000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > การเลือกซื้อวัสดุซับเสียง
วันที่ : 24/02/2016
11,402 views

การเลือกซื้อวัสดุซับเสียง

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ในการฟังเพลงจาก “เครื่องเสียง” หรือ “ดูหนัง” ภายในบ้านหรือแม้แต่สถานเริงรมย์ที่มีการใช้เสียง โรงภาพยนตร์,เธค,ผับ,ห้องประชุม,สนามบิน,สนามกีฬา,โรงละคร,ฯลฯ ล้วนต้องฝากผีฝากไข้ไว้กับ “อะคูสติก” ของสถานที่ทั้งสิ้น ต่อให้เครื่องเสียงดีเลิศเลอขนาดไหน ถ้าสถานที่ที่ฟังมีปัญหาเสียงก้องหรือเสียงสะท้อนก็จบ เป็นอันฟังไม่ได้ศัพท์ ก้อง,อื้ออึงไปหมด

          ปัญหาเรื่องเสียงก้องสะท้อนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง มองข้ามไม่ได้เลย ในโลกนี้มีผู้ผลิตวัสดุซับเสียงเป็นร้อยเจ้า บางยี่ห้อจะเจาะจงเฉพาะงานเช่น งานเก็บเสียงเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม,สถานีรถไฟ,ขนส่ง,ทางด่วน บ้างก็เจาะจงเฉพาะงานบันทึกเสียง ( สตูดิโอ ) หลายยี่ห้อเน้นเฉพาะใช้ในบ้าน แนวความคิดในการออกแบบ หรือจัดการกับปัญหาจะแตกต่างกันไปเช่น

  1. ใช้วัสดุพรุนในการซึมซับเสียง เช่น โฟม,ผ้า,ฟองน้ำ ฯลฯ
  2. ใช้รูปลักษณ์ของโครงสร้างวัสดุในการช่วยลดหรือกระจาย สลาย การสะท้อนก้องของเสียง

หลักการง่ายๆของการซับเสียง

  1. ใช้ความพรุน ช่องออากาศจิ๋วของวัสดุซับเสียง ดูดซับพลังงานเสียงแล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน
    รูปลักษณ์ โครงสร้าง ความหนาแน่นของวัสดุและวัสดุที่ใช้เป็นตัวกำหนดคุณลักษณะในการดูดซับเสียงว่าจะเน้นช่วงความถี่ใดบ้าง เป็นช่วงกว้างแค่ไหน หรือเก็บเฉลี่ยๆพอๆกันหมดทุกความถี่ โฟมจากวัสดุต่างๆเป็นตัวอย่างที่ดี
  2. ใช้โครงสร้างของอุปกรณ์เป็นตัวช่วยตีกระจายการก้องของเสียงที่โด่งอยู่บางช่วงความถี่ ให้ซอยย่อยเป็นฝุ่นเสียงกระจายแผ่ไปตลอดช่วงความถี่กว้างๆพวกนี้จะใช้วัสดุของแข็งเช่น ไม้,โลหะ นำมาทำ

          สังเกตว่า ข้อ 2 นี้ไม่สามารถซับเสียงได้ เป็นการไล่ปัญหาอย่างหนึ่งไปสู่ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ต้องการ เช่น ลดการโด่งก้องในห้องแสดงดนตรีให้กระจายตัวเป็นการก้องแบบครอบคลุมตลอดช่วงความถี่ ช่วยเพิ่ม “บรรยากาศ (ambiance )” ให้แก่เสียงให้เรารับรู้ได้ถึงความเวิ้งว่าง” “ขนาด” ของห้องแสดงดนตรี ( space ) อุปกรณ์พวกนี้เช่น diffuser

          มีความเข้าใจผิดกันมาก ที่นำอุปกรณ์ในข้อ 2 นี้ไปใช้ในการ “ซับเสียงก้อง” จริงๆแล้วมันตีให้เป็น “ฝุ่น” เสียงเท่านั้น แถมตัวมันเองยังทำตัวเป็น “กล่องก้องเสียง (cavity)” สร้าง “จุดกำเนิดเสียง” เทียมขึ้นมา จนบางท่านเข้าใจผิด คิดว่ามันทำให้ “มิติเสียง”เป็นตัวตนดีขึ้น (แต่มักไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอยเหมือนจับปูใส่กระด้ง) คิดเอาง่ายๆว่า “ของแข็ง”อย่าง ไม้,อะลูมิเนียม ฯลฯ ที่นำมาทำ diffuser เหล่านั้น มันล้วนสะท้อนเสียง ไม่สามารถดูดกลืนซับเสียงได้อยู่แล้ว

          พวก diffuser จะป่วนการสวิงเสียง ดึงให้ช่วงสวิงลดต่ำลงขณะที่หางเสียงค่อยลงๆจะถูก “ฝุ่นเสียง” ที่เกิดขึ้นกลบหมดหางเสียงจะห้วน รายละเอียดหยุมหยิมเบาๆเบาสุดจะหายไป ไม่สามารถติดตามหยดสุดท้ายของปลายหางเสียงได้ หัวโน้ตก็จะไม่คมชัด รายละเอียดหายไป (transient เสีย transient detail ไม่มี) อาจฟังดูมนๆไปหมด ทรวดทรงชิ้นดนตรีผิดเพี้ยน ตำแหน่งระยะตื้น ลึก,สูง ต่ำ,ของชิ้นดนตรีในวงผิดเพี้ยน

          ในห้องบันทึกเสียงจะใช้ diffuser กับห้อง “เล่นดนตรี”เท่านั้น ( ห้องที่อยู่ติดกับห้องคุมเสียง ) ห้องคุมเสียงมักใช้อุปกรณ์ซับเสียงตามข้อ 1

การเลือกซื้ออุปกรณ์ซับเสียง

          จากที่กล่าวมา คงเข้าใจแล้วว่ามีแต่ข้อ 1 เท่านั้นที่จะเข้าข่ายเป็นอุปกรณ์ซับเสียงจริงๆซึ่งแทบทั้งหมดจะใช้วัสดุที่ทำจากโฟม ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีฟองอากาศแทรกอยู่เป็นรูพรุนไปหมด

ความเก่งในการซับเสียงของโฟมจะขึ้นอยู่กับ

  1. ความพรุน กิริยาการพรุน
  2. ความหนาของแผ่นโฟม
  3. ถ้าผิวโฟมเป็นร่องโค้ง,เว้า ก็ขึ้นอยู่กับสรีระส่วนนี้
  4. วัสดุที่นำมาทำโฟม

คุณสมบัติอื่นๆที่ควรพิจารณา

  1. ติดไฟหรือไม่
  2. กลัวความชื้นหรือไม่
  3. ถ้าติดไฟแล้ว ควันที่เกิดขึ้นเป็นพิษหรือไม่
  4. มีอายุใช้งานแค่ไหน เวลาเสื่อมแล้วจะเป็นอย่างไร
  5. กลัวแสง,ความร้อนแค่ไหน
  6. กลิ่นฉุนแค่ไหน
  7. ราคาคุ้มหรือไม่( ต้องเทียบกับประสิทธิภาพที่ได้)

การพิจารณาอย่างง่ายๆในการเลือกซื้อ

          หลักการเลือกซื้อที่ง่ายที่สุด

          บุต้องเหมือนไม่บุ คือ สุ้มเสียงไม่เสียยังอยู่ครบ แต่เสียงก้องหายไป

          เอาออกเมื่อไร จึงรู้ว่าต้องบุ ขาดไม่ได้

การทดสอบ

  1. ลองเปิดเพลงจากลำโพง แล้วเอาหูไปฟังใกล้ๆลำโพงเพื่อไม่ต้องเปิดดังจนเสียงก้อง จากนั้น เอาแผ่นโฟมซับเสียงมาชิดใกล้หู ใกล้ลำโพง เพื่อสลับฟังเปรียบเทียบได้ว่า พอเอาหูฟังใกล้แผ่นโฟมห่างสัก 1 คืบ สุ้มเสียงทุ้ม,กลาง,แหลม ยังอยู่ครบไหมแต่ค่อยลง ทุ้มหายหน่อยไม่เป็นไร เพราะเป็นช่วงความถี่ที่เก็บยากที่สุดอยู่แล้ว ( อาจต้องใช้พวกกล่อง,กระบอกดุดเสียง ) ฟังว่ามีความถี่ช่วงไหนหายไปกว่าช่วงอื่น เสียงแห้งทึบลงไหม ( ถ้าแห้งทึบลงแสดงว่าใช้ไม่ได้ )  ผ้าม่านเก็บเฉพาะปลายแหลมสูง เสียงทั้งหมด “สงัด สงบ” ขึ้นไหม ซึ่งควรจะชัดเจนขึ้นด้วยซ้ำ ( ทุกๆเสียง ไม่ใช่เลือกชัด ) เสียงโฟกัสขึ้นด้วย ความฟุ้งหาย
  2. ดูด้วยตา ถ้าผิวโฟมเซาะเป็นร่อง ร่องยิ่งลึกแค่ไหน ยิ่งเก็บเสียงก้องลงได้ความถี่ต่ำลึกแค่นั้น ปกติถ้าแผ่นโฟมหนาสัก 2 นิ้ว ร่องลึกเกือบ 1.5 นิ้ว มักเก็บเสียงลงได้ถึงความถี่ต่ำประมาณ 300Hz ต่ำกว่าการเก็บเสียงจะแย่ลง ถ้าโฟมหนา 1 คืบ ร่องลึกเกือบคืบจะลงได้ถึงประมาณ 100Hz
  3. แม้สเปกหรือคำโฆษณาจะระบุว่า เก็บเสียงได้เท่านั้น เท่านี้ เปอร์เซ็นต์ ก็อย่าผลีผลาม จริงๆต้องดูกราฟความถี่ตอบสนองของแผ่นโฟม ปกติจะเป็นเส้นเกือบตรง แนวเอียง ( แกนนอนความถี่เสียง แนวตั้งระดับเสียง ) เพราะตัวเลขเก็บเสียงอาจดีแค่ช่วงความถี่แคบๆเช่น แถว 1-2 kHz หรือเฉพาะช่วงแหลมปลายๆซึ่งทำง่าย ขณะที่ช่วงความถี่อื่นๆแทบไม่เก็บเลย

    โฟมที่เก็บเสียง 1-2 kHz จะทำให้ฟังเผินๆเหมือนเก็บดี ( ตอนลองเอาหูฟังชัดๆ) แต่ใช้งานจริง เสียงจะมน ไปหมดและเหมือนในห้องไม่มีอากาศ อึดอัดไปหมด
  4. โฟมบางยี่ห้อ อย่าให้บริษัทนำเข้า จัดเก็บเข้าโกดังก่อนส่งถึงเรา โกดังเขามักร้อน,อบ,ชื้น จะทำให้โฟมเสื่อมเร็ว ควรให้เขามาส่งเราเลย หลังจากออกของเสร็จจากท่าเรือ ตัวอย่างมีปัญหาอย่างยี่ห้อ SONEX รุ่นที่ทำจากโพลีเอที นินของออสเตรเลีย ( ถ้าจำไม่ผิด ) ที่สีน้ำตาลเข้ม จริงๆควรมีอายุใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี ( สูงสุดที่เพื่อนใช้ 15 ปีแล้วก็ยังโอเค ) ขึ้นอยู่กับห้องที่ใช้ ต้องไม่ร้อน ไม่ชื้น และต้องส่งมาที่บ้านเลย อย่าเก็บเข้าโกดังของบริษัทก่อน ถ้า SONEX รุ่นสีขาว ( ทำจากสารเมลามีน ) ของเยอรมนี อายุใช้งานคือ 20 ปี ( น่าจะมากกว่านั้น )
  5. การติดตั้งแผ่นซับเสียง ซ้าย ขวา ต้องสมมาตรกันให้มากที่สุด เพื่อเสียงสองข้างจะมีบุคลิกเดียวกัน อาจไม่จำเป็นต้องติดแผ่นโฟมถี่ยิบ ( เปลืองโฟม ) จะเว้นเป็นช่องว่าง เป็นช่วงๆก็ได้ แต่ต้องเฉลี่ยเกลี่ยพอๆกันทั้งห้อง อาจเริ่มด้วยการใช้แค่ 4 แผ่น ( ซ้าย ขวา หลังตรงกลาง ) เพราะของแพง

อย่าเชื่อฝรั่งที่ชอบให้ติดวัสดุเก็บเสียงแบบ LEDE ( Live End Dead End ) คือ ครึ่งห้องข้างหน้าบุซับเสียง ครึ่งห้องด้านนั่งฟังไม่ซับเสียง เพราะการทำเช่นนี้ ถ้าวัสดุซับเสียงดีๆได้ผลจริง เสียงจะหลอกหูมาก เหมือนมี 2 บรรยากาศซ้อนกันอยู่ ( ผู้เขียนไม่เคยบุ SONEX ตั้งแต่หน้าห้องถึงหลังห้อง และฟังทดสอบทุกๆระยะการบุมา แล้ว )

ไม่ต้องกังวลเรื่องการเก็บเสียงที่แย่ลงที่ความถี่ต่ำ เพราะปกติลำโพงทั่วไปและไม่ได้ใช้เพาเวอร์แอมป์วัตต์เป็นร้อยๆ วัตต์ระดับไฮเอนด์เป็นแสนๆบาท ทุ้มที่ต่ำกว่า 100Hz ก็ไม่ค่อยเข้มข้นอยู่แล้ว ปัญหาการก้องไม่ค่อยมี จึงไม่ต้องกังวลเท่าไร

สรุป

          จงให้ความสำคัญกับเรื่องอะคูสติกของห้อง เท่าๆกับการเลือกซื้อเครื่องเสียง อย่างไรก็ตาม การติดตั้งชุดเครื่องเสียงให้ถูกต้อง ( ทิศทางสาย,การแยกสาย,การไม่วางเครื่องทับซ้อนกัน,การหนีห่างจอ LCD ,PLASMA,ฟัง ทิศทางเส้นฟิวส์,ฟังทิศทางขาปลั๊กไฟ AC ,เลือกฟัง input ไหนที่ให้มิติโฟกัสมีทรวดทรงดีที่สุด,การเอียงลำโพง ฯลฯ ) สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้ถูกต้องด้วย สำคัญเท่ากับเรื่องอะคูสติกของห้อง มิเช่นนั้น จะหลงประเด็นเข้าป่าได้ ง่ายๆ

 

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459