000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > เครื่องเสียงรถยนต์ > บทความเครื่องเสียงรถยนต์ > เพาเวอร์แอมป์ไฮเอนด์ทำไมแพงลิบ
วันที่ : 22/04/2016
9,767 views

เพาเวอร์แอมป์ไฮเอนด์ทำไมแพงลิบ

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการเครื่องเสียงรถยนต์  ถ้าบอกว่าเพาเวอร์แอมป์รถยนต์ราคาเกือบสองแสนบาทหรือกว่านั้น พวกเขาคงช็อคกันแน่ ราคาเกือบเท่ารถเก๋งเก่าสภาพดีได้เลย หรือพอๆกับเพาเวอร์แอมป์บ้านระดับไฮเอนด์ได้เลย

ทำไมเพาเวอร์แอมป์รถถึงแพงได้ขนาดนั้น

          ก่อนจะตอบขอแยกเพาเวอร์แอมป์รถได้ 2 ประเภทคือ ประเภทเน้นคุณภาพเสียงหรือ SQ ( SOUND QUALITY) และประเภทให้พละกำลัง (SOUND PRESSURE LEVEL หรือ SPL)

          เพาเวอร์แอมป์ประเภท SQ สาเหตุที่แอมป์ SQ ระดับไฮเอนด์แพงมากๆเป็นแสนๆบาทก็เพราะ

  1. ใช้วงจรภาคขยายที่ความเพี้ยนต่ำ (DISTORTION ต่ำ) รับสวิงสัญญาณได้สูง (HEAD ROOM สูง) ขยายระดับ สัญญาณได้อย่างเที่ยงตรง (LINEARITY สูง) มีความเสถียรภาพสูง (STABLE) วงจรที่ขยายสัญญาณจะลัดตรงที่ สุด (SHORT PATH) แต่จะใช้วงจรบริวารเยอะไปหมดเพื่อประคับประคองวงจรขยายสัญญาณให้สมบูรณ์ที่สุด

    นอกจากนั้น ก็คือวงจรป้องกันเต็มรูปแบบ ทั้งร้อนเกินไป,ไฟตกไฟเพิ่มมากเกินขีด,มีการลัดวงจรที่ขาออก,สายลำโพงและลำโพงที่ให้ความต้านทานเชิงซ้อนที่ต่ำเกินไปหรือก่อให้เกิดการวิ่งวนของคลื่นระหว่างขาออกกับภาคลำโพง (OSCILATION) ภาคขาออกจะพัง หรือ พังทั้งภาคขยายและลำโพง, สายลำโพงหลุด ไม่มีลำโพงต่ออยู่,เร่งวอลลูมดังเกินขีดของเครื่อง (CLIP) วงจรป้องกันที่มีผลกระทบต่อคุณภาพเสียงน้อยที่สุด วงจรป้องกันพวก นี้สลับซับซ้อนและแพงมาก
     
  2. ภาคจ่ายไฟที่แข็งแรง บึกบึน ให้พลังสำรองได้สูง จ่ายกระแสได้สูง กระแสและแรงดันไฟวิ่งเสมอพร้อมกัน ความต้านทานขาออกของภาคจ่ายไฟมีค่าต่ำที่สุด เพื่อความฉับไวในการจ่ายกระแสและทำให้ได้ค่า DAMPING FACTOR สูง (คือความสามารถในการหยุดการสั่นค้างของโดมหรือกรวยลำโพงมีค่าสูง เสียงจะสงัด,กระชับ ไม่สั่นค้าง รายละเอียดหัวโน้ต,หางโน้ตจะดีที่สุด) อีกทั้งไฟเลี้ยงต้องนิ่ง,ไร้การกระเพื่อม,สัญญาณกวนต่ำสุด (จากภายนอก,ภายในตัวเอง) ภาคจ่ายไฟดีๆราคาถึง 1 ใน 3 ของเครื่องทีเดียว
     
  3. ใช้อะไหล่อุปกรณ์คุณภาพสูงระดับใช้ในทางทหาร (แพงกว่าปกติ 30 เท่า!) มีความผิดพลาดต่ำ เสถียรภาพสูง ในจุดที่สำคัญอาจคัดค่าที่ต้องการเป๊ะ มีการเผื่อไว้เยอะเช่นปกติใช้ค่าแค่ 1 วัตต์ก็พอ ก็อาจใช้ค่าสูงกว่า 2 – 3 เท่า นอกจากนั้นยังมีการฟังทดสอบว่า อุปกรณ์หน้าที่เดียวกัน ยี่ห้อไหน,ชนิดไหนที่ให้สุ้มเสียงดีที่สุด (AUDIO เกรด) มีค่าแฝงต่ำสุด อุปกรณ์อะไหล่ไม่ว่าตัวเก็บประจุ (C),ตัวขดลวด (L),ตัวต้านทาน (R) ต่างมีค่าอีก 2 ตัวแฝงอยู่เสมอเช่น ตัวต้านทาน(R) ก็จะมีความเป็น C และ L อยู่ในตัวด้วยเสมอแต่ควรมีค่าต่ำสุด (พวกนี้จะมีราคาแพงลิบ แพงกว่าปกติเป็นสิบๆถึงร้อยเท่า)
     
  4. นอกจากการใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ปกติในวงจรแล้ว ยังมีการใส่อะไหล่ที่ปรับค่าได้ในหลายๆจุดที่ต้องการการจูนเป็นพิเศษเพื่อให้แม่นยำที่สุด แน่นอนว่า ต้องใช้อะไหล่ที่สลับซับซ้อนกว่าปกติอีกทั้งเสียเวลาในการปรับจูนทีละเครื่องๆในห้องทดสอบ
     
  5. แผงวงจรใช้วัสดุอย่างดี (ของถูกๆใช้แผ่นเบกาไลท์บางๆ ของแพงใช้แผ่นกลาสอีป๊อกซี่หนา ของแพงระดับไฮเอนด์ดีกว่านี้อีกแพงกว่ากลาสอีป๊อกซี่ถึง 30 เท่า เส้นลายทางเดิน ถ้าเป็นแบบพื้นๆก็จะออกแบบโดยเน้นความง่าย,สะดวก,ประหยัดในการให้มือหุ่นยนต์ใส่อะไหล่ลงไป แต่ของระดับไฮเอนด์จะออกแบบโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสัญญาณ,ต่อการรบกวนจากคลื่นขยะความถี่สูงภายนอก (RF),ต่อความบริสุทธิ์เที่ยงตรงของสัญญาณ,ต่อความ เงียบสงัด (S/N) (ระบบลงดินหรือ STAR GROUND ทำGROUND PLAIN ) มีการเดินด้วยสายไฟน้อยที่สุด,ไม่ใช้การเชื่อมต่อระหว่าง 2 จุดในเส้นทางเดินไฟหรือสัญญาณเสียงด้วยเส้นลวดอย่างแอมป์ถูกๆชอบใช้ (พวกถูกๆจะออกแบบแผงวงจรแบบสากลครอบจักรวาล ใช้ได้กับทุกรุ่นไล่ตั้งแต่เล็กไปใหญ่หรือต่างตระกูลกันโดยใช้เส้นลวดมาจั๊ม (พาด) ดัดแปลงเอา บางทีจั๊มกันทีเป็นสิบๆสาย พรืดไปทั้งเครื่อง คุณภาพไม่มีเหลือ (ทิศทางสายจั๊ม,คุณภาพสายจั๊มมีผลต่อเสียงทั้งนั้น)
     
  6. แผงวงจรมีการยึดอย่างแข็งแรง ลดการสั่นให้น้อยที่สุด (การสั่นมีผลต่อสุ้มเสียงอย่างมาก ซึ่งไม่ค่อยมีใครคำนึงถึง มัวแต่ไปจูนเสียงในจุดอื่นๆขนาดเพาเวอร์แอมป์บ้านไฮเอนด์บางยี่ห้อ ตัวขายึดแผงวงจรให้ลอยตัวเขาใช้แท่ง     เบอริเรี่ยมซึ่งแพงกว่าทองคำ!
     
  7. ครีบระบายความร้อน,ตัวถังเครื่อง ถ้าของไฮเอนด์จะใช้ทั้งสองอย่างเป็นชิ้นเดียวกัน ทำด้วยอลูมิเนียมเกรดสูงสุดเพื่อการดูดซับและถ่ายความร้อนออกจากตัวทรานซิสเตอร์ขาออกที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้เนื้อที่,ความหนาของอลูมิเนียมมากที่สุด เพื่อไม่ต้องใช้พัดลมช่วยหรือถ้ามีพัดลมก็จะทำงานเมื่อเครื่องร้อนจัดจริงๆ (เร่งดังมากๆ) เท่านั้น (พัดลมจะรบกวนเป็น NOISE ต่อวงจร) ครีบระบายและตัวถังอลูมิเนียมดีๆราคาอาจสูงถึง 40 % ของทั้ง เครื่อง
     
  8. ในภาคขาออก (OUT PUT STAGE) ของถูกๆสเตอริโอแอมป์อาจใช้ทรานซิสเตอร์ไบโพล่าถูกๆ 2 ตัวต่อข้างเท่า นั้น ขณะที่เพาเวอร์แอมป์ระดับไฮเอนด์อาจใช้ถึง 8 ตัวต่อข้าง เพื่อร่วมช่วยกันอัดฉีดกระแสให้แก่ลำโพงได้อย่าง เต็มที่ไม่มีอั้น ทรานซิสเตอร์ที่ใช้ถ้าเป็น MOSFET ก็จะคัดแล้วคัดอีก ทั้งเมื่อป้อนด้วยสัญญาณดนตรีจริงๆ (Dynamic Test) และเมื่อป้อนด้วยสัญญาณทดสอบแช่ ( Static Test) โดยคัดให้ตรงสเปคที่ต้องการและคัดจับเข้าคู่ซ้าย-ขวาเท่ากันเป๊ะ (MOSFET คัดยากต้องคัดทิ้งเยอะถึง 70 ใน 100) ถ้าใช้ทรานซิสเตอร์ไบโพล่าก็จะเป็นรุ่นพิเศษที่ตอบสนองความถี่ได้กว้างมากๆ แต่โดยทั่วไป ปัจจุบันจะใช้ MOSFET มากกว่า ซึ่งตอบสนองความถี่สูง ได้ดีกว่า

    การใช้ทรานซิสเตอร์ขาออกมากๆตัวต่อข้าง ยังช่วยลดความต้านทานขาออกให้ต่ำสุด ช่วยให้ภาคขาออกควบคุมการสั่นข้างของลำโพงได้กระชับที่สุด (ค่า Damping Factor สูงระดับ 300 ขึ้นไปถึง 1,000)
     
  9. การที่ต้องออกแบบใช้อุปกรณ์มากกว่าปกติมากและให้แต่ละภาค (ภาคปรี,ภาคเพาเวอร์แอมป์,ภาคควบคุม,ภาคจ่ายไฟ) มีการกวนกันเองภายในเครื่องน้อยที่สุด (เพื่อให้ได้ค่า S/N สูงสุด) และการแยกสเตอริโอซ้าย-ขวาสูงสุด ทำให้ต้องใช้ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่โตและหนักกว่าปกติเป็นเท่าตัว
     
  10. การที่ต้นทุนการผลิตสูงมากๆ ต้องขายแพง ทำให้ไม่สามารถผลิตทีละมากๆได้ (Mass) แทบจะเรียกว่าทำด้วยมือกันเลย (Hand Made) ราคาจึงต้องสูงลิบ
     
  11. บางยี่ห้อมีการวัดตรวจสายสเปคและพิมพ์มาให้ของแต่ละเครื่องเลย มั่นใจได้ว่ามันจะใกล้เคียงกับเครื่องต้นแบบที่สุด
     
  12. การบรรจุหีบห่อ มักทำมาอย่างประณีต หรูหรา ดูดี มีราคา
     
  13. บางยี่ห้อถึงขนาดว่าเพาเวอร์แอมป์หมายเลขเครื่องนั้นๆ, (S/N)รุ่นนั้นๆจะมีการลงทะเบียนประวัติและสเปควัดละเอียดอยู่ที่โรงงานด้วย เสียขึ้นมาแจ้งไป เขาจะได้คัดอะไหล่อุปกรณ์ที่เหมาะสมลงตัวกับ “เฉพาะ” เครื่องนั้นๆส่งมาให้ได้
     
  14. บางยี่ห้อทำตัวถัง,กล่องใส่ดูสวยเลิศหรูยังกับจิวเวอรี่ อย่างนี้แพงเพราะเปลือกมากกว่าเนื้อใน หรือ เหตุผลทางการใช้งาน

กรณีที่ 2 เพาเวอร์แอมป์สำหรับ SPL ระดับไฮเอนด์

          ในกรณีนี้ความเป็นไฮเอนด์มิได้วัดด้วย “คุณภาพเสียง” หากแต่วัดด้วยความทนทานทรหดอย่างยิ่งยวด เกือบจะพูดได้ว่า พังไม่เป็น อีกทั้งการอัดฉีดกระแสได้แทบไม่มีอั้น โดยสามารถแช่การ “อัด” นั้นอยู่ได้เป็นวันไม่ใช่แค่ประเดี๋ยวประด๋าว

          ความแพงลิบของมันจึงขึ้นอยู่กับเรื่องของวงจรที่ใช้,ภาคจ่ายไฟ,การคัดอุปกรณ์ (แต่ไม่ได้เน้นสุ้มเสียง เน้นความเสถียร,ทรหดมากกว่า) มีการ “เผื่อ” ที่ภาคจ่ายไฟและภาคขาออกอย่างล้นหลาม อย่างของ SOUND STREAM ตระกูล XXX (ทริปเปิ้ลเอ็กซ์) รุ่น 15000 แม้เป็นโมโนเพาเวอร์แอมป์ แต่จริงๆภายในเป็น 2 CH เอามาบริดจ์เป็นโมโนจึงให้กำลัง ได้เกือบ 7,000 วัตต์และค่า DAMPING FACTOR เป็น 1,000 (จริงๆสูงแทบวัดไม่ได้ แต่กลัวว่าคนอื่นจะหาว่า “เวอร์” จึงระบุแค่นั้น) เปิดแช่ต่อเนื่องได้ 24 ชั่วโมงไม่ตัด ตัวเครื่องยาวเกือบ 2 ศอก กว้างเกือบ 2 คืบ หนักอึ้ง

          โดยปกติพบว่า การที่เพาเวอร์แอมป์ SPL ระดับไฮเอนด์ ต้องเผื่อทุกอย่าง ที่เกี่ยวกับ พละกำลัง,ความทรหดและความปลอดภัย จึงทำให้มันมีราคาแพงกว่าเพาเวอร์แอมป์ไฮเอนด์ SQ ด้วยซ้ำ

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459