|
" ลำโพงยกเข่ง " โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ เมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว ผมมีโอกาสไปบ้านของนักเล่นเครื่องเสียงสูงอายุท่านหนึ่ง (ตอนนั้นท่านน่าจะสัก70ปี) ท่านใช้ลำโพงฟังพร้อมๆ กันทีเดียวร่วม 10 คู่ โดยเรียงตู้ลำโพงวางซ้อนๆ กันเป็นกำแพงลำโพง 2 ข้างซ้าย ขวา นั่งฟังตรงกลางระหว่างกำแพงลำโพง ท่านมีความคิดพิสดารดีว่า ผมไม่ทราบว่าท่านต่อลำโพงอย่างไร น่าจะใช้วิธีต่อ ขนานผสมอนุกรม เพื่อให้ความต้านทานรวมที่ไม่สูง ไม่ต่ำเกินกว่าแอมป์จะขับได้ เพราะดูเหมือนท่านใช้แอมป์ตัวเดียว คือผมฟังแล้ว เสียงมันวุ่นวายสับสนอีรุงตุงนังไปหมด เหมือนจะมาครบทุกเสียง แต่ฟังไม่ได้ศัพท์ และดูกิริยาท่านออกจะอีโก้สูง เลยฟังเฉยๆ ไม่แนะนำอะไรดีกว่า ท่าน 70 เราเพิ่ง 17 ลักษณะการเล่นแบบ กำแพงลำโพง เปิดทีเป็น 100 คู่ มีโหดกว่านั้นมากโดยการสาดเสียงแข่งกัน(ผลัดกันเปิด)ในงาน ฉลองราชสมภพ ร. 9 ทุกวันที่ 5 ธ้นวาคม ของทุกปีที่สนามหลวง ถือเป็นการแข่งโชว์ความดัง ความอึด ของ ชุดเครื่องเสียงออกงานกลางแจ้งของยี่ห้อแต่ละค่าย ทุ่มกันไม่อั้น เพราะถ้าสอบผ่านเต็งหนึ่ง เป็นอันหวังได้ว่า ยี่ห้อนั้น ค่ายโรงงานนั้น จะขายดิบขายดีในปีต่อไป ในวงการลำโพงไฮเอนด์ ก็มีการนำเสนอระบบลำโพงที่ใช้ดอกไม่ใหญ่ (3-4นิ้วช่วงชักลึก) ร่วม 100 ดอกต่อ 1 ตู้ ติดตั้งเรียงกันเป็นแนวเส้นตรงสูง นัยว่าเพื่อให้ตัวตู้มีหน้าแคบที่สุด โดยจะมีทรงตู้เป็นเสาสูงเกือบถึงเพดานห้อง โดยอ้างว่า หน้าตู้แคบ จะทำให้ได้มุมกระจายเสียงกว้างออกรอบหน้าตู้ เหมือนโยนหินลงไปในสระ น้ำจะกระจายออกรอบตัวเกือบ 360 องศา โดยผู้ออกแบบอ้างว่าจะได้เวทีเสียง บรรยากาศ แผ่กว้างโอบล้อมดุจไปฟังการแสดงสด แต่ไม่ได้บอกว่า จะยิ่งกระตุ้นความก้องของห้องฟังให้รุนแรง สับสน ยิ่งขี้น การต่อดอกลำโพงในตู้ จะใช้การต่อ อนุกรมผสมขนาน เพื่อให้ได้ความต้านทานรวม 8 โอห์ม(หรือบางคู่ 4 โอห์ม) เพื่อให้เพาเวอร์แอมป์ขับได้ตามปกติ ข้อเสียของลำโพงระบบหลายดอกเรียงสูงแบบนี้ 1. เนื่องจากใช้ดอกลำโพงมีขนาดเล็ก การขยับเข้า-ออกของกรวยลำโพงจะตื้น เกินกว่าที่จะให้ แรงถีบกระแทกมันส์สะใจของมวลอากาศได้อย่างดอกใหญ่ คงได้แต่ เสียงเดังอื้ออึงจากการใช้ดอกลำโพงมากดอก มีแต่ ความดัง แต่ไม่มีแรงถีบกระแทก เหมือนปั่นจักรยานที่ล้อเล็ก เทียบกับล้อใหญ่ แรงส่งทะยานคนละเรื่อง ( dynamic contrast ไม่กว้าง) เสียงไม่กระเด็นหลุดตู้ออกมาหาเราเท่าที่ควร ออกอาการอั้น ตื้อๆ ( compressed ) 2. ตัวตู้หน้าแคบ ได้มุมกระจายเเสียงกว้าง 360 องศาก็จริง แต่สูง-ต่ำจะไม่มีเท่าที่ควร บรรยากาศไม่ 3 D หรือ holophonic ยิ่งทรวดทรงนักร้อง ชิ้นดนตรีเป็นคนแคระไปหมด ไม่ชัดเจน และบรรยากาศจะพอใช้ได้ ที่ระดับการฟังในแนวนอนระนาบอันหนึ่งเท่านั้น ( เกิดจากการหักล้างกันเองของการเรียงดอกลำโพงในแนวตั้ง) 3. แต่ละดอกลำโพงขณะที่โดมหรือกรวยของมันขยับเข้า-ออก มันจะส่งกระแสไฟฟ้า ย้อนกลับไปป่วนทุกดอกอื่นๆในระบบ (back EMF) ความคมชัด สงัด ช่องไฟ ความเป็นตัวตน จะเสียหมด ยิ่งใช้ดอกร่วมร้อยยิ่งเละ 4. การที่ใช้ดอกขนาดเล็ก ไม่สามารถให้ความถี่ต่ำได้ทำให้ต้องเสริมด้วยระบบซับวูฟเฟอร์ไบแอมป์แยกอีก 1ตู้ (โมโนซับ) หรือ 2 ตู้( สเตอริโอซับ ) วุ่นวาย แพงขึ้นอีกมากโดยไม่จำเป็น แถมทำลายความเป็นจุดกำเนิดเสียงเดียวกันของทุกๆความถี่เสียง ( point source) ทรวดทรง มิติเสียง เสียหายหมด แถม สรุป ข้อดีที่ว่า ใช้ดอกลำโพงเล็กหลายดอกทำให้กรวยขยับเข้าออกได้ฉับไวกว่าดอกใหญ่ที่อุ้ยอ้าย มันก็จริง แต่ต้องแลกด้วยข้อเสีย 4 ข้อ ซึ่งไม่คุ้มเลยอย่างยิ่ง แถมแพงโดยไม่จำเป็น www.maitreeav.com |