000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > ลำโพงฝังฝา...น่าเล่นไหม
วันที่ : 25/01/2016
7,066 views

ลำโพงฝังฝา...น่าเล่นไหม

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ความคิดเรื่องการฝังลำโพงแนบไปกับฝาบ้าน หรือแม้กระทั่งเข้ามุมห้อง ไม่ใช่เรื่องใหม่ ร่วม 50 ปีก็มีการทำมาแล้ว ในยุคที่ยังไม่มีการนำเสนอระบบลำโพงแบบตู้ปิด(ACOUSTIC SUSPENSION โดยบริษัท Acoustic Research หรือ AR) ก็มีการนำดอกลำโพงมาติดปะยึดกับฝาห้อง โดยอาศัยความกว้างใหญ่ของฝาช่วยป้องกันคลื่นอากาศจากหน้าดอกลำโพงย้อนกลับไปหักล้างกับคลื่นอากาศหลังดอกลำโพง(PHASE CANCELLATION) จนเสียงค่อยลงมากโดยเฉพาะช่วงความถี่กลางต่ำลงต่ำ จนมักเหลือแต่เสียงกลางสูงกับสูงที่มุมการยิง เสียงแคบกว่าจนเกือบเป็นเส้นตรง ตั้งฉากกับระนาบหน้าดอกลำโพง ไม่กระจายอ้อมไปด้านหลังดอกลำโพง เหมือนช่วงความถี่ต่ำลงต่ำ

       เมื่ออาศับฝาบ้านทั้งฝาก็หมายความว่า ใช้อีกห้องที่อยู่หลังฝานั้นเป็นตู้ลำโพงยักษ์มีปริมาตรมหาศาล จนแรงอัดอากาศภายในห้องไม่สามารถช่วยรองรับหรือผ่อนคลายการขยับเข้า-ออกของกรวยดอกลำโพงได้เลย(ซึ่งตู้ลำโพงแบบปิด หรือ Acoustic Suspension มีปริมาตรจำกัด ไม่ใหญ่นัก อาศัยแรงอัดอากาศช่วยลดการ “กระโชก” ของกรวยลำโพงได้)

       ถ้ากรวยลำโพงขยับเข้า-ออกได้คล่องตัวและง่ายดายเกินไป เมื่อใช้แบบฝังฝา กรวยจะขยับเข้า-ออกอย่างรุนแรงมาก จนประคองตัวเองไม่อยู่ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ดอกลำโพงในอดีต 40-50 ปีที่แล้วจึงต้องทำให้กรวยแข็งมาก(เป็นกรวยกระดาษที่หนัก) ขอบกรวยตึงตัว(เป็นกระดาษลูกฟูกลอนหรือผ้าเหนียวชุบ) บางทีกดแทบไม่ลง ซึ่งจะทำให้กินวัตต์มาก ก็แก้โดยใช้แม่เหล็กขนาดใหญ่(สมัยนั้นยังไม่มีแม่เหล็กแรงสูงมากๆอย่างสตรอนเตรี่ยม, แบเรี่ยมเฟอไรท์, อัลนิโค หรือนีโอไดเมี่ยม เป็นแค่แม่เหล็กเฟอไรท์ธรรมดา) ดอกลำโพงในอดีตจึงมีขนาดใหญ่และโครงเหล็กหล่อ แม่เหล็กใหญ่ลึก(ข้อดีของกรวยลำโพงที่ตึงตัวมากๆอีกข้อคือ ช่วยให้ลำโพงกระชับตัวได้ดีขึ้น ชดเชยกับเครื่องขยายเสียงแบบหลอดที่ใช้หม้อแปลงขาออก ทำให้หมดความสามารถในการหยุดการสั่นค้างของกรวยลำโพง(ค่า DAMPING FACTOR ต่ำแค่สิบกว่า)

ระบบลำโพงแบบฝังฝาอย่างนี้ ผมเคยฟังเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว สมัยอยู่มหาวิทยาลัยปี 1 ที่บ้านของอาจารย์สาคร เลื่อนฉวี ปรมาจารย์เครื่องเสียงของไทยในยุคนั้น(ตอนนั้นท่านอายุประมาณ 72 ปีแล้ว ผมถือเป็นอาจารย์เครื่องเสียงคนแรกของผม) ถ้าผมจำไม่ผิด ท่านใช้ดอกลำโพง JBL 15 นิ้ว 2 ตัว, กลางแบบปากแตร ดอกกลางแม่เหล็กขนาดใหญ่, ดอกแหลมก็ JBL ใช้เพาเวอร์แอมป์ PHASE LINEAR 700 w.(350 w.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม), กับเพาเวอร์แอมป์อื่น จำไม่ได้ว่าเป็นอะไร แต่กำลังขับสูง ขับแบบไบ-แอมป์ เล่นจานเสียง ฝาห้องที่ติดลำโพงเป็นฝาระหว่างห้องฟังของท่าน(กว้าง 2 ตึกแถว น่าจะประมาณ 8x12 เมตร)กับห้องนอน เราสามารถเดินไปดูหลังดอกลำโพงที่ห้องนอนได้ เวลาท่านเปิด ความดังระดับโรงภาพยนตร์กันเลย เรียกว่าตะโกนคุยกันไม่ได้ยิน พอปิดแล้วหูอื้อ ไม่ได้ยินเสียงดังลั่นของแอร์แบบหน้าต่างของท่านเลย

       ข้อดีของลำโพงแบบฝังฝาก็คือ

1. ไม่ต้องมีตู้ให้เกะกะ เราจะใส่ดอกลำโพงใหญ่มโหฬารแค่ไหน กี่ดอกก็ได้แทบไม่จำกัด จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู่ที่ชอบเปิดดังมากๆ ระดับเธค หรือโรงหนัง ถ้าไม่กลัวข้างบ้านเรียกตำรวจมาจับ หรือไม่กลัวหูแตก

2. ตัดปัญหาต้องวิ่งหาขาตั้งลำโพงดีๆ ในกรณีใช้ตู้ลำโพงแบบวางหิ้ง หรือหาทิปโทเดือยแหลมมาวางใต้ตู้(ซึ่งทั้ง 2 อย่างหาดีจริงๆยากมาก พอๆกับงมเข็มในมหาสมุทร) เนื่องจากเราใช้ “กำแพง” เป็นที่ยึดอกลำโพง จะมีอะไรแกร่ง, นิ่ง, ตาย, หนักเท่ากำแพงปูนได้อีก(จะทำให้กำแพงแกร่งแค่ไหนก็ได้)
ไม่ต้องขนตู้ขนาดใหญ่ที่บางตู้หนักเป็นร้อยๆกิโลกรัมต่อข้าง แค่ขนส่ง แบกขึ้นบ้านก็สลบแล้ว

3. สะดวกในการดัดแปลงแก้ไขระบบลำโพง เพราะสามารถเข้าถึงสาย, ดอกลำโพง, แผงวงจรจากหลังกำแพงได้ทันที อีกทั้งจัดวางแยกสาย, วงจรไม่ให้กวนกันได้ง่าย

4. แผงวงจรแบ่งเสียงจะอยู่ได้นิ่งที่สุด ส่วนใหญ่จะไม่มีใครนึกถึงว่า การสั่นสะเทือนต่อแผงวงจรได้บั่นทอน คุณภาพเสียงและมิติเสียงมากมายแค่ไหน

5. กรณีเล่นลำโพงหลายทางจะสะดวกมาก จะเพิ่มกี่ทางกี่ดอกก็ได้ ได้ตั้งแต่ดอกเดียว FULL RANGE, 2 ทาง, 3 ทาง หรือ 4 ทาง(โดยติดดอกซับแยกซ้าย, ขวาได้เลย และอยู่ชิดติดกับดอกทุ้ม, ดอกกลางแหลม, ดอกแหลมได้ ทำให้เพิ่มความเป็นจุดกำเนิดเสียงเดียวกัน(POINT SOURCE) ได้ใกล้เคียงที่สุดกว่าแยกตู้ซับห่างออกไป)

6. จากการใช้ “ห้อง” ที่อยู่หลังกำแพง(ที่ติดดอกลำโพง) เป็นตู้ลำโพงมหึมา จึงตัดปัญหาคลื่นอากาศวิ่งวนกระแทกกันเองหลังดอกลำโพงอย่างการมีตู้

7. สามารถใช้ดอกลำโพงที่ขอบตึงตัวมากๆได้ เช่นพวกลำโพงที่ใช้กับงานคอนเสริท(PA) จึงได้ค่า DAMPING FACTOR ที่สูงได้ แม้เครื่องขยายจะมีค่า DF นี้ต่ำหรือสูงไม่พอ ทำให้ได้เสียงที่กระชับ(แต่ก็ต้องปรับแต่งดีๆ ไม่อย่างนั้น กระชับ, ห้วน มากไปจนออก แข็ง, กร้าว)

8. เหมาะกับผู้ที่ชอบลอง, ดัดแปลง, ตัดต่อ

9. ประหยัดค่าตู้อย่างมหาศาล ลำโพงขนาดใหญ่ๆประเภทสูงถึง 1.5 เมตร มักแพงที่ตัวตู้อย่างมากๆ ไหนจะค่าวัสดุ ค่าแรงตกแต่ง ค่าขนส่ง ค่าภาษี เป็นไปได้ที่ค่าตู้อย่างเดียวก็ 50-60% ของค่าลำโพงทั้งระบบแล้ว ตู้ใหญ่ๆเกะกะ วันหน้าจะออกตัวขายต่อก็หาคนใจถึงมาซื้อยาก นอกจากต้องตัดใจขายถูกมาก ขาดทุนกันทีถึง 50%

10. สามารถนำเครื่องขยายไปวางหลังใกล้ชิดกับลำโพงได้ เพราะมีที่วาง “ทั้งห้อง” ประหยัดค่าสายลำโพงยาวๆ สายลำโพงประเภทซุปเปอร์ไฮเอนด์ มักใหญ่มาก เกะกะ และแพงกว่าสายสัญญาณ(INTERCONNECT) ระดับกลางหรือไฮเอนด์ไม่มาก สายลำโพงใช้วัสดุมากกว่ามาก จึงแพงกว่า(ถ้ากำแพงลำโพง แข็งแกร่งมากๆจริง เราสามารถทำช่องชั้นวางเครื่องเล่น, อินทริเกรทแอมป์ล ปรีแอมป์ เจาะเข้าไปหรือทำชั้นวางที่ “กำแพง” ได้เลย ยิ่งประหยัดทั้งสายสัญญาณ และสายลำโพง(สายทั้งสองนี้ดีๆระดับไฮเอนด์ที่เขาเล่นกัน ชุดหนึ่งๆหลายๆหมื่น เป็นแสน หรือหลายแสน, เป็นล้านก็มี คิดดูว่าจะประหยัดได้มหาศาลขนาดไหน)

11. กรณีของการดูหนัง(โฮมเธียเตอร์) สามารถฝังลำโพงเซนเตอร์ไว้ที่กำแพงเหนือจอได้เลย หรือแม้แต่เครื่องปรับอากาศก็เกาะอยู่ด้านบนกำแพง เหมือนลำโพงเซนเตอร์ได้(ขอย้ำว่า ผมหมายถึงการทำ “กำแพงลำโพง” ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้น)

12. กรณีที่ “ห้องหลังกำแพง” เป็นห้องลำโพง โดยเฉพาะไม่ใช่ห้องอื่นในบ้าน เราอาจบ้าเลือดทำระบบซับแบบฮอร์น(ปากแตร) ด้วยตู้ปูนหลังกำแพงก็ยังได้ อย่างที่ห้องฟังที่บ้านของ ปรมาจารย์นักออกแบบเครื่องเสียงไฮเอนด์ จอห์น เคิล ที่ทำตู้ฮอร์นซับขนาดคนเดินเข้าไปได้ ลงได้ต่ำถึงระดับ 20 Hz
(ถ้าใช้ดอกซับของ EMINENT TECHNOLOGY ระบบใบพัด ซึ่งต้องทำตู้ให้มันแบบกำแพง+ห้อง จะลงได้ถึง 0 Hz หรืออย่างไม่ได้ก็ 16 Hz ที่ระดับความดัง 117 dB SPL ตั้งแต่ 40 Hz ลงมา !!)
(เรื่องตู้ซับแบบหล่อปูน ผมเคยฟังสมัยเธคเฟื่อง เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ที่โรงแรมราชา สุขุมวิทย์ เพื่อนไปทำระบบเสียง ใช้ตู้ซับ PA ของ JBL(น่าจะ 15 นิ้ว 2 ดอกต่อ 1 ตู้) พอสอดตู้ลงไปในช่อง(ปลอก)ที่เป็นตู้ปูนคับพอดีเป๊ะ เสียงทุ้มเร็วขึ้น, กระชับขึ้น, กระแทกขึ้นอย่างฟังออกได้ชัดมาก หรือรถกระบะโชว์พลังเบสของร้านร็อคเก็ตซาวด์ที่ตัวถังห่อหุ้มหล่อด้วยปูน!! แล้วยัดซับเข้าไป พูดง่ายๆว่า ซับนับสิบๆดอกตู้ปูน เสียงที่ได้ทุ้มฉับไวระดับบเสียงแหลมกันเลย มันกระชับสุดๆ และยิงเสียงได้ไกลมาก โดยไม่ต้องอัดกันจนตู้โป่งแบบตู้ไม้ธรรมดา(รถคันนี้หนักหลายตัน กวาดรางวัลจนนับไม่ไหว) 

เมื่อมีข้อดี ก็ต้องมีข้อเสีย(ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบไปหมด)

1. การทำกำแพงลำโพงน่าจะไม่หมู คงวุ่นวายน่าดู ต้องปรึกษาช่างก่อสร้างให้เข้าใจกระจ่างจริงๆ

2. ไม่เหมาะกับผู้ที่งบจำกัดมากๆ

3. อาจถูกเมียด่าว่า “บ้า” วุ่นวายกับห้องนอน คงต้องย้ายห้องนอนไปนอนห้องลูก หรือห้องรับแขกชั่วคราว และเวลาฟังเพลง ก็รบกวนคนในห้องนอนด้วย

4. การติดตั้งดอกลำโพงบนกำแพงเรียบเสมอกันหมด เสียงทั้งหมดจะถูกยิงตรงตั้งฉากกับผิวกำแพงเลยพ้นหูไป ไม่ยิงมาตัดกันหน้าเราเหมือนการใช้ตู้ลำโพงที่จัดวางเอียงได้ ผลคือ ไม่ได้ทรวดทรงของชิ้นดนตรี น้ำเสียงเพี้ยน จะฟังฟุ้งกระจายไปหมด(นอกจากช่วงความถี่ต่ำๆที่มีมุมกระจายเสียงกว้างกว่าช่วงกลางและสูง) เวทีเสียงจะกว้าง “ทั้งปี” (ซึ่งไม่สมจริง) ขาดลำดับชั้นตื้นลึก(PERSPECTIVE)

5. การสะท้อนจากหน้ากำแพง จะป่วนทั้งสุ้มเสียง, มิติเสียง, เวทีเสียง, และบรรยากาศ, รายละเอียดหยุมหยิม, การสวิงดัง-ค่อยของเสียง

6. ทั้งข้อ 5 และ 6 บางคนใช้วิธีหา EQUALIZER มาช่วยตกแต่งเสียงแก้ไข แต่จริงๆจำไม่ได้ผล เพราะปัญหามันไม่นิ่ง(ขึ้นอยู่กับว่า เสียงนั้นๆดังหรือค่อยแค่ไหน อย่างไร คุณสมบัติของดอกลำโพงที่ใช้(ความฉับไว), ความถี่อะไร) จะแก้ด้วยการปรับแล้วคงไว้(นิ่ง)ไม่ได้ อีกทั้งตัว EQ เองก็เติมปัญหาลงไปอีกกับความบริสุทธิ์ของเสียง, มิติเสียง ต่อให้ DIGITAL EQ ก็แก้ไม่ได้และจะเลวร้ายกว่า ANALOGUE EQ ด้วย

7. การต้องเลือกใช้ดอกลำโพงที่การขยับตึงตัวที่สุดพวก PA โดยเฉพาะดอกกลาง, ดอกทุ้ม, ดอกซับ จะหาแอมป์เข้ายาก ที่จะไม่ให้เสียงกร้าวแข็ง การติดตั้ง เดินสายต่างๆ ถ้าไม่เนี้ยบ, รู้จริง จะยิ่งซ้ำเติมความกระด้างแข็ง อีกทั้งปัจจุบัน เทคโนโลยี่ของดอกลำโพง PA มักเน้นความทนเป็นหลัก ไม่เน้นความเที่ยงตรงสุดๆของเสียงอย่างดอกลำโพงไฮ-ไฟในบ้าน

8. การแก้ปัญหามุมกระจายตามข้อ 4 โดยการใช้ปากแตร(ฮอร์น) ก็พอได้แต่ก็ไม่ได้ตลอด บางครั้งจะออกมาโอเค แต่บางครั้งก็ไม่ได้ พูดง่ายๆว่าไม่สมบูรณ์แบบ ได้บ้าง, เสียบ้าง, วอกแวก ไม่นิ่ง ยังไม่นับการออกแบบปากแตรที่ไม่ดีจริง(ยาก) ก็จะกลับก้องเสียง ทำลายมิติ, ทรวดทรง, เวทีเสียง, ความดัง-ค่อยที่ไม่เป็นธรรมชาติ เสียงทุ้ม, กลาง, แหลมที่มาไม่พร้อมกัน

9. การแก้ปัญหาด้วยการออกแบบกำแพงทำเป็นมุมเอียงเหมือนเอียงลำโพง จะช่วยได้มาก แต่ก็จะลงทุนสูงขึ้น และผิวหน้ากำแพงก็ต้องบุด้วยวัสดุซับเสียงอย่างเต็มที่ลดการสะท้อนจากผิวกำแพง ตัววัสดุซับเสียงนี่ก็มีผลอีก หายากมากของดีๆ(อย่าง SONEX) ก็แพงจับใจ เฉพาะ 1 ฝากำแพงก็หลายหมื่นบาท!(ฟองน้ำ SONEX 1 ศอก x 3 ศอก แผ่นละ 6,000 บาท!) อย่าคิดว่าจะใช้พวกไม้ระแนงมาตีด้านหน้าหลังแล้วอ้างว่า แก้อคูสติกได้ ของแข็งย่อมไม่สามารถดูดซับเสียงได้ นอกจากตีเสียงโด่ง ให้ฟุ้งกระจายเป็น “ฝุ่นเสียง” ที่โด่งน้อยกว่าแต่กระจายไปตลอดช่วงความถี่กว้างขึ้น

แล้วทางออกละ

จะเห็นว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสียของการเล่นลำโพงระบบฝังกำแพง ข้อดีนั้นก็น่าคิดน่าลองมาก แต่ข้อเสียก็น่าจะไม่เบาเอาเลย

       ทางออกคือ เล่น “ลูกผสม” ตัดเฉพาะช่วงเสียงต่ำหรือซับ ใช้ระบบตู้กำแพงขณะที่ช่วงเสียงอื่นๆที่เหลือใช้ระบบตู้ลอยตัวปกติ ด้วยวิธีนี้ คุณจะได้ระบบเสียงที่ไม่แพงจนบ้าเลือด ขณะที่ให้ความมหัศจรรย์ของเสียงอย่างที่คุณไม่มีวันจะได้ยินจากระบบอื่นใดนอกเหนือไปจากวิธีนี้!

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459