000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > ระบบเสียง PA > เครื่องเสียง PA > หรือจะหมดยุคเสียงขยาย...ฟังสดดีกว่า
วันที่ : 27/01/2016
5,848 views

หรือจะหมดยุคเสียงขยาย...ฟังสดดีกว่า

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

เมื่อเร็วๆ นี้ได้คุยกับเพื่อนจึงทราบว่าปัจจุบันวงดนตรีลูกทุ่งขนาดใหญ่ มีอันต้องล้มหายตายจากไปหมดแล้ว วงดังๆ ที่มีชื่อมานมนานนั้น ไม่มีอีกแล้ว นักร้องดังๆ เจ้าของวงก็ต้องผันตัวเองไปเป็นนักร้องรับเชิญตามรายการทีวีต่างๆ หรือตามงานโชว์ (ตลก) ต่างๆ ฟังแล้วก็น่าใจหาย ต่อไปเด็กรุ่นใหม่คงไม่มีโอกาสได้ฟังเสียงจากวงดนตรีไทยจริงๆ ขนาดเขื่องอีกแล้ว นี่คือจุดจบตามยุคสมัยวัฒนธรรมอย่างนั้นหรือ...???

                เมื่อฉบับที่แล้ว ผมเคยวิจารณ์ “เสียง” จากวงดนตรีระดับออร์เคสตรา BSO ที่บรรเลงเพลงสุนทราภรณ์ และล้มเหลวในเรื่อง “ระบบเสียง” นั่นเป็นข้อผิดพลาดของผู้รับผิดชอบด้านเสียง ที่อยู่บนพื้นฐานแห่งการใช้ไมโครโฟนและระบบขยายเสียง (ภาษาวัยรุ่นเรียกแบบ plug ถ้าไม่ใช้ภาคขยายเสียง ฟังกันสดๆ จากเครื่องดนตรีเลย เรียกแบบ unplug หรือ acoustic)

                เช่นเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้เอง ผมได้มีโอกาสไปชมคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิกซึ่งเล่นโดยมือระดับโลก และระดับพระกาฬถึง 3 ท่าน ที่โรงแสดงสยามรัชดา ภายในโรงเรียนดนตรีสยามกลการ รัชดาภิเษก ฟอร์จูนทาวน์

                ตัวคอนเสิร์ตเอง ขอปรบมือให้ดังๆ ว่า เยี่ยมมาก ทั้งมือไวโอลิน มือเชลโล และมือเปียโน คุณภาพคับแก้ว และขอคารวะแด่อาจารย์ธัญลักษณ์ เหลืองวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ควักกระเป๋าลงทุนให้พวกเราได้ฟังคอนเสิร์ตคุณภาพครั้งนี้

                แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต้องคงระมัดระวังในงานคราวหน้า...

                ในครึ่งแรกของการบรรเลงประมาณ 50 นาที ทั้งๆ ที่ไม่มีการใช้ไมโครโฟนใดๆ ไม่มีมาวางเกะกะให้เห็น ก็แสดงว่า เล่นกันสดๆ (ไม่มีลิปซิงก์) อีกทั้งเวทีก็ไม่ได้กว้างมาก ห้องฟังจุแค่ประมาณ 150 คน (เกือบเต็ม) แน่นอนว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบขยายเสียงให้แก่เครื่องดนตรี นอกจากถ้าจะมีนักร้องด้วยก็คงต้องช่วยหน่อย

                ผมเองนั่งฟังตรงกลางห้องเลย ซึ่งน่าจะเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุด (ซึ่งทางอาจารย์ธัญลักษณ์ได้เตรียมไว้ให้) ครึ่งแรกเสียงดังมาคับห้องตลอดช่วงหน้าเวที ผู้เล่นทั้ง 3 เล่นอยู่ตรงกลาง เสียงจะดังยาวเป็น “เนื้อ” เดียว (ทั้ง 3 ชิ้นดนตรี) จากซ้ายสุดไปขวาสุดของเวที โดยมีเสียงจากตรงกลางของ 3 ผู้เล่นแทรกออกมาได้บ้างเป็นบางครั้ง คือโฟกัสเสียงไม่ได้ นอกจากนั้น เสียงทั้งหมดจะเหมือนสวิงจากค่อยไปดังอยู่ในช่วงแคบๆ แถวๆ ความถี่ 200 Hz ถึงประมาณกว่า 7 kHz ทำให้แกรนด์เปียโน (YAMAHA) ขาดความกระหึ่มของความถี่ต่ำ ขาดความสดเป็นประกายระยิบระยับของความถี่กลางสูงขึ้นสูง รวมทั้งเสียงต่ำลึกจากเชลโลก็เลือนหายไป ส่วนเสียงจากไวโอลินก็ขาดความเป็นเส้นสาย และเสียงผิว (texture)

                พูดง่ายๆ ว่า ไม่มีช่องไฟ ช่องว่าง ระหว่างตัวโน้ต ขาดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ช่วงค่อยๆ ฟังออกคลุมเครือ ซึ่งน่าจะไม่ได้เกิดจากอะคูสติกของห้องฟังสักเท่าไร เพราะเสียงปรบมือ (รอบๆ ตัวผม) ยังชัดกว่าเสียงจากเครื่องดนตรีหน้าเวที  อีกทั้งฟังเสียงได้เป็นเสียงจากแต่ละมือ แต่ละทิศทาง ที่วิ่งมาถึงตัวผม เสียงฝ่ามือกระทบกันก็ชัดเจนดี โดยรวมไม่อู่ก้อง

                ครั้งแรกผมก็คิดว่า ปัญหาจากการบรรเลงอาจมาจากอะคูสติกบริเวณเวทีที่เป็นฝาแข็ง พื้นแข็ง เพดานแข็ง (ไม่สูงมากนัก) พื้นเวทีที่ยังตื้นไปนิด ผมได้เดินไปเคาะดูและสำรวจในช่วงเวลาพัก 15 นาที (ตอนพักครึ่งเวลา) ในชั่ววูบผมนึกได้ถึงการพูดแนะนำนักดนตรี เพลง ของ 2 สุภาพสตรีก่อนการแสดงเริ่มต้นโดยไมโครโฟนทั้งสอง (แบบไร้สาย) ยังอยู่บริเวณขวาสุดบนเวที ผมจึงชะโงกไปดูเครื่องผสมเสียง (mixer) ที่อยู่ในห้องควบคุมติดกับไมค์ (กระจกกั้น) เห็นสไลด์ของโวลลุมของไมค์ทั้งสองยังถูกโยก “คา” ไว้ตรงกลาง พร้อมดวงไฟ LED ติดบอกทั้ง 2 input (จากไมค์ทั้งสอง) แสดงว่า ตลอดการแสดงครึ่งแรก ไมค์ยังเปิดแช่ไว้อยู่ (ไม่เห็นใครปิดสวิตช์ที่ไมค์เลย) เสียงจากการแสดงสดจึงวิ่งเข้ามาที่ไมค์ทั้งสอง และผ่านภาคขยายเสียงไปออกลำโพงซ้ายขวาที่อยู่ด้านบน หน้าเวที มาเสริม หรือพูดให้ชัด มาป่วนเสียงจริงจากการแสดงสด ทำให้ทุกอย่างมั่วไปหมดนั่นเอง

                ผมจึงเข้าไปสะกิดบอกอาจารย์ธัญลักษณ์ (ซึ่งรู้จักกันมาก่อนแล้ว) ให้ลองไปดูที่ mixer และช่วยปิดไมค์ขณะมีการแสดงด้วย

                ปรากฏว่า เมื่อการแสดงช่วงหลังเริ่มขึ้น เสียงผิดไปพอควรทีเดียว ดูเหมือนว่า Rudolf Koelman มือไวโอลินระดับโลกท่านคงแปลกใจ ผมเห็นท่านคอยเทียบเสียงกับอาจารย์จามร ศุภผล มือเปียโนก่อนเล่นทุกเพลงในช่วงหลัง (ผิดกับช่วงแรกที่เทียบก่อนเล่นครั้งเดียว)

                ที่แน่ๆ ทุกอย่างดีขึ้นมาก รายละเอียดของเสียงดีขึ้น ได้ยินเสียงผิวจากการสีไวโอลินอย่างชัด การสีแบบตะแคงคันสีก็ฟังออก (ครั้งแรกกลืนๆ ไปหมด) การไล่ช้า-เร็ว อ่อนแก่ของเสียงไวโอลินก็ชัดเจน กว้างขึ้น  (dynamic range ดีขึ้นมาก) ทำให้เข้าถึงอารมณ์ ลูกเล่นของ Koelman ได้อย่างถึงแก่น ไม่ผิวเผินคลุมเครืออย่างตอนแรก ทำให้เราได้รับรู้ “ฝีมือ” ของ Koelman ได้อย่างเต็มร้อย ไม่ใช่แค่ 50 เปอร์เซ็นต์อย่างตอนแรก สังเกตว่าท่านเล่นอย่างมันในอารมณ์กว่าตอนแรกมาก ขณะเดียวกัน เสียงเปียโนก็กระหึ่มขึ้น เริ่มมีความถี่ต่ำออกมา ทำให้ฟังเป็นแกรนด์เปียโนจริงๆ ขณะที่ด้านสูงก็สดชัดขึ้น รับรู้การไล่คีย์ของอาจารย์จามรได้ชัดขึ้น น่าเสียดายที่ตอนจูนเปียโนอาจมีการจูนกันขณะมีการเปิดไมค์แช่ไว้อย่างนี้ ทำให้ผู้จูนหลงประเด็น จูนออกเน้นด้านต่ำมากไป (เพราะคงขาดไปอย่างที่พวกเราฟังตอนแรก) ทำให้กลางต่ำแถวๆ 80-100Hz โด่งก้องกลบความถี่ช่วงอื่นอยู่บ้าง ผลคือ หัวโน้ตของเปียโนขาดความชัดไปหน่อย ปลายแหลมสดถูกกลบ คิดว่าถ้ายกฝาปิดด้านบนของเปียโนให้สูงขึ้นอีกหน่อย อาการโด่งนี้น่าจะหายไปได้ และทำให้เสียงจากเปียโนไม่ดังจนแย่งซีนจากไวโอลินในบางครั้ง จริงอยู่ การยกฝาปิดเปียโนสูงขึ้นจะยิงเสียงมาหน้ามากขึ้น แต่ผมเชื่อว่า จะดีกว่าให้กลางต่ำโด่งอย่างนั้น

                โดยสรุป ทุกอย่างดีขึ้นหมด ทำให้ผู้ฟัง “เข้าถึง” ดนตรี อารมณ์ของดนตรีได้อย่างทะลุปรุโปร่งขึ้นมาก (จริงๆ อยากให้ความกังวานมีมากกว่านี้อีกหน่อย) อาจต้องปรับแต่งอะคูสติกบริเวณหน้าเวทีอีกหน่อย หรืออาจใช้ไมโครโฟนตัวเดียว แขวนลอยเหนือบริเวณผู้ชมที่นั่งฟังเพื่อเก็บบรรยากาศ (ambiance) แล้วออกลำโพงเสริม “เบาๆ” เป็นเงาจางๆ ให้เสียงจริง

                จากประสบการณ์นี้ ทำให้ผมตระหนักได้อย่างชัดแจ้งเลยว่าการใช้ไมโครโฟนกับการแสดงสดนั้น มันจะป่วนเสียงได้อย่างเลวร้ายขนาดไหน นี่แค่ไมค์สองตัววางชิดขวา แล้วถ้าจ่อไมค์ให้แก่เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นเต็มไปทั้งวง มันจะไม่มั่วได้อย่างไร นอกจากต้องใช้ให้น้อยที่สุด และคำนึงถึงรูปแบบ (pattern) มุมของการรับเสียงของไมค์ให้ดีๆ ให้รับดนตรีชิ้นอื่นๆ (ทิศอื่น) น้อยที่สุด

                นี่คงเป็นเหตุผลที่นักสร้างอัลบัมเพลงประเภทหูทอง ปฏิเสธที่จะใช้ระบบไมค์มากตัว แหย่แต่ละเครื่องดนตรี หากแต่ใช้ไมค์แค่ซ้าย-ขวาคู่เดียว รับเสียงทั้งวง เหมือนเราไปนั่งฟังเสียงสดจริงๆ การบันทึกวงแจ๊ซสมัยใหม่ จะแยกแต่ละชิ้นดนตรีออกห่างกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งทำคอกอะคูสติกกั้นป้องกันด้วย อย่าพูดถึงการบันทึกประเภทต้อนนักดนตรีมาบันทึกทีละชิ้นทีละร่องเสียง แล้วนำมาผสมเป็นวงครบทีหลังอีกที แบบนี้มันสุดจะไร้อารมณ์ร่วมอย่างแรง ฟังแล้ว เหมือนแต่ละคนเล่นอยู่คนเดียว ต่างคนต่างเล่นให้จบๆ

                จากตัวอย่างและประสบการณ์เหล่านี้ ทำให้ผมอยากเสนอแนะว่า ทำไมเราไม่ฟังการเล่นดนตรีอย่างสดๆ ไปเลย อะคูสติกล้วนๆ ไม่มีการใช้ไมค์ขยายเสียง (นอกจากคนร้อง) เราไม่ต้องให้ห้องฟังใหญ่นัก จุแค่ 150 คน ใช้นักดนตรีไม่ต้องเยอะ มากสุดสัก 10 ท่าน (ชิ้น) หรือต่ำกว่า ทำให้ต้นทุนแต่ละรอบไม่สูงนัก เพราะประหยัดได้ทั้ง ค่าระบบแสง ระบบเสียง ค่าเช่าสถานที่ใหญ่ๆ จำนวนนักร้อง นักดนตรี ผลคือ ค่าตั๋วไม่สูงมากนัก (แต่ก็ไม่จำต้องถูกมาก) คือ เน้นการฟังเสียงสดๆ ได้ใกล้ชิดกับนักดนตรีและนักร้องที่คุณชื่นชอบ อย่างที่เครื่องเสียงระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไปก็ให้ไม่ได้ เมื่อห้องฟังขนาดแค่ 2 ตึกแถว การลงทุนก็ต่ำ การจัดอะคูสติกก็ไม่ยากนัก และประหยัด ไม่ต้องทุ่มกับระบบแอร์ขนาดใหญ่ ระบบไฟขนาดใหญ่ ระบบจัดการที่ยุ่งยาก พูดง่ายๆ ว่า ค่าดำเนินการมันกระชับ รัดกุม อยู่ในงบที่เป็นไปได้หมด นักร้อง นักดนตรีก็มีงานอย่างต่อเนื่อง (จัดเป็นสิบรอบได้สบาย สะดวกทั้งผู้จะมาดูด้วย) สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูกับศิลปิน ก็จะลดการอุดหนุนแผ่นผีได้มาก (เพราะเห็นใจกัน)

                รายได้อีกทางคือ ขณะมีการแสดงสดทุกรอบ จะมีการส่งออกอากาศทางวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม อินเทอร์เน็ตไปพร้อมกันด้วย เป็นช่องทางการหารายได้อย่างหลากหลาย ช่วยค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก ทำให้ค่าตั๋วไม่สูงเกินไป เอาว่า ชาวบ้านทั่วไปพอจะเข้าฟังได้ ทุกรอบจะมีการบันทึกไว้ด้วย เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ที่มาฟังในรอบๆ นั้น (มันเป็นการบันทึกความทรงจำที่ตัวเขาได้มาฟังจริงๆ ณ วันนั้น)

                ช่วงห้องฟังว่าง ก็เปิดโอกาสให้ผู้มาเช่าจัดแสดง หรือจัดซ้อมจัดประกวด เนื่องจากต้นทุนห้องฟังถูกกว่า พวกห้องแสดงดนตรีใหญ่ๆ มากๆ (เป็น 5-10 เท่า) บุคคลทั่วไปน่าจะสู้ราคาค่าเช่าไหวแน่

                ใครจะรู้ ต่อไปอาจมีธุรกิจให้เช่าห้องแสดงดนตรีขนาดกะทัดรัดอย่างนี้กระจายแพร่หลายไปทั่วบ้านทั่วเมืองก็ได้

                นักฟังเครื่องเสียงหูทอง หูหาเรื่อง หูราคาคุย หูขายของ จะได้ตาสว่างเสียที และเลิกกร่าง อำ หรือพานักเล่นหลงทางออกทะเลเสียที นักเล่น ผู้บริโภค ก็จะได้รู้เสียทีว่า อะไรของแท้ อะไรของเทียม ใครรู้จริง ใครรู้เก๊...!!!

บทส่งท้าย

สัมภาษณ์ อาจารย์ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

What PA; การนำเสนอบทความอย่างนี้ของอาจารย์ จะไม่ทำให้วงการเครื่องเสียงกลางแจ้ง PA เขาเหล่เอาหรือครับ

อจ. ไมตรี; ผมไม่ได้ปฏิเสธระบบเสียง PA หากแต่ให้การติดตั้งต้องดูลักษณะงานและพิถีพิถันอย่างที่สุด แนวคิดการฟังเสียงสดของผมคงใช้ไม่ได้กับการแสดงคอนเสิร์ตระดับยักษ์ ระดับชาติ จากศิลปินฮ็อต หรือคอนเสิร์ตจากต่างประเทศที่เขามีเวลาผ่านมาเล่นแค่ 1-2 รอบ แน่นอนว่า จุดคุ้มทุนต้องได้ผู้ชมนับหลายๆ พันคน หรือเป็นหมื่นในแต่ละรอบจึงจะคุ้ม อยู่ได้ทุกฝ่าย กรณีเช่นนี้ การฟังเสียงสดจึงเป็นไปไม่ได้เลย ยังไงๆ ก็ต้องมีระบบเสียง PA ช่วยอยู่ดี กรณีนี้แนวคิดกับปัญหาที่ผมเจอ จึงขอเป็นแค่สิ่งเตือนใจให้ระมัดระวังการติดตั้งไว้ให้มากหน่อย อีกกรณีคือ สมมติคุณจัดการแสดงตามห้าง ในห้าง ซึ่งการฟังเสียงสดแทบเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อย่างนี้ก็ต้องยอมลดคุณภาพเสียงลง และเสริมด้วยระบบเสียง PA อยู่ดี นอกจากนั้น ตามสถานเริงรมย์ขนาดใหญ่ ไนต์คลับ เธค โรงหนัง ยังไงๆ ก็ยังต้องใช้ระบบเสียง PA ทั้งนั้น (เปิดแผ่น เปิดจากฟิล์ม) ผมจึงไม่เชื่อว่า ข้อเชียนแนวคิดของผมจะมีผลมากมายอะไรนักหนาต่อวงการ PA

What PA; แล้วต่อวงการเครื่องเสียงบ้านเล่าครับ คนแห่กันมาฟังของจริง เสียงจริง เครื่องเสียงจะขายได้น้อยลง โดยเฉพาะเครื่องเสียงไฮเอนด์แพงๆ

อจ. ไมตรี; ตรงข้ามนะครับ ผมคิดว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสะดวกในการเดินทางไปฟังการแสดงสดดังกล่าวแล้ว ยิ่งพวกเศรษฐีที่เล่นเครื่องเสียงไฮเอนด์ ส่วนใหญ่ซื้อมาประดับบารมี ตามเพื่อน มีไม่มากนักหรอกครับที่เป็นนักฟังหูทองจริงๆ พวกนี้จึงไม่อยากเปิดเผยตัวตนให้ใครรู้ หรือเห็น ยังไงๆ พวกเขาก็ชอบที่จะฟังที่บ้านส่วนตัวของเขาครับ ขณะเดียวกัน นักฟังระดับกลางๆ เมื่อได้มีโอกาสฟังการแสดงสด ก็จะติดใจ จากคนที่ไม่เคยสนใจเครื่องเสียง ก็จะหันมาสนใจ อยากยกเสียงดีๆ อย่างนั้นมาฟังในห้องที่บ้านของตัวเองบ้าง แน่นอนอยู่แล้วว่า มันจะช่วยให้วงการเครื่องเสียงคึกคักขึ้นแน่

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459