|
หมวดหมู่ > เครื่องเสียงรถยนต์ > บทความเครื่องเสียงรถยนต์ >
ปรับเองได้ ไม่ง้อช่าง
วันที่ : 02/06/2016
ปรับเองได้ ไม่ง้อช่าง โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ มีนักเล่นเครื่องเสียงหลายท่านมาบ่นให้ฟังว่า ไปติดเครื่องเสียงรถมา ติดแล้วเอากลับมาฟังก็ยังไม่ถูกใจ กลับไปให้ทางร้านจูนให้ใหม่ แรกๆก็เหมือนจะโอเค แต่สักพักก็เริ่มจับประเด็นได้ว่า มันยังไม่ใช่ ก็ต้องขับกลับไปร้านให้ช่างจูนให้ใหม่ สักพักก็ออกอาการเดิม มันไม่ลงตัวสักที คราวนี้จะกลับไปร้านเดิมก็ให้รู้สึกเกรงใจมาก ทางร้านก็ดีใจหายไม่บ่นสักคำ เราเองเสียอีกไม่อยากกลับไปอีกแล้ว เกรงใจเหลือเกิน ช่างทำงานอยู่ดีๆก็ต้องปลีกตัวมาจูนให้แถมไม่คิดสตางค์ด้วย ท้ายสุดคงต้องปล่อยไปตามยถากรรม ผมก็เลยแนะนำว่า น่าจะหัดลองจูนดูเอาเอง มันไม่เหลือบ่ากว่าแรงสักเท่าใดหรอก นี่คือที่มาที่ต้องมาว่ากันในวันนี้ ก่อนอื่น ชุดเครื่องเสียงที่มีเพาเวอร์แอมป์แยกและไม่มีปรี EQ เกือบทั้งหมดตัวเพาเวอร์แอมป์จะมีขาเข้า-ออกและปุ่มต่างๆเหมือนกันหมดได้แก่ตามรูปข้างล่างนี้ ซึ่งผมจะไล่ไปทีละปุ่มทีละช่อง ว่าแต่ละปุ่มแต่ละช่องไว้ทำอะไรและควรปรับแต่งอย่างไร ไล่จากซ้ายไปขวาก็แล้วกัน ที่คุณเห็นเป็นกลมๆมีรอยผ่ากลางที่เขียนว่า LPF 50 Hz 250 Hz เป็นปุ่มไว้ใช้ไขควงปากแบนแยงแล้วหมุนเลือกว่าจะให้ภาคขยาย CH ที่ 3 กับ 4 (INPUT CH3,CH4) ถูกตัดแบ่งความถี่ต่ำให้ทำงานขยายความถี่เท่าไร “ลงมา” เพื่ออกลำโพงที่ต่อกับขั้วลำโพง CH3,CH4 (ดูรูปด้านล่างประกอบด้วย) ความถี่เสียงสูงกว่านี้จะไม่ถูกส่งไป ให้ขยายด้วย CH3 กับ 4 แต่ก่อนอื่นคุณต้องโยกสวิทช์ที่อยู่เหนือปุ่มไขควงนี้ ที่เขียนว่า lpf-full-hpf ซึ่งคือ LPF/FULL/HPF ถ้าโยกไป LPF (LOW PAST FILTER) CH3 กับ 4 จะออกเสียงตั้งแต่ความถี่ที่เราหมุนเลือกด้วยปุ่มไขควง LPF ดังกล่าว แล้ว (เลือกได้ 50 – 250 Hz) แต่ถ้าเราโยกสวิทช์นั้นไปที่ HPF (ขวาสุด) คราวนี้ CH3 กับ 4 จะออกเสียงตั้งแต่ความถี่ที่เราหมุนเลือกด้วยปุ่ม ไขควง HPF (ไม่ใช่ LPF) โดยเลือกหมุนปุ่มไขควง HPF ได้ตั้งแต่ความถี่ 120 HZ – 3 KHz จะเห็นว่าถ้า CH3 กับ 4 เราใช้ ขับซับวูฟเฟอร์ เราต้องโยกสวิทช์ไป LPF เพื่อเลือกตัดออกวับตั้งแต่ 50Hz ถึง 250 Hz ลงมา (ปกติก็ไม่ควรเกินสัก 80 – 100 Hz) เมื่อเอา CH3 กับ 4 ขับซับ 1 คู่ ( 2 ดอก ) หรือ ซับวอยส์คู่ 1 ดอกแล้ว ภาคขยาย CH1 กับ 2 เราก็ต้องเอาไว้ขับลำโพงกลาง-แหลม ให้ข้ามไปมองที่สวิทช์เลื่อนด้านขวาที่เขียน FULL HPF ถ้าเราใช้ลำโพงกลางแหลม 2 ทางโดยดอกกลางทุ้มมีขนาด 6 นิ้ว เราก็อาจเลือกโยกสวิทช์นี้ไปที่ FULL ได้ เพื่อให้ชุดลำโพงกลางแหลมของเราที่ต่อกับภาคขยาย CH1 กับ 2 ออกเสียงครบตั้งแต่ ทุ้ม – กลาง – แหลม โดยทีซับที่ต่อกับ CH3 ,CH4 มาเป็นฐานเบสเท่านั้น (ควรตัดออกซับที่ 50 – 60 Hz ถ้าดอกกลางทุ้ม 6 นิ้วลงเบสได้ดีอิ่มอยู่แล้ว แต่ถ้า 6 นิ้วไม่ค่อยมีเบส ก็ให้ตัดออกซับที่ 120 Hz ได้) ซับจะดัง-ค่อยแค่ไหน ปรับที่ปุ่มไขควงแยงที่เขียนว่า GAIN (ปุ่มกลมที่ 3 นับจากซ้ายมือ) และปรับความดัง-ค่อยที่ออกกลางแหลมที่ปุ่ม GAIN เช่นกัน อีกปุ่มหนึ่งที่เหลือ (ปุ่มไขควงแหย่ที่ 4 นับจากซ้ายมา) นี่เป็นการต่อแบบไบ-แอมป์ อย่าลืมลองสลับขั้วสายลำโพงบวก,ลบ ขาออกจากแอมป์ที่ไปเข้าดอกซับดูด้วยว่า สลับอย่างไรให้เบสอิ่มเป็นตัวขึ้นก็เลือกที่สลับนั้น (เช็คเฟส) แต่ถ้าดอกลำโพงกลางทุ้มเล็กแค่ 4 นิ้วหรือ 5 นิ้ว ดูแล้วไม่น่าจะลงทุ้มได้ลึกและน่าจะรับการอัดเบสหนักๆไม่ไหว ก็ให้เลือกสวิทช์ FULL HPF ที่ตัดออก CH1 ,2 ไปที่ HPF และหมุนไขควงปรับความถี่ HPF (ปุ่มกลมไขควงแหย่ขวาสุด) ไปที่สัก 300 Hz เพื่อให้ความถี่ตั้งแต่ 300 Hz ขึ้นไปเท่านั้นที่ถูกขยายออก CH1,2 ไปที่ลำโพงกลางแหลม จะเห็นว่ายังมีปุ่มสวิทช์เลื่อนอีกตัวที่เหลืออยู่เขียนว่า BASS BOOST 0dB – 9dB – 18dB ปุ่มนี้มีไว้เลือกยกเสียงเบสลึกๆเช่น 60 Hz (แล้วแต่เขาตั้งมาเพาเวอร์แอมป์บางยี่ห้อมีปุ่มหมุนให้เราเลือกได้ว่าจะยกความถี่ต่ำให้โด่งที่แถวๆความถี่เท่าไร เช่น 60 – 100 Hz สวิทช์โยกยกให้โด่งขึ้น 9 dB ถ้ามากกว่านี้ก็ที่ 18 dB ถ้าไม่ยกเลยก็ตั้งไว้ที่ 0dB (ต้องดูด้วยว่าลำโพงที่ต่อออก CH3, 4 จะรับกับการยกโด่งมากๆอย่างนี้ได้ไหวไหมด้วย มีข้อควรจำคือ ยิ่งเลือกยกมาก (จริงๆ 9dB ก็ถือว่าเยอะแล้ว) ควรยิ่งต้องหรี่วอลลูมที่วิทยุลง จะได้ไม่เป็นภาระแก่ทั้งเพาเวอร์แอมป์และลำโพงมากเกินไป มีอีก 2 ขั้วที่ยังไม่ได้แนะนำ ที่เขียนว่า HIGH INPUT (ซ้ายมือ) เอาไว้ต่อจากวิทยุมาเข้าเพาเวอร์แอมป์ กรณีที่วิทยุของเราไม่มีชุดสัญญาณออก (ปรีออก) มีแต่สายไปเข้าลำโพง เราก็ต่อสายลำโพงจากวิทยุนั้น (ซ้ายกับขวา) มาเข้าที่ช่องนี้แทนที่จะไปเข้าลำโพง และย้ายลำโพงมาต่อออกจากเพาเวอร์แอมป์แทน จะเห็นว่าเราต้องหาสายลำโพงอีกชุดโยงจาก HIGH INPUT หนึ่งไปเข้า HIGH INPUT อีกชุด (อย่าลืมดูให้ซ้ายตรงซ้าย , ขวาตรงขวา ) เพื่อป้อนสัญญาณเข้าให้ CH1 กับ 2 ด้วย (HIGH INPUT ชุดแรกให้แก่ CH3 , 4 ) ช่อง HIGH INPUT ส่วนใหญ่ในเพาเวอร์แอมป์ปัจจุบันจะไม่ให้มาแล้ว มีแต่ช่องรับสัญญาณปรีออกจากวิทยุมาเข้า (INPUT CH3 , 4 INPUT CH1 , 2 ) หรือไม่ก็ต้องหาตัวแปลง (สัญญาณลำโพงเป็นปรี)มาเพิ่ม ช่อง OUT CH3, 4 มีไว้ต่อออกไปเข้าเพาเวอร์แอมป์ตัวต่อไป (พ่วงเป็นทอดๆไป กรณีเพาเวอร์แอมป์มากกว่า 1 เครื่อง) หมายเหตุ อยากจะบอกทีเด็ดให้ คุณสังเกตว่าข้างๆช่องขาเข้า (RCA) จะมีน็อต 2 ตัวยึดชุด INPUT กับแท่นเครื่อง ถ้าเปลี่ยนเป็นน็อตพิเศษทำจากโลหะที่ไม่เหนี่ยวนำไฟฟ้าได้ เสียงและมิติจะดีขึ้นมาก (โทรถามผมได้ 081-6405308 ) แต่แพงนะ ตัวละ 500 บาท ระบบ ACTIVE SPEAKER ของแถม ในกรณีที่คุณไม่กะใช้ซับ คุณสามารถใช้เพาเวอร์แอมป์ 4 CH เครื่องนี้ (กรณีนี้เราใช้ของ BOSTWICK รุ่นล่าสุด BOS-GPA 4.240 80W.RMSX4) ขับลำโพงกลางแหลมได้โดยตรงโดยไม่ใช้วงจร แบ่งความถี่ที่มากับลำโพง โดยเอาดอกกลางทุ้ม (ไม่ควรเล็กกว่า 6 นิ้ว) มาต่อตรงเข้าที่ขาออกลำโพง CH3 กับ 4 เลย และเลือกสวิทช์ไป HPF (ของ CH3, 4 ) พร้อมกับหมุนเลือกความถี่ที่ตัดแบ่งไปที่ 3 KHz (อาจต้องปรับอีกเล็กน้อยระหว่าง 1KHz – 3KHz) เป็นอันว่า ดอกกลางทุ้ม 6 นิ้วออกความถี่ตั้งแต่ 3 KHz ลงมา (ถ้าเสียงร้องไม่อู้ก้อง ควรเลือกไป 3 KHz เลยเพื่อดอกแหลมจะได้ ทำงานเบาลง ) ขณะที่เอาดอกแหลมต่อตรงกับขั้วลำโพงออกของ CH1 , 2 และโยกสวิทช์เลือกไปที่ HPF พร้อมกับหมุนไขควงเลือกความถี่ที่ 2 KHz – 3 KHz (ยิ่งสูงดอกแหลมก็จะยิ่งทำงานน้อยลง เฉพาะความถี่สูงกว่าที่เลือก) อาจต้องลองสลับขั้วลำโพงบวก,ลบ ที่ออกจาก CH1, 2 กับ 3, 4 โดยเริ่มที่ CH1, 2 ก่อน (3, 4 ยังไม่ต่อ) สลับสายลำโพงที่แอมป์ให้เสียงหลุดลอยเช่นกัน แสดงว่าตอนนี้ดอกกลางทุ้มกับดอกแหลม ขยับออกทิศเดียวกันแล้ว การต่อแบบนี้ (ไม่ใช้วงจรแบ่งเสียงของลำโพง) เรียกว่าไบ-แอมป์ และเป็น ACTIVE SPEAKER ทำให้เราสามารถตัดวงจรแบ่งเสียงที่มากับลำโพงทิ้งไปได้ ตัดปัญหาการสูญเสียพลังขับที่วงจร การที่ชิ้นส่วนต่างๆของวงจร 2 ข้าง ซ้ายขวาไม่เท่ากัน การที่ชิ้นส่วนบัดกรีมาไม่ถูกทิศ การต้องอั้นกระแสที่แผงวงจร การรบกวนกันเองของชิ้นส่วนบนแผงวงจร การที่วงจรบั่นทอนความสามารถของภาคขยายที่จะหยุดการสั่นค้างของดอกลำโพง ค่า DAMPIMG FACTOR จะดีขึ้น ทุกเสียงจะกระชับขึ้น ช่องไฟระหว่างตัวโน้ต ,ชิ้นดนตรีจะเกลี้ยงสะอาดขึ้น รายละเอียดดีขึ้น การสวิงเสียงดัง-ค่อยแยกแยะและกว้างขึ้น เรียกว่า คุณจะกลับไปฟังอย่างปกติ (มีวงจรแบ่ง) ไม่ได้เลยมันเป็นอะไรที่น่าลองอย่างยิ่ง คุณจะสามารถปรับจูนทีละนิดๆ ทั้งชุดแบ่งความถี่และระดับบาลานท์ของ 6 นิ้ว กับดอกแหลมได้อย่างละเอียดมาก จนคุณถูกใจอย่างที่ระบบลำโพงแบบปกติ (มีวงจรแบ่งตายตัวมาแบบ PASSIVE) ไม่มีทางให้คุณได้เลย อีกทั้งตัดปัญหาการกวนกันเองระหว่าง ดอกลำโพง 6 นิ้วกับดอกแหลม ด้านอะคูสติก (ที่เรียกว่า MICHRO PHONIC) เท่านั้นไม่พอ คุณยังอาจเปลี่ยนดอกลำโพง 6 นิ้วหรือดอกแหลมตามใจชอบให้เข้ากันได้ดีกว่าที่เขาทำมาได้ (ขอแนะนำดอกแหลมของ CLARION ที่ให้ความถี่สูง ได้ถึง 120 KHz ! ทั้งหวาน ทั้งอิ่ม พลิ้ว เอามาแทนดอกแหลมปกติได้เลย คู่หนึ่งประมาณ 5,000 บาท) พูดง่ายๆว่าคุณอัพเกรด (เขยิบ) คุณภาพลำโพงไปได้เรื่อยๆตามแต่งบที่มี (ซื้อลำโพงใหม่แต่เราไม่ใช้วงจรแบ่งเสียงของเขา) มีชุดลำโพง BOSTWICK รุ่น GOLD SPIRIT 6 นิ้วแยกชิ้น 2 ทาง ดอกนี้ดีมากให้เสียงแนวเดียวกับลำโพง 6 นิ้ว 2 ทางค่ายญี่ปุ่นดังที่ ขายคู่ละประมาณ 5 หมื่นบาท ขณะที่ GOLD SPIRIT ไม่กี่พันบาท !) อย่างไรก็ตาม แม้การปรับแต่ง (ต่อ) เพาเวอร์แอมป์ 4CH (2CH ก็คล้ายกัน) ที่กล่าวแล้วจะใช้ได้กับแทบทุกยี่ห้อ แต่น่าเสียดายที่มีน้อยยี่ห้อมากที่จะสามารถตัดความถี่ได้สูงถึง 3 KHz (HPF) (CH1,2 ) ส่วนใหญ่ตัดได้แค่ 250 Hz ซึ่งต่อออกดอกแหลมโดยตรงไม่ได้ (พังซิครับ!) (โชคดีที่แอมป์ BOSTWICK รุ่นนี้ราคาถูกเหลือเชื่อแค่ประมาณ7,900 บาทเท่านั้น ฝีมือชิ้นงานดีทีเดียวด้วย) เป็นอันว่า ต่อไปนี้คุณจะสามารถปรับแต่งจูนเองได้ และทำอย่างเข้าใจด้วยไม่ต้องง้อช่างอีกต่อไป เผลอๆถ้าคุณเป็นนักฟังเครื่องบ้าน คุณอาจจูนได้ดีกว่าช่างด้วย www.maitreeav.com |