000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > ระบบเสียง PA > เครื่องเสียง PA > ความผิดพลาดในการบันทึกเสียงทำมาสเตอร์
วันที่ : 22/04/2016
6,519 views

ความผิดพลาดในการบันทึกเสียงทำมาสเตอร์

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

การทำอัลบั้มเพลงรักสักชุด ขั้นตอนการผสมเสียง,ปรับแต่งเสียง ขณะทำมาสเตอร์มีความสำคัญที่สุด มีช่างเสียงจำนวนมากที่เข้าใจอะไรผิดจึงปรับแต่งเสียง,ผสมเสียงผิดๆ บทความนี้ จะนำประสบการณ์ที่พบกับผลงานสุดท้าย (คือ แผ่นเพลง CD) มาแลกเปลี่ยนทัศนะกัน

1.  เสียงทั้งหมดผอมบาง ทุ้มไม่มีน้ำหนัก แล้วพยายามแก้ไขโดยยก EQ ที่ความถี่ต่ำๆมากเกินไปจนเกิดการ Clip  (ยอดคลื่นความถี่ต่ำหัวขาด)  แม้จะเป็น Soft Clip (หัวขาดแบบมนๆ โค้ง ด้วยวงจรช่วยลดความชันการถูกตัดขาด) เสียงทุ้มจะออกมาหนักแบบไม้หน้าสาม ไม่ดีดเด้งลอยออกมา ไม่มีทรวดทรง ดังแต่ขาดน้ำหนักทิ้งตัวลงพื้นห้อง เสียงอื่นๆจะมีมวลเฉพาะกลางต่ำลงต่ำ กลางขึ้นไปยังผอมบางแบนเหมือนเดิม

สาเหตุ เสียงผอมเป็นเพราะขาดมวลเนื้อ (Harmonics) ต้องจัดวางไมโครโฟนใหม่ ขยับเข้าใกล้แหล่งกำเนิด มากขึ้น หรือใช้ไมโครโฟนที่ไดอะแฟรมใหญ่ขึ้น อย่าลืมตรวจสอบทิศทางสายไมค์,สายInterconnect ต่างๆ ทุกๆช่วง ดูการปรับ EQ ด้วย

2.  ช่วงดนตรีชิ้นเดียวพอจะโอเค แต่พอขึ้นหลายชิ้น มากชิ้นขึ้น เสียงเริ่มมั่วตีกันยุ่งเหยิง สับสนไปหมด แต่ไม่ถอยจม
สาเหตุ
(1)- การปรับระดับขาออกของตัวปล่อยสัญญาณ กับการปรับระดับขาข้าวของตัวรับสัญญาณไม่สอดรับกัน (ปัญหา Level Matching) กรณีนี้ ตั้งระดับความไวขาเข้าของตัวรับไว้ต่ำเกินไป (คือ เข้ามานิดเดียวก็ดังลั่น) ต้องหรี่ขาเข้า เร่งขาออกจากแหล่งจนอาการนั้นหายไป แต่ยังคงมีน้ำหนักของเสียงจากทุกชิ้นดนตรีที่ดี (ไม่ผอมบาง) ต้องตรวจสอบทุกๆการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์หนึ่งไปอีกอุปกรณ์หนึ่ง
(2)- สายเชื่อมสัญญาณ (Interconnect) ไล่ไปตั้งแต่สายไมโครโฟน,สายดิจิตอล (ถ้ามี) ทั้ง Coaxial และ Optical ,สายภาพไปจอภาพ LCD (ถ้ามี) ,สายเสียงทุกช่วง ไล่ไปทีละเส้น (คู่) ว่าเสียบหัวสาย-ท้ายสายย้อนทิศไหม (อย่าเชื่อลูกศร หรือตัวหนังสือสกรีนมาบนสาย) แยกสายแต่ละ CH หรือแต่ละร่องเสียง (Track) ไม่ให้แตะ ต้องกัน (และนี่เป็นเหตุผลที่ไม่ควรใช้สายเสียง Multi-core ประเภทเส้นใหญ่เดียวภายในมีเส้นแยกเป็นสิบเป็นร้อย เส้นละ Track แม้ว่าแต่ละเส้นจะแยกซีลด์แล้วก็ตาม) ถ้าสายแตะกัน เสียงจะหุบ เวทีจะหุบ ฟุ้ง ช่วงโหมหลายชิ้นจะกอดกันอื้ออึง สวิงไม่ขึ้น ฟังดังพอๆกันไปหมด
(3)- ตั้งตัวกดการสวิงเสียง (Compressor) ไว้ในอัตราส่วนสูงเกินไปหรือตัวกดนั้นคุณภาพไม่เข้าขั้น ทำได้ไม่แนบเนียนพอ ของถูกๆจะทำงานที่ค่าพลังรวมของทุกชิ้นดนตรีรวมกันของเพลงนั้นๆ แต่ละขณะของดีจะเลือกแถบความถี่ที่จะตรวจสอบและทำงานได้ (Select Frequency Band Compressor) ซึ่งจะเนียนกว่า หลอกหูน้อยกว่า ยิ่งถ้าเลือกตั้งได้หลายๆแถบความถี่จะยิ่งแพงมากขึ้น แต่จะยิ่งเนียนขึ้น ว่ากันว่า ยังไงๆการบันทึกลง CD ตัวแม่เทปมาสเตอร์ก็ต้องมีการกดการสวิงเสียงไว้บ้างไม่อย่างนั้นจะต้องบันทึกลงแผ่นเบามากเพื่อหลีก เลี่ยงยอดคลื่นหัวขาด (Clip) ในช่วงสวิงแรงๆซึ่งหัวขาดแบบดิจิตอลจะฟังอุบาทว์หูกว่าหัวขาดแบบอนาล็อกมาก (เสียงจะจัด,สากหู,สกปรกหู,ล่าหู)

3.  อาการเหมือนข้อ 2 แต่เสียงจะถอยจมติดจอป้อแป้ลงทันทีเมื่อดนตรีขึ้นหลายชิ้น

สาเหตุ
(1)-  เหมือนข้อ 2 และเสริมด้วยปัญหาระบบไฟ AC ของห้องอัดไม่นิ่ง ไม่แรงพอ ถ้ามีการใช้ตัวรักษาแรงดัน ไฟ  (Voltage Stabilizer) ก็แสดงว่าวัตต์ไม่พอ ถ้าใช้ตัวกรองไฟแสดงว่ามัน กีดขวางการสวิงแรงไฟ หรือ บ้านเรือนแถวนั้นมีการใช้ไฟเยอะ มีโรงงาน (ดึงไฟ) อาจต้องหาตัวรักษาแรงดันไฟแบบไฮเอนด์ (เป็น แสนบาทขึ้นไป อย่างที่นักเล่นเครื่องเสียงบ้านไฮเอนด์ใช้กัน) มาคุม Mixer หรืออุปกรณ์อื่น (แต่อย่าคุม พาวเวอร์แอมป์) (เช่น PS Audio, Accuphase) ของถูกๆจะเป็นแบบ Step Voltage ซึ่งไม่ ละเอียด (Continuous) และก่อให้เกิดคลื่นเข็ม (Spike)ออกมากวนได้
(2)- สายไฟ AC ของแต่ละอุปกรณ์แตะต้องกัน หรือมัดเป็นกระจุกของเส้นตัวเอง

4. เสียงแบนติดจอ ไร้รูปทรง,ทรวดทรง คือไม่มีมิติตื้น-ลึก ไม่หลุดลอยกระเด็นออกมาเป็นตัวๆเหมือนดูรูปวาด ไม่ใช่รูปปั้นลอยตัว

 สาเหตุ

(1)- สายผิดทิศ (ย้อนทิศ) ดูสาเหตุ 2 ของอาการข้อ 2
(2)- สายไฟ AC ของแต่ละอุปกรณ์ถูกผูกมัด แตะต้องกัน เหมือนสาเหตุ 2 ของอาการข้อ 3
(3)- ให้ฟังทดสอบเส้นทางเส้นฟิวส์ของทุกอุปกรณ์ ทั้งฟิวส์ AC และ DC (ถ้ามี ภายใน/ภายนอกเครื่อง) ว่าไปแล้ว ทุกเครื่องควรฟังทดสอบทิศทางเส้นฟิวส์ทุกเส้นอยู่แล้ว
(4)- วางเครื่องซ้อนกัน ยิ่งถ้าเป็นอุปกรณ์ดิจิตอลยิ่งแย่ ควรวางห่างกัน หนีการกวนจากสนามแม่เหล็กของหม้อแปลงไฟ หรือคลื่นความถี่สูงจากระบบดิจิตอล
(5)- การใช้Mixer,EQ ระบบดิจิตอล การมี PC ในห้องอัด มีจอ LCD ในห้องอัด คลื่นขยะความถี่สูงจากวงจรดิจิตอลจะเป็น Noise ไปป่วนกันเองในวงจรต่างๆตัวจอ LCD ต้องวางหนีอุปกรณ์อื่นๆ Mixer ดิจิตอลที่มีจอ LCD จึงแย่ แม้แต่มือถือไร้สาย,รีโมทไร้สาย ก็ยังป่วนคุณภาพเสียงเลย (แบน,รายละเอียดหยุมหยิมหาย)
(6)- สายไฟ AC ของห้องอัด เดินย้อนทิศ (อย่าดูว่าเขาสกรีนย่อหัวสายไฟบ้าน AC มาอย่างไร แต่ละล็อตอาจสกรีนผิดได้ ต้องฟังเอาอย่างเดียว)

5. เสียงกร้าว, แข็ง, แจ๋น เหมือนหุ่นยนต์ ขาดความกลมกล่อม หวาน ผ่อนคลาย อาจแถมแห้งด้วย ไม่ฉ่ำหวานเท่าที่ควร
 สาเหตุ

(1)- สายเชื่อมสัญญาณต่างๆย้อนทิศ (ดังกล่าวแล้ว)
(2)- สายไฟแตะต้องกันและกัน หรือพันทบตัวเอง ขาปลั๊กไฟ AC ผิดรูเสียบ ให้ลองสลับขาปลั๊กไฟ AC ไล่ฟังแต่ละเครื่อง ถ้าถูกเสียงจะผ่อนคลาย เป็นตัวตนขึ้น หลุดลอยมากขึ้น สอดใส่อารมณ์มากขึ้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำแรกสุดโดยไม่รอให้อาการฟ้อง
(3)- มีคลื่นความถี่สูงมากๆ (RF) เข้ามากวน (หูไม่ได้ยิน แต่วงจรรับรู้ได้) อาจต้องหาแผ่นกันสนาม แม่เหล็กมาปะปิดเต้าเสียบตัวเมียที่ไม่ใช้ที่กำแพง ถ้าเป็นห้องคุมเสียงที่สถานีส่งวิทยุ อาจมีปัญหานี้ แม้ว่าจะพยายามทำซีลด์รูมแล้ว รวมทั้งการมีโทรศัพท์มือถือ,PC,โน้ตบุ๊ก, PDAอยู่ในห้องอัดด้วย
(4)- ดูสาเหตุข้อ 6 ของอาการข้อ 4

6.  เสียงซ้าย-ขวาไม่เหมือนกัน (ไม่ดังเท่ากัน,ไม่มีทรวดทรง 3 มิติเหมือนกัน,ไม่หลุดลอยออกมาเหมือนกัน,ไม่ชัดเจนเท่ากัน
สาเหตุ

(1)- สายเชื่อมสัญญาณซ้ายกับขวาทิศทางต่างกัน ข้างหนึ่งอาจเรียงสกรีนในสาย (ยี่ห้อสาย) อ่านไล่จากแหล่งรายการไปตัวรับ อีกข้างสายสวนทิศ อ่านยี่ห้อไล่สายจากตัวรับกลับมาแหล่งรายการให้ฟังว่า ด้านไหนมีมิติทรวดทรงกว่า หลุดลอยออกมามากกว่า เวทีเสียงเปิดโล่งโอ่อ่ากว่า ก็ให้สลับทิศทางสายอีกข้างตามสายนี้ โดยไม่ต้องสนใจว่าเขาจะสกรีนลูกศรที่สายมาอย่างไร (สายแพงๆระดับไฮเอนด์คู่หนึ่งเป็นหมื่นยังมีผิด)
(2)- ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ของวงจรแบ่งเสียงของลำโพงซ้าย-ขวา รวมทั้งสายลำโพงในตู้ลำโพง บัดกรี,เดินสายมาผิดทิศทาง แม้จะเป็นอุปกรณ์แบบไร้ขั้ว (Non-polar) ก็ตาม รวมทั้งตัว U หางปลาหัวเสียบที่ปลายสายของลำโพงในตู้ที่เสียบสลับไม่ถูกทิศต้องลองเสียบฟังเอา
(3)- ดูสาเหตุข้อ 2 ของอาการข้อ 5 เรื่องทิศทางขาปลั๊กไฟ AC ของอุปกรณ์แต่ละตัว
(4)- อะไหล่ชิ้นส่วนบนแผงวงจรของช่องรูสัญญาณออกซ้ายกับขวา วางตัวอุปกรณ์ต่างทิศกัน เช่นเดียวกัน อะไหล่ชิ้นส่วนบนแผงวงจรของช่องรูรับสัญญาณเข้าซ้ายกับขวา วางตัวอุปกรณ์สลับขาต่างทิศกัน (เกิดจากการผลิตตอนมือหุ่นยนต์ยิงอะไหล่ลงบนแผงวงจรที่บังเอิญลายเส้นสัญญาณเป็น “กระจกเงา (Mirror image)” กันและกันของปีกซ้ายกับขวา ถ้าเกิดจากรูรับขาเข้า ให้ลองย้ายรูเข้าไปชุดอื่นๆดู บางชุดอาจแบนถอยทั้งซ้ายและขวาหรือชัดกับไม่ชัด (L,R) สลับกัน เครื่องเสียง บ้านเจอปัญหานี้บ่อย ขนาดของแพงๆระดับไฮเอนด์ยังเป็น
(5)- ดนตรีบางชิ้นหรือทั้งซีก (ซ้ายหรือขวา) เฟสผิด (Out of phase)

7. มิติเสียงไม่นิ่ง.ไม่โฟกัส,ไม่มีทรวดทรงชัด (3D) เท่าที่ควร
สาเหตุ

(1)- จากทุกสาเหตุของอาการที่ 6 ที่แล้ว
(2)- มีการใช้สายเชื่อมสัญญาณ (Interconnect) ลูกผสมไม่ว่าเป็นสายแบบบาลานซ์หรือไม่บาลานซ์ (สายไม่บาลานซ์จะยิ่งเห็นผลชัด) “ลูกผสม”หมายถึง แต่ละช่วงของการเชื่อมต่อ เช่น จากไมโครโฟนมา Mixer ใช้สายยี่ห้อ A รุ่น M สายจาก Mixer ไปตัวบันทึกก็ต้องสายยี่ห้อ A รุ่น M เช่นเดียวกัน กรณีพ่วง EQ ภายนอกให้ Mixer ก็ต้องสายยี่ห้อ A รุ่น M เช่นกัน (อย่าลืมฟังทิศทางสาย สายอย่าแตะกัน ทุกช่วงเหมือนกัน)

8. เสียงจากเครื่องดนตรีบางชิ้นลอยออกมาดี บางชิ้นถอยจม แต่เสียงดนตรีแบ็คอัพกลับลอยแซงออกมา
สาเหตุ
(1)- การจัดวาง “ตำแหน่ง” แต่ละชิ้นดนตรี (รวมทั้งนักร้อง....ถ้ามี) ในเวทีเสียงไม่ถูกต้อง ไม่เป็นลำดับขั้น (Layer) ที่จะทำให้เกิดระยะตื้นลึกได้ (Perspective) พูดง่ายๆว่าการ Mapping ยังไม่ดี ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ

- การแต่งความก้องกังวานให้แต่ละชิ้นดนตรี,นักร้องแต่ละคน
- การจัดระยะห่างของแถวนักดนตรี,นักร้อง หน้า-หลัง
- การเข้ากันได้ของความก้องกังวานของแต่ละชิ้นดนตรี,นักร้อง ต่อการก้องกังวานทั้งวง เพื่อให้ได้ความรู้สึกว่า ทุกคนอยู่ในบรรยากาศ (Atmosphere)หรือ Ambiance หรือ Space “อันเดียวกัน”และเป็นการจัดสร้างขอบเขตของเวทีเสียงที่ดีและถูกต้องด้วย
(2)- สายไมโครโฟนของชิ้นดนตรีที่จมถอยและฟุ้ง ย้อนทิศไม่ถูกต้อง
(3)- สายไมโครโฟนของชิ้นดนตรีที่มีปัญหานั้น บัดกรีขั้วกลับเฟสกับสายไมโครโฟนของดนตรีชิ้น   อื่นๆ   ที่ลอยกว่า มีทรวดทรงชัดกว่า (เรียกว่า Absolute phaseต่างกัน) ที่พบบ่อยมากคือเสียงร้องจม ถอยไปหลังเวที แต่เสียงดนตรีซึ่งควรอยู่เป็นฉากหลังนักร้องกลับแซงออกมาเสนอหน้าหมดแสดง ว่าบันทึกเสียงร้องกับเสียงดนตรีมากลับ Absolute phase กัน

บางทีบังเอิญเสียงร้องต่อใช้เครื่องทำเสียง ECHO ภายนอกการผ่านวงจรหรือเครื่องที่ต่างกันอาจ เกิดการกลับเฟส (Absolute Phase บวกเป็นลบ,ลบเป็นบวกไปได้ ต่างไปจากเส้นทางเสียงดนตรีที่ไม่ ได้ต่อออกแล้วเข้ามาใน Mixer)

ถ้าเป็นเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องระวังปัญหา Absolute Phase กลับกันระหว่างเครื่องดนตรีด้วยกันกับนักร้องให้ดีๆ

           ผลพลอยได้      จากการตรวจสอบและพิถีพิถันในข้ออาการทั้ง 8 โดยอาจไม่ต้องรอให้อาการเหล่านั้นสำแดงออกมา แต่ได้พิจารณาสาเหตุทุกสาเหตุ แล้วจัดการ “ป้องกัน” ไว้แต่ต้นมือเลยก็จะได้เสียงที่สมบูรณ์ เที่ยงตรง ถูกต้องยิ่งขึ้นรายละเอียดดีขึ้น มีชีวิต มีวิญญาณ มีเสน่ห์ น่าฟังขึ้นโดยอัตโนมัติ

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459