็เละตุ้มเป๊ะ อุปกรณ์พวกนี้แค่ตัวเสริม ไม่ใช่ตัวแก้ (ยาแก้ปวด ไม่ใช่ยารักษาต้นเหตุ)

8. เสียงรบกวนจากเครื่องปรับอากาศ, พัดลมดูดอากาศ

ในห้องที่เราทำจนเงียบสงัด เสียงรบกวนจากแอร์, พัดลม จะยิ่งพัดดัง, ชัด กว่าปกติ ไม่ต่ำกว่า +2-3 dB (บวกเข้าไปกับตัวเลขข้างล่าง) (จากสเปคของผู้ผลิต, เฉลี่ย)

แอร์ผนังระบบปกติ ความดังของชุดพัดลมในห้อง                23-27 dB

แอร์ผนังระบบ inverter                                                     19 dB

แอร์ระบบ 4 ทางฝังเพดาน                                                 53 dB

แอร์ระบบแขวนใต้ฝ้าเพดาน                                                70 dB

พัดลมดูดอากาศ ขนาดเล็ก                                                 50 dB

หมายเหตุ ผมไม่พูดถึงการทำแอร์ระบบเดินท่อจากระยะไกล เพราะลงทุนสูงมาก แสนกว่าบาทขึ้นไป และติดตั้งยุ่งยากมาก ต้องมีเพดานสูงพอ, การบำรุงรักษาก็ยาก

ดูจากข้างบน คุณคงเลือกแอร์ผนังระบบ inverter แน่... แต่คุณทราบบ้างไหมว่า แม้แอร์ระบบ inverter จะคุยว่า ประหยัดไฟกว่าระบบปกติ, เงียบกว่า

แต่คุณทราบไหม ห้องฟังเพลงมักปิดทึบหมด และเอาเข้าจริง คุณก็มักนั่งฟัง นั่งดูหนังอยู่ 1-2 คน ความเย็นในห้องแทบจะไม่มีการสูญเสียเลย แอร์จึงไม่ต้องเปิด-ปิดบ่อยๆ (ระบบแอร์ทั่วไป) การกระชากไฟ (ที่จะทำให้กินไฟกว่าระบบ inverter) จึงนานๆ ที จนคิดรวมๆ ค่าไฟรายเดือน แทบไม่ต่างจากระบบ inverter เลย (ที่เหมาะกับที่ทำงาน ที่มีคนเข้าๆ ออกๆ บ่อยๆ)

ปัจจุบัน แอร์ระบบปกติ ขนาด 9,000 BTU เครื่องละ 13,000 บาท ห้องเสียงคุณติด 2 เครื่องเพื่อเปิดพัดลมได้ต่ำสุด (LOW) ก็จะเป็นเงิน 26,000 บาท พอๆ กับแอร์ inverter ตัวเดียว 18,000 BTU แต่คุณมีแอร์ 2 ตัว เผื่อตัวหนึ่งน้ำหยดหรือเสีย คุณยังมีอีกตัวใช้ได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ห้องเสียงขนาด 4 x 7 x 2.5 เมตร แอร์ปกติ 9,000 BTU ก็เอาอยู่แล้ว คุณก็สามารถปิด 1 ตัว เปิดตัวเดียวหลังจากเย็นดีแล้ว ประหยัดค่าไฟไปครึ่งหนึ่ง ซึ่ง inverter 18,000 BTU ประหยัดแพ้คุณ)แล้ว (การเปิดลมเบาสุด ลมจะไปรบกวนเสียงจากลำโพงลดลง) ส่วนตัวคอมเพรสเซอร์ ขอแนะนำให้ติดตั้งห่างออกไปจากห้องฟังให้มากที่สุด อย่ากลัวว่า จะเสียค่าท่อน้ำยาไกล จะสูญเสียความเย็น ถ้าคุณปิดผนึกท่อน้ำยาดีๆ มันแทบไม่มีผลสูญเสียอะไร

แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ แอร์ระบบ inverter จะทำให้มิติเสียงแย่ลง 50% (ทรวดทรงชิ้นดนตรี, นักร้อง แบน เวทีเสียงตื้นเข้ามา การโอบมาซ้าย, ขวา แย่ลง สุ้มเสียงแย่ลง) ยังไม่นับที่หลายคนบ่นๆ ว่า ลมเย็นจากแอร์ inverter ไม่ฉ่ำ จริงๆ ผมว่ามันเย็นแบบทิ่มแทง จี๊ดเข้าไปในกระดูก ไม่แผ่วเบาแบบสัมผัสผิวทั่วๆ ไปอย่างแอร์ระบบปกติ เป็นไปได้ไหมว่า เพราะลมเย็นที่ออกมา มันเป็นกระแสลมกระตุกเป็นห้วงๆ (pulse) ไม่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดประจุไฟฟ้าสถิตย์อย่างแรงต่อเครื่องเสียงและร่างกาย (ตรงนี้ผมกำลังทำการทดลอง, วิจัยอยู่) แต่ผลเสียดังกล่าวมีแน่นอน ผมเอากล่องดูดคลื่น RT-1 7-8 กล่องวางหัวเตียง ยังไม่หาย แม้จะดีขึ้น ทุกวันนี้ เวลาผมจะฟังเพลงจาก YouTube ด้วยมือถือบนเตียงนอน ผมต้องปิดแอร์ inverter เปิดแต่แอร์ระบบปกติอีกตัว

ถามว่า ถ้าฟังเพลงดังกล่าวยังฟังออกว่า มีผลแย่ลง แล้วมันจะมิมีผลเสียหรืออันตรายต่อร่างกายเราหรือ ถ้าใช้ไปนานๆ

ทุกวันนี้ ถ้าไม่ร้อนจริงๆ ผมจะเปิดแอร์ 2 เครื่องตอนหัวค่ำ และพอดึกๆ ใกล้หลับ จะเปิดแต่แอร์ระบบปกติ ปิดตัว inverter

9. ระบบไฟส่องสว่างในห้องฟังเพลง, ดูหนัง จงหลีกเลี่ยงไฟ LED ทุกกรณี เพราะเป็นตัวแสบ ทำให้ภาพ, เสียง แย่ลงถึง 35% ผมพิสูจน์มาหลายห้องฟัง, โชว์รูมเครื่องเสียง, ห้องแสดงเครื่องเสียงในงาน (ตามโรงแรม) เพราะระบบไฟ LED เต็มไปด้วยคลื่นขยะความถี่สูง (RF) ที่กระจายช่วงความถี่กว้างมาก ทั้งจากตัวหลอด LED เอง และจากวงจรจุดหลอด (ที่เป็นระบบ switching)

ก็ขนาดผมเอาไฟฉาย LED มาส่องหน้ามือถือขณะฟังเพลงจาก YouTube, มิติ/เสียง ยังแย่ลง!

อย่าว่าโน่นนี่เลย ขนาดเอาไฟฉาย LED ที่สว่างสุดๆ  (960 ลูเมน) ที่ผมพกพา มาวางใกล้โทรศัพท์โดยไม่เปิดไฟฉาย เสียง/มิติ ยังแย่ลงเลย!

คลื่นรบกวนจาก LED ยังมีผลเสียต่อสมองและสายตาด้วย (จริงๆ น่าจะร่างกายทั้งตัว) โอ...แล้วพวกปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์โดยส่องสว่างด้วย LED จำนวนมากๆ สัตว์มันจะป่วย, เพี้ยนกันขนาดไหน แล้วพวกเราก็กินเข้าไป...OMG (พระเจ้าช่วย!)

อันนี้น่าจะรวมพวกจอ LCD, เครื่องฉายภาพที่ใช้ LED และเลเซอร์ (LED ที่แรงพิเศษ) ด้วย ร่างกายคนใช้เดี้ยงแน่ๆ ไม่รู้หน่วยงานความปลอดภัย FCC, FED อเมริกาไปมุดหัวอยู่ที่ไหน

10. อย่าได้ติดตั้งระบบหรี่ไฟในห้องเสียง (ดูหนัง) เด็ดขาด พวกนี้จะส่งคลื่นรบกวนไปทางสายไฟ AC และกระจายเป็นคลื่นออกมาตลอดสายไฟ ถ้าจะหรี่ ให้ใช้การเปิดปิดจำนวนดวงไฟ (ใช้หลอดประหยัดไฟ) แทน อาจทำเป็น 3 วงจร (เปิดครบ 3 วงจร สว่างสุด)

 

แค่ 10 ข้อนี้ก็ทำให้ห้องฟังเพลง, ดูหนังของคุณ เป็นสวรรค์หรือนรกก็ได้แล้ว!

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459