![]() |
|||||||
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
|||
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
|
หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน >
มุมมืดของเครื่องซ่อมและวงการซ่อมเครื่องเสียง
วันที่ : 12/01/2018
มุมมืดของเครื่องซ่อมและวงการซ่อมเครื่องเสียง โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ เครื่องเสียง ก็เหมือนทุกสิ่งในจักรวาล มันไม่อยู่ยั้งยืนยง วันหนึ่งต้องเสียหรือผุพังไปในที่สุด สาเหตุของการเสีย(เสื่อม) 1. อายุการใช้งานจริง มอเตอร์, กลไก ส่วนเคลื่อนไหวต่างๆ ใช้ไปนานๆ ย่อมสั่นคลอน หลวม ไม่ฟิตแม่นเหมือนเดิม จากการสึกหรอและเคลื่อนไหวบ่อยๆ ถ้าเป็นเครื่องเล่นแผ่น ควรใช้แผ่นแท้ (CD, DVD, Bluray) เนื่องจากแผ่นผี (แผ่นก้อปปี้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์) มักทำมาคุณภาพต่ำ ทั้งวัสดุคุณภาพ ตัวแผ่นที่ใช้ การเขียนสัญญาณบนแผ่นที่หยาบ ไม่เต็มสมบูรณ์ ทำให้ระบบการอ่านสัญญาณของเครื่องเล่น ต้องทำงานหนักกว่าที่ควรจะเป็น กลไกจะอายุสั้น วงจรการอ่าน/ตรวจสอบสัญญาณ/ล็อคสัญญาณ (ชดเชย...SERVO) ต้องทำงานหนัก ไม่หยุด หัวอ่าน, SERVO จะพังเร็ว และย้อนกลับไปเผาแผ่นให้หมดอายุเร็วมากกว่าปกตินับ 100 นับ 1000 เท่า (สาเหตุหนึ่งที่แผ่นผีอายุไม่ยืน วันดีคืนดี ก็อ่านไม่ได้ บางแผ่นขึ้นสนิมใน, เน่า) 2. การสั่นสะเทือนต่อระบบกลไกของตัวมันเอง และมาจากการสั่นภายนอก ความสั่นสะเทือนเหล่านี้ นอกจากมีผลต่อคุณภาพเสียงที่ได้ (แม้ตัวเครื่องจะไม่มีระบบกลไกหมุนใดๆ เช่นเครื่องหลอด แต่ถูกสั่นจากภายนอกอย่างเดียว) ยังลดความแม่นยำของการอ่านสัญญาณจากตัวแผ่น อีกทั้งทำให้ระบบการรักษาความแม่นยำของการอ่านสัญญาณ (SERVO), หัวอ่าน ทำงานหนักขึ้นมาก อายุจึงสั้นลง และมักเสียอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย 3. ระบบไฟ AC ที่ป้อนให้เครื่อง ต้องเต็มอิ่ม และราบเรียบ ไม่เดี๋ยวเกินเดี๋ยวตก อีกทั้งต้องสะอาด ปลอดจากสัญญาณรบกวน (NOISE) เพราะนอกจากบั่นทอนคุณภาพเสียงอย่างมหันต์แล้ว ยังทำให้เครื่องอายุสั้น หม้อแปลงไฟสั่น (ส่งเสียงหึ่งหรือจี่ รบกวน) วงจรอิเล็คโทรนิคส์ จะกลัวไฟตก มากกว่าไฟเกิน ถ้าไฟไม่เสถียร การทำงานก็วอกแวก อะหลั่ยอุปกรณ์ (และมอเตอร์) จะร้อนกว่าที่ควรจะเป็น อายุจึงสั้น 4. การระบายความร้อน นอกจากต้องหาตำแหน่งติดตั้งเครื่องที่มีระบบถ่ายเทอากาศที่ดีแล้ว ยังต้องพิจารณาดูด้วยว่า เครื่องขยายนั้นทำงานแบบ class ไหน (Digital แอมป์และ class D ร้อนน้อยที่สุด, รองลงมา class H, class G , รองลงไป class B, รองลงมา class AB (ค่อนไป B มากกว่า A), รองลงมา class sliding A คือ เป็น class A เมื่อเราเร่งวอลลุ่มต่ำหรือสัญญาณขยายมาต่ำ และ class A แท้ (PURE A) ร้อนสุด กินไฟมากสุด แน่นอน เครื่องยิ่งร้อน อายุยิ่งสั้น ยิ่งพวก PURE A จะร้อนพอๆ กับเตารีด (ประสิทธิภาพทางทฤษฎีได้สูงสุดแค่ 25% หมายความว่า กำลังขับ 25 W จะกินไฟเท่ากับเอาเตารีด 100 W เสียบไฟแช่ไว้) ถ้าผู้ผลิตอยากลดต้นทุน จะใช้อะหลั่ย, อุปกรณ์ขนาดเล็กกว่าที่ควรจะเป็น จึงร้อนและพังเร็ว การระบายความร้อนมีทั้งแบบ PASSIVE (คือไม่ใช้ไฟ) แต่ใช้ครีบอลูมิเนียมในการรับและกระจายความร้อนออกสู่อากาศภายนอก เครื่องดีหน่อยอาจเพิ่มระบบข่องทางลมส่งเข้า-ออก ให้การระบายอากาศคล่องตัว เต็มที่ยิ่งขึ้น (ปัจจุบันแทบไม่มีใครสนใจลงทุนในแง่นี้แล้ว) อีกแบบคือ ใช้ตัวถังอลูมิเนียมของเครื่อง เป็นตัวระบายความร้อน (มักใช้กับ เครื่องเล่น, ปรีแอมป์ หรือเพาเวอร์แอมป์ ดิจิตอล, class D) บางยี่ห้อ ซ่อนครีบระบายไว้ภายในเครื่อง ไม่วางอยู่ภายนอก (ที่อาจบาดมือเวลายกได้) 5. เครื่องขยายที่ภาคจ่ายไฟเป็นระบบ PWM, switching คือแปลงกระแสไฟฟ้า AC ความถี่ต่ำ (เช่น 50/60 Hz) มาเป็นกระแสความถี่สูง (เช่น 80,000 Hz) เพื่อลดขนาดของหม้อแปลงไฟ AC ลง (ช่วยลดขนาดตัวเครื่อง, น้ำหนักเครื่อง) จากนั้นใช้วงจรกรองความถี่สูงนี้ทิ้งให้เป็นแรงดันไฟตรง (DC) ไปเลี้ยงวงจรภาคขยายปกติ 6. เครื่องแอมป์ที่มีภาค DAC ในตัว, เครื่องเล่นไฟล์, เครื่องเล่นแผ่นดิจิตอล, เครื่องรีซีฟเวอร์เซอราวด์, ทีวี LCD, ทีวี OLED ซึ่งทั้งหมดทำงานบนพื้นฐานหลักดิจิตอล ความถี่สูง นอกจากนี้จะอ่อนไหวต่อคลื่น RF กวนจากภายนอก จากกระแสไฟ AC อย่างมาก ทั้งกวนต่อวงจรและตัวโปรแกรมซอฟต์แวร์เอง จึงขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมที่เครื่องเหล่านี้ถูกใช้งาน เช่น แถวนั้น เต็มไปด้วยเครื่องจักร (ปัจจุบันใช้คอมพ์ควบคุม), เต็มไปด้วยคลื่น Wi-Fi (อยู่คอนโด, ห้องเช่า, อพาร์ทเมนต์, ทาวน์เฮาส์, ตึกแถว) ที่หลังคาตึกมีเสาถ่ายทอดคลื่นโทรศัพท์มือถือเป็นแผงเต็มไปหมด มีดวงไฟ LED เยอะ หรือจอภาพโฆษณา LED ขนาดใหญ่ 7. สำหรับท่านที่อาศัยอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า (BTS) จากการทดสอบและรายงานผล ของหน่วยงานที่ไต้หวัน พบว่า “ทุกครั้ง” ที่รถไฟฟ้า BTS จะเริ่มออกวิ่ง จะมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูงถึง 300,000 โวล์ท กระจายออกมา (จากตัวรถ) รอบตัว ในรัศมี 500 เมตร สร้างความกังวลให้แก่รัฐบาลไต้หวันอย่างยิ่ง เพราะการที่ทุกสถานีจะห่างกันประมาณ 500 เมตร นั่นก็หมายความว่า จะมีคลื่น EMF นี้กระจายจากทุกสถานี แทบจะตลอดเวลา ครอบคลุมไปทั่วกรุงไต้หวัน และแน่นอน คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้เป็นตัวทำร้าย DNA ของร่างกายสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทุกรูปแบบ รวมทั้งมนุษย์ (มะเร็ง, อัลไซเมอร์, กลายพันธุ์ ฯลฯ) เครื่องเสียงเอง ก็มีสิทธิ์เดี้ยงหรือเสื่อมได้เช่นเดียวกัน 8. ใครที่นำเครื่อเสียง, ทีวี (LCD), เครื่องเล่น Bluray (BD LIVE) ต่อพ่วงกับระบบ Wi-Fi, LAN เพื่อเข้าสู่การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต จะแน่ใจได้อย่างไรว่า บริษัทผู้ผลิตจะไม่แอบแฮกเครื่องเราเพื่อสั่งให้เสียตรงนั้นตรงนี้ ขนาดโทร.มือถือของเรา ผู้ผลิตยังแอบเชื่อม สั่ง, ควบคุมการทำงานของมือถือเราได้เป็นคนๆ ไป 9. การเสียบสายไฟ AC ของเครื่องแช่ไว้ (เข้าสู่โหมด Stand By) จะเปิด-ปิด (On/Off) ที่รีโมท เป็นไปได้ที่ผู้ผลิตเครื่อง (โดยเฉพาะ จอ LCD ทั้งหลาย) จะแอบใส่วงจร หรือ โปรแกรมแฝงย่อย ให้จะยังคงทำงานนับเวลา (Counting) ไปเรื่อยๆ ไม่หยุด จากไฟ Stand By และเมื่อนับถึงค่าหนึ่งเช่น 6,000 ชั่วโมง ประมาณ 3 ปี จะมีสัญญาณพิเศษหนึ่งไปหยุดการทำงานของเครื่องหรือให้เครื่องหยุดเอง (ตั้งเวลา) เป็นอาการเครื่องเสีย เพื่อขาย SERVICE หรืออะหลั่ย คิดดูว่า ถ้า LCD รุ่น X ขายไป 100,000 เครื่องทั่วโลก อีก 3 ปีจะได้เงินค่าซ่อมเครื่องละ U$50 ก็จะเป็นเงินถึง 5 ล้านเหรียญ คืนกลับมาสู่ผู้ผลิต แล้วถ้า 10 รุ่นละ ถ้าใครจะซื้อการรับประกันเพิ่ม เช่นจาก 1 ปีเป็น 4 ปี ทางผู้ผลิตก็อาจแอบตกลงกับผู้ขาย (เครื่อง+ประกัน) ให้เข้าเมนูพิเศษหรือกดปุ่มพิเศษ (เช่น กดปุ่ม ON แล้วต่อด้วย 3, ต่อด้วย OFF) ก็จะขยายการตั้งเวลาเสียไปอีก 1,000 ชั่วโมง เป็น 9,000 ชั่วโมง (พ้น 1+3 ปี) ด่อยเสีย โดยมีการแบ่งรายได้ค่าประกันระหว่าผู้ผลิตกับผู้ขาย (เครื่อง+ประกัน) เทคนิคการซ่อมของตัวแทนนำเข้า 1. ซ่อมโดยใช้อะหลั่ยแท้ เกรดเดียวกัน 2. ซ่อมโดย วนอะหลั่ย คือตัวแทนนำเข้าจะไม่สั่งอะหลั่ยมาสำรองไว้ แต่จะกันผลิตภัณฑ์รุ่นนั้น ส่วนหนึ่ง เช่น 5% ของยอดขาย ไว้เป็นตัวสำรองอะหลั่ย ถอดไปใส่ซ่อมให้เครื่องลูกค้าต่อไป เครื่องสำรองนี้ก็ยังขายออกตัว เป็นสินค้าเกรด B, C ได้ ดีกว่าจมเป็นอะหลั่ย ขายออกไม่ได้ 3. บางผู้นำเข้า แสบกว่านั้น ไม่กันตัวสำรองเป็นอะหลั่ย หรือกันน้อยมาก อาจแค่ 1% พอมีเครื่องเสียมา ก็จะเก็บแช่ไว้ อ้างว่า รออะหลั่ยแท้จากนอก (ก็ถูกของเขา) แต่จริงๆ คือ รอเครื่องรุ่นเดียวกันเข้ามาซ่อม จะได้แอบถอดอะหลั่ยมาซ่อมตัวแรก แล้วก็ให้ลูกค้าเครื่องที่ 2 รอต่อไป รอเครื่องที่ 3 เข้ามาซ่อม เรียกยำอะหลั่ย 4. ซ่อมด้วยอะหลั่ยบ้านหม้อ อาจจะคัดเกรดดีหน่อยซึ่งก็ไม่ว่ากัน ถ้าเป็นของเกรดเดียวกัน แต่ปกติจะใช้อะหลั่ยทดแทนและเกรดต่ำกว่า ซ่อมแล้วไม่ดีเท่าของเดิมแต่ต้น แต่เขาก็อ้างว่ามันใช้งานได้แล้วก็จบ ลูกค้าทนไม่ไหวก็ขายทิ้งไป ใครมาซื้อต่อก็กรรม ขอเรียนให้ทราบว่า ในวงจรเสียง (อนาลอก) อะหลั่ยเกรดสูงสุด (MILITARY GRADE) กับเกรดแบกับดิน เสียงนี่นรกกับสวรรค์เลย 5. ร้านซ่อมแกล้งเอาเครื่องเราไปดองเป็นปี หรือข้ามปี แล้วอ้างว่าหาอะหลั่ยไม่ได้ (ก็ไม่ได้จริง เป็น IC พิเศษที่ทางโรงงานสั่งโรงงาน IC ทำให้โดยเฉพาะ) จนเราเซ็ง จากนั้นจะเสนอขอซื้อเป็นกึ่งเศษเหล็ก เราก็คิดว่า ดีกว่าทิ้งเป็นขยะเกะกะบ้าน ผู้ซ่อมมักอ้างว่า ให้เราซื้อรุ่นใหม่ ซึ่งแทบไม่ต่างจากค่าซ่อม เราก็โอเค 6. ผู้ผลิต (เมืองนอก) ตัวแสบ ไม่ยอมขายอะหลั่ยให้ตัวแทนนำเข้า แต่บังคับให้ต้องยกแผงเปลี่ยนทั้งหมด ซึ่งตัวแทนก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แม้แต่วงจรก็ไม่ได้มา เจอไม้นี้ลูกค้าก็ถอย สาปส่ง เพราะค่าซ่อม 75-85% ของตัวใหม่ เจอแบบนี้ก็ช่วยกันโพทนาเตือนนักเล่นท่านอื่นๆ ต่อๆ ไป มันไม่ยุติธรรม เหมือนปล้น 7. การซื้อของเก่า (ตกรุ่น, ใช้แล้ว) ก็ต้องดูดีๆ เพราะในอดีต ผู้ผลิตมักเก็บอะหลั่ยสำรองไว้ให้ซ่อมได้ 10 ปี ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 1 ปีก็มี สรุป แง่คิดในกรณีที่ต้องมีการซ่อม 1. พยายามซื้อของจากผู้ที่เป็นตัวแทนนำเข้า (แต่งตั้งจากเมืองนอก เจ้าของสินค้าจริงๆ) (เรียก AGENCY หรือ DISTRIBUTOR) 2. หลีกเลี่ยงผู้นำเข้าที่ไม่ได้เป็นตัวแทนแต่งตั้ง แต่เป็นแค่ร้านค้าปลีก (Dealer) ข้ามชาติเท่านั้น (ขอดูใบแต่งตั้งก็ไม่มีให้ดู) เวลาเกิดอะไรขึ้น เขาไม่มีพลังต่อรองกับทางโรงงานโดยตรง เพราะผ่านแค่ร้านขายปลีกด้วยกันในต่างประเทศ 3. ถึงแม้ซื้อตรงจากการนำเข้าของตัวแทนแต่งตั้งจริง (ซื้อจากร้านค้าปลีก) ก็อย่านอนใจ ตัวแทนนำเข้าที่ลูกเล่นแพรวพราวก็มีให้เห็น นอกจากนั้น ปัจจุบัน เปลี่ยนเอเย่นต์หรือตัวแทนนำเข้าแต่งตั้งเป็นว่าเล่น และในอนาคตจะหนักกว่านี้ การรับประกันการซ่อม, การบริการ ก็อาจเอาแน่นอนไม่ได้เช่นกัน (ตัวแทนใหม่ มักไม่รับผิดชอบสินค้าที่ซื้อจากตัวแทนเก่า) สุดท้าย ขอให้ทุกท่านโชคดี เครื่องไม่เสีย ตัวแทนเอเย่นต์ไม่หลุด...ไชโย
www.maitreeav.com |