|
เล่นลำโพงเบิ้ล 2 คู่ ดีไหม โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ เชื่อว่าแนวคิดในการฟังเพลงด้วยลำโพงเบิ้ล 2 คู่เลย ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ, รุ่นเดียวกันหรือต่างยี่ห้อ, รุ่น น่าจะมาจากสาเหตุต่อไปนี้ 1. ต้องการฟังดังๆ เกรงว่าลำโพงคู่เดียวจะดังไม่พอ 2. การใช้ 2 คู่เบิ้ล จะได้ช่วยกันรับกำลังขับ ไม่แป๊กง่ายๆ 3. ต้องการได้กำลังขับจากแอมป์มากขึ้น โดยต่อลำโพง 2 คู่ขนานกัน 4. เพิ่มมุมกระจายเสียงกว้างขึ้น ความเป็นจริงก็คือ 1. การต่อหรือฟังเบิ้ล 2 คู่สมมุติว่า เป็นลำโพงยี่ห้อ, รุ่นเดียวกัน การให้ลำโพงส่งเสียงพร้อมกันทีเดียว 2 คู่ ไม่หมายความว่าเราจะได้ “ความดัง” เป็น 2 เท่าอย่างที่คนทั่วไปคาดเดาเอา จริงๆ แล้วมันแค่ “ดัง” ขึ้น +3dB คือฟังออกว่าดังขึ้นแต่ต่ำกว่า 2 เท่าแน่นอน ถ้าเรานำลำโพง 2 คู่เบิ้ล ต่อกันแบบขนาน จะได้ความต้านทางผลลัพธ์ลดลงครึ่งหนึ่ง เช่น ลำโพง 8 โอห์ม 2 คู่ ต่อขนานกัน ก็จะเหลือ 8/2 = 4 โอห์ม ถ้าเป็นลำโพง 4 โอห์ม/คู่ ต่อขนานกันก็จะเหลือครึ่งหนึ่งคือ 2 โอห์ม ถ้าบังเอิญเครื่องที่ใช้มีความสามารถอัดฉีดกระแสได้มากขึ้น ถ้าลำโพงมีความต้านทาน (โอห์ม) ลดลง จากเดิมแอมป์กำลังขับ 100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม ก็อาจได้เป็น 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม แต่แอมป์ชาวบ้านทั่วไป อย่างเก่งก็อาจได้ 130 - 150 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม ไม่ใช่ได้ 2 เท่า ก็จะเหมือนเราแปลงแอมป์ให้มีกำลังขับมากขึ้น แต่แอมป์จะร้อนขึ้นมาก ยิ่งถ้าเป็นแอมป์ class A จะร้อนแบบแตะไม่ได้เลย ร้อนมากๆ แอมป์อาจพังหรือปิดตัวเอง ถ้าเราต่อลำโพง 2 คู่ แบบอนุกรม เหมือนพ่วงตู้รถไฟ 2 ตู้ ความต้านทานรวมก็จะเป็น 2 คู่ บวกกัน (8+8 = 16 โอห์ม) จะพบว่า เราต้องเร่งวอลลุ่มแอมป์ มากขึ้นพอควรเลย อย่างไรก็ตาม การต่อเล่นลำโพงเบิ้ล 2 คู่ เกือบทั้งหมดจะต่อแบบขนาน เพื่อรู้สึกว่า ดังขึ้นโดยไม่ต้องเร่งวอลลุ่มขึ้นไปอีก แต่จะมีผลเสียคือ ความสามารถของภาคขยายขาออก ในการหยุดการสั่นค้างของดอกลำโพง (Damping Factor หรือ DF) จะลดลงครึ่งหนึ่ง เช่น จาก 100 (ที่เป็นค่าต่ำสุดที่พอจะยอมรับได้ว่า ส่งผลต่อคุณภาพเสียงที่รับได้) มาเหลือ 50 นี่อันตรายแล้ว ยิ่งค่า DF ต่ำ กรวยลำโพงจะสั่นค้าง หยุดช้า ไม่หยุดกระชับ มีลูกครางตามเสียงตรงอันทำให้เสียงโดยรวมขุ่น, ทึบ, มั่วขึ้น ความเป็นชิ้นอันลดลง ช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีในวงจะไม่สะอาดเกลี้ยง (ไม่โปร่งโล่ง) เสียงก็ฟังได้ศัพท์ลดลง อะไรๆ มันเหมือนมั่วๆ เบลอๆ แถมหน่อมแน้มขึ้นด้วย ยานครางขึ้น โดยเฉพาะเสียงทุ้มจะยิ่งฟังได้ชัด ถ้าอัดตูมๆ ไม่หยุด (เช่น เพลงแดนซ์ทั้งหลาย) มีโอกาสที่ดอกลำโพงจะกระโชกและครางอย่างรุนแรงจน วอยส์เบียด ลำโพงเสียไปเลย ความเพี้ยนของแอมป์จะสูงขึ้นแบบฮวบฮาบ 2. การใช้ 2 คู่ช่วยให้อัดได้ ไม่แป๊กง่าย จากคำอธิบายเรื่องการต่อขนานเบิ้ล 2 คู่ ทำให้ค่า DF ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง แน่นอน มันตรงข้าม ลำโพงจะแป๊กง่ายขึ้นมากกว่า แต่ถ้าต่ออนุกรม ความต้านทานรวมเป็นเท่าตัว (8+8 = 16 โอห์ม หรือ 4+4 = 8 โอห์ม) ก็ไม่มีปัญหาค่า DF ลดลง อาจมากขึ้นด้วย (เป็น 2 เท่า) แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการเร่งวอลลุ่มที่แอมป์มากขึ้นพอควร ลำโพงอาจแป๊ก (วอยส์เบียด) ยากขึ้น แต่การแป๊กกลับไปเกิดที่แอมป์ ถ้าเป็นแอมป์วัตต์สูงๆ ก็พอว่า ถ้าวัตต์ต่ำ แอมป์จะทำงานอย่างเข็นครกขึ้นภูเขาเลย เสียงอาจดังขึ้น (แต่ไม่ใช่ 2 เท่า) แต่จะดังแบบกลวงๆ ไม่ควบแน่น ไม่มีแรงถีบ หรือน้ำหนักเสียง 3. เพิ่มมุมกระจายเสียง โดยเอาตู้ลำโพงวางซ้อนกันในแนวตั้ง โดยหวังให้คู่หนึ่งยิงเสียงมาด้านหน้าตรง อีกคู่อาจหันเฉียงออกทางซ้าย (คู่ซ้าย), เฉียงออกทางขวา (คู่ขวา) เหมือนการพ่นของสายฉีดน้ำ 2 สายซ้าย, 2 สายขวา รวมแล้วมุมกระจายเสียงก็จะมากขึ้น วิธีนี้มันก็อาจได้อยู่ แต่มิติเสียง ชิ้นดนตรี (3D), ตำแหน่งชิ้นดนตรีในวง, รูปวง กว้าง/สูง/แผ่/ตื้น-ลึกจะสับสนเละไปหมด มั่วไปหมด จริงๆ แล้วรายละเอียดน้ำเสียงจะแย่ลงด้วย อีกทั้งจะไปกระตุ้นการก้องของห้องมากขึ้น ที่ถูกแล้ว ต้องวางคู่ล่างแบบเอียง (Toe In) จูนจนได้ทั้งมิติเสียง, ทรวดทรงเสียง, น้ำเสียง ลงตัวดีที่สุดก่อน (คู่ล่างนี้ ดอกแหลมอยู่บน) จากนั้น เอาคู่บนทิ่มดอกแหลมลงล่าง แล้ววางซ้อนทับไปบนคู่ล่าง ให้ดุจเป็นตู้เดียวกันทรงสูงไปเลย (Toe In มุมเดียวกัน) วิธีนี้จะเห็นว่า การเรียงตัวของดอกลำโพงตู้บนกับตู้ล่างจะเป็นประดุจเงาสะท้อนในน้ำ (Mirror Image) สมมาตรกัน ผลคือ ทุกๆ ความถี่เสียง จะประดุจกำเนิดจากจุดๆ เดียว หรือจุดร่วม (One Point Source) เช่น แหลมบน - แหลมล่าง = แหลมอยู่ตรงกลาง กลางบน - กลางล่าง = กลางอยู่ตรงกลาง ทุ้มบน - ทุ้มล่าง = ทุ้มอยู่ตรงกลาง จุดเสียงเสมือนทั้ง 3 จะเป็นตำแหน่งจุดร่วมเดียวกัน (One Point Source) วิธีนี้จะได้ รูปเวทีเสียง, มิติเสียง, ทรวดทรงเสียง น้ำเสียงดีที่สุด แต่ตำแหน่งนั่งฟังควรให้ จุดร่วม (One Point Source) อยู่ในระดับหูของเรา อย่าสูงหรือต่ำกว่า ช่วยแก้ปัญหา Point Source แบบที่ 2 ลำโพงบางคู่ ดอกแหลมกับดอกกลางทุ้มอยู่ห่างกันเกินไป ทำให้ความเป็น “จุดกำเนิดเสียงเดียวกัน” (Point Source) แย่ลง เสียงแกว่ง ไม่นิ่ง มิติไม่ดี แต่ถ้าลงทุนใช้ 2 คู่ วางซ้อนหัวทิ่มเข้าหากันดังกล่าว ปัญหานี้จะหมดไป วิธีแก้นี้จะเหมาะมากกับลำโพงราคาไม่แพง เช่นคู่หนึ่ง 5-6 พันบาท 2 คู่ก็แค่ 10,000 - 12,000 บาท พอๆ กับลำโพงวางหิ้งดังๆ คู่เดียว ข้อเสียที่ไม่มีใครคิดถึง โอเค ตอนนี้เราจัดวางตู้ลำโพง 2 ตู้ (ยี่ห้อ, รุ่นเดียวกัน) อย่างดีที่สุดตามข้อแนะนำแล้ว และต่อแบบขนานกันด้วย เพราะแอมป์ของเรามีสเปคค่า DF ค่อนข้างดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น 200 หรือ 300 ที่ 8 โอห์ม (ซึ่งเมื่อต่อเล่นเบิ้ลลำโพงขนาน ก็จะได้ค่า DF เหลือ 100 หรือ 150 ก็ยังโอเค พอรับได้ แอมป์ไฮเอนด์บางรุ่นให้ค่า DF สูงถึง 1,000 หรือ 10,000 ก็ยังมี! ยิ่งเลิกคิดกังวลได้เลย) แถมสเปคแอมป์ก็ดีมาก คือ ระบุว่ากำลังขับ 100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม, 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม (บางยี่ห้อไปไกลกว่านั้น เพิ่มอีกว่า 400 W.RMS/CH ที่ 2 โอห์ม โอ้โห!) ยิ่งสบายใจเรื่องความต้านทานตกวูบวาบ อย่าลืมว่า ที่ลำโพงระบุว่า 8 โอห์ม นั่นเป็นค่าเฉลี่ยๆ จริงๆ บางความถี่อาจเหลือ 4 หรือ 3 โอห์ม หรือพุ่งไป 12 โอห์มก็ยังมี จึงควรระวังไว้บ้างว่า บางความถี่ลำโพงเบิ้ลคู่อาจให้ความต้านทานรวมเหลือ 2 โอห์ม ไม่ใช่ 4 โอห์ม อาจต่ำถึง 1.5 โอห์ม จึงควรเลือกลำโพงที่ให้ความต้านทานค่อนข้างนิ่ง คงที่ หรือระบุว่า ความต้านทานจะไม่ตกลงต่ำกว่ากี่โอห์ม ที่ความถี่แถวไหน อีกข้อคือ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Michrophonic ลำโพงกับไมโครโฟน มีโครงสร้างหลักของการทำงานเหมือนๆ กัน ได้แก่ ลำโพง กระแสสัญญาณผ่านขดลวดวอยส์คอยล์ (ที่ติดอยู่กับกรวย) ผลักดันกับแม่เหล็กตูดลำโพง ขยับเข้า-ออกดันอากาศ เปล่งเสียงออกมา ไมโครโฟน เสียงผลักอากาศไปขยับไดอะแฟรม (ตัวรับแรงดันอากาศ) ให้ขยับเข้า-ออก พาวอยส์คอยล์ (ที่ติดกันอยู่) ให้ขยับเข้า-ออกในสนามแม่เหล็ก ได้เป็นกระแสสัญญาณออกมา ส่งไปภาคขยายต่อไป จะเห็นว่า จริงๆ แล้ว เราสามารถนำดอกลำโพงมาต่อใช้แทนไมโครโฟนก็ได้ หรือเอาไมโครโฟนมาต่อออกเสียงจากแอมป์ก็ได้เช่นกัน ดังนั้น ขณะที่ตู้ลำโพงชุดล่างกำลังขยับส่งเสียง แรงอัดอากาศก็จะไปผลักดันกรวยลำโพงทุกตัวของตู้บน ให้ทำตัวเป็นไมโครโฟน ส่งกระแสย้อนกลับไปป่วน ทั้งแอมป์และตู้ลำโพงล่างเอง ในทำนองเดียวกัน (พร้อมๆ กันนั่นแหละ) ตู้ลำโพงบนกำลังส่งเสียงอยู่ ก็จะเกิดแรงอัดอากาศไปดันกรวยลำโพงทุกดอกของตู้ล่าง ให้ส่งกระแสไฟย้อนกลับไปป่วนตู้บนเองกับแอมป์ คือ ทั้งตู้บนกับตู้ล่าง เป็นทั้งโจทก์และจำเลยพร้อมๆ กัน เราเรียกว่า เกิดการทะเลาะกันเอง (Mutual Interact) เรียกผลนี้ว่า Michrophonic บางท่านอาจมองแจ้งแทงทะลุ ถ้าอย่างนั้นแม้แต่ดอกลำโพงแต่ละดอกในตู้ลำโพงเดียวกันก็ต้องทะเลาะกันด้วยผลเดียวกันนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นการถูกต้อง แต่เราจะพูดถึงผลจากภายนอกตู้ก่อน แน่นอน ผล Michrophonic ระหว่าง 2 ตู้ ย่อมทำให้ความแจ่มชัดของทั้งมิติเสียง, และสุ้มเสียง แย่ลงไม่มากก็น้อย วิธีอื่นในการวางตู้ลำโพง 2 คู่ 1. วาง 2 คู่ แนวตั้งแหลมอยู่บนทั้ง 2 คู่ โดยตู้ซ้าย 2 ตู้วางชิดกัน ขวา 2 ตู้วางชิดกัน โอเค มันได้จุดกำเนิดเสียงร่วมแบบ 2 ดอกแหลม ได้ 1 จุดกำเนิดเสียงแหลม, 2 ดอกกลางได้ 1 จุดกำเนิดเสียงกลาง, 2 ดอกทุ้มได้ 1 จุดกำเนิดเสียงทุ้ม คล้ายๆ กับวิธีวางซ้อนตู้บนหัวทิ่มดังกล่าวแล้ว แต่สังเกตว่า การวางตั้งขนาน มุมฟังจะแคบมากๆ จะได้แค่ 1 ตำแหน่งตรงกลางเป๊ะ ใครนั่งฟังผิดไปจากจุดนี้ จุดกำเนิดเสียงร่วมทั้ง 3 จุดจะเบลอหมด อีกทั้งมุมกระจายเสียงจะกว้างในแนวตั้ง แคบที่สุดในแนวนอน ขณะที่การวางตู้ซ้อนหัวทิ่ม จุดนั่งฟัง (แนวนอน) จะกว้างกว่ามาก แต่จะจำกัดในแนวตั้งเท่านั้น (ปกติเรานั่งฟังกันในระดับหู สูง-ต่ำ ใกล้เคียงกันอยู่แล้ว) อีกทั้งมุมกระจายเสียงจะกว้างในแนวนอน แต่แคบในแนวตั้ง 2. การวางลำโพง คู่หนึ่งด้านหน้า อีกคู่ด้านหลังที่นั่งฟัง ทำนองเซอราวด์ แต่เนื่องจากทั้ง 2 คู่ส่งเสียง เหมือนกันเป๊ะ ผลลัพธ์คือ ได้เวทีเสียงที่เป็นหน้ากระดาน จากซ้ายไปขวาพาดผ่านตัวคนนั่ง ดนตรีทุกชิ้น นักร้องทุกคนในวงจะเหมือน เข้าแถวกระดานเรียงหนึ่ง และไม่มีทรวดทรง (3D ไม่มี) อากัปกิริยา โยกตัวไปหน้าไปหลังจะไม่มี เสียงกังวานจะฟุ้งแบนติดจอหน้ากระดานนั้น ไม่วิ่งลับหายไปหลังเวที ดังนั้น การจะเล่นลำโพงแบบเบิ้ลคู่ จึงต้องพิจารณาสเปคของทั้งแอมป์และลำโพงให้ดีๆ สุดท้าย ชั่งใจว่า สิ่งที่ได้ (ความมันส์, กระหึ่ม) จะคุ้มค่าไหม ที่ต้องแลกด้วย “คุณภาพเสียง” ที่ลดทอนลง จริงๆ แล้ว ถ้าต้องการความมันส์ ความกระหึ่ม เอาค่าลำโพงคู่ที่ 2 ไปซื้อ ตู้ซับ Active ดีๆ สัก 1 ตู้ น่าจะมีแต่ผลดีไปหมดมากกว่า! www.maitreeav.com |