000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > How to buy? > เครื่องเสียงบ้าน > การเลือกซื้อเครื่องกรองไฟ
วันที่ : 31/10/2015
11,867 views

การเลือกซื้อเครื่องกรองไฟ

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ทำไมต้องมีเครื่องกรองไฟในชุดเครื่องเสียง

 ปกติไฟบ้าน (AC) ที่มาจากการไฟฟ้าจะเต็มไปด้วยสัญญาณขยะ (Inter ference) หลากรูปแบบทั้งสัญญาณรบกวน (Noise) อันเกิดจากคุณภาพของตัวนำสัญญาณซึ่งก็คือสายส่งไฟยาวนับพันกิโลเมตร ขั้วต่อต่างๆ จำนวนมหาศาลที่กระแสจะต้องกระโดดผ่าน การไม่แน่น การแกว่งของสายไฟจากพายุ, แรงลมทั้งหมดก่อให้เกิดสัญญาณรบกวน (Noise) นอกจากนั้นก็มีการรบกวนจากคลื่นวิทยุความถี่สูงสารพัดในอากาศ ทั้งมาจากการส่งวิทยุ, ทีวี, คลื่นเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Cell Site), คลื่นการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (WIFI ), คลื่นจากตัวโทรศัพท์มือถือเอง, คลื่นกวนจากเครื่งใช้ไฟฟ้าสารพัดที่ใช้กระแสไฟร่วมกันมาตลอดเส้นทางของสายส่งไฟ, สายไฟในบ้านเราเอง

จะเห็นว่า ไฟ AC ไม่มีทางสะอาดเกลี้ยงเกลาหมดจดบริสุทธิ์ได้เลย (Noise) อีกทั้งรูปคลื่นก็บิดเบี้ยว  ( Distortion), แรงดันไฟก็กระเพื่อมไม่นิ่งจริง   ยิ่งปัจจุบันเริ่มมีการทำอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในบ้าน (LAN )ที่อาศัย “สายไฟ AC” เป็นทางเดินสัญญาณ (LAN ) โดยไม่เดินสาย  LAN แยกต่างหาก (เรียก  PLC หรือ POWER LINE COMMUNICATION) ยิ่งต้องใช้คำว่า “ทุเรศ เห็นแก่ตัว ไร้ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม” ที่ไปเพิ่มขยะให้แก่ระบบไฟ  AC ของบ้านตัวเองและลามไปรบกวนผู้อื่นที่จำเป็นต้องอาศัยสายส่งไฟ  AC หลักเส้นทางเดียวกัน จริงๆ มันไม่ควรเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ดุจการเอาแม่น้ำลำคลองของส่วนรวมมาเป็นที่ทิ้งขยะส่วนตัว

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมีระบบกรองไฟ AC ซึ่งจริงๆ แล้วเครื่องเสียงก็มักจะมีวงจรกรองขยะเหล่านี้แถมมาอยู่แล้วที่ภาคขาออกของภาคจ่ายไฟอันเป็นวงจรปรับแรงดันไฟให้เรียบ (ไม่กระเพื่อมหรือ RIPPLE) จริงๆไม่ได้หวังจะกรองอะไรหลอก มันเป็นผลพลอยได้มากกว่า แต่ก็มีประสิทธิภาพในการกรองต่ำมาก บางครั้งจึงอาจมีอุปกรณ์กรองไฟโดยตรงแบบถูกๆง่ายๆที่ขาเข้าเครื่องจากสายไฟ AC ก่อนถึงตัวหม้อแปลงแต่อุปกรณ์กรองไฟนี้ก็จะพื้นฐานที่สุด ประสิทธิภาพแค่พอใช้เท่านั้น

ปกติเครื่องเสียงที่วางขายกัน เวลาใช้งานก็แทบไม่มีเสียงสัญญาณกวนใดๆ ให้ได้ยินอยู่แล้ว จะต้องไปวิตกหาตัว (เครื่อง) กรองไฟมาเพิ่มเติมไปทำไม (ก็หูไม่ได้ยินอยู่แล้ว)

ผลของสัญญาณกวนจากสายไฟ AC มีทั้งที่อาจสาหัสขนาดส่งเสียงกวนให้ได้ยิน (AUDIBLE)และที่มีกวนแต่ไม่ได้ยิน (INAUDIBLE )

จริงๆแล้วแม้หูเราจะไม่ได้ยินแต่วงจรอุปกรณ์อีเล็กโทรนิกส์มันมองเห็น, มันรับรู้ได้ว่ากำลังถูกป่วนอยู่อันทำให้อุปกรณ์, อะไหล่ชิ้นส่วนเหล่านี้ทำงานผิดพลาด ส่งผลทางอ้อมให้การขยายเสียงแย่ลง เสียงที่เราได้ยินจึงพลอยแย่ลงไปด้วย

นอกจากนั้นถ้าปล่อยให้สัญญาณรบกวนเหล่านั้นไม่ถูกกำจัดออกไปและวิ่งเข้าสู่อุปกรณ์เครื่องเสียง ส่งผลให้มีการแพร่กระจายของคลื่นรบกวนออกมาจากสายไฟ AC  จากเครื่องเสียงมากระทบสมองให้เรารับรู้คุณภาพเสียงได้ผิดเพี้ยน,แย่ลงด้วย

ดังนั้น ถ้าต้องการเก็บเกี่ยวคุณภาพของเครื่องเสียงใด,ชุดใด ให้ออกมาดีที่สุดสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ เครื่อง(อุปกรณ์)กรองไฟAC

สิ่งที่ต้องระวังในการออกแบบตัวกรองไฟ หรือ การเลือกเครื่องกรองไฟ

  1. เครื่องกรองไฟนั้นทำให้รูปคลื่นไฟAC (SINE WAVE) ผิดเพี้ยน บิดเบี้ยวไปหรือไม่ (มันจะเสมือนมีความเพี้ยน (THD) แถมมากับไฟ AC เข้าเครื่องเสียงเรา)
  2. การกรองคลื่นขยะในไฟ AC นั้นกรองได้กว้างขวางตั้งแต่ความถี่ต่ำ (บางครั้งต่ำกว่า 20 Hz) ถึงความถี่สูงได้กว้างแค่ไหน (BAND WIDTH ) หรือแค่ช่วงที่หูได้ยินเท่านั้น(AUDIO )
  3. คลื่นแรงดันไฟ (VOLTAGE WAVE ), กับคลื่นกระแสไฟ (CURRENT WAVE ) มีการสวิงขึ้นสวิงลง อย่างสอดคล้องตรงกันเป๊ะแค่ไหนหรือเหลื่อมกัน (ภาษาช่างเรียกPOWER FACTOR) ถ้าได้ 1 แสดงว่าคลื่นทั้งสองเกิดขึ้นสวิงขึ้น-ลง ดับลงพร้อมกันเป๊ะซึ่งจะทำให้เครื่องได้ “กำลัง (POWER)” ขับดันสูงสุด
    ตัวกรองไฟมักก่อปัญหา POWER FACTOR นี้คลื่นทั้งสองไม่ได้จังหวะเดียวกัน แอมป์อาจเสียงดังดีแต่  ไม่มีแรงถีบ
  4. การกรองนั้นจะไปอั้น จำกัด ( LIMIT ) กระแสหรือไม่ กิริยาการอั้นออกมาในรูปแบบไหน ที่ระดับการสวิงเกินขนาดไหน สวิงฉับไวแค่ไหนจึงรู้สึกอั้น ที่ความถี่ช่วงไหน
  5. การกรองนั้นทำให้องค์ประกอบด้านฮาร์โมนิกส์ (หรือความถี่คู่ควบทั้งหลายที่ประกอบรวมกันเป็นรูปคลื่นไฟAC นั้น) พวกความถี่คู่ควบเหล่านี้มีการแตกแถว,ล้ำเหลื่อมกันและกันอย่างไรอันจะส่งผลให้รูปคลื่นไฟ AC นั้นบิดเบี้ยวไป

    ปัญหาแตกแถวของฮาร์โมนิกส์ เริ่มเกิดขึ้นที่ฮาร์โมนิกส์ต่ำลงมาแค่ไหน หรือสูงไปตั้งแต่แค่ไหน

    เวลาดูคุณภาพไฟ AC จากตัวกรองไฟจึงต้องดูเหล่าฮาร์โมนิกส์ทั้งหลายด้วยและดูแบบครอบช่วงความถี่กว้างที่สุด ไม่ใช่แค่ดูที่ความถี่ไฟ AC บ้านอย่างเดียว
  6. การกรองนั้นลดทอนความฉับไวในการสวิงกระแส, แรงดันขึ้น-ลงแค่ไหน (TRANSIENT RESPONSE) หรือทำให้เกิดคลื่นกระเพื่อมแค่ไหน (RINGING) เสมือนความถี่สูงๆจะถูกเน้นกว่าที่ควร (มีผลต่อสุ้มเสียงทึบหรือโปร่ง, จังหวะจะโคน (RYTHMIC)
  7. ชิ้นส่วนอะไหล่,อุปกรณ์ในวงจร , ในเครื่องกรองไฟ,สาย, ตัวถัง,อะไหล่ (L,C,R) ขั้วต่อไฟ,สวิทซ์ไฟ, เต้าเสียบ,ฯลฯ การประกอบทั้งหมดล้วนมีผลต่อการสั่น, การรบกวนกันเองของอุปกรณ์ภายใน (MUTUAL INTERFERENCE), ทิศทางสายและขาอุปกรณ์ (DIRECTION), คุณภาพอะไหล่ (GRADE) การรบกวนด้วยคลื่นวิทยุจากภายนอก (ทั้งในรูปEMC, RF) ถ้าไม่คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้อาจกรองไฟได้ดีแต่เสียงไม่ดัง, มิติไม่ดี (ทรวดทรง, เวทีเสียง, ความกังวาล, บรรยากาศ)
  8. การจัดวางตังเครื่องกรองไฟก็มีผลอย่างมาก วางบนพื้นปูนดื้อๆ (ใต้ปูนมีโครงเหล็ก), วางบนชั้นวางที่เป็นเหล็ก, วางใกล้-ไกลจากอุปกรณ์เครื่องเสียง
  9. เฟสไฟ AC ที่ขาเข้าเครื่องกรองไฟกับเฟสไฟ AC ที่เต้าเสียบขาออกเครื่องกรองไฟก็มีผลต่อมิติเสียงอย่างเหลือเชื่อ (ตรงนี้แทบไม่มีเครื่องกรองไฟไหนในโลกคำนึงถึง)
  10. ความเสถียรของการทำงาน, อายุการใช้งาน, ความคงทน, ความง่ายหรือสะดวกในการใช้งาน
  11. ตัวกรองไฟ 99.99% ในท้องตลาดมักมีเต้าเสียบตัวเมียขาออกไปเครื่องเสียง มาให้มากกว่า 1 ชุด (อาจมี2, 4 หรือ 6, 8 ชุด) อาจมองว่า ลงทุนตัวกรองอันเดียวใช้กับอุปกรณ์เครื่องเสียง, เครื่องภาพได้หลายชิ้นคุ้มค่าดี แต่ในความเป็นจริงการเสียบใช้กับอุปกรณ์เครื่องเสียงเกินกว่า 1 ชิ้นก็แย่แล้วอย่าลืมว่าแม้เราจะกรองการกวนจากไฟ AC เข้ามาแต่ถ้าเสียบใช้อุปกรณ์เกิน 1 ชิ้น แต่ละอุปกรณ์ก็จะส่งการรบกวนกันเองได้อยู่ดี ดีที่สุดจึงควรใช้ตัวกรองแยกชิ้นต่อชิ้นของเครื่องเสียง
  12. ผู้ผลิตตัวกรองไฟมีการรับประกันอย่างไร มีบริการตรวจเช็คประสิทธิภาพเป็นระยะๆหรือไม่ (ตัวกรองไฟมีอายุการใช้งานตั้งแต่สั้นๆ จนถึงเป็นปีๆ)

ข้อควรจำ

ขอยืนยันนอนยันว่าตัวกรองไฟดีๆเป็นสิ่งจำเป็นต่อชุดเครื่องเสียง ต่อให้เครื่องเสียงนั้นแพงลิบลิ้วแค่ไหนหรือราคาประหยัดแค่ไหนคุณจ่ายถูกๆก็ได้ตัวกรองไฟโหลๆที่มีแต่แถมปัญหา คุณจ่ายแพงๆปัญหาแถมก็ลดลงตามส่วน

การกรองไฟ ควรวางตัวกรองไฟใกล้ชิดติดอุปกรณ์ที่จะใช้งานให้มากที่สุด กรณีที่ใช้ตัวกรองไฟหลายๆตัว การกรองแต่ละตัวก็จะส่งผลช่วยกันและกันด้วย และช่วยได้ทั้งบ้าน (สายไฟ AC ในบ้านคุณทั้งหลังก็จะกระจายคลื่นวิทยุ, ทีวี, WIFI ที่มันรับเข้ามาแล้วมาปล่อยใส่ตัวคุณ มีผลต่อสุขภาพตัวเราเองด้วย

อย่าหลงประเด็น

ตัวกรองไฟ ไม่ใช่ตัวป้องกัน ไฟกระชาก หรือเป็น ตัวรักษาแรงดันไฟให้คงที่ (VOLTAGE STABILIZER) มันคนละจุดประสงค์

เพราะอุปกรณ์ที่ผลิตเพื่อจุดมุ่งหมายทั้ง 2 กรณีนี้ล้วนทำลายคุณภาพเสียงทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย แต่ก็จำเป็นในกรณีที่ไฟAC บ้านเรามีปัญหา 2 อย่างนี้ซึ่งไม่ป้องกันไม่ได้มีสิทธิพัง ก็ต้องแลกเอาระหว่าง พัง กับ คุณภาพเสียงที่แย่ลง

จริงอยู่ ตัวป้องกันไฟกระโชก,ไฟตก-ไฟเพิ่มอาจมีวงจรกรองไฟมาบ้างอยู่แล้ว แต่มักเป็นแบบง่ายๆพื้นๆ ไม่ใช่ระดับหูทอง, ตาทิพย์ (AUDIOPHINE หรือ VIDEOPHINE) อย่างที่กล่าวมาแล้ว

ความคุ้มค่าในการลงทุนกับตัวกรองไฟ

  1. ช่วยยืดอายุอะไหล่, อุปกรณ์ของเครื่องเสียง (และภาพ) ที่มาต่อใช้
  2. ช่วยให้อุปกรณ์ที่มาต่อใช้ทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุด เที่ยงตรงสุดอย่างที่ควรจะเป็น
  3. ลดปัญหา MEMORY EFFECT เคยนิสัย(อนุสัย) อันเป็นบุคลิกเสียง (ภาพ) ที่ตายตัวที่เกิดจากการตกตะกอนหรือการถูกกระหน่ำด้วยความเพี้ยน,สัญญาณรบกวนจำเจทั้งวันทั้งคืน (ไม่มีตัวกรองไฟ)
  4. ตัวกรองไฟที่ดีจริงในแง่เสียง ถ้าจะคุ้มค่าต้องให้เสียงที่ดีขึ้นได้จริงทุกแง่มุมไม่ใช่แค่บางแง่ และเฉลี่ยผลดีขึ้นไม่ควรต่ำกว่า 15 % ขึ้นไป (ต่ำกว่านี้อาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน) อีกทั้งตัวมันเองต้องใช้บุคลิกส่วนตัว ต้องเป็นกลาง ต้องทำให้ทุกแง่มุมเสียงที่อิสระขึ้น, เปิดเผยทะลุปรุโปร่งขึ้น, มีชีวิตชีวาสมจริงขึ้น, พลังขับดันดีขึ้น, บรรยากาศดุจอยู่ในเหตุการณ์มากขึ้น ถ้าผิดไปจากนี้ไม่ควรใช้เลย (ตัวกรองไฟที่ดีจริงจึงหายากมากๆ)
  5. ตัวกรองไฟมีตั้งแต่ราคาไม่กี่พันบาทถึงเป็นแสนๆบาท อย่างไรก็ตามอย่าให้ราคาเป็นม่านบังตา เครื่องกรองไฟที่ดีออกแบบและผลิตจากผู้ที่ “ฟังระดับเซียน-เทพ” และรู้จริงรู้ลึก อาจราคาไม่แพงมากแต่ให้ประสิทธิภาพดีกว่าของที่ราคาแพงกว่ากันเป็นสิบๆ เท่าได้
  6. ตัวกรองไฟก็เหมือนเครื่องเสียงชิ้นหนึ่ง ต้องรู้จักจัดวาง ต้องให้เวลามันเบินอินให้ได้ที่ ดังนั้นผู้ขายควรให้ความยุติธรรมต่อผู้ซื้อในการจ่ายเงินแล้วนำไปลองใช้งานกับชุดของผู้ซื้อ ถ้าไม่ได้ผลหรือกลับแย่ลงต้องยินดีรับคืนเพราะตัวกรองไฟบางทีก็เลือกอุปกรณ์ที่จะมาต่อใช้กับมันด้วย

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459