|
ลำโพงตู้เรียว...ดีจริงหรือ โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ สังเกตว่า วันนี้ลำโพงระดับไฮเอนด์จะหันมาเล่นเรื่องรูปทรงของตู้กันเป็นหลักใหญ่ ในอดีตเมื่อประมาณ 45 ปีมาแล้ว ลำโพงรุ่นเรือธงท๊อปสุดของแต่ละค่าย จะเน้นใหญ่ มหึมา ตัวตู้สูงเกือบชนเพดานห้อง ตู้มีขนาดใหญ่โต (บางคู่ทำเป็นปีก 2 ข้าง กว้างรวมเกือบ 1 วา) แยกตู้ลำโพงเป็นตู้กลาง, แหลม 1 ตู้ สูงเกือบถึงเพดาน บรรจุดอกลำโพงกลาง, ดอกแหลมนับสิบๆ ดอก/ตู้ ตู้ซับสูงพอกันเกือบถึงเพดานห้อง ดอกซับ 12 นิ้วอาจถึง 6 ดอก/ตู้/ข้าง ตู้ทั้งหมดหนักนับร้อยๆ กิโลกรัม นั่นเป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันเกือบไม่มียี่ห้อไหนทำมาล้นหลามมโหฬารอย่างนั้นอีกแล้ว ด้วยเหตุผลคือ 1. มหาเศรษฐีบ่อน้ำมันตะวันออกกลางจนลง บ้าน(ห้องฟัง)เล็กลง ไม่มหึมาอีกต่อไป 2. พวกเขาหันไปแข่งอวดรถยนต์กันมากกว่า 3. เศรษฐีรุ่นใหม่ต้องการที่อยู่ที่กะทัดรัดขึ้น กระจายไปหลายๆ ที่ทั่วโลกมากกว่าปักหลักมโหฬารอยู่ที่เดียว ห้องฟังจึงต้องเล็กลงตาม รวมทั้งลำโพงเช่นกัน 4. เทคโนโลยีการออกแบบลำโพงที่พัฒนาขึ้นมาก ทั้งตัวตู้และดอกลำโพง รวมทั้งเพาเวอร์แอมป์กำลังขับสูงมากๆ แต่ก็ยังคงคุณภาพล้นแก้วไว้ได้ โดยทั้งหมดนี้ ผู้บริโภคต้องแลกมาด้วยสนนราคาของทั้งลำโพงและเพาเวอร์แอมป์ที่สูงลิบลิ่วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ผลที่ได้คือ ตัวระบบลำโพงที่เล็กกะทัดรัดลงกว่า 30-40 ปีที่แล้วมาก แต่กลับให้สเกลของเสียง ความอลังการกระหึ่มมหึมาของเสียงที่ไม่แพ้ หรือดีกว่าการใช้ตู้ลำโพงมากตู้, มหึมาคับห้องในอดีต ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ แน่นอน การจะสำเร็จผลดังกล่าวได้ ผู้ออกแบบทั้งตัวตู้และดอกลำโพงต้องทำการบ้านหนักมาก ต้องมืออาชีพจริงๆ ถึงพร้อมด้วยทุกศาสตร์และศิลป์ ไม่ว่าเรื่องของวัสดุ เรื่องพลศาสตร์ เรื่องฟิสิกส์ไฟฟ้า เรื่อง Psycho-acoustic เครื่องมือในการทำวิจัย ทดสอบ การผลิตที่ประณีตบรรจงยิ่ง เหนือสิ่งอื่นใด พลังทุน เราจะพบว่า โรงงาน ยี่ห้อพวกนี้จะเป็นธุรกิจที่ไม่ใหญ่โตนัก เกือบจะเรียกว่า SME มากกว่า ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการผลิตทีละเยอะๆ ได้ (Mass Production) จึงไม่แปลกที่ราคาของลำโพงพวกนี้จะสูงมากถึงโคตรสูงมาก คู่หนึ่งซื้อรถได้เป็นคันๆ บ้านเป็นหลังๆ เพราะมันคือ State of the Art หรือหลักหมุดแห่งศิลป์ (Benchmark) แนวหนึ่งที่กำลังมาแรง คือการหันมาออกแบบตู้ลำโพงที่ 1. มีขนาดเล็กกะทัดรัดขึ้นมาก 2. มีรูปทรงตู้ที่ผอมเรียว โค้งมน หน้าตู้แคบ ตู้มีช่วงลึกยาวเรียวออกไปด้านหลังหรือด้านบน 3. ตัวตู้มีการเขย่าสั่นลดลงมาก ด้วยความหนักหรือการหักล้างทางอคูสติดจากดอกลำโพงด้วยกันเอง 4. ดอกลำโพงลดลง มีเท่าที่จำเป็น 5. ทำดอกลำโพงเอง ออกแบบเอง วิจัยเอง หรืออย่างน้อยก็วิจัยเอง แต่จ้างโรงงานผู้ผลิตดอกลำโพงระดับไฮเอนด์ผลิตให้ตามสเปกของตน 6. เน้นทั้งการใช้งาน เหตุผลทางวิศวกรรม ความสวยงาม กลมกลืน ชิ้นงานระดับเครื่องดนตรี เช่น เปียโนระดับโลก ทั้ง 6 ข้อนี้ ไม่มีทางสำเร็จได้หรือบริษัทอยู่รอดได้ด้วยการตั้งราคาขายแบบตลาดๆ ทั่วไป...ไม่มีทางเลย ตู้แบบเรียว...มีข้อดี/ข้อเสียอย่างไร 1. ด้วยหน้าตู้ที่แคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ช่วยลดเสียงตกกระทบหน้าตู้แล้วเด้งกลับมากวนเสียงตรงจากหน้าดอกลำโพง อันจะทำให้เสียงไม่หลุดลอยเท่าที่ควร ลำโพงไม่ล่องหนจริง 2. ตู้เรียวแล้วยัง “มน” ช่วยลดปัญหาเสียงหักศอกที่มุมขอบตู้ ซึ่งจะทำให้เกิดจุดกำเนิดของเสียงใหม่ ที่จะแผ่มากวนเสียงจากหน้าดอกโดยตรง ทำให้มิติเบลอ ความคมชัด ความนิ่ง เสียไป (ปัญหานี้เรียก Difraction) 3. ตู้ทรงเรียวจากใหญ่(หน้าตู้) ไปเล็กลง (ท้ายๆ ตู้) คลื่นอากาศที่ออกมาจากด้านหลังดอกลำโพง จะเกิดการหักล้างตัวเองไปตลอดความเรียวใหญ่ไปเล็กของตัวตู้ จนเกืบหมด(อาจเสริมการซับเสียงด้วยใยสังเคราะห์ภายในตู้) ไม่เกิดการก้องในตู้ที่จะตีย้อนกลับไปกระแทกหลังกรวยของดอกลำโพง อีกทั้งตัวตู้จะนิ่งสนิทกว่าตู้แบบสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม โค้งมนบางส่วน เมื่อตัวตู้นิ่งก็จะเขย่าดอกลำโพงลดลง ดอกลำโพงก็จะให้เสียงเพี้ยนลดลง วงจรแบ่งเสียงก็นิ่งขึ้น เสียงจะชัด สะอาด กระชับ เกลี้ยงขึ้น รายละเอียดหยุมหยิมเล็กๆ น้อยๆ ดีขึ้น ช่วงโหม มั่วลดลง แยกแยะเป็นชิ้นเป็นอันดีขึ้น โดยอาจไม่จำเป็นต้องทำตู้ให้ “โคตร” หนักเป็นหลายร้อยกิโลกรัม (ground zero) อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมีขีดจำกัด ตู้แบบเรียวดังกล่าว ถ้าถูกอัดดังมากๆ จนเสียงล้น มันก็เอาไม่อยู่ การดูดซับทั้งหลายไม่เต็มร้อยอีกตอไป ตู้ที่หนักสุดๆ จะทนการ “ทำโทษ” นี้ได้ดีกว่า แต่ใครเป็นเจ้าของตู้ลำโพงหนักๆ เป็น 100 กก./ข้าง ขึ้นไป จะซึ้งแก่ใจดีว่าจะขนย้ายที จะขยับเขยื้อนปรับมุมเสียงที...แทบกระอักเลือดและเป็นเรื่องใหญ่มาก 4. เนื่องจากพยายามทำหน้าตู้ให้แคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้ต้องลดขนาดของดอกลำโพงลง ใหญ่ได้เท่าที่จำเป็น เช่น ถ้าเป็นระบบ 3 ทาง ดอกทุ้มแทนที่จะเป็น 10 นิ้ว ดอกกลาง 3 นิ้ว แหลม 1 นิ้ว ก็อาจต้องทอนลงเป็น ดอกทุ้ม 5 นิ้วสองดอก (ส่วนใหญ่จะต่อขนานกัน) ทำให้การจัดสมดุลความต้านทานยุ่งยาก อาจต้องใช้ดอกทุ้ม 5 นิ้ว 16 โอห์ม 2 ดอกต่อขนานกัน หรือ 4 โอห์ม 2 ดอกต่ออนุกรมกัน และยังมีปัญหา 2 ดอกนี้ส่งแรงดันไฟตีกลับ (Back EMF) มากวนกันเองที่แผงวงจรแบ่งเสียง อีกทั้งการยิ่งมากดอกลำโพง ยิ่งมีปัญหา “ไมโครโฟน” คือเสียงจากดอกหนึ่ง วิ่งไปชนอีกดอกซึ่งมันจะทำตัวเหมือนเป็น ไมโครโฟน ส่งสัญญาณย้อนกลับจากดอกนั้นไปรบกวนดอกอื่นๆ ที่กำลังทำตัวเป็นลำโพง ทุกดอกจึงเล่น 2 บทบาท เป็นทั้งปล่อยเสียงออกมา(ลำโพง) พร้อมๆ กับรับเสียง (จากดอกอื่นๆ ดุจเป็นไมโครโฟน) ส่งกระแสไปตีกันที่วงจรแบ่งเสียงในตู้ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Michrophonic บั่นทอนทั้งความคมชัด รายละเอียด มิติเสียง การล่องหนของลำโพง การหลุดตู้ การสวิงเสียงไม่กว้างเท่าที่ควร บางยี่ห้อ จะวางดอกซับ (หรือดอกทุ้มขนาดใหญ่ 10 นิ้วขึ้นไป) ไว้ข้างตู้ ให้ยิงเสียงไปด้านข้าง และใช้ดอกกลางทุ้มขนาด 5 นิ้ว บวกกับดอกแหลมไว้ที่หน้าตู้ มันก็เข้าท่าดี แต่ก็ต้องระวังโอกาสที่จะกระตุ้นการก้องของเสียงทุ้มจากอคูสติกห้อง จะมีมากขึ้น นอกจากต้องให้ดอกยิงข้างนั้นทำงานที่ความถี่ต่ำมากๆ เช่น 50 Hz ลงมา แต่ก็หมายความว่า ดอกกลาง 5 นิ้ว ต้องเก่งพอที่จะออกได้ทั้งเสียงกลางและทุ้มต้นลงถึง 50 Hz เช่นกัน ซึ่งต้นทุนดอกประเภทนี้จะแพงมาก 5. การเรียงลำโพงหลายๆตัวอยู่ด้านหน้าจะทำให้ความเป็น “จุดกำเนิดเสียงเดียวกัน” (Point Source) แย่ลง (นอกจาก ฟังในห้องใหญ่ นั่งห่างมาก ร่วม 10 เมตรขึ้นไป และเปิดดัง อาการไม่เป็น Point Source จึงจะพอกลบกเกลื่อนไปได้ แต่ไม่เต็มร้อย ช่วงเสียงค่อยลง น้ำเสียง รูปลักษณ์มิติ จะแย่ลงทันที สรุป จะเห็นว่า ระบบลำโพง มองเผินๆ เหมือนไม่มีอะไร ชิ้นส่วนก็น้อย แต่การออกแบบและจูน กลับสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง แตะตรงไหนก็มีผลไปหมด ทำอย่างไร จึงจะทำได้สมดุลย์ และมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย (ด้วยราคาขายที่ถูกตั้งธงไว้ก่อน) www.maitreeav.com |