000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > ระบบเสียง PA > เครื่องเสียง PA > ฮาร์ดแวร์ VS ซอฟต์แวร์
วันที่ : 27/01/2016
7,509 views

ฮาร์ดแวร์ VS ซอฟต์แวร์

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว เครื่องมือในห้องบันทึกเสียง ไม่ว่า mixer, echo การตัดด่อ (ด้วยม้วนเทปใหญ่ open reel) เกือบทั้งหมดจะใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่เป็นชิ้นเป็นอัน มีตัวเครื่องจริงๆ วงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จริงๆ เราเรียกว่าเป็นฮาร์ดแวร์ (hardware) ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการใช้อุปกรณ์ “ที่จับต้องได้” นี้ แม้ว่าจะน้อยลงมาก และปรับเปลี่ยนไปมาใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์แทน (ซอฟต์แวร์-software)

                ปัจจุบันที่คอมพิวเตอร์พลังสูงๆ (สเปกสูงๆ) มีราคาถูกลงมาก การประมวลผลฉับไวขึ้นอย่างมหาศาล การทำงานแบบทีละหลายๆ ด้านพร้อมกันได้ ผนวกกับหน่วยความจำที่มีความจุสูงขึ้น เร็วขึ้น ถูกลงมาก ถ้าเป็นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว คอมพิวเตอร์ปัจจุบันก็เหมือนซุปเปอร์คอมฯ ดีๆ นี่เอง

                เมื่อตัวคอมฯ พัฒนาจนถึงสวรรค์ขนาดนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเขียนโปรแกรมการทำงาน (แทบ) ทั้งหมดของระบบตัดต่อ ผสม ปรับแต่งเสียงที่เคยใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เป็นหลัก ปรับเปลี่ยนมาใช้คอมฯ (PC) แทน (เรียกการทำงานบนซอฟต์แวร์) ซึ่งปัจจุบันมีการเขียนโปรแกรมตัดต่อ ผสมเสียง หรือทำผลพิเศษทางเสียง (effect) ออกมากันอย่างหลากหลาย แม้แต่เครื่องพกพา iPad ก็ยังมี application (โปรแกรมการใช้งาน) เสียงสตูดิโอเหล่านี้ออกมากันแล้ว (เช่น studio live 16.0.2 จาก PreSonus, www.presonus.com)

                การที่อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์มีราคาสูงถึงสูงมาก อย่างเช่น เมื่อ 30 ปีมาแล้ว mixer ประมาณว่า 30-ch ราคาสิบกว่าล้านบาท…!!! เครื่องทำเสียงก้องเป็นแสนบาท เครื่องตัดแบ่งความถี่เสียง เครื่องยืด-หด ตัดต่อ กรองสัญญาณ แก้เสียง-แก้เพลง พวกนี้ราคาว่ากันเฉียดแสนบาททั้งนั้นในแต่ละเครื่อง แถมต้องเสียบสายระโยงรยางยั้วเยี้ยไปหมด กองพะเนินเครื่อง เวลาใช้งานก็ต้องหันซ้ายหันขวา หัวปั่นไปหมดในการไล่กดปุ่มโน่นนี่ เรียกว่าต้องมีความอดทน เชี่ยวชาญ เก๋าจริงๆ จึงจะทำได้ ทั้งหมดนี้ทำให้การลงทุนห้องบันทึกเสียงสักห้อง ต้องว่ากันเป็นหลักล้านบาท (ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง) ยังไม่นับตัวห้องและสถานที่ กับระบบไฟ ระบบระบายอากาศ

                นั่นคือหนึ่งในยุคแอนะลอก ถ้าคิดจะทำห้องบันทึกเสียงระดับอาชีพสักห้อง ก็ต้องเตรียมเงินไว้ไม่ต่ำกว่า 1-15 ล้านบาท แถมต้องวิ่งหามือมิกซ์ และใช้เครื่องระดับเทพด้วย (ซึ่งหายาก เงินเดือนแพงลิบ)

                แต่ปัจจุบันที่ระบบเสียงได้เคลื่อนย้ายแอนะลอกมาเป็นดิจิตอล ทำให้สามารถทำงานด้านเสียงทั้งหมดได้ (95 เปอร์เซ็นต์) บนพื้นฐานของระบบเสียงดิจิตอลได้ และที่ดีที่สุดคือ สอดรับกับการใช้คอมฯ และโปรแกรมสตูดิโอซอฟต์แวร์อย่างลงตัวเหมือนผีกับโลงเลย

                ที่สำคัญที่สุดคือ ราคาของระบบเสียงสตูดิโอที่ทำงานบนรากฐานซอฟต์แวร์ มีราคาถูกกว่าระบบฮาร์ดแวร์แบบคนละโลกเลย จากการลงทุนหลักล้านบาทก็เหลือแค่หลัก 2-3 แสนบาท ถ้าระดับล้านบาทก็หรูสุด อีกทั้งการใช้งานก็สามารถ ตั้งลำดับตัดต่อผสมล่วงหน้า เลือกค่าต่างๆ ล่วงหน้า ทดลองฟังผลที่ล่วงหน้าได้ ปรับปรุงแก้ไขได้อย่างละเอียดยิบ ร้องผิดคำเดียว เล่นผิดโน้ตเดียว ยังแก้ปะผุได้ ร้องช้าไป-เร็วไป เล่น-ร้องไม่คล้องกันก็แก้ได้หมด พูดง่ายๆ ว่า แทบจะไม่มีอะไรที่โปรแกรมทำไม่ได้

                เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็แทบไม่ต้องง้อช่างเสียงทักษะรัดับเทพอีกต่อไป ขอใครก็ได้ที่พอรู้เรื่องดนตรีบ้าง ฟังพอเป็น ใช้ “เครื่อง PC และโปรแกรมเป็น” แค่นี้ก็พอแล้ว เงินเดือนจึงไม่ต้องสูงลิบ

                ไม่ต้องใช้ห้องคอนโทรล (ควบคุม) ใหญ่มากมายอะไร ไม่มีเครื่องวางซ้อนกันเป็นตั้ง แทบไม่มีสายพ่วงระโยงระยางเป็นรังนกอีกต่อไป ห้องทำงานดูเกลี้ยง สะอาดตา แค่จอ LCD คีย์บอร์ด เมาส์ และอุปกรณ์กล่องดำ interface บ้างก็จบ

                เพราะเหตุนี้แหละ ทำให้นับวัน วงการอุปกรณ์สตูดิโอฮาร์ดแวร์จะหดตัวเล็กลง และเปลี่ยนไปเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อ (interface) กับ PC แทน ที่ยังพอเหลือเป็นฮาร์ดแวร์จริงๆ ก็มีลำโพง ไมค์ พาวเวอร์แอมป์ สาย เท่านั้น ขณะที่วงการโปรแกรมสตูดิโอก็เบ่งบาน แต่ไม่ถึงกับล้นหลามมาก อาจเนื่องจากข้อจำกัด ลูกเล่นการใช้งานด้านเสียงมันพลิกแพลงอะไรไม่ได้มากนัก มีอยู่แค่รวมๆ แล้วไม่น่าเกิน 10 อย่าง ความแตกต่างระหว่างซอฟต์แวร์ด้วยกันก็อาจอยู่ที่ ความยาก ง่าย สะดวก และการโชว์ฟังก์ชั่นต่างๆ บนจอ LCD ว่าใครแจ่มชัด สมจริงดุจการใช้เครื่องฮาร์ดแวร์กว่ากัน

                ปัจจุบัน ถึงขนาดว่า นักดนตรีบางวงบันทึกเสียง/เล่นกันที่บ้าน อาศัยคอมฯ PC กับซอฟต์แวร์ผสม ตัดต่อกันเองแล้ว เพื่อลดต้นทุนค่าทำอัลบั้ม ผลคือ ธุรกิจห้องบันทึกเสียงนับวันแต่จะแย่ลงๆ ข่าวว่าห้องใหญ่ๆ ปิดตัวกันไปหมดแล้ว เหลือแต่ห้องเล็กๆ ตามตรอกซอกซอยก็อยู่กันแบบเจ้าของทำเองด้วยใจรักมากกว่า เอาร่ำรวยอะไรไม่ได้อีกแล้ว (ค่ายเพลงใหญ่ๆ ก็มีห้องเอง)

                สาเหตุที่น่าจะอนุมานได้คือ เมื่อไรที่กิจกรรมนั้นอาศัย “ให้เครื่องจัดการให้” อย่าง PC/ซอฟต์แวร์ ไม่ได้ใช้ทักษะและศิลปะของผู้บันทึกที่ต้องสั่งสมนับสิบๆ ปีอีกต่อไป มันก็ไม่ใช่งานศิลป์อีกต่อไปแล้ว ใครๆ ก็ทำได้ จะเรียกค่าเช่าห้องอัดสูงสักหน่อยก็ไม่ได้

                การใช้ PC/ซอฟต์แวร์ ทำให้ต้นทุนห้องอัดถูกลงมาก ดูโล่งๆ ในห้องไม่ดูเก๋า ดูเหมือนง่าย ไม่มีอะไร จะเรียกราคาค่าเช่าห้องอัดสูงก็ไม่ได้อีกต่อไป เพราะเดี๋ยวนี้ห้องอัดลงทุนต่ำ จึงมีคู่แข่งเยอะ ตัดราคากันเอง

                ลูกค้ารายใหญ่งานเยอะมักลงทุนทำห้องอัดเอง (เพราะไม่สูง ไม่ยาก) จึงเหลือแค่ลูกค้ารายเล็กๆ จิ๊บจ๊อย ไม่สู้ราคาค่าห้องอัด

                ซอฟต์แวร์ ทำให้ยุคสมัย วงการ เปลี่ยนไปหมดอย่างไม่น่าเชื่อ สุดท้าย กลายเป็นทั้งห้องบันทึกแบบฮาร์ดแวร์ และและซอฟต์แวร์ต่างกอดคอกันจมน้ำทั้งคู่

                คำถามยอดฮิตคือ การทำงานบนฮาร์ดแวร์เทียบกับซอฟต์แวร์ ไหนดีกว่ากัน

                1. ในแง่การใช้งาน ความสะดวก ความแม่นยำ ซอฟต์แวร์เอาไปเลยเต็มร้อย
                2. ในแง่ต้นทุน ทั้งการลงทุนแรกเริ่ม และเฉลี่ยแต่ละอัลบัม ซอฟต์แวร์ก็ได้อีกเต็มร้อย
                3. ความยากง่ายในการสร้างผลงาน แม้ว่าซอฟต์แวร์จะทำได้ “ถนัด” กว่า แต่เรื่องความบันเทิงเป็นงานศิลปะ ยังไงๆ ไม่ว่าจะใช้งานแบบฮาร์ดแวร์ หรือแบบซอฟต์แวร์ ผู้ใช้ก็ต้องมีศิลปะในการที่จะ “ขี่” เทคโนโลยีนั้นๆ เพื่อปรับผลงานให้มีศิลปะท้ายที่สุด แม้วิธีเข้าถึงจะต่างกันก็ตาม
                ในแง่สุ้มเสียง ยังไงๆ ระบบฮาร์ดแวร์ก็ยังน่าฟังกว่า เสียงมีตัวตน มีทรวดทรงหลุดลอยมาจากฉากหลัง มีช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีในวง มีความสงัด ทั้งหมดดีกว่าระบบซอฟต์แวร์ พูดง่ายๆ ว่า เสียงมีเสน่ห์เป็นธรรมชาติกว่า
                5. การบำรุงรักษาระบบซอฟต์แวร์จุกจิกน้อยกว่า ถ้าระมัดระวังดีๆ แทบตัดปัญหาได้เลย

เสียงจากการบันทึกด้วยสตูดิโอซอฟต์แวร์

                1. เสียงมักฟังเหมือนๆ กันไปหมด เช่น เสียงเครื่องดนตรีชนิดเดียวกัน ต่างยี่ห้อ ต่างระดับราคา จะฟังแทบไม่ต่างกัน นักร้องเพศเดียวกัน ต่างคน แต่เสียงกลับคล้ายๆ กันไปหมด ออกมาบุคลิกเดียว
                2. ทรวดทรงเสียงจะออกแบน ไม่มีโค้งนูน-เว้า ไม่มีความเป็น 3 มิติ
                3. เสียงดนตรีในวงไม่ไล่ลำดับตื้นลึกเป็นลำดับชั้นไล่ไปหลังเวที มักฟังเสมอกันไปหมดดุจแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่ง
                4. ความกังวานมักออกแห้ง ทึบ ไม่พลิ้วฉ่ำเป็นระลอก หรืออณูอากาศกระจาย (airy)

                อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นๆ รอบข้างด้วย อย่างกรณ๊แบบฮาร์ดแวร์ ที่มีเครื่องเคราเต็มห้องไปหมด สายระโยงระยาง ทั้งหมดต้องถามว่า มีการทดสอบทิศทางสายแต่ละเส้น (แม้แต่สายไฟ) หรือเปล่า สายแตะต้องกันหรือไม่ มัดสายเป็นขยุ้มไว้หรือเปล่า สายลูกผสมหรือไม่ (แต่ละช่วงจากเครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องหนึ่ง ใช้สายเชื่อมสัญญาณต่างยี่ห้อ ต่างรุ่น ซึ่งไม่ควรทำ)

                วางเครื่องขี่ทับซ้อนกันหรือไม่ ฟังทดสอบทิศทางขาปลั๊กไฟ AC ของเครื่องหรือไม่ ทิศทางเส้นฟิวส์ของแต่ละเครื่อง การตั้งระดับสัญญาณขาออกของเครื่องหนึ่งไปยังการตั้งความไวขาเข้าของเครื่องถัดไป... ได้จูนจนได้เสียงลงตัวหรือเปล่า

                มีเครื่องมากหลายชิ้น ย่อมมีโอกาสถูกป่วนจากคลื่นวิทยุความถี่สูง (RF) จากภายนอกได้ง่ายกว่า (คลื่น WiFi คลื่นโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ)

                ขณะที่ระบบซอฟต์แวร์อ่อนไหวต่อคลื่น RF มากกว่า พร้อมกับตัวมันเองก็กระจายความถี่สูงไปป่วนอุปกรณ์อื่นๆ ภายในห้องด้วย

                นอกจากนั้น จอ LCD ทั้งจอของตัวเครื่อง จอ LCD ใหญ่แยกล้วนป่วนการทำงาน สุ้มเสียง มิติเสียงด้วย ต้องระวังคุณภาพของไฟ AC ทั้งความนิ่ง ความสะอาด ล้วนมีผลทั้งสิ้น และมีผลต่อระบบดิจิตอลมากกว่า

                สรุปคือ ทั้งสองระบบล้วนมีข้อดีข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่า ในการใช้งานจริงๆ เรารู้ปัญหาของมันไหม และได้ป้องกันไว้หรือไม่ มากน้อยเท่าไร ตรงนี้มากกว่า

                อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดขึ้นอยู่กับว่า ผู้ใช้ฟังเป็นแค่ไหน รู้ไหมว่า เสียงธรรมชาติเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด มันคือเป้าหมาย ไม่ว่าการจะเข้าถึงนั้นจะโดยวิธีใดก็ตาม

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459