เพาเวอร์แอมป์ไฮเอนด์ทำไมแพงลิบ
โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ
สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการเครื่องเสียงรถยนต์ ถ้าบอกว่าเพาเวอร์แอมป์รถยนต์ราคาเกือบสองแสนบาทหรือกว่านั้น พวกเขาคงช็อคกันแน่ ราคาเกือบเท่ารถเก๋งเก่าสภาพดีได้เลย หรือพอๆกับเพาเวอร์แอมป์บ้านระดับไฮเอนด์ได้เลย
ทำไมเพาเวอร์แอมป์รถถึงแพงได้ขนาดนั้น
ก่อนจะตอบขอแยกเพาเวอร์แอมป์รถได้ 2 ประเภทคือ ประเภทเน้นคุณภาพเสียงหรือ SQ ( SOUND QUALITY) และประเภทให้พละกำลัง (SOUND PRESSURE LEVEL หรือ SPL)
เพาเวอร์แอมป์ประเภท SQ สาเหตุที่แอมป์ SQ ระดับไฮเอนด์แพงมากๆเป็นแสนๆบาทก็เพราะ
- ใช้วงจรภาคขยายที่ความเพี้ยนต่ำ (DISTORTION ต่ำ) รับสวิงสัญญาณได้สูง (HEAD ROOM สูง) ขยายระดับ สัญญาณได้อย่างเที่ยงตรง (LINEARITY สูง) มีความเสถียรภาพสูง (STABLE) วงจรที่ขยายสัญญาณจะลัดตรงที่ สุด (SHORT PATH) แต่จะใช้วงจรบริวารเยอะไปหมดเพื่อประคับประคองวงจรขยายสัญญาณให้สมบูรณ์ที่สุด
นอกจากนั้น ก็คือวงจรป้องกันเต็มรูปแบบ ทั้งร้อนเกินไป,ไฟตกไฟเพิ่มมากเกินขีด,มีการลัดวงจรที่ขาออก,สายลำโพงและลำโพงที่ให้ความต้านทานเชิงซ้อนที่ต่ำเกินไปหรือก่อให้เกิดการวิ่งวนของคลื่นระหว่างขาออกกับภาคลำโพง (OSCILATION) ภาคขาออกจะพัง หรือ พังทั้งภาคขยายและลำโพง, สายลำโพงหลุด ไม่มีลำโพงต่ออยู่,เร่งวอลลูมดังเกินขีดของเครื่อง (CLIP) วงจรป้องกันที่มีผลกระทบต่อคุณภาพเสียงน้อยที่สุด วงจรป้องกันพวก นี้สลับซับซ้อนและแพงมาก
- ภาคจ่ายไฟที่แข็งแรง บึกบึน ให้พลังสำรองได้สูง จ่ายกระแสได้สูง กระแสและแรงดันไฟวิ่งเสมอพร้อมกัน ความต้านทานขาออกของภาคจ่ายไฟมีค่าต่ำที่สุด เพื่อความฉับไวในการจ่ายกระแสและทำให้ได้ค่า DAMPING FACTOR สูง (คือความสามารถในการหยุดการสั่นค้างของโดมหรือกรวยลำโพงมีค่าสูง เสียงจะสงัด,กระชับ ไม่สั่นค้าง รายละเอียดหัวโน้ต,หางโน้ตจะดีที่สุด) อีกทั้งไฟเลี้ยงต้องนิ่ง,ไร้การกระเพื่อม,สัญญาณกวนต่ำสุด (จากภายนอก,ภายในตัวเอง) ภาคจ่ายไฟดีๆราคาถึง 1 ใน 3 ของเครื่องทีเดียว
- ใช้อะไหล่อุปกรณ์คุณภาพสูงระดับใช้ในทางทหาร (แพงกว่าปกติ 30 เท่า!) มีความผิดพลาดต่ำ เสถียรภาพสูง ในจุดที่สำคัญอาจคัดค่าที่ต้องการเป๊ะ มีการเผื่อไว้เยอะเช่นปกติใช้ค่าแค่ 1 วัตต์ก็พอ ก็อาจใช้ค่าสูงกว่า 2 – 3 เท่า นอกจากนั้นยังมีการฟังทดสอบว่า อุปกรณ์หน้าที่เดียวกัน ยี่ห้อไหน,ชนิดไหนที่ให้สุ้มเสียงดีที่สุด (AUDIO เกรด) มีค่าแฝงต่ำสุด อุปกรณ์อะไหล่ไม่ว่าตัวเก็บประจุ (C),ตัวขดลวด (L),ตัวต้านทาน (R) ต่างมีค่าอีก 2 ตัวแฝงอยู่เสมอเช่น ตัวต้านทาน(R) ก็จะมีความเป็น C และ L อยู่ในตัวด้วยเสมอแต่ควรมีค่าต่ำสุด (พวกนี้จะมีราคาแพงลิบ แพงกว่าปกติเป็นสิบๆถึงร้อยเท่า)
- นอกจากการใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ปกติในวงจรแล้ว ยังมีการใส่อะไหล่ที่ปรับค่าได้ในหลายๆจุดที่ต้องการการจูนเป็นพิเศษเพื่อให้แม่นยำที่สุด แน่นอนว่า ต้องใช้อะไหล่ที่สลับซับซ้อนกว่าปกติอีกทั้งเสียเวลาในการปรับจูนทีละเครื่องๆในห้องทดสอบ
- แผงวงจรใช้วัสดุอย่างดี (ของถูกๆใช้แผ่นเบกาไลท์บางๆ ของแพงใช้แผ่นกลาสอีป๊อกซี่หนา ของแพงระดับไฮเอนด์ดีกว่านี้อีกแพงกว่ากลาสอีป๊อกซี่ถึง 30 เท่า เส้นลายทางเดิน ถ้าเป็นแบบพื้นๆก็จะออกแบบโดยเน้นความง่าย,สะดวก,ประหยัดในการให้มือหุ่นยนต์ใส่อะไหล่ลงไป แต่ของระดับไฮเอนด์จะออกแบบโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสัญญาณ,ต่อการรบกวนจากคลื่นขยะความถี่สูงภายนอก (RF),ต่อความบริสุทธิ์เที่ยงตรงของสัญญาณ,ต่อความ เงียบสงัด (S/N) (ระบบลงดินหรือ STAR GROUND ทำGROUND PLAIN ) มีการเดินด้วยสายไฟน้อยที่สุด,ไม่ใช้การเชื่อมต่อระหว่าง 2 จุดในเส้นทางเดินไฟหรือสัญญาณเสียงด้วยเส้นลวดอย่างแอมป์ถูกๆชอบใช้ (พวกถูกๆจะออกแบบแผงวงจรแบบสากลครอบจักรวาล ใช้ได้กับทุกรุ่นไล่ตั้งแต่เล็กไปใหญ่หรือต่างตระกูลกันโดยใช้เส้นลวดมาจั๊ม (พาด) ดัดแปลงเอา บางทีจั๊มกันทีเป็นสิบๆสาย พรืดไปทั้งเครื่อง คุณภาพไม่มีเหลือ (ทิศทางสายจั๊ม,คุณภาพสายจั๊มมีผลต่อเสียงทั้งนั้น)
- แผงวงจรมีการยึดอย่างแข็งแรง ลดการสั่นให้น้อยที่สุด (การสั่นมีผลต่อสุ้มเสียงอย่างมาก ซึ่งไม่ค่อยมีใครคำนึงถึง มัวแต่ไปจูนเสียงในจุดอื่นๆขนาดเพาเวอร์แอมป์บ้านไฮเอนด์บางยี่ห้อ ตัวขายึดแผงวงจรให้ลอยตัวเขาใช้แท่ง เบอริเรี่ยมซึ่งแพงกว่าทองคำ!
- ครีบระบายความร้อน,ตัวถังเครื่อง ถ้าของไฮเอนด์จะใช้ทั้งสองอย่างเป็นชิ้นเดียวกัน ทำด้วยอลูมิเนียมเกรดสูงสุดเพื่อการดูดซับและถ่ายความร้อนออกจากตัวทรานซิสเตอร์ขาออกที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้เนื้อที่,ความหนาของอลูมิเนียมมากที่สุด เพื่อไม่ต้องใช้พัดลมช่วยหรือถ้ามีพัดลมก็จะทำงานเมื่อเครื่องร้อนจัดจริงๆ (เร่งดังมากๆ) เท่านั้น (พัดลมจะรบกวนเป็น NOISE ต่อวงจร) ครีบระบายและตัวถังอลูมิเนียมดีๆราคาอาจสูงถึง 40 % ของทั้ง เครื่อง
- ในภาคขาออก (OUT PUT STAGE) ของถูกๆสเตอริโอแอมป์อาจใช้ทรานซิสเตอร์ไบโพล่าถูกๆ 2 ตัวต่อข้างเท่า นั้น ขณะที่เพาเวอร์แอมป์ระดับไฮเอนด์อาจใช้ถึง 8 ตัวต่อข้าง เพื่อร่วมช่วยกันอัดฉีดกระแสให้แก่ลำโพงได้อย่าง เต็มที่ไม่มีอั้น ทรานซิสเตอร์ที่ใช้ถ้าเป็น MOSFET ก็จะคัดแล้วคัดอีก ทั้งเมื่อป้อนด้วยสัญญาณดนตรีจริงๆ (Dynamic Test) และเมื่อป้อนด้วยสัญญาณทดสอบแช่ ( Static Test) โดยคัดให้ตรงสเปคที่ต้องการและคัดจับเข้าคู่ซ้าย-ขวาเท่ากันเป๊ะ (MOSFET คัดยากต้องคัดทิ้งเยอะถึง 70 ใน 100) ถ้าใช้ทรานซิสเตอร์ไบโพล่าก็จะเป็นรุ่นพิเศษที่ตอบสนองความถี่ได้กว้างมากๆ แต่โดยทั่วไป ปัจจุบันจะใช้ MOSFET มากกว่า ซึ่งตอบสนองความถี่สูง ได้ดีกว่า
การใช้ทรานซิสเตอร์ขาออกมากๆตัวต่อข้าง ยังช่วยลดความต้านทานขาออกให้ต่ำสุด ช่วยให้ภาคขาออกควบคุมการสั่นข้างของลำโพงได้กระชับที่สุด (ค่า Damping Factor สูงระดับ 300 ขึ้นไปถึง 1,000)
- การที่ต้องออกแบบใช้อุปกรณ์มากกว่าปกติมากและให้แต่ละภาค (ภาคปรี,ภาคเพาเวอร์แอมป์,ภาคควบคุม,ภาคจ่ายไฟ) มีการกวนกันเองภายในเครื่องน้อยที่สุด (เพื่อให้ได้ค่า S/N สูงสุด) และการแยกสเตอริโอซ้าย-ขวาสูงสุด ทำให้ต้องใช้ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่โตและหนักกว่าปกติเป็นเท่าตัว
- การที่ต้นทุนการผลิตสูงมากๆ ต้องขายแพง ทำให้ไม่สามารถผลิตทีละมากๆได้ (Mass) แทบจะเรียกว่าทำด้วยมือกันเลย (Hand Made) ราคาจึงต้องสูงลิบ
- บางยี่ห้อมีการวัดตรวจสายสเปคและพิมพ์มาให้ของแต่ละเครื่องเลย มั่นใจได้ว่ามันจะใกล้เคียงกับเครื่องต้นแบบที่สุด
- การบรรจุหีบห่อ มักทำมาอย่างประณีต หรูหรา ดูดี มีราคา
- บางยี่ห้อถึงขนาดว่าเพาเวอร์แอมป์หมายเลขเครื่องนั้นๆ, (S/N)รุ่นนั้นๆจะมีการลงทะเบียนประวัติและสเปควัดละเอียดอยู่ที่โรงงานด้วย เสียขึ้นมาแจ้งไป เขาจะได้คัดอะไหล่อุปกรณ์ที่เหมาะสมลงตัวกับ “เฉพาะ” เครื่องนั้นๆส่งมาให้ได้
- บางยี่ห้อทำตัวถัง,กล่องใส่ดูสวยเลิศหรูยังกับจิวเวอรี่ อย่างนี้แพงเพราะเปลือกมากกว่าเนื้อใน หรือ เหตุผลทางการใช้งาน
กรณีที่ 2 เพาเวอร์แอมป์สำหรับ SPL ระดับไฮเอนด์
ในกรณีนี้ความเป็นไฮเอนด์มิได้วัดด้วย “คุณภาพเสียง” หากแต่วัดด้วยความทนทานทรหดอย่างยิ่งยวด เกือบจะพูดได้ว่า พังไม่เป็น อีกทั้งการอัดฉีดกระแสได้แทบไม่มีอั้น โดยสามารถแช่การ “อัด” นั้นอยู่ได้เป็นวันไม่ใช่แค่ประเดี๋ยวประด๋าว
ความแพงลิบของมันจึงขึ้นอยู่กับเรื่องของวงจรที่ใช้,ภาคจ่ายไฟ,การคัดอุปกรณ์ (แต่ไม่ได้เน้นสุ้มเสียง เน้นความเสถียร,ทรหดมากกว่า) มีการ “เผื่อ” ที่ภาคจ่ายไฟและภาคขาออกอย่างล้นหลาม อย่างของ SOUND STREAM ตระกูล XXX (ทริปเปิ้ลเอ็กซ์) รุ่น 15000 แม้เป็นโมโนเพาเวอร์แอมป์ แต่จริงๆภายในเป็น 2 CH เอามาบริดจ์เป็นโมโนจึงให้กำลัง ได้เกือบ 7,000 วัตต์และค่า DAMPING FACTOR เป็น 1,000 (จริงๆสูงแทบวัดไม่ได้ แต่กลัวว่าคนอื่นจะหาว่า “เวอร์” จึงระบุแค่นั้น) เปิดแช่ต่อเนื่องได้ 24 ชั่วโมงไม่ตัด ตัวเครื่องยาวเกือบ 2 ศอก กว้างเกือบ 2 คืบ หนักอึ้ง
โดยปกติพบว่า การที่เพาเวอร์แอมป์ SPL ระดับไฮเอนด์ ต้องเผื่อทุกอย่าง ที่เกี่ยวกับ พละกำลัง,ความทรหดและความปลอดภัย จึงทำให้มันมีราคาแพงกว่าเพาเวอร์แอมป์ไฮเอนด์ SQ ด้วยซ้ำ