000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > ระบบเสียง PA > เครื่องเสียง PA > การเลือกลำโพงในห้องบันทึกเสียง
วันที่ : 12/06/2016
8,091 views

การเลือกลำโพงในห้องบันทึกเสียง

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

อย่างที่รู้กันดี ลำโพงเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้มนุษย์ตรวจสอบ,สัมผัสผลงานการบันทึกเสียงของเขาได้ มันเปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าเป็นเสียงซึ่งหูมนุษย์รับได้ ด้วยหูทั้งสอง ช่วยให้สมอง แปรรหัสแห่งเสียงจากหูซ้ายและขวา มาสร้างจินตนาการแห่งเวทีเสียง หรือการแสดงสดได้ สิ่งสุดท้ายนี้เรียกว่า Phsychoacoutic

ในการผสมเสียง บันทึกเสียง เราต้องการลำโพงที่มีคุณภาพสูงสุดที่จะบอกทุกสิ่งแก่เราได้ ไม่ว่าความเพี้ยนที่เกิดขึ้นจากสารพัดรูปแบบเช่น การสนองตอบระดับความดังที่ไม่เป็นเส้นตรง (LINARITY),การตอบสนองความถี่ต่ำ,กลาง,สูง ได้กว้างหรือครบถ้วนโดยไม่ตกหล่นแค่ไหน อีกทั้งราบรื่นแค่ไหน (FREQUENCY RESPONSE) พร้อมๆกับแยกแยะ ว่าเสียงไหนเป็นเสียงไหน นักร้องผู้หญิงเหมือนกันแต่เสียงต่างกันได้ขนาดไหน เครื่องดนตรีแบบเดียวกันต่างยี่ห้อ ,ต่างเกรดจะให้สุ้มเสียง น้ำเสียง ความชัด กังวาน ไดนามิค ได้ต่างกันขนาดไหน (IMD หรือ INTERMODULATION DISTORTION ได้ต่ำแค่ไหน ยิ่งต่ำยิ่งดี) โดยปราศจากเสียงสากหู,จัดจ้าน,แข็งกร้าว (TIM ต่ำ) และเสียงสะอาดเกลี้ยงขนาดไหน (DISTORTION) พร้อมๆกับให้ตัวตนแต่ละชิ้นดนตรี (มิติเสียง) เป็นทรวดทรง,นิ่ง,ไม่วอกแวกได้แค่ไหน (3D) หลุดลอยออกมาจากฉากหลังได้เป็นลำดับชั้นแค่ไหน (IMAGE) เวทีเสียงกว้าง,ลึก,สูง-ต่ำแค่ไหน (SOUND STAGE) มีความกังวานพลิ้วแค่ไหน (SPATIAL) ทำให้ได้บรรยากาศสมจริงแค่ไหน (AMBIANCE) พูดง่ายๆสรุปว่าให้เสียงเป็น ธรรมชาติดุจการแสดงสดแค่ไหน

ลำโพงที่จะเป็นตัวอ้างอิง,ตรวจสอบในห้องบันทึกเสียงได้ ต้องมีครบทุกองค์ประกอบเหล่านี้จึงจะสมควรเรียกว่าลำโพงมอนิเตอร์ (MONITOR) ไม่ใช่เอะอะก็ตั้งชื่อ,รุ่นว่ามอนิเตอร์กันสะเปะสะปะเกลื่อนเมือง มีเหมือนกันที่ช่างเสียงอ้างว่าแม้ลำโพงที่ใช้จะไม่เข้าขั้นสักเท่าไร แถมบางอย่างก็ขาดๆเกินๆด้วยแต่เขาสามารถใช้ประสบการณ์แต่งเสียงชดเชยไว้ได้เช่น เขาทราบว่าลำโพงของเขาแหลมไม่ใสนัก เวลาเขาบันทึกเสียงก็จะไม่ยกเสียงแหลมช่วยเอาไว้เพื่อชดเชยลำโพงของเขา (ไม่อย่างนั้นไปฟังกับลำโพงอื่นที่แหลมไม่ตกก็จะได้แหลมมากเกินไป)

ช่างเสียงส่วนใหญ่จะมาอีหรอบนี้คือแต่งเสียงผลงานโดยมีกราฟการตอบสนองความถี่ที่ด้อยของลำโพงไว้ในใจ จริงๆแล้วมันทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะการปรับแต่งสุ้มเสียง (มักด้วย EQUALIZER) ทำได้ในมิติเดียวของเสียงคือปริมาณ แต่แก้ไม่ได้กับความฉับไวของเสียงที่มีผลต่อสุ้มเสียงทุ้ม,กลาง,แหลมเช่นกัน พูดง่ายๆว่าไม่สามารถใช้ EQ มาชดเชย ทุ้ม,กลาง,แหลมได้จริง (มันขึ้นอยู่กับว่าแต่ละวินาทีนั้นเสียงดัง-ค่อยแค่ไหน เพราะหูมนุษย์ตอบสนองความถี่เสียงเปลี่ยน ไปมา ขึ้นอยู่กับความค่อย-ดังของเสียงด้วย นอกเหนือไปจากความฉับไว (TRANSIENT) ของเสียง ที่มีผลต่อระดับความดังด้วย

จึงอยากให้ตัดประเด็นเรื่องการจะใช้ความชำนาญชดเชยความด้อยของลำโพงที่ใช้เอาไว้ในใจ ในการแต่งเสียงใดๆควรหาลำโพงที่ตอบสนองความถี่ได้กว้างที่สุด ราบรื่นที่สุดเอาไว้ก่อน

ในเรื่องขนาดของตู้ก็เช่นกัน ด้วยที่ทางที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ไม่สามารถใช้ลำโพงขนาดใหญ่เช่น 3 ทาง มาเป็นลำโพงมอนิเตอร์ ส่วนใหญ่แทบทั้งหมดจะวางลำโพงมอนิเตอร์ไว้บนแผงคอนโซลที่ติดตั้ง MIXER จึงมักจะวางได้แค่ลำโพง 2 ทาง เราจึงมักพบว่า หลายๆอัลบั้มบันทึกกลางแหลมได้ดีแต่ทุ้มแย่ ไม่น้อยไปก็มากไปและการสวิงเสียงมักไม่สอดรับกับกลางแหลม

ถ้าจำเป็นต้องใช้ลำโพงไม่ใหญ่นักเช่น แค่ 2 ทาง 5 นิ้ว จึงควรวางลำโพงใกล้หูที่สุดเพื่อให้ยังรับรู้เสียงทุ้มได้ เพราะปกติเสียงทุ้มมักยิงไปไม่ได้ไกล ตกแค่แถวๆหน้าตู้ ถ้าห่างสักหน่อยเสียงทุ้มจะวูบลงอย่างรวดเร็ว

การวางลำโพงบนคอนโซล MIXER มีทั้งข้อดี,ข้อเสีย ข้อดีคือทุ้มไม่ตกหล่นมากอย่างการวางไกล ข้อดีอีกข้อคือ ตู้ลำโพงอยู่ห่างฝาห้องทั้งหลายทำให้ฟังตรวจสอบ เวทีเสียง (สูง-ต่ำ,กว้าง-แคบ,ตื้น-ลึก)ได้ชัดเจนกว่าการวางตู้ลำโพงชิดฝา,เข้ามุม,ติดเพดาน,อยู่เหนือระดับหู (ลำโพงมักให้มุมกระจายเสียงได้ดีเฉพาะแนวนอน แต่ถ้าวางลำโพงเอาข้างลงก็จะได้สูง-ต่ำ แต่แนวนอนจะแย่ จึงควรวางตั้งและเอียงเข้ามา (TOE IN) จูนให้ได้มิติตรงกลางวงเป็นตัวตน (3D) ที่สุด พร้อมสุ้มเสียงต้องครบด้วย อย่าวางลำโพงหันหน้าตรงจะทำให้การปรับเสียงยากเพราะมิติเสียงจะแกว่ง วอกแวก ไม่นิ่ง ขึ้นอยู่กับความดังและความถี่ตลอดเวลา

ข้อเสียของการวางลำโพงมอนิเตอร์บนชั้นวางคอนโซล MIXER ที่ไม่มีช่างเสียงคนไหนคาดถึงคือ ความสั่น (VIBRATION) จากตู้ลำโพงต่ออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ใน MIXER ,ปรี,เพาเวอร์แอมป์ ซึ่งจะทำให้เสียงผอมบาง ขาดมวล (HARMONICS) ขาดกลางต่ำมาช่วยเชื่อมสูง,กลาง,ต่ำ มิติแบนจมติดจอ ช่างเสียงก็จะแก้ง่ายๆด้วยสูตรเดียวทั้งปีคือแต่งดึงเสียงลอยด้วย EQ รวมทั้งตั้งความกังวานผิด วางตำแหน่งชิ้นดนตรีตื้น-ลึกผิด การสั่นทำให้เสียงเบลอ,คลุมเครือ ไม่ชัด ก็จะแต่งปลายแหลมช่วยเน้น ซึ่งผิด สุดท้ายเสียงจึงจัดจ้าน แยงหู

เราควรใช้ลำโพงมอนิเตอร์แบบมีภาคขยายในตัว (ACTIVE)ดีหรือแบบใช้ภาคขยายภายนอกดี (PASSIVE)

ปัจจุบันส่วนใหญ่มักเอากระชับ ประหยัดเนื้อที่ โดยการเลือกใช้ลำโพงมอนิเตอร์แบบ ACTIVE เพราะสะดวก ไม่ต้องมีแอมป์ภายนอกให้เกะกะ อีกทั้งผู้ผลิตลำโพงมักอ้างว่า ได้ปรับแต่งจูนภาคขยายให้สอดรับกับภาคลำโพง/ดอก (ตู้) อย่างลงตัวที่สุดแล้ว แต่พวกเขาลืมคิดถึงปัญหา คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากภาคขยายไปกวนดอกลำโพงหรือวงจรแบ่งเสียงลำโพง (ถ้ามี) ในทำนองเดียวกับที่สนามแม่เหล็กจากดอกลำโพงก็แผ่มารบกวนภาคขยายเช่นกัน ถ้าใครเปิดดูตู้ลำโพงแบบ ACTIVE จะเห็นว่าภายในอัดกันแน่นมาก ยั้วเยี้ยะไปหมด สายต่างๆภายในจะถูกแตะต้อง,รบกวนได้ง่ายมาก แทบไม่มีที่ระบายหายใจ ร้อนมาก ปัญหาเสียงตื้อ (COMPRESSED)ทุกอย่างยัดๆกันอยู่ในตู้แคบๆซึ่งดูแล้วกวนกันเละแน่ ไม่น่าจะดีได้เลย พูดง่ายๆว่าข้อดีของการเป็น ACTIVE SPEAKER ถูกหักล้างด้วยปัญหาสารพัด (รวมทั้งความสั่นสะเทือนมหาศาลต่ออุปกรณ์ภายใน) จนไม่น่าจะคุ้มค่ากับการเป็น ACTIVE เลย สู้เป็น PASSIVE จะควบคุมอะไรๆได้ดีกว่า พูดง่ายๆยังไม่เคยพบลำโพง ACTIVE ไหนที่ให้ทรวดทรง มิติเสียง ความเป็นดนตรีที่ดีเลย

ลำโพง ACTIVE  ยังมีราคาแพงมาก เกินกว่าการใช้ลำโพงประกอบกับแอมป์ภายนอก เวลาเสียก็ยังแยกซ่อมได้

ลำโพงมอนิเตอร์ที่ใช้ควรมีความไวสูง (HIGH SENSITIVITY) (ความไว 89 dB SPL/W/M ขึ้นไป) เพื่อให้ชี้ฟ้องที่สุด มีเสียงอะไรแปลกปลอมมในการบันทึกเสียงก็จะฟังออกได้ชัด (ทันที) กว่า อีกทั้งฟ้องอาการบันทึกจนยอดคลื่นหัวขาดได้ชัดเจนกว่ามาก ให้การตอบสนองได้ฉับไว (TRANSIENT RESPONSE ดี) เอาไว้ฟังทดสอบความเร็ว (SPEED),PITCH ,FLUTTER ได้ชัดกว่า

ลำโพงความไวสูงทำให้ไม่ต้องใช้แอมป์วัตต์สูงๆ ให้ตัวใหญ่เกะกะ ( ขอร้องอย่าได้คิดจะนำแอมป์ Class อื่นใดนอกจาก Class A หรือ Class AB มาใช้ในห้องบันทึก อย่าข้องแวะไม่ว่า  Class H,Claas G,Class D,ดิจิตอลแอมป์, Switching แอมป์ อย่าได้นำมาใช้เด็ดขาด จะพาเข้าป่าได้ง่ายที่สุด)

ไม่ควรใช้ลำโพงที่คุยว่ามีการป้องกันสนามแม่เหล็กจากลำโพงไปกวนจอภาพ (MAGNETIC SHIELD) เพราะลำโพงพวก นี้จะให้เสียงอั้น,ตื้อ,ช่วงโหมดนตรีหลายชิ้นจะมั่ว,กอดกัน,เวที่หุบ

ดอกลำโพงเสียงแหลมและดอกเสียงกลางทุ้ม (กรณี 2 ทาง) จะต้องวางชิดติดกันมากที่สุด มิเช่นนั้น มิติเสียง,สุ้มเสียงจะไม่นิ่งจะเปลี่ยนไปตามระดับความดังของเสียง

ในกรณีต้อง MIX เสียงร้องเป็นใหญ่หรือดนตรีน้อยชิ้นเช่น  3 - 4 ชิ้น ถ้าใช้ลำโพงมอนิเตอร์ 2 ทาง ดอกแหลมครึ่งนิ้ว (ความถี่สูงควรไปได้ถึง 35 KHz หรืออย่างต่ำที่สุด 25 KHz) ดอกกลางทุ้มไม่ควรเกิน 4 – 5 นิ้ว ( 4 นิ้วยิ่งดี) เพื่อให้ดอก 4 นิ้วขยับตามดอกแหลมได้ทัน จะได้เสียงที่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันที่สุด อีกทั้งช่วยให้ฟังความผิดพลาดได้ชัดขึ้น การสอดใส่อิริยาบท,วิญญาณ,อารมณ์ได้ชัดแจ้งขึ้น

เราจะนำลำโพงบ้าน (ไฮ-ไฟ) มาทำเป็นลำโพงมอนิเตอร์ในห้องบันทึกเสียงได้ไหม? ดูเผินๆก็น่าจะได้ เพราะมีลำโพงบ้านดีๆถึงดีมากๆระดับไฮเอนด์ซึ่งเราฟังที่บ้านแล้วสุดยอดก็น่าจะเอามาทำได้ดี

แต่อย่าลืมว่า 90% ของลำโพงบ้าน,ไฮเอนด์มักมีบุคลิดเสียงส่วนตัวไม่มากก็น้อย จะหาที่เที่ยงตรงจริงๆได้ยาก อย่าลืมว่า ปรัชญาของการออกแบบลำโพงบ้าน ส่วนหนึ่งคือ “เอาใจหู” ทั้งหูติดหวาน หูติดโฉ่งฉ่าง หูตูมตาม จึงนำมาเป็นมอนิเตอร์ไม่ได้ เดี๋ยวหลงทาง

นอกจากนั้น ลำโพงบ้านมักรับกำลังขับที่รุนแรง,ฉับพลันจากเครื่องดนตรีจริงๆ ดนตรีไฟฟ้าไม่ค่อยได้ ใช้ไม่นานวอยส์ก็จะเบียด อีกอย่างคือมักฉับไวไม่พอ ลำโพงพวกมอนิเตอร์มักใส่วงจรป้องกันมาเต็มที่ (ซึ่งจริงบั่นทอนคุณภาพเสียง,มิติเสียง) แต่ก็ช่วยให้มันทรหด

ปกติช่วงเสียงมักชอบเปิดดังๆ (ดังมาก) เพื่อตรวจข้อผิดพลาด จริงๆแล้วถ้าห้องบันทึกที่ระบบขยายเสียงติดตั้งพิถีพิถันสุดๆ จะฟังจับข้อผิดพลาดได้ไม่ยากเลย โดยไม่ต้องเปิดดังลั่นสนั่นหูด้วย กรณีนี้ลำโพงบ้านที่เข้าขั้นมอนิเตอร์จริงๆก็น่าจะนำมาใช้ในห้องอัดได้ด้วย อย่างไรก็ตามลำโพงก็ยังเป็นแค่ส่วนประกอบหรือฟันเฟืองตัวเดียวในระบบการบันทึกทั้งหมดซึ่งต้องติดตั้ง,จูน,ปรับอย่างพิถีพิถันทุกกระเบียดนิ้ว มิเช่นนั้น ต่อให้ลำโพงดี,ถูกต้องแค่ไหนก็ไม่สามารถตีแผ่ทุกสิ่งออกมาได้อย่างหมดจด แถมยังฟ้องการติดตั้ง,จูนที่ไม่ถูกต้องด้วย ผลงานการบันทึกที่ดีสุดยอด ต้องประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่ถูกต้องนับตั้งแต่เครื่องดนตรีที่ใช้,การจัดวางไมค์,ห้องที่เล่น,การบันทึก,การทำมาสเตอร์,การทำแผ่น เหนือสิ่งอื่นใดคือจิตสำนึกของช่างเสียงและเจ้าของผลงานที่ตั้งใจจะฝากฝีมือไว้ให้ลูกหลานเอ่ยถึงอย่างชื่นชมหรือด่าทอดุจขยะเน่าเหม็นชิ้นหนึ่ง!

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459