000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > ทำแอมป์ให้เสียงมีน้ำหนักไม่ใช่มีแต่ความดัง
วันที่ : 11/06/2016
8,100 views

ทำแอมป์ให้เสียงมีน้ำหนักไม่ใช่มีแต่ความดัง

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

มีความเข้าใจผิดอย่างมากในการออกแบบปรีแอมป์หรือเพาเวอร์แอมป์หรือ 2 อย่างรวมกัน เรียก อินทริเกรทแอมป์ ไม่ว่าของนอกหรือของใน แพงลิบแค่ไหนหรือถูกเหลือเชื่อแค่ไหน ปัญหาที่นักออกแบบ (และผลิต) เข้าใจผิดมาจากสาเหตุหลักคือ

  1. ฟังไม่เป็นหรือฟังเป็นแต่ยังไม่ใช่ระดับเทพ
  2. แม้ฟังได้ระดับเทพ แต่ไม่สามารถหาเหตุผลของเสียงที่ได้หรือไม่ได้ ที่สามารถอธิบายได้ในเชิงวิศวกรรม การฟังไม่เป็นนำไปสู่การเข้าใจอะไรผิดๆทำให้หาทางออกที่ผิดพลาด

เสียงดังกับเสียงหนัก มันต่างกัน

การเอาแต่เพิ่มกำลังขับเป็นร้อยๆวัตต์ RMS ต่อข้างที่ 8 โอห์ม แต่ไม่สามารถทำได้ทั้งกระแสและแรงดันไฟมาพร้อมกัน ทำให้ได้ ?พลังหรือกำลัง(POWER)? ขับที่มีแต่ความดัง แต่ขาดแรงถีบหรือน้ำหนัก ดังอย่างกลวงๆ แรงปะทะไม่มี ขาดความเร้าใจ

รากเง้าของปัญหาคือ ภาคจ่ายไฟหรือภาคขาออก อัดฉีดกระแสได้ไม่ฉับไวพอ อีกสาเหตุคือ การตอบสนองไม่ฉับไวพอ (ค่า slew rate ต่ำเกินไป) เสียงออกช้า,เฉื่อย ไม่สด ไม่ขยันขันแข็ง

สาเหตุต่อมา กำลังสำรองต่ำภาคจ่ายไฟไม่สามารถปั๊มกระแสมากขึ้นตามวินาทีที่ลำโพงมีความต้านทานวูบต่ำลงมาก เสียงจึงอั้น,ตื้อ ขาดความกระหึ่มหรือ Dynamic ต่อให้ภาคจ่ายไฟแบบอัจฉริยะต่างๆที่คุยว่าสามารถอัดฉีดกระแสหรือดึงแรงดัน ไฟให้สวิงสูงขึ้นได้จากปกติมาก ในช่วงที่เสียงดังโหมขึ้นมาและจะลดแรงดันลง,ลดกระแสลงในช่วงค่อย เพื่อให้สามารถลดขนาดของภาคจ่ายไฟลงได้มาก ลดน้ำหนักเครื่องลง ลดต้นทุนลง ขณะที่สเปกกำลังขับได้สูงมาก ลดขนาดครีบระบายความร้อนลงได้มาก (ลดต้นทุนได้เป็นกอบเป็นกำ) ภาคขยายที่ใช้ภาคจ่ายไฟแบบนี้ก็มีชื่อเรียกต่างๆกันไป แต่ในการใช้งานจริงๆเสียงที่ได้จะมีแต่ความดัง ไม่มีน้ำหนัก ไม่เข้มข้นฉับไว ดนตรีขึ้นชิ้นเดียวพอรับได้แต่ถ้าดนตรีขึ้นหลายๆชิ้นพร้อมๆกัน เสียงของแต่ละชิ้นดนตรีจะเริ่มถอยไปจมที่ฉากหลังเวที ไม่กระเด็นหลุดลอยออกมาเป็นตัวๆแยกแยะชัดเจนเหมือนเดิม มันจะถอยแบนกลืนๆกันไปหมด การแยกแยะเป็นชิ้นเป็นอันลดลงหมด มั่วไปหมด อีกทั้งทำให้การไล่มิติเสียงจากหลังเวที (ไกลออกไป) แล้วไล่ยื่นมาหาเรา มาอยู่ต่อหน้าเรา จะบิดเบี้ยวไปหมด (ลำดับชั้นตื้นลึก หรือ Perspective เสีย ไม่ไล่อย่างราบรื่น ออกโดดๆหรืออาจไม่มีลำดับตื้นลึกเลย) แอมป์ประเภทนี้เรียก Class H พวกแอมป์ Class แปลกๆ (นอกจาก A,AB)มักจะเป็น

สาเหตุต่อไป ถ้าหัวโน้ตของตัวโน้ตเดียวกัน มาไม่พร้อมกัน เสียงจะขาดน้ำหนัก ขาดมวล ไร้ทรวดทรง ความถี่คู่ควบ (Harmonics) ทั้งหลายแตกกระจายจากความถี่หลัก (Fundamental) ทำให้โน้ตนั้นแบนฟุ้ง ไม่เกาะกลุ่มเป็น ?เม็ด? เป็นเส้นสาย ขาดพลังเรียก Phase ไม่ดี

การที่มิติเสียงไม่โฟกัส ซึ่งเกิดจากเสียงของซีกซ้ายกับขวาไม่สมมาตรเป็นพิมพ์เดียวกัน (Matched กัน) ทำให้ทรวดทรง ของชิ้นดนตรีบิดเบี้ยวหรือฟุ้งกระจายหรือวอกแวกไม่อยู่นิ่ง ทั้งหมดเป็นสาเหตุให้หูฟังแล้วเหมือนเสียงค่อยลงหรือเร่งไม่ค่อยขึ้น ออกดื้อต่อการปรับวอลลูม

การรบกวนกันเองจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ว่าจากการแผ่คลื่นทางอากาศหรือการแตะต้องกันของสายต่างๆล้วนทำให้เสียงออกตื้อๆ เหมือนสวิงไม่ออก ไม่หลุดกระเด็นออกมา ฉากหลังก็ไม่เงียบสงัด มีม่านหมอกตลอดเวลา

การที่สาย,อุปกรณ์ผิดทิศ (ย้อนหรือตาม) ทำให้เสียงฟุ้งไม่เป็นตัวตน อั้น,ตื้อ เหมือนเร่งไม่ขึ้นเช่นกัน ดังแต่ไม่กระทุ้งออกมา

สุดท้าย การปรับความต้านทานขาออก,ระดับสัญญาณจากภาคหนึ่งไปยังอีกภาคต่อไป การปรับความไวขาเข้าภาคที่มารับจะต้องสอดรับกับภาคส่งเรียก Level Matching ถ้าปรับได้ไม่ลงตัวจริงๆจะเกิด 2 กรณีคือ

  1. เสียงผอมบาง ขาดมวล ขาดน้ำหนัก อาจฟังว่าใสโปร่งดี
  2. เสียงอวบอ้วน หนา ทึบ อุ้ยอ้าย

การปรับตามข้อ 1 เสียงจะขาดน้ำหนักเหมือนเร่งไม่ขึ้น ถ้าปรับตามข้อ 2 เสียงเหมือนอิ่มอวบแน่นหนักดีแต่สวิงเสียงจะออกตื้อๆ การไล่เสียงจากค่อยสุดไปดังสุดจะไม่ราบรื่น อาจออกดังพอๆกัน อยู่ในกรอบอันหนึ่ง จังหวะที่ควรค่อย ทิ้งท้ายเสียง จะไม่ชัดเจน ช่วงโหมสุดจะตื้อๆ

ทั้งกรณีที่ 1 กับ 2 จะทำให้เสียงจากกี่นักร้อง ดนตรีชิ้นไหนๆออกมาในบุคลิกซ้ำจำเจเดียวกันไปหมดทั้งวง ทุกๆอัลบั้ม บุคลิกจะไม่เป็นกลาง การถ่ายทอดลีลา การจีบปากจีบคอร้องของนักร้อง จะไม่สุด ไม่ตอกย้ำ ถ้าเป็นดนตรีก็จะเล่นแบบสงวนท่าที ไม่ใส่อารมณ์เต็มที่ พูดง่ายๆว่า Dynamic Contrast เสีย (การแจกแจงไล่ลำดับ อ่อนแก่ของเสียงจากค่อยสุดไปดังสุด ไม่เป็นไปตามความรู้สึกหรือไม่ Linear ไม่เป็นเส้นตรง)

บางครั้งเสียงจะออกมาอย่างขึงขัง หนักแน่นเต็มที่ (Live หรือ Impact ดี) แต่แค่ 3 ? 4 วินาทีจะกลับป้อแป้ลง และป้อแป้ต่อเนื่องตลอดหลังจากนั้น นั่นแสดงว่าภาคจ่ายไฟไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่เสถียร หรือการจัดไบอัส (ไฟล่อ) ให้แก่ทรานซิสเตอร์ไม่เสถียรหรือปัญหาวงจรป้อนกลับแบบลบที่ยังจูนไม่ถูกต้องไม่เสถียรหรือมีการแตะต้องกันของสายหรือมีการแผ่คลื่นกวนเกิดการอิ่มตัวหลังจากกระแสผ่านสัก 3 ? 4 วินาที (สนามแม่เหล็กแผ่จากหม้อแปลงไฟ,ขดลวด Zobel Network ออกมากวน)

อีกกรณีคือ ความไม่มั่นคงของแผงวงจร ของตัวถังเครื่องต่อการสั่นสะเทือนจากภายในเครื่องเอง (กรณีเป็นเครื่องเล่นแผ่น CD,DVD) ที่มาจากกลไกเล่นแผ่น (มอเตอร์) การหมุนแผ่น การสั่นจากหม้อแปลงไฟ การรบกวนจากภายนอก (จากลำโพง,จากสภาวะแวดล้อมอื่นๆ) การสั่นเหล่านี้อาจแทบไม่รู้สึกแต่ชิ้นส่วนอุปกรณ์จะรับรู้ได้ ผลคือเสียงกลางลงต่ำจะเบลอ ไม่โฟกัส ทำให้ไม่สอดรับกลืนกับกลางถึงสูงทำให้ได้ยินชัดเจน,มาก่อนจากเสียงกลางถึงสูง เสียงจึงออกผอมบาง ขาดมวล ไม่อวบอิ่มเท่าที่ควร ฟังเหมือนดังแต่ไม่มีน้ำหนัก เร่งไม่ขึ้น

การที่สายต่างๆแตะต้องตัวถังเครื่อง โดยเฉพาะทั้งสายไฟ AC,DC การใช้ตัวยูเสียบปลายสายไฟไม่ถูกทิศ (ที่ถูกควรบัดกรี) กระบอกฟิวส์ที่คลอน (เส้นฟิวส์ไม่แน่น) การถูกรบกวนจากคลื่นวิทยุความถี่สูง สิ่งเหล่านี้ล้วนบั่นทอนโฟกัสเสียง (อันนำสู่น้ำหนักเสียง) การถอยจมของเสียงทำให้ฟังแล้วเหมือนดังแต่ไม่มีน้ำหนัก สายไฟ AC มีผลต่อน้ำหนักเสียง,ความดังอย่างที่คุณนึกไม่ถึง

กรณีที่เล่นแผ่น CD การใช้รีโมทจะทำให้เสียงเบลอ,ฟุ้งขึ้น ไม่ควบแน่น ไม่โฟกัส ก็เหมือนเสียงขาดน้ำหนัก ผู้ออกแบบน่าจะตระหนักและแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย มิใช่ตัดโอกาสที่จะให้ผู้ใช้ได้ใช้รีโมท

น่าผิดหวังที่ผู้ออกแบบเครื่องเล่น CD, ปรี, เพาเวอร์แอมป์ , อินทริเกรทแอมป์บางค่าย เข้าใจผิด อยากให้เสียงอิ่มมีน้ำหนัก โดยการเอาแต่เพิ่มตัวเก็บประจุให้มากๆในภาคจ่ายไฟ ผลคือ กลายเป็นเหมือนภาพผู้หญิงที่ผอมบางแต่ก้นใหญ่มหึมา เสียงทุ้มหนัก แต่เสียงแซ็ก เสียงร้อง ผอมบาง ปลายแหลมเรียวเล็ก เป็นฟุ้งฝอย ขาดมวลขาดน้ำหนัก ฟังนานๆน่าเบื่อเป็นที่สุด

ก่อนจบขอแถมอีกนิด ต่อให้เครื่องถูกออกแบบมาอย่างวิเศษ ถูกต้องหมด ปิดทุกจุดอ่อนที่กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าสายไฟ AC เข้าเครื่อง,สายไฟ AC ในห้องเสียง ทำมาหรือช่างเดินย้อนทิศที่ควรจะเป็นของสายนั้นๆ เสียงทั้งหมดจะดังหนักแต่อั้น เหมือนทุกๆเสียงวิ่งมาชนกับกระจกใสๆอันหนึ่งที่เป็นกำแพงกั้นระหว่างวงดนตรีกับตัวเราที่นั่งฟังอยู่ ตรงนี้ต้องระวังให้มากที่สุด เปลี่ยนเครื่องเสียงโน่นนี่,สาย,ไปไม่รู้กี่ชุด กี่เครื่อง กี่เส้น เพียงเพราะมาตายน้ำตื้นตรงนี้!

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459