|
สเปคที่ถูกมองข้าม โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ มีข้อมูล การวัด และระบุสเปค ของปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์ , อินทริเกรตแอมป์ , เครื่องเล่น CD (DVD/BD) , ภาคจานเสียง , แม้แต่ภาครับวิทยุ มีอยู่ 2-3 สเปคที่แม้ระบุบอกมา แต่คนส่วนใหญ่แม้แต่นักเล่นมักมองข้าม ไม่สนใจ คิดว่าไม่จำเป็นต้องสนใจ ซึ่งจริงๆแล้ว มีความสำคัญต่อเสน่ห์ของการฟังอย่างมาก การแยกสเตอริโอ ( STEREO SEPARATION หรือ CROSS TALK ) เป็นตัวบอกว่า สัญญาณซีกซ้ายไปรั่วออกสัญญาณซีกขวามากน้อยแค่ไหน ถ้ารั่วออกน้อย ก็แสดงว่า ซีกที่ไม่ได้ป้อนที่รั่วนั้นดังค่อยลงไปกว่าอีกซีกที่ป้อนจริงๆ ขนาดไหน เช่นถ้าระบุว่า 80 db ก็แสดงว่า ที่รั่ว ค่อยลงไปกว่าซีกป้อนจริง 80 db นั่นแสดงว่า ตัวเลขยิ่งมาก ยิ่งดี สำหรับภาครับวิทยุ FM สเตอริโอ มัลติเพลคซ์ ก็ประมาณ 60-70 db เทปคาสเซท ก็พอๆ กัน เครื่องเล่น CD ได้ 80-95 db ภาคขยาย 70-100 db ในสายตานักเล่นทั่วไป หรือแม้แต่นักวิชาการด้านไฟฟ้า มักคิดว่าแค่ 65-70 db ก็โอเคแล้ว ฟังชัดแล้วว่าเป็นสเตอริโอ มีแยก ซ้าย-ขวาได้ จริงๆแล้ว เราพบว่า การแยกสเตอริโอยิ่งดีแค่ไหน (ตัวเลขระดับ 90 db ) ต้องตลอดทุกความถี่เสียงด้วย ยิ่งให้ความรู้สึกว่า เวทีเสียง มันกว้าง โอ่อ่า บางครั้งถึงกับโอบกอดมาด้านซ้ายหล้ง ขวาหลัง น้องๆ เซอร์ราวด์รอบทิศทางกันเลย ตัวเราจะเหมือน “ จม ” อยู่ใน “ บรรยากาศ ” ขณะเดียวกัน มิติเสียงจะชัดและนิ่งกว่า ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งบวม มันให้ความรู้สึกการแสดงสดได้ดีมาก อัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวน ( SIGNAL TO NOISE RATIO ) หรือ S/N ค่าสเปค S/N เป็นตัวบอกว่า เสียงรบกวนดังค่อยลงไปกว่าเสียงจริงขนาดไหน ตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี ปกติเชื่อกันว่าได้สัก 70 db ก็น่าจะพอเพียงแล้ว คาดหวังได้ว่าจะไม่ได้ยินเสียงรบกวนแล้ว เงียบแล้ว ในความเป็นจริง เราพบว่า ตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี ควรได้สัก 85 db ขึ้นไป ถ้าถึง 100 db หรือกว่านั้นยิ่งวิเศษ และที่สำคัญ ต้องทำได้ดีแทบตลอดทุกความถี่เสียงด้วย ไม่ใช่แค่ ความถี่กลางๆ อย่างเดียว ภาคขยายประเภท CLASS D หรือ DIGITAL AMA มักได้แค่ 70-75 db เนื่องจากการทำงานสลับที่ความถี่สูงมากๆ ความถี่เหล่านี้จะแพร่ออกมากวนแม้หูจะไม่ได้ยิน แต่อุปกรณ์อีเล็คโทรนิคส์ต่างๆมันรับรู้ได้ ( การทำงานจะผิดเพี้ยน ส่งความเพี้ยนนั้นผ่านในรูปเสียงให้เรารับรู้ได้อีกทอด ) ค่า S/N ระดับ 90-95 db ขึ้นไปเราจะรู้สึกว่า ไม่ใช่แค่เงียบ ปลอดจากเสียงรบกวน หากแต่มันเป็นอะไรที่ยิ่งกว่าเงียบ คือ สงัด ดุจบรรยากาศอันสงัดเงียบตอนกลางคืนเวลา ตี2-ตี3 ทำให้เวลามีดนตรีดังขึ้นมา มันจะเหมือน “หลุด” ออกมาจากฉากที่ดำมืดสนิท จึงให้ความรู้สึกที่แจ่มชัด,ตื่นตัว เหมือนคนนั่งสมาธิขั้นต้น เวลามีอะไรดัง จะเหมือนดังกว่าปกติได้ คือทำให้การฟังเพลงนั้นมีสมาธิยิ่งขึ้น เหมือนฟังเครื่องปรับอากาศ ปกติเราก็ว่าเงียบดี ไม่ได้ยีนเสียงเครื่องปรับอากาศอะไร แต่ลองเดินไปปิดเลย เราจะรู้สึกว่า มันเงียบสงัดกว่า ทำให้เราเก็บเกี่ยวรายละเอียดหยุมหยิม หางเสียง ความกังวาน ความเป็นตัวตน ( 3D ) ของเสียงได้ดีขึ้น เสียงสวิงจากค่อยสุดไปดังสุดได้กว้างขึ้น เวทีเสียงเกลี้ยงสะอาด ปราศจากม่านหมอก ดูโปร่งทะลุและเข้าถึง แม้แต่ระบบลำโพงซึ่งไม่มีภาคขยายใดๆ ก็ยังฟังออกว่าเสมือนค่า S/N ดีขึ้น ถ้าเราได้ฟัง ทดสอบทิสทางสายต่างๆภายใน,ทิศทางชิ้นส่วนบนแผงวงจรแบ่งเสียง. แยกสายไม่ให้แตะต้องกัน, หนีห่างพวกขดลวด, ตูดแม่เหล็กดอกลำโพง,ทำตัวตู้ให้นิ่งขึ้น.ค่าอุปกรณ์ซีกซ้าย-ขวาให้เท่ากันเป๊ะ (MATCHED PAIR ) ทั้งหมดช่วยให้ค่า S/N ดีขึ้นได้ (ตรงนี้ไม่มีใครคิดถึง) การสวิงเสียงจากค่อยสุดไปดังสุด (DYNAMIC RANGE ) ( DR ) ปกติค่า DR จะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ DYNAMIC CONTRAST (DC) และ GROSS DYNAMIC RANGE ( GDR ) อย่างแรก DC เป็นตัวบอกว่า สามารถให้เสียงค่อยสุดจนถึงดังสุด ได้เป็นลำดับไล่เรียงกันไปกี่ระดับ ถ้าแค่ค่อยสุด ดังปานกลาง ดังสุด ก็แค่ 3 ระดับ เสียงที่ดังอยู่ระหว่างรอยต่อระดับหรือในระดับเดียวกันจะฟังแยกแยะไม่ออกว่าดังต่างกันอย่างไร เรียกว่า RESOLUTION ต่ำ แค่ 3 ระดับ แต่ถ้าสามารถแยกแยะได้ 10 ระดับ จากค่อยสุดไปค่อยมาก, ค่อยเกือบปานกลาง, ดังปานกลางแต่อยู่ต่ำ, ดังปานกลาง, ดังปานกลางค่อนสูง, ดังมากแต่อยู่ต่ำ, ดังมาก, ดังมากค่อนสูง, ดังสูงสุด, (รวมมี 10 ระดับ) ก็จะบอกได้ว่า เสียงนั้นๆดังอยู่ระดับไหนใน 10 ระดับ( ไม่ใช่ในแค่ 3 ระดับหยาบๆ ) คล้ายระบบภาพที่ 10 บิท ย่อมดีกว่า 3 บิท ข้อดีคือ จะสามารถถ่ายทอดอากัปกิริยา ลีลา การสอดใส่อารมณ์ของนักร้อง, นักดนตรีได้ดีกว่ามาก มีวิญญาณ มีชีวิตชีวากว่า อีกประการคือ จะช่วยแยกแยะแต่ละเสียง ให้สังเกตแต่ละเสียงได้ชัด, นิ่งขึ้น แม้ในช่วงโหมดนตรีหลายๆชิ้น พร้อมกัน เครื่องเสียงระดับกลางลงล่างจะให้ค่า DC ได้น้อย ยิ่งระดับล่างถูกๆยิ่งน้อยมากจึงฟังแล้วไม่มีจิตวิญญาณ เราไม่รู้สึกปากอยากขยับตาม แย่หน่อยที่การจะทำให้ได้สเปค DC มากๆเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยากมากๆ ต้องเข้าใจและพิถีพิถันทุกขั้นตอนการออกแบบและแม้แต่การผลิต ค่า GDR เป็นการสวิงเสียงจากค่อยสุดไปดังสุดได้กว้างแค่ไหน ปกติ 75-80 db เครื่องเล่น CD ดังๆได้เป็น 100 db ข้อดีคือ ทำให้ได้เสียงกระหึ่ม ไม่รู้สึกอั้นหรือตื้อ ( SATURATED ) กระหึ่มตูมตามได้ระดับการแสดงสด เครื่องเสียงที่แย่ๆ นอกจากค่า GDR จะต่ำแล้ว บางครั้งสวิงไม่ออกจนยอดคลื่นหัวขาด กลายเป็นเสียง แจ๋น, จ้าน, กร้าว, แผด, แสบหู, แข็งกระด้าง, ไม้หน้าสาม, เหมือนมีใครฉายสปอร์ตไลท์เข้าตาเราทุกครั้งที่ดังสุด เรียกว่าเกิดการยอดหัวขาดหรือ CLIPPING นอกจากเสียง อั้น, ตื้อ ที่ทำให้หูเกร็ง, เครียด อาการ CLIPPING ยังทำให้หูล้า เสียงเป็นอีเล็คโทรนิคส์ ขาดรายละเอียด ขาดการผ่อนคลาย มิติทรวดทรงชิ้นดนตรีบิดเบี้ยว, แบน,สเกล (ขนาด) ผิดเพี้ยน วอกแวก ไม่นิ่ง ช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีในวงไม่เกลี้ยงสะอาด เพราะเต็มไปด้วยเงาเสียงจากการวอกแวกของตำแหน่งชิ้นดนตรีทั้งหลาย ช่วงโหมจะฟังมั่ว ถอยจม ไม่แยกแยะเป็นชิ้นเป็นอัน ดูเป็นพรืดไปหมด นี่เป็นแค่ตัวอย่าง 3 สเปคที่น้อยคนนักที่จะเข้าใจ เข้าถึง ตีบทแตก สามารถนำสิ่งที่ได้ยินมาอธิบายด้วย สิ่งที่ไม่ได้ยิน จริงๆแล้ว สเปคทุกตัวสามารถ แปล ความหมายให้อยู่ในรูปของสิ่งที่ได้ยินจริงๆ รู้สึกจริงๆได้ทั้งนั้น ทุกตัวมีบทบาท, ความหมายมากกว่าที่คนส่วนใหญ่คาดถึง นักออกแบบเครื่องเสียงที่เก่งจริง จะต้องสามารถเข้าใจ เข้าถึงแก่นและความโยงใยเหล่านี้กับความรู้สึกจริงๆของมนุษย์ ( ดีที่สุดต้องได้ทั้ง CONCIOUS และ SUBCONCIOUS คือทั้งระดับจิตสำนึก และ จิตใต้สำนึก เรียกว่าขาใจเครื่องเสียงระดับปรมัตถ์กันเลย! ) www.maitreeav.com |