000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > กะเทาะเปลือกวงการเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ > ทำไมวงการเครื่องเสียงไฮเอนด์, ไฮไฟ ถึงร่อแร่
วันที่ : 31/10/2016
9,520 views

ทำไมวงการเครื่องเสียงไฮเอนด์, ไฮไฟ ถึงร่อแร่

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

นับวันวงการเครื่องเสียงไฮไฟ, ไฮเอนด์ ต่างหดตัวลงอย่างน่าตกใจ จัดงานทีไรก็แฟนคลับหน้าเดิมๆ (ที่นับวันจะร่วงโรย) รุ่นพ่อก็ล้มหายตายจาก รุ่นลูกก็ไม่มาสนใจ หมดแฟนคลับรุ่นปัจจุบัน วงการก็คงปิดฉากได้ อะไรคือสาเหตุแห่งความล่มสลายนี้

                บริษัทผลิตเครื่องเสียงไฮ-ไฟส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจกันแบบภายในครอบครัว ในตึกแถว โรงนา โรงรถ กระท่อม เป็นการง่ายต่อพวกเขาที่จะขายเครื่องไม่กี่รุ่น โดยได้รับผลกำไรสูงกับลูกค้ากลุ่มไม่เล็กเอาเลย พวกเขามีรูปแบบการดำเนินชีวิตเป็นของตัวเอง จากการทำเป็นงานอดิเรกสั่งทำก็ทำจริงจังจนเลี้ยงชีพได้ ทุกคนดูจะมีความสุขกันดีกับโครงสร้างทางธุรกิจแบบนี้

                ปัญหาก็คือ บริษัทที่ดังๆ ระดับข้ามชาติ น้อยนักที่จะทำธุรกิจแบบย่อมเยาอย่างนั้น จริงอยู่ บริษัทเล็กๆ ได้เปรียบตรงที่ปรับเปลี่ยนอะไรได้คล่องตัวและอย่างรวดเร็ว ไม่อุ้ยอ้าย อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ต้องเผชิญกับข้อด้อยมากมายที่ทำให้พวกเขาเขยิบสูงกว่านั้นไม่ได้

                ลองมาดูว่า มีอะไรบ้างที่กีดขวางการเติบโตของบริษัทเล็กๆ หรือบริษัทเล็กกลางบ้าง
                - บริษัทเล็กๆ จะถูกดูแลจัดการโดยเจ้าของเอง ขณะที่บริษัทขนาดกลางมีผู้จัดการมืออาชีพที่ดูแลหลายๆ ส่วนขององค์กร ในบริษัทใหญ่ขึ้นไป เจ้าของมักกำหนดบทบาทตัวเองไว้แค่ผู้ชี้นำ (direct) มากกว่าลงมือจัดการเสียเอง (manage)

                - บริษัทเล็กจะมีพนักงานไม่กี่คน ซึ่งเจ้าของเป็นผู้สั่งการเอง มีวัฒนธรรมตามนิสัยเจ้าของ บริษัทที่ใหญ่ขึ้นไปจะสร้างสิ่งแวดล้อมแบบสากลให้แก่พนักงานร่วมทีม มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม และให้อิสระในความคิดเห็น

                - บริษัทเล็กจะคิดสั้นๆ ต่ออนาคตหรือไม่สนใจวางแผนสำหรับอนาคตไว้เลย มุ่งอย่างเดียวที่ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดได้ บริษัทใหญ่จะวางเป้าหมายทั้งในระยะปานกลางและระยะยาว

                - บริษัทเล็กจะทำธุรกิจแบบลูกทุ่ง จับแพะชนแกะไปวันๆ ขณะที่บริษัทใหญ่จะวางรากฐานองค์กรเพื่อการเติบโตไปเรื่อยๆ ได้ในอนาคต มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยอย่างมาก

                - บริษัทเล็กมักไม่ยอมรับฟังคำแนะนำของบุคคลจากภายนอก ไม่มีการจ้างผู้บริหารมืออาชีพหรือที่ปรึกษาจากภายนอกให้มาช่วย แต่อย่างว่า ธุรกิจเล็กๆ อย่างนี้ อย่าว่าแต่จ้างคนภายนอกมาเสริมเลย แค่เดือนๆ วิ่งหมุนเงินหาค่าใช้จ่ายมาเลี้ยงบริษัทก็เหนื่อยหนักแล้ว

                - บริษัทเล็กๆ มักมีเจ้าของคนเดียวหรือหุ้นส่วนนับคนได้ จึงเป็นข้อจำกัดที่จะระดมทุน เพื่อการเติบโตของธุรกิจได้

                - บริษัทเล็กๆ จะมีฐานลูกค้าแคบมาก ช่องทางการค้าก็แคบเช่นกัน

                นี่เป็นข้อคิดเห็นของนาย Jyoti Banerje ที่เขียนจดหมายมาถึงนิตยสาร The Absolute Sound เมื่อเดือน พ.ย. 2006 นี้ 99% ของบริษัทที่ทำธุรกิจไฮไฟจะเป็นบริษัทเล็กและทำธุรกิจแบบที่กล่าว ทำอย่างไรเราจะผลักดันให้บริษัทเล็กเหล่านี้ปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ ปิดจุดอ่อนและดึงจุดแข็งมาใช้ จริงอยู่ ร้านขายปลีกก็มีส่วนต่อการอยู่รอดของธุรกิจไฮไฟ แต่หลักใหญ่น่าจะอยู่ที่ทางโรงงานผู้ผลิตมากกว่า อย่างสินค้าหรูแพงระยับบางอย่างเช่น นาฬิกาโรเล็กซ์ นาฬกาปาเตะฟิลิปส์ หรือรถหรูเฟอรารี่ คนที่ซื้อไม่ได้ซื้อเพราะร้านขายปลีก แต่ซื้อเพราะศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวสินค้าเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว ร้านค้าปลีกเป็นแค่ช่องทางพิสูจน์คุณภาพแลอำนวยความสะดวกในการซื้อหาเท่านั้น

                บริษัทไฮ-ไฟในอังกฤษที่ประสบความสำเร็จ ไปได้สวย เช่น Richer Sounds ซึ่งวันนี้เป็นเจ้าของยี่ห้อ Cambridge Audio และ Gale

                Richer Sounds เริ่มต้นธุรกิจด้วยการเป็นร้านค้าปลีก เครื่องไฟฟ้าราคาประหยัด แล้วเขยิบตัวสูงขึ้นเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์และจ้างโรงงานทำส่ง (โรงงานแถวบ้านเรานี่แหละ) ลักษณะ ODM

                สาเหตุที่น่าคิดอีกข้อคือ เครื่องเสียงไฮ-ไฟและไฮ-เอนด์ เข้าไม่ถึงสื่อกระแสหลักที่ประชาชนบริโภค เคยมีบ้างไหมที่เราได้ยินการสัมภาษณ์ดาราดัง บุคคลดัง ถึงการเล่นเครื่องเสียงไฮ-ไฟ ไฮ-เอนด์ของเขา ทั้งๆ ที่มีหลายคน “เล่น” อยู่ บุคคลดังๆ บางคนเล่นชุดเป็นล้านๆ บาท เราเคยเห็นการนำเครื่องเสียงไฮ-ไฟหรูๆ มาจัดประกอบฉากนิยายหรือการสัมมนาอะไรไหม พวกเราปล่อยให้คนรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่ ตีราคาของเสียงเพลงเป็นแค่เครื่องกล่อมประสาทหูหรือเพื่อนเสียง ปลุกไม่ให้ง่วงเพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่นเท่านั้น มันแทบไม่ต่างอะไรกับการเอาเสียงมอเตอร์พัดลม เสียงมอเตอร์แอร์ เป็นเพื่อนแก้เหงา สำหรับพวกเขา ขอแค่มีเสียงดัง “อะไรก็ได้” ไม่ต้องสนใจที่จะดื่มด่ำเสพอรรถรสจากสุ้มเสียงและชิ้นงานนั้นๆ คุณภาพจึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องถามถึง

                มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ชอบรวมกลุ่มกันอยู่ก็จริง แต่มนุษย์ก็เหมือนสัตว์หลายๆ ชนิดที่จะสร้างหรือกำหนดอาณาเขตเป็นส่วนตัวไม่อยากให้ใครมายุ่งหรือก้าวก่ายรับรู้ การฟังเพลงจากหูฟัง ช่วยให้รู้สึกว่า ปลีกวิเวกได้แม้อยู่ท่ามกลางกลุ่มคน ในความรู้สึก “ส่วนตัว” ดุจมี “อาณาบริเวณส่วนตัว” ที่ไม่จำเป็นต้องให้ใครมารับรู้ มาสอดรู้ การฟังจากหูฟังจึงเข้ามาครอบงำการฟังจากชุดไฮ-ไฟอย่างรวดเร็วและแผ่เป็นวงกว้างออกไปทุกทีๆ ขณะที่มันก็อาจสร้างความพึงพอใจต่อคุณภาพเสียงได้อย่างสูงสุดแทบไม่มีขีดกั้น ซึ่งบางครั้งเหนือกว่าการฟังจากชุดไฮ-ไฟตามปกติด้วยซ้ำ และด้วยงบประมาณตั้งแต่ต่ำสุดถึงสูงสุด

                นี่ควรจะเป็นสาเหตุหลักไม่ใช่หรือที่สั่นคลอนวงการไฮ-ไฟและไฮ-เอนด์

อนาคตของวงการไฮ-ไฟ ไฮเอนด์โลก

                - ยี่ห้อเก่าแก่และโรงงานเล็กๆ จะล้มหายตายจากหรือต้องขายราคาแพงขึ้นๆ ขณะที่ต้องจ่ายค่า “เชียร์” ให้แก่สื่อใต้ดินมากขึ้นๆ พวกนี้จึงต้องทำหุ่นให้ดูหรูขึ้นๆ เพราะสัมผัสรับรู้ได้ง่ายกว่าการมุ่งทำเสียงให้ดีขึ้นๆ (เพราะเมื่อดีสุด จะดีขึ้นอีกนิด จะต้องลงทุนเป็นเท่าทวีคูณ…diminishing return)

                - ยี่ห้อเก่าแก่ ถ้ามีชื่อเสียงดีจะถูกซื้อกิจการจากยี่ห้ออื่น หรือจากกลุ่มธุรกิจทั้งที่เกี่ยวข้องกับเครื่องเสียงและไม่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็มักเน้นแต่ผลกำไรเฉพาะหน้าเพื่อเอาใจผู้ถือหุ้น จนถึงขนาดลดคุณภาพของสินค้าและทำให้ยี่ห้อที่ตนเองซื้อมา เสียชื่อและหมดราคาในที่สุด

                - ฝรั่งจะมีวัฒนธรรม ปั้นให้ยี่ห้อดังแล้วขายออกทำกำไร ไปตั้งยี่ห้อใหม่ วนเวียนไปเรื่อยๆ คนที่ซื้อไปมักเล็งแต่จะถอนทุนโดยการลดคุณภาพลง ลงระดับ(เกรด) ของผลิตภัณฑ์ลงจนหมดความนิยมต่อไป

                - ถ้าเศรษฐกิจแถบเอเชีย โดยเฉพาะไต้หวัน ฮ่องกง จีนยังพอไปได้แบบนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่เครื่องเสียงไฮ-ไฟ ไฮเอนด์ จะตกอยู่ในกำมือของกลุ่มบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันก็เข้ามากวาดไปเกือบหมดแล้ว เหลือแต่ยี่ห้อที่อยู่ในเครือของกลุ่มบริษัทฝรั่งใหญ่อยู่แล้วเท่านั้น

                - เครื่องเสียงไฮ-ไฟ ไฮ-เอนด์ จะข้ามไปผลิตในจีนมากขึ้นๆ ไฮเอนด์หลายยี่ห้อผลิตในจีนมาหลายปีแล้ว (สังเกตที่กล่อง ไม่เขียนว่า ทำที่ไหนแล้ว บอกแต่ บริษัทผู้ออกแบบ ใช้คำว่า design หรือ engineer in USA แต่จริงๆ made in China แต่สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือเสียหาย ตราบเท่าที่ยังรักษาคุณภาพเหมือนเดิม แต่ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ของถูกขึ้น เอื้อมถึง

                - เครื่องเสียงไฮ-ไฟ ไฮเอนด์จากจีน (แผ่นดินใหญ่) จะออกมาสู่ตลาดโลกมากขึ้นๆ ภายใน 3 ปีน่าจะครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึงไม่น้อยกว่า 50% ถ้าจีนรู้จักเรียนรู้วัฒนธรรมของการทำธุรกิจเครื่องเสียงไฮเอนด์สไตล์ฝรั่ง และราคาเครื่องเสียงจะถูกลงขณะที่คุณภาพ เครื่องเคราดีขึ้น

                - กฎระเบียบเรื่อง ROHS และ WEE ว่าด้วยการผลิตที่ไม่ใช้วัสดุและขบวนการผลิตที่สร้างมลภาวะเป็นพิษให้แก่สิ่งแวดล้อม (ROHS) และการต้องเก็บเครื่องเก่ากลับไปโรงงานด้วยเมื่อขายเครื่องใหม่ออกไป (WEE) จะทำให้โรงงานเล็กๆ ปรับตัวไม่ได้ ต้องเลิกกิจการ หรือย้ายแหล่งผลิตและหาตลาดที่กฎทั้งสองยังไม่ครอบคลุมถึง แต่สินค้าไฮ-ไฟ ไฮเอนด์มักมียอดขายต่ำอยู่แล้ว ตลาดของเก่าน่าจะพอรองรับของเก่าได้โดยไม่ต้องขนกลับ (WEE) แต่จะอ่อนไหวมหาศาลต่อ ROHS เพราะการฟังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง การปรับเปลี่ยนแม้น้อยนิดจะมีผลต่อการฟังอย่างทันทีและรุนแรงจนสั่นคลอนความรู้สึกของผู้บริโภคอย่างมหาศาล การปรับใช้อะหลั่ยที่ได้มาตรฐาน ROHS ได้บั่นทอนคุณภาพเสียงมาก

                - เครื่องเสียงไฮ-ไฟ ไฮเอนด์จากจีนจะมีอิทธิพลต่อการขายของยี่ห้อฝรั่งที่ตั้งราคาแบบฟันไม่เลี้ยงเกินจริงสุดกู่ ให้ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านราคา ทำนองเดียวกัน การทะลักของสินค้าไฮ-ไฟ ไฮเอนด์จากจีนสู่ตลาดโลก ทำให้มีอิทธิพลต่อสื่อเครื่องเสียงมากขึ้นๆ ยิ่งปิดประตูตายสำหรับยี่ห้อเล็กค่ายฝรั่งแท้ๆ ให้เกิดและอยู่รอดได้ยากมากขึ้น

                - เครื่องเสียงไฮ-ไฟ ไฮเอนด์จากจีนซึ่งมีราคาจริงๆ แล้วควรจะถูกกว่าค่ายฝรั่งเป็น 10 เท่าทีเดียว ทำให้นักเล่นทั่วไปสามารถซื้อหามาเล่นได้ ถ้าผลักดันกันดีๆ วงการไฮไฟและไฮเอนด์น่าจะขยายตัวได้มากขึ้นด้วยซ้ำ ถ้าผู้นำเข้ากล้าที่จะทุ่มทำประชาสัมพันธ์กันทุกรูปแบบอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ว่าการโฆษณา การทดสอบ กิจกรรมส่งเสริมการขาย

                - ขณะที่ค่ายฝรั่ง ญี่ปุ่น ลดความหรูหราลง ถูกลง แต่จีนกลับเพิ่มความหรูหรามากขึ้น แพงขึ้น เป็นบทพิสูจน์ว่า แนวทางไหนจะดีกว่ากัน

                - การบูมของเครื่องเสียงพกพา เช่นพวกเครื่องเล่น MP3, PVR, หรือแม้แต่ฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือ จะทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับด้านพกพานี้ ไม่ว่าเครื่องเล่น หูฟัง หน่วยความจำ แบตที่ใช้ได้นานขึ้น มีการแข่งขันสูง นำไปสู่การพัฒนาให้ดีขึ้นๆ จนน่าจะถึงระดับไฮเอนด์ได้ ยิ่งถ้าหน่วยความจำมีความจุถึง 128 GB ก็อาจสร้างแนวโน้มไฮเอนด์พกพา โดยบันทึกแบบไม่ย่นย่อสัญญาณใดๆ เลย ผลคือเสียงจะ “สุดยอด” เผลอๆ ดีกว่าเล่นจากแผ่น CD ที่ยังมีจุดอ่อนด้านกลไก

                เมื่อคนหูถึง เคยตัว หูสูงกับเสียงพกพาไฮเอนด์ ก็น่าจะช่วยให้วงการเครื่องเสียงไฮเอนด์ปกติกลับมาดีขึ้น ยิ่งได้รับแรงหนุนจากสินค้าจีนที่ราคาถูกลงเยอะด้วย อย่าลืมว่า การฟังแบบพกพา กับฟังแบบปกติ มันให้อารมณ์ต่างกัน ฟังปกติอาจฟังกับเพื่อนๆ กับแฟน ญาติพี่น้อง แล้วนั่งวิจารณ์กัน มันคนละความรู้สึก

                - การแข่งขันให้บริการดาวน์โหลดเพลงทางอินเตอร์เน็ต อาจพัฒนาไปสู่การส่งข้อมูลแบบไม่ย่นย่อสัญญาณลย ก็จะเกิดความเคยหู หูสูงแบบเครื่องเสียงไฮเอนด์พกพา ก็จะช่วยให้ชุดเครื่องเสียงไฮเอนด์กลับมาขายได้ดีขึ้น

                - เมื่อระบบภาพดีถึงระดับความละเอียดสูง (HD) จะแข่งอะไรกันไม่ได้อีกแล้ว ในที่สุดก็ต้องวนกลับมาแข่งเรื่องคุณภาพเสียง วงการไฮเอนด์ก็น่าจะกลับมาบูมได้อีก

สาเหตุที่วงการเครื่องเสียงไฮ-ไฟ ไฮเอนด์บ้านเราหดตัวแย่ลง

                - ผู้นำเข้ามีไม่มากเท่าที่ควร ก่อนหน้านี้ผู้นำเข้าเจ้าเดียวผูกขาดสินค้าหลายยี่ห้อเกินไป ทำให้ผู้บริโภคอึดอัด เกรงใจที่จะขอลองฟังหลายๆ ยี่ห้อจากผู้ขายเจ้าเดียว จะไปฟังวันละยี่ห้อหลายครั้งก็น่าเกลียด คนขายก็จ้องจะขายลูกเดียว

                - เจ้านายไม่ได้ลงมาดูแลการขายเอง ต่างจากในอดีตเมื่อ 40 ปีที่แล้วที่แต่ละยี่ห้อ เจ้าของลงมาขาย ลงมากำกับเอง ย่อมมีความรอบรู้ตัวสินค้ามากกว่าเด็กหน้าร้าน ตัดสินใจได้ดีกว่า

                - เมื่อเจ้าเดียว ผูกขาดขายหลายยี่ห้อจึงทำการตลาดอย่างเต็มที่ไม่ได้ในแต่ละยี่ห้อ ไม่มีแรงกระตุ้นพอที่จะผลักดันทุกยี่ห้อพร้อมกัน ตลาดจึงไม่คึกคัก พูดก็พูดเถอะ บางเจ้าเห็นขายกัน 4-5 ยี่ห้อ เป็นเอเย่นต์จริงๆ กี่ยี่ห้อกัน หรือเป็นแค่ร้านค้าปลีก (Dealer) ข้ามชาติเท่านั้น

                - ผู้ขายเองไม่สามารถตอบคำถามที่กระจ่างชัด มีเหตุผลที่ถูกต้อง และสร้างความพึงพอใจในการจัดสาธิตสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้ พูดง่ายๆ ว่า ผู้บริโภคเก่งกว่า แล้วคนขายจะชักจูงได้อย่างไร สินค้าไฮ-ไฟ ไฮเอนด์ ต้องขาย “ของจริง” และความน่าเชื่อถือ ที่พิสูจน์ได้ สัมผัสได้จริง ต่อผู้ซื้อ ให้เขาคล้อยตามได้

                ไม่ใช่เอะอะก็อ้างผลการวิจารณ์ทดสอบของคนโน้นคนนี้ โดยเฉพาะชอบอ้างของฝรั่งนัก หรืออ้างว่า เสี่ยโน่นนี่ก็ยังซื้อไปเล่นเลย (เสี่ยหน้าม้าฟันนายหน้าก็มี!)

                ฝรั่งหรือเทวดาหน้าไหนจะพูดให้ดีเลิศวิลิศมาหราอย่างไร ถ้าคนขายจัดสาธิตโชว์ความเลอเลิศนั้นไม่ได้ก็กรรม ใครจะเชื่อง่ายๆ

                มันไม่ดีกว่าหรือ ถ้าฝรั่งยังไม่ทันเชียร์ แต่คนขายจัดชุดสาธิตได้เสียงยอดเยี่ยม แบบนี้ก็ขายได้ ไม่เห็นต้องไหว้วาน ยัดเงินทองให้ใครเชียร์เลย

                - ผู้ขายเองมีความจริงใจแค่ไหนในการจัดสาธิต มันคงเป็นเรื่องไม่งามที่จะโชว์ลำโพงคู่ละหมื่นกว่าบาทด้วยสายลำโพงหลักแสนบาท สายเสียงหลักแสนบาท ตัวกรองไฟหลักแสนบาท ไม่นับตัวขยายอีก 3 แสนบาท ตัวเล่นอีกแสนกว่าบาท

                - เครื่องเสียงไฮเอนด์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จริงๆ เป็นการขาย “ความรู้สึกดื่มด่ำ” ลองนึกดูว่า ผู้ที่ซื้อลำโพงคู่นั้นไปเล่นกับชุดธรรมดาๆ ที่บ้าน และพบกับอะไรที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินเขาจะรู้สึกอย่างไร ทำไมไม่จัดโชว์แบบติดดิน (down to earth) กันบ้าง หรือไม่มีฝีมือที่จะ “ปั้นดินให้เป็นดาว” ต้องอาศัยตัวช่วยมาทั้งกองทัพ จึงจะขายของได้

                - เด็กหน้าร้านก็อยากขาย อยากได้คอมมิชชั่นใจจะขาด ก็ทำได้ทุกอย่าง เจ้านายว่างๆ ก็ลงมาดูแลบ้าง

                - เพราะจ้องจะหลอกกัน บริการหลักการขายก็สารพัดลูกเล่น ทำให้นักเล่นบางคนเจ็บใจ รวมกลุ่มกันบินไปซื้อจากเมืองนอกแล้วเอามาแบ่งกันเล่น ไม่ผ่านผู้นำเข้า...สะใจไหมน้อง

                - นักวิจารณ์ที่แนะนำคนเล่นผิดๆ หรือหวังผลทางการค้ามากกว่าจริยธรรม

                - ผู้นำเข้าต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่าจ้องแต่จะขายของแพงลิบลิ่ว ประเภทปีหนึ่งขายชุดเดียว อยู่ได้เป็นปี ควรจะหันมามองระดับคุ้มค่า (best buy) คือขายสินค้าไฮ-ไฟแต่สาธิตและบริการแบบไฮเอนด์ ก็จะขายได้ตลอดทั้งปีและสะสมฐานลูกค้าที่จะเติบโตเป็นลูกค้าไฮเอนด์ในอนาคตได้ ไม่ใช่มัวแต่นั่งรอลูกค้าซุปเปอร์ไฮเอนด์ไม่กี่คนในบ้านเรามาซื้อ

                - ต้องวางมาตรฐานของการขายส่ง ขายปลึกที่ยุติธรรมและจริงใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้นำเข้าและร้านค้าปลีก ต้องกำหนดบทบาทของตนให้ชัดเจนไม่ก้าวก่ายกัน หากแต่ช่วยเหลือสนับสนุนกัน ไม่มีการให้ร้ายคู่แข่งยี่ห้ออื่น หากแต่พยายามนำเสนอยี่ห้อของตนให้ชัดเจนในเรื่องคุณภาพอย่างถึงที่สุด

                - ผู้นำเข้าและร้านค้าต้องช่วยสนับสนุนสื่อโดยไม่ลำเอียง ให้สื่ออยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและวางตัวเป็นกลางได้อย่างแท้จริง อันจะช่วยจรรโลงวงการให้กว้างไกลและขยายตัวออกไป ทุกคนอยู่รอดในระยะยาว

                - ผู้บริโภคจะต้องหมั่นเรียนรู้ศึกษา อย่าให้ใครหลอกได้ ไม่ว่าร้านค้าหรือสื่อใดๆ ในขณะเดียวกันก็สมควรอุดหนุนให้สื่อที่ดีอยู่ได้ ร้านค้า, ยี่ห้อที่ดีอยู่ได้ ทั้งช่วยซื้อหรือแนะนำต่อๆ กันไป

สรุป

                ที่ผมต้องนำประเด็นนี้มาพูดซึ่งอาจสะเทือนความรู้สึกบ้าง เพราะอยากให้วงการไฮ-ไฟ ไฮเอนด์ขับเคลื่อนดำเนินไปบนพื้นฐานแห่งมิตรภาพ ความรักใคร่ปรองดอง ความสนุกรื่นรมย์ต่อกันและกัน ทั้งนักเล่นด้วยกัน ผู้ขายด้วยกัน นักเล่นกับผู้ขาย เพราะนั่นคือ เสน่ห์และหัวใจของไฮ-ไฟ ไฮเอนด์ ถ้าเราสูญเสียสิ่งนี้ไป ท้ายสุด วงการนี้ก็จะไม่เหลืออะไรอีกเลยรวมทั้งตัวมันเองด้วย

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459