000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > ปกิณกะ > ทำไมลำโพงจึง (ควร) ต้องแพงขึ้นเรื่อยๆ
วันที่ : 27/01/2016
7,685 views

ทำไมลำโพงจึง (ควร) ต้องแพงขึ้นเรื่อยๆ

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ทำไมลำโพงปัจจุบันจึงราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นย่อมทำให้ค่าขนส่งและค่าไฟสูงขึ้น แต่ราคาน้ำมันก็มีขึ้นๆ ลงๆ ค่าไฟก็น่าจะแปรผันไปตามนั้น จริงๆ แล้วตัวกำหปันดต้นทุนคือ ค่าแรง (โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีนที่ปัจจุบันค่าแรงขึ้นไปเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วในหลายๆ เมือง) ปัจจัยที่สองคือ ราคาของวัตถุดิบ เช่น พลาสติก กาว ซึ่งกระทบต่อทั้งวงจรการผลิตลำโพง (ดอกลำโพง) และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (อะไหล่ ชิ้นส่วน)

                ถ้าพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้ว อย่างที่ IMF (International Monetary Fund) ได้แจงสถิติออกมาแล้วว่า สินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง ได้มีราคาพุ่งสูงขึ้นแบบพรวดพราดมากกว่า 38 เปอร์เซ็นต์ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งคือ อัตราเงินเฟ้อในทุกๆ ภาคส่วนอุตสาหกรรม (เช่น ทอง เงิน พลาตินัม พาราเดียม ตะกั่ว ทองแดง)

                ว่ากันว่า อีกสาเหตุที่แอบแฝงไม่กล่าวถึงกันในเวทีโลกก็คือ การงัดข้อกันระหว่างจีนและอเมริกา ขณะที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ซึ่งเป็นกลุ่มทุนของเหล่านายทุนอเมริกาเข้าทำการครอบงำ และปั่นราคาน้ำมัน เชื้อเพลิง ทำให้จีนซึ่งต้องใช้น้ำมันเป็นจำนวนมหาศาล (รองจากอเมริกา) ต้องซื้อน้ำมันแพงมากขึ้น ก็อย่างที่รู้ อเมริกาเสียเปรียบดุลการค้าจีนอย่างมโหฬารนับแสนๆ ล้านเหรียญทุกปี และมากขึ้นเรื่อยๆ อเมริกาก็คงหวังเอาคืนบ้าง

                จีนซึ่งเป็นประเทศขนาดมหึมา แถมอุดมด้วยทรัพยากรสารพัด (รวมทั้งน้ำมันแต่ยังไม่พอ) สินค้าวัตถุดิบโภคภัณฑ์ แร่หายากจีนมีทั้งนั้น และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด ถ้าไม่นับญี่ปุ่นซึ่งน้อยกว่ามาก ตัวอย่าง นีโอไดเมียม ซึ่งเป็นแร่เหล็กที่มีพลังสูงที่สุดในโลก เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำแม่เหล็กของดอกลำโพง แถมมีราคาแพงลิบลิ่ว เรียกว่า จีนกุมการเป็นผู้ส่งออกสารนี้ใหญ่สุดแทบเป็นผู้เดียวในโลก (ไม่นับญี่ปุ่น)

                เมื่ออเมริกาเล่นชกใต้เข็มขัดผ่านกองทุนเฮดจ์ฟันด์ดังกล่าวจีนก็ขอเอาคืน โดยการตั้งกำแพงภาษีสำหรับการส่งออกแร่ธาตุ โภคภัณฑ์ที่สำคัญๆ เพื่อชดเชยค่าน้ำมันบ้าง เมื่อช้างรบกัน ประเทศเล็กๆ ทั่วไปก็เหมือนหญ้าที่ต้องแหลกลาญ

                ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เมื่อวัตถุดิบและค่าแรงพุ่งสูงขึ้น ขนาดนี้ ก็ย่อมส่งแรงกดดันอย่างยิ่งต่อโรงงานผู้ผลิตดอกลำโพง ยกตัวอย่าง ยี่ห้อซึ่งใช้กันในวงงานอาชีพ ชิ้นส่วนของตู้ลำโพงสักตู้ประกอบด้วย

                ตัวตู้ (ไม้หรือไฟเบอร์กลาสหรือ ABS) ไฟเบอร์กลาสในส่วนผสมของกรวยหรือเป็นทั้งกรวยเลย ขอบยาง เส้นลวดทองแดงสำหรับวอยซ์คอยล์ แม่เหล็กนีโอไดเมียม เส้นใยถักสำหรับส่วนแขวนลอยกรวย/วอยซ์คอยล์ กระบอกวอยซ์คอยล์ (พลาสติก) เคฟลา หรืออะลูมิเนียม โครงอะลูมิเนียม (หรือเหล็กหล่อ เหล็กปั๊ม) ขาตั้งตู้ หรือล้อซึ่งมีพลาสติก/ยาง ขั้วต่อสายลำโพง (พลาสติก) หูจับข้างตู้ (พลาสติก) กาวอุตสาหกรรมทั้งตู้ และในการประกอบดอกลำโพง ยังไม่นับแผงวงจรแบ่งเสียง ใยแก้วในตู้

                วัตถุดิบเหล่านี้ มีราคาขึ้น-ลงตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มันไม่เคยหยุดนิ่ง แต่โดยเฉลี่ยก็พุ่งขึ้นเรื่อยๆ ลองดูราคาของวัตถุดิบต่างๆ ตามกราฟเปรียบเทียบปี 2008 กับปี 2011 (สีเข้มคือปี 2011 สีจางกว่าปี 2008 ที่ต่ำกว่าหมด)

                จะเห็นว่าตัวราคาที่มีผลมากที่สุดมาจากนีโอไดเมียม (สูงเกือบ 5 เท่า...! จากปี 2008) โดยราคาของสารแม่เหล็กนี้ยืนนิ่งที่ 50 เหรียญยูเอสต่อ 1 กิโลกรัมอยู่ 2 ปี จนเมื่อกลางปี 2010 ราคาเริ่มพุ่งขึ้นกว่า 100 เหรียญยูเอสในต้นปี 2011 และยังคงพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ตลอด เหตุผลก็คือ แร่ธรรมชาติที่ใช้กันในโลกนี้ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ในปลายปี 2010 ทางจีนประกาศที่จะลดการส่งออกลง ทำให้ราคาของนีโอไดเมียมเมื่อเมษายนที่ผ่านมาพุ่งไปถึงกิโลกรัมละ 250 เหรียญยูเอส

                จริงๆ แล้วราคาวัตถุดิบตัวนี้ขึ้นไปมากกว่า 2 เท่า เมื่อต้นปี (4 เดือนแรก) แต่เนื่องจากทางผู้ผลิตลำโพงยังพอมีสต็อกราคาเดิมอยู่ ราคาลำโพงจึงยังไม่สูงพุ่งพรวด แต่ก็น่าคิดว่า เมื่อไรสต็อกเก่าของพวกเขาหมด ราคาถึงผู้บริโภคจะทะลุไปขนาดไหน ทางโรงงานผู้ผลิตลำโพงจะแบกรับได้ขนาดไหน ก่อนส่งผ่านราคามายังผู้บริโภค

                วัตถุดิบอีกตัวที่ราคาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือ ผ้าดิบ (cotton) โดยราคาขึ้นมา 2 ใน 3 ของปี 2008 รวมทั้งยางที่ราคาขึ้นไปมากกว่า 2 เท่า ในช่วงปีเดียวกัน ราคาที่ทั้งสองผลิตภัณฑ์ขึ้นไปส่วนใหญ่เริ่มที่ปีนี้ จะเห็นว่า ราคาของน้ำมันและทองแดงที่เพิ่มขึ้นกลับมีแค่ 20 และ 30 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งถือว่ายังต่ำเมื่อเทียบกับวัตถุดิบทั้งสองนี้ในปริมาณมาก ทำให้การเพิ่มขึ้นของค่าวัสดุเองมีผลอย่างสำคัญ

                ในข่าวร้ายก็ยังพอมีข่าวดี ซิลิโคนที่ใช้กับกรวยลำโพงและไม้แข็งที่ใช้กับตัวตู้ มีราคาสูงขึ้นต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละตัว น่าแปลกที่อะลูมิเนียมราคากลับลดลง แต่ถ้ามองลึกลงไป จากข้อมูลของ IMF ระบุว่า ราคาของอะลูมิเนียมตกลงอย่างเอาเรื่องในปี 2009 แล้วค่อยๆ กระเตื้องกลับมาอยู่ที่ตำแหน่งเดิมแม้จะตกลง 2-5 เปอร์เซ็นต์นับจากปี 2008 แต่ 12 เดือนที่ผ่านมาทาง IMF ระบุว่าราคาของมันจริงๆ เพิ่มขึ้น 22.5 เปอร์เซ็นต์

                ว่ากันโดยรวมๆ จากราคาที่เปลี่ยนแปลงของทุกๆ วัตถุดิบเหล่านี้ประกอบกัน จะพบว่า ราคาลำโพงได้ขึ้นเกิน 1 ใน 3 ไปเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2008 (ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งเอาเรื่องทีเดียว แต่ก็ยังต่ำกว่าผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงที่ขึ้นไปถึง 38 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แน่นอน นี่เป็นตัวเลขเท่าที่ตาเห็น เพราะแต่ละวัตถุดิบที่ใช้ก็ถูกใช้ในปริมาตรที่ไม่เท่ากันในการผลิต (วัตถุดิบที่ต้นทุนพุ่งขึ้นสูง อาจใช้น้อยกว่าวัตถุดิบที่ต้นทุนพุ่งต่ำกว่า) แต่อย่างน้อยมันก็เป็นตัวบอกแยกแยะได้ว่า มีอะไรตัวไหนบ้างที่สร้างแรงกดดันต่อผู้ผลิต

                แม้ว่า นี่เป็นความจริงที่อธิบายได้ แต่สิ่งที่อธิบายยากกว่าคือ แม้ว่าวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตจะมีราคาสูงขึ้นทุกวันในไม่กี่ปีมานี้ แต่ราคาลำโพงเองกลับไม่เป็นเช่นนั้น ลองเปรียบเทียบราคาลำโพงในช่วงราคาต่ำกว่า 500 เหรียญยูเอส ถึงเกิน 7000 เหรียญยูเอส ที่ขายกันในปี 2008 และยังคงมีการวางขายกันในตอนนี้ แสดงให้เห็นว่า ราคาโดยเฉลี่ยกลับลดลง 120 เหรียญยูเอส แม้ว่ามันดูจะไม่มากอะไรนัก แต่ราคาลำโพงใหม่ (ตัวอย่าง) ในปีนี้ก็ยังทรงๆ เหมือนเดิม หรืออาจขึ้นไปบ้าง โดยช่วงราคาลำโพงอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 300 เหรียญยูเอส จนถึงกว่า 9000 เหรียญยูเอส ค่าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และบวกอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วยจะพบว่า ทางโรงงานกำลังแบกรับต้นทุนเอาไว้อยู่ หรือไม่ก็หาวิธีบริหารการผลิต การจัดการ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

                เป็นการยากที่จะเขยิบราคาผลิตภัณฑ์รุ่นวางขายในปัจจุบันขึ้นไป โดยทั่วไปทางออกของโรงงานก็คือ การออกรุ่นใหม่ที่ราคาสูงขึ้น แต่เมื่อพิจารณาดีๆ แล้ว ราคาของปี 2011 เทียบกับปี 2008 ก็ไม่ได้ต่างกันมากมายอะไร (ว่ากันเป็นหลักไม่กี่ร้อยเหรียญเท่านั้น)

                อย่างไรก็ตาม ก็ต้องจับตาดูว่า ทางโรงงานจะดูดซับต้นทุนที่สูงขึ้นได้มากและนานขนาดไหนถ้าราคาวัตถุดิบมันขึ้นทุกวัน ต่อให้บริหารเก่งขนาดไหน ท้ายสุดก็คงต้องส่งผ่านต้นทุนนั้นมายังผู้บริโภคก่อนที่ผลกำไรจะลดลงจนไม่เหลือ

                ทางออกหนึ่งของผู้ผลิตคือ ผลิตและจำหน่ายเป็นจำนวนมากๆ เพื่อรักษาผลกำไรเอาไว้ พร้อมๆ กับตลาดที่ต่างออกไปด้วยตระกูลใหม่ๆ (เพิ่มช่องทางตลาดในแนวดิ่งหลายๆ แนว) อย่างไรก็ตาม การจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องมีการวิจัยและพัฒนาที่ต่างออกไปเป็นเงาตามตัว ก็ต้องพิจารณาผลได้ผลเสียให้รอบคอบ มิใช่ดิ้นไปติด “หล่ม” ใหม่ที่อาจจะไม่ถนัด หรือพบกับจ้าวตลาดที่แข็งแกร่งกว่าอยู่ก่อน รวมทั้งต้องหาลูกค้าให้หลากหลายขึ้น ไม่ว่าตลาดตะวันออกกลาง ตลาดเอเชีย แต่แม้กระนั้น เมื่อทุกคนต่างก็ดิ้นรนเข้าแย่งกลุ่มเดียวกัน การแข่งขันย่อมสูง การห้ำหั่นราคาคงถึงพริกถึงขิง ท้ายสุดจะคุ้มหรือเปล่ากับการดิ้นรนนั้น

                ก็หวังว่า ผู้ผลิตลำโพงจะไม่ลืมความจริงของการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันที่ว่า “mass market is mass mistake…!” (การลงมาเล่นกับตลาดของโหลคือ การทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง)

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459