000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > ติเพื่อก่อ > การตลาด (ขายให้เป็น) > ค้าขายเครื่องเสียงและภาพ.....ธุรกิจลำเค็ญ
วันที่ : 29/01/2016
8,520 views

ค้าขายเครื่องเสียงและภาพ.....ธุรกิจลำเค็ญ

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ในแง่ของผู้บริโภค คงมองธุรกิจค้าขายเครื่องเสียงและภาพว่าดูดี ได้อยู่กับเสียงเพลง ได้ดูหนัง อยู่ห้องแอร์ตลอด สินค้าสะอาด หรูถึงสุดหรู ไม่สกปรกซกมก ได้ขึ้นห้าง ได้พูดจาพบปะผู้คนที่มีระดับ ขายของมีราคาสูง กำไรคงดี พูดง่ายๆว่า เป็นธุรกิจที่น่าเชื่อถือ หรูดูดีไปหมด

       แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย บทความนี้จะนำมาแฉให้ฟังกันอย่างหมดเปลือก จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่อยู่ในวงการนี้มาเกือบ 40 ปี

       ลองไล่กันจากต้นน้ำคือ ผู้สั่งเข้าหรืออิมพอร์ตเตอร์ วิบากกรรมที่ต้องเผชิญคือ

1.    การรับตัวเลขยอดขายจากเมืองนอก เพื่อจะได้เป็นเอเย่นต์หรือเพื่อให้เมืองนอกเปลี่ยนเอเย่นต์เก่า ยกมาให้เรา
              ถ้าสินค้าแบรนด์เนมดังแบบขายเยอะขายทั่วโลก ตัวเลขที่ต้องรับจะเยอะมากกว่าพวกสินค้าไฮเอนด์(ถ้านับจำนวนชิ้นจะยิ่งมหาศาล)

              กรณีที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น เมืองนอกก็จะขอขึ้นราคาสินค้าพูดง่ายๆว่า(พวกมัน)ไม่ยอมเสียเปรียบเลย

              บางยี่ห้อ(พวกแบรนด์เนมระดับที่ขายทั่วโลก)แสบมากๆ พอมีรุ่นใหม่ ตระกูลใหม่ จะแค่แจ้งว่าจะมีออกมา ไม่มีแม้แต่รูป, สเปค, หรือแม้แต่ราคาหรือตัวอย่างให้ลองสั่งมาดูลาดเลาก่อน พูดอย่างเดียวว่า ทางเราจะสั่งกี่ตัว อะไรบ้าง จนผู้เขียนต้องเตือนสติตัวแทนในไทยว่า ตกลงนี่คุณเป็นผู้ร่วมธุรกิจกับเขา หรือเป็นทาส(มัน)กันแน่! (ยี่ห้อนี้เดี๋ยวนี้กำลังจะสูญพันธ์ไปจากเมืองไทยแล้ว สมน้ำหน้า)

              บางนี่ห้อ ส่งเงินเปิดออร์เดอร์ไป ปรากฏว่าโรงงานเจ๊ง เป็นอันว่าสูญเงินฟรี ยิ่งตอนนี้ต้องระวังให้หนัก เศรษฐกิจยุโรป, อเมริกากำลังเป็นง่อย รอวันล่มสลาย อย่าคิดว่าฝรั่งโกงหรือเจ๊งไม่เป็น

              ทางเราหลงปั้นสินค้าจนดัง ภาพพจน์ดูดี ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี เสียเงินค่าโฆษณาไปมหาศาล แต่แล้ววันดีคืนร้าย เมืองนอกขายกิจการให้นายทุนอื่น แล้วก็มาตัดเอเย่นต์เรา หรือลดเกรด, ภาพพจน์สินค้าลงสู่ระดับแบกับดิน จากผู้ผลิตสินค้าเฉพาะอย่างเช่น ลำโพงบ้านคุณภาพสูงมาช้านานเกือบ 100 ปี ก็หันมาขายพวกสาย, หัวแจ๊ค, เครื่องเคียง ฯลฯ ทำลายภาพพจน์เดิมจนหมดสิ้น แถมตัวผลิตภัณฑ์เองก็ลดคุณภาพสู่ระดับล่าง แบบนี้ไม่เลิกเป็นเอเย่นต์ก็บ้าแล้ว

2.    เรื่องภาพพจน์ของสินค้านี้ พวกเอเย่นต์ผู้นำเข้ากลัวกันมาก บางยี่ห้ออุตส่าห์สร้างภาพอย่างเหนียวแน่นว่า “ทำในเยอรมัน(MADE IN GERMAN)”, หรือ “ทำในอเมริกา(MADE IN USA)” ก็มาเป็น MADE IN CHINA(ทำในจีน), MADE IN ROC(ROC ก็คือสาธารณรัฐประชาชนจีน) หรือเลี่ยงว่า DESIGN IN GERMANY(ออกแบบในเยอรมัน) โดยเลี่ยงที่จะบอกว่า “แต่...ทำในจีน” บ้างก็ลงที่อยู่บนริษัท(เช่นในอังกฤษ, เยอรมัน, อเมริกา) แต่ไม่บอกว่า “MADE IN (ทำใน) ที่ไหน” หรือไม่ระบุอะไรทั้งสิ้น ก็คาดได้เลยว่าทำในจีนแน่

3.    เรื่องการผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของ สมอก. (สมาคมตรวจสอบมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ซึ่งรู้กันทั้งวงการว่า “มันช่างลึกลับซับซ้อน” แค่ไหน ตั้งโจทย์ที่ผู้นำเข้าปฏิบัติได้ยากมากจนเมืองนอกเอือมระอา ถึงกับเปรยว่า ถ้ามันยุ่งยากมากก็ไม่ต้องสั่งไปขายหรอก ฝากให้หน่วยงานป้อนกันและปราบปรามการทุจริตลงมาดูๆหน่อย เหมือนช่วยให้พวกขายของหนีภาษีค้าขายง่ายขึ้น จนพวกขายสินค้าไฮเอนด์อยากถอดใจเลิกกิจการกันเป็นแถว(สงสัยว่าเครื่องมืออัดของ สมอก. จะสู้ของผู้ผลิตสินค้าไฮเอนด์ได้หรือเปล่า!)

4.    ต้องรบกับสินค้าหนีภาษี, ซื้อทางเวบไซต์, ของหิ้วของนักเรียนนอก(หิ้วมาขายโดยเฉพาะ ไม่ได้มาใช้เองอย่างที่อ้าง) ว่ากันว่า กลุ่มนักหิ้วเส้นใหญ่มาก สต๊อกสินค้ากันเป็นโกดัง ของใหญ่ของเล็ก หนักแค่ไหนมีบริการหมด

5.    รบกับการชกใต้เข็มขัดทั้งของใหม่ของเก่าในเวบไซต์ขายของ(บ่อยๆที่ไม่มีของแต่ลงไว้เพื่อเผาสินค้านั้น) จริงๆผู้นำเข้าฟ้องร้องได้ ในแง่ทำลายระบบการค้าของผู้นำเข้า แต่ไม่มีใครกล้าฟ้อง ดีแต่โวยวาย ตีอกชกหัวตัวเองแต่ขี้ขลาด

6.    รบกับตัวแทนขายปลีกที่เอาสินค้าไปเป็นไก่รองบ่อนในร้าน โดยเฉพาะตัวแทนขายปลีก(DEALER) ที่มีสินค้าสั่งเข้ามาเอง(เอเย่นต์) หรือตัดบางรุ่นจากเอเย่นต์อื่นมาขายอยู่แล้ว(สินค้าแบบเดียวกัน) ดีลเลอร์จะไม่มีใจขายให้มากนัก นอกจากลูกค้าจะเอายี่ห้อของเราจริงๆ

       ที่แย่คือ ดีลเลอร์มักรับสินค้าแบบฝากขาย ขายได้ค่อยมาเก็บเงิน(ว่าไปตามเครดิตว่ากี่เดือน บางทีขายไปแล้วเป็นเดือนๆไม่แจ้งให้ทราบ พอเราไปพบก็จะบอกว่า เพิ่งขายไปหรือลูกค้าเอาไปลอง ยังไม่ตกลงใจซื้อ ต้องไปรอบ 2 หรือ 3 จึงจะยอมรับว่าขายไปแล้ว แล้วก็เพิ่งเริ่มนับเครดิต นับวันที่เราจับได้เป็นวันที่ 1 และลากเครดิตไปอีก 1-2 เดือนแล้วแต่ตกลงไว้

       เอเย่นต์นำเข้าบางคนก็ดีมาก สุภาพบุรุษเต็มที่ ไม่แอบขายแข่งตัวแทนดีลเลอร์ของตนเอง ลูกค้ามาลองที่เอเย่นต์(เพราะดีลเลอร์ไม่ได้สั่งรุ่นนี้ไปโชว์) ลองเสร็จถูกใจ เอเย่นต์ก็ต้องโยนไปเป็นออร์เดอร์ของดีลเลอร์ เอเย่นต์ต้องเก็บเงินจากลูกค้า(ตามราคาที่ดีลเลอร์นั้นปิดการขายได้) แล้วนำส่งให้ดีลเลอร์ จากนั้นก็รอจนกว่าจะถึงดีลล์(เช่น เครดิต 2 เดือน) แถมดีลเลอร์ให้เอเย่นต์ช่วยไปส่งของที่บ้านลูกค้าด้วย ตกลงดีลเลอร์ไม่ได้ทำอะไรเลย ก็ไม่รู้จะมีดีลเลอร์อย่างนั้นไว้ทำไม เอเย่นต์สู้ขายเองเสียดีกว่า

       แสบสองคือ ดีลเลอร์หั่นราคาขายชนทุนเช่น เครื่องเล่น CD ให้ขาย 22,000 บาทห้ามเสียราคา(ราคาเดียวกันทั้งประเทศ) ก็แอบขาย 21,000 บาท โดยให้คูปองมูลค่า 1,000 บาทแก่ลูกค้าไว้มาซื้อสินค้าอื่นที่ร้าน มันก็คือขาย 20,000 บาทนั่นแหละ เพื่อเอาเงินไปหมุนสั่งสินค้ายี่ห้อที่ตัวเป็นเอเย่นต์สั่งมาขายเอง ซึ่งได้กำไรมากกว่า(50-100%) โดยไม่สนใจว่าจะทำให้ระบบขายส่งของยี่ห้ออื่นพังหมด ดีลเลอร์ประเภทนี้มีเยอะ เกือบ 85% ของดีลเลอร์ในกรุงเทพฯแล้ว บางรายเป็นที่รังเกียจของดีลเลอร์อื่นๆขนาดว่า ถ้าคุณนำสินค้าเข้าดีลเลอร์เจ้านั้นๆ ดีลเลอร์อื่นๆในตลาดก็จะไม่ค้าขายกับคุณในยี่ห้อนั้น

       ดีลเลอร์บางราย แย่ยิ่งกว่านั้น(ที่ว่าแย่มากอยู่แล้ว) คือขายของจำนำทำเสียเอง หรือ ไม่ร่วมแกงค์ปล่อยเงินกู้ที่ติดประกาศไว้ตามเสาไฟ, กำแพง ให้พวกร้อนเงินโทรไปติดต่อ จากนั้นก็จะนัดแนะเจอกัน แล้วพาไปที่ร้านขายปลีก ส่วนมากเกือบทั้งหมดเป็นเครื่องเสียง, ภาพ, เครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วมห้รูดบัตรเครดิต พวกบริษัทเงินผ่อน ซื้อสินค้าจากร้านเช่น ต้องการเงินสด 10,000 ก็ให้ขอเครดิต 13,000 บาท จากนั้นก็ทำเป็นขายคืนให้ทางร้าน โดยร้านจ่ายเงินสดให้แค่ 10,000 ผู้ซื้อ(ร้อนเงิน)ก็ไปผ่อนกับบริษัทเงินผ่อนเอาเอง(วงเงิน 13,000 บาท ไม่รวมดอกเบี้ย แต่เดี๋ยวนี้ดอกมักฟรี 6-10 เดือน) เป็นอันว่า ร้านดีลเลอร์ได้ของถูกลงเช่น ราคาส่ง 11,500 บาท เท่ากับว่าร้านได้ราคาส่งแค่ 10,000 บาท ก็เอามาขายผู้ชื่อคนต่อไปได้ในราคาเช่น 11,800 บาท ขายได้ถูกกว่าดีลเลอร์อื่นๆที่ไม่รู้เกมส์ก็จะโวยวายว่า ขายได้อย่างไรกำไรแค่ 300 บาท ต่อไปดีลเลอร์อื่นในตลาดก็จะลงมาเล่นที่ 11,500-11,200 และหรือเซ็ง ไม่อยากขายยี่ห้อนี้ไปเลย นั่นคือ ระบบขายส่ง”พัง” ขณะเดียวกัน ผู้ซื้อคนที่สองก็จะตกที่นั่งรับซื้อของโจร เพราะสินค้านั้นยังถือว่าเจ้าของคือบริษัทขายเงินผ่อนนั้น ไม่ใช่ผู้ซื้อคนแรก เพราะยังผ่อนไม่หมด(แล้วคุณคิดว่า เขาจะมาโง่ผ่อนหรือมีปัญญาผ่อนหรือถ้าคนมันร้อนเงินหน้ามืดขนาดนั้น)

       นี่ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน ปัจจุบันเกมส์นี้ระบาดไปทั่วตลาดเครื่องไฟฟ้าแล้ว!(คาถากันผีคือ อย่าซื้อร้านที่ราคาถูกผิดปกติ หรือถูกกว่าร้านดีลเลอร์อื่นๆทั่วไป)

7.    ต้องรบกับพวกค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่มีทั่วบ้านทั่วเมือง ซึ่งพวกนี้เอาเปรียบอย่างถึงที่สุดไม่ว่า “ค่าวางหิ้ง”(ราคาตามตำแหน่งของหิ้งที่วาง ว่ากันเป็นหลักแสนบาทต่อรุ่น!), ค่าทำใบปลิว(ทั้งๆที่เราไม่ได้ขอร้องหรืออยากทำ), ค่าประกันกำไร(เราต้องรับประกันกำไรให้ทางห้าง เช่น เดือนละ 100,000 บาท ถ้าขายได้ไม่ถึง ก็ต้องควักกระเป๋าจ่าย “กำไร” ให้แก่ทางห้าง ถ้าขายดีๆเรื่อยๆก็ขึ้นราคาค่าเช่าพื้นที่ วันดีคืนดีก็ยกสินค้าของเรามาวางขายหั่นราคาเอาตามอำเภอใจเพื่อดึงคนเข้าห้าง(โฆษณาในใบปลิวด้วย) เช่น ปกติขายอยู่ 1,900 บาท ก็ขาย 990 บาท ที่แสบที่สุดคือ ขอกำไรจากเราเท่าเดิม เช่น ถ้าขาย 1900 บาท ได้ 600 บาท เอามาหั่นขาย 990 ก็ยังจะขอกำไร 600 บาทเหมือนเดิม! แถมด้วยค่าโฆษณาในใบปลิวอีก 3-4 หมื่น ต่างชาติเอาเปรียบ สูบเลือด(คนไทย)กันขนาดนี้ ก็ไม่เข้าใจว่า กรมการค้าภายใน รมต.พาณิชย์จะทำอะไรช่วยคนไทยได้บ้าง ขอจงรู้ไว้เถิดว่า ห้างค้าปลีกเหล่านี้ ที่คุยว่าขายถูกกว่า ขายถูกจริง มันคือการเชือดเนื้อเถือหนัง สูบเลือด พ่อค้าพี่น้องคนไทยด้วยกันเอง(จงอย่าอุดหนุนสินค้ายี่ห้อของทางห้างเอง(HOUSE BRAND) มันถูกกว่าเพราะมันไม่ต้องเสียค่าวางหิ้ง, หัวคิว, ใต้โต๊ะให้แก่ตัวมันเอง เหมือนยี่ห้ออื่นที่เข้ามาขอวางขาย)

       บอกได้เลยว่า ถ้าคิดจะสั่งเครื่องเสียงและภาพจากจีนมาขายในห้างเครือข่ายละก็ เตรียมเจ๊งได้ในระยะยาว ทำเท่าไรให้ห้างหมด ยิ่งขายกำไรยิ่งหดเตี้ยลง ต้องถมเงินสั่งมาขายมากขึ้นๆ เพื่อรักษากำไรรวมให้อยู่ได้ ท้ายสุดก็จะสะดุดและถูกถีบออกจากห้างไป ไปดูได้ ทุกยี่ห้อมีแต่ยอดขาย แต่กำไรมองไม่เห็น

8.    สืบเนื่องจากข้อ 7 ถ้าคิดจะเข้าห้าง เตรียมหั่นกำไรตัวเอง(ที่ต่ำเตี้ยอยุ่แล้ว)ไว้จ่ายใต้โต๊ะให้แผนกจัดซื้อของห้าง(ให้ไม่กลั่นแกล้ง, ให้มักสั่ง)ให้แก่เด็ก PC ที่อยุ่ในบูธ เชื่อไหม สินค้าบางรุ่น บริษัทได้กำไรเครื่องละ 450 บาท แต่ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้เด็กคนขาย(PC)300 บาท(บางยี่ห้อว่ากันที่ 500 บาท) ถ้าเป็นจอภาพ LCD ว่ากันที่หลักพันบาทขึ้นไป เป็นอันว่าบริษัทได้กำไรแค่ 150 บาท

              เดี๋ยวนี้พวก PC มีการเกาะกลุ่ม จับกลุ่มเป็นแกงค์ มีหัวโจกบงการจัดสรรผลประโยชน์ เป็นองค์กรซ้อนในองค์กรกันแล้ว เงินมา ผลประโยชน์ถึง ก็สั่งให้ลูกทีม(ซึ่งอาจมาจากหลายยี่ห้อคนละบูธ)ช่วยกันเชียร์ ยี่ห้อที่จ่ายหนัก(PC ได้ผลประโยชน์มากกว่าที่บริษัทต้นสังกัดของตัวเองให้)

              แล้วอย่างนี้ พวกเรายังจะกล้าซื้อเครื่องเสียง, ภาพ, ไฟฟ้า ในห้างภายใต้การเชียร์ของ PC อีกหรือ อย่าฟังใครทั้งนั้น จงทำการบ้านมาก่อนให้ดี หนักแน่น เป็นตัวของตัวเองมากๆ

              ไม่เข้าใจว่า ทำไมห้างไม่ลงมาขำระสะสางความสกปรกโสมมนี้

9.    เครดิตเน่าของร้านดีลเลอร์ 85% ของร้านดีลเลอร์เครื่องเสียงไฮเอนด์ มีปัญหาด้านเครดิต หนี้สินกับเอเย่นต์ เป็นดินพอกหางหมูแบบยั่งยืน ไม่ใช่แค่ 1-2 หมื่น แต่เป็นหลายๆแสนบาท หรือ นับสิบล้านบาทก้ยังมี เพราะฉะนั้นอย่าหลวมตัวไปสรวมตำแหน่ง เจ้าหนี้ตลอดกับร้านพวกนี้

10.  ลูกค้ารู้มาก รู้ไปหมด ราคาเมืองนอกเท่าไร ในเวบไซต์เท่าไร แล้วก็เอาราคานั้นมาหักคอเอเย่นต์ ไม่ได้คิดถึงหัวอกพ่อค้าที่เขามีสารพัดรายจ่าย ไหนจะค่าเช่าออฟฟิส, โชว์รูม, ค่าจ้างเด็ก, ค่าโฆษณา, ค่าสต๊อกอะไหล่ไว้บริการ, ค่าจ้างช่าง, ค่าบริการ(เช่นไปแก้ปัญหาให้ที่บ้าน, ติดตั้ง ฯลฯ) ลูกค้าชอบคิดเอาแต่ได้ แล้งน้ำใจ พอไปหิ้วจากนอกมาเวลาเสีย ก็หิ้วมาให้ซ่อม พอไม่ซ่อมให้ก็ด่าทางเวบโดยไม่บอกว่าตัวเองหิ้วมา หรือด่าไปที่เมืองนอก(และก็ถูกด่าสวนกลับมา แสบไหมน้อง) บางเอเย่นต์สงสารช่วยเปิดเครื่องดูให้ซ่อมให้ ก็โวยวายว่า คิดค่าเปิดเครื่องและฟันค่าซ่อม ตกลงลูกค้าถูกอย่างเดียว เอเย่นต์เลว, เอาเปรียบไปหมด

              ในยุค Social network ใครเข้าไปเล่น facebook, youtube หรืออะไรก็ตาม กรุณาอย่าฟังความข้างเดียว ต้องให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่เช่นนั้น เราจะไม่เหลือคนดีๆอยู่ในสังคม พวกเขาจะหมดกำลังใจ สิ้นหวัง และจำต้องหากินอย่างคนชั่วๆจึงจะอยู่ได้

11.  นักเล่นชวนกันไปหอบหิ้วจากเมืองนอกกันเอง เหตุผลก็คือ เอเย่นต์ที่ขายในเมืองไทยโก่งราคาสูงลิบเกินไป หรือบริการหลังการขายแย่มากๆ หรือฝากวีรกรรมหลอกพวกเขาไว้เยอะ(ก่อนซื้อ ยกสวรรค์มาเอ่ยอ้าง พอซื้อไปแล้ว นรกมีจริง) ซึ่งมักเกิดกับเอเย่นต์ที่ไม่ได้เป็นเอเย่นต์แต่งตั้งแต่ผู้เดียวจากเมืองนอกจริง เป็นแค่ร้านค้าปลีกข้ามชาติ สั่งของจากร้านค้าปลีกหรือทางเวบไซต์เอามาวางขายในร้าน เวลามีปัญหาจึงไม่มีแรงต่อรองกับเมืองนอกผู้ผลิต ใครคิดจะเข้าร้านประเภทนี้ที่มักมีสารพัดยี่ห้อดัง และเปลี่ยนสินค้าไปเรื่อยๆ ให้ลองเข้าเวบไซต์ของยี่ห้อนั้นๆ และดูว่า มีเอเย่นต์ในเมืองไทยหรือไม่ เป็นใครกันแน่ การรับประกันมีเงื่อนไขอย่างไร อย่าหลงกับคำว่า International Waranty เกือบทั้งหมด ผู้ซื้อต้องหิ้วกลับไปยังประเทศที่ตัวเองซื้อเพื่อจะได้รับสิทธิ์การรับประกันนั้นจริง

12.  ในแง่ของความเหลือมล้ำของระบบภาษานำเข้าของแต่ละประเทศ ทำให้เกิดความลักลั่นของราคาและขบวนการหนีภาษี

              ทางออกหนึ่งของผู้ผลิตสินค้าคือ ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ช่วยกันขาย ยอดขายทุกคนรวมกัน แล้วแบ่งผลกำไรอย่างเสมอภาคกัน(ตามความขยันในการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายของแต่ละผู้นำเข้าในแต่ละประเทศ) โดยสิ้นปี ไปประชุมที่บริษัทแม้สัมมนา, คัดสินค้า, วางออร์เดอร์สั่งและแบ่งผลกำไรกัน

              ด้วยวิธีนี้ จะไม่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกัน เหล่กัย ระหว่างตัวแทนนำเข้า(เอเย่นต์)ของแต่ละประเทศ ทุกประเทศช่วยกันเชียร์ขาย ลูกค้าจะข้ามไปซื้อประเทศไหนท้ายสุด ทุกคนก็ได้ผลกำไรร่วมกัน(center profit)

              มีผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงบางยี่ห้อน่าจะใช้วิธีนี้อยู่ ที่เมืองไทยอาจขายลดสุทธิ 70,000 บาท แต่ถ้าไปซื้อฮ่องกงอาจเหลือ 45,000 บาท ผู้ซื้อก็ตื่นเต้น ถูกกว่ากันเกือบครึ่ง ต่างก็ไปหิ้วเข้ามากัน โดยลืมมองว่า จ่ายเงิน 45,000 บาทเท่ากับซื้อยี่ห้ออื่นในเมืองไทย จะได้อะไรๆมากกว่า, ดีกว่าหรือเปล่า

              จะว่าไปแล้ว ผู้เขียนเห็นด้วยกันวิธี Center Profit หรือระบบสหกรณ์แบบนี้ เพราะจะตัดขบวนการหนีภาษีได้ กระจายผลประโญชน์ไปสู่ตัวใครตัวมัน แต่ประเทศก็จะแย่ จริงๆเลิกได้แล้วเรื่องภาษีนำเข้า ที่เอามาอุดหนุนพวกใช้น้ำมันให้หลงเริงร่า มัวเมากับภาพมายาราดน้ำมัน

15.  การที่เอเย่นต์ผุ้นำเข้าสร้างระบบสาขาเครือข่ายเอง ไม่หวังพึ่งดีลเลอร์หรือห้างใดๆในระยะยาวดีแน่ๆ การบริหารฉับไว ปรับเปลี่ยนกลยุทธได้ทันที ธุรกิจจะเสถียรไม่วอกแวก กำหนดทิศทางได้แม่นยำแน่นอน ได้ผลกำไรดีและแน่นอน

              ข้อเสียคือ  1. ต้องมีสินค้าหลากหลายมากพอ

                                     2. ต้องคัดสินค้าที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐานจริงๆ (ต้องมีแผนงานที่จะสร้างแบรนด์สินค้าเอง มี R&D เองในอนาคต)

                                      3. ต้องคิดจะพัฒนาเป็นเครือข่ายดีลเลอร์ที่มีคุณภาพโปร่งใสไม่เอาเปรียบเห็นแก่ได้ให้แก่เอเย่นต์อื่นๆได้ในอนาคต(แข่งกับห้าง)

                                      4.  ต้องมีทีมฝึกบุคลากรให้มีคุณภาพสูงสุดเหนือกว่าดีลเลอร์ทั่วไป และ PC ในห้าง ฝึกเยอะๆไม่ต้องกลัวห้างมาแย่งไป

                                      5.  ต้องรู้จักคัดสินค้า ตาถึง, หูถึง, มือถึง

                                      6.  ต้องมีเงินทุนหนาพอ

                                      7. ในอนาคตสามารถใช้เครือข่ายสาขาในการขยายช่องทางธุรกิจอื่นๆได้อีกมาก(รับสั่งของทางเวบไซต์, รับติดตั้งจูน, รับโหลดหนัง/เพลงเข้าสื่ออิเล็คโทรนิกส์อย่างถูกกฎหมาย, ขายแผ่น, หนังสือในวงการ, ของขบเคี้ยวและมุมกาแฟ, ติ่มซัม, ตั๋วคอนเสริต

                                 8.  รับปั้นสินค้าให้แก่ผู้นำเข้าอื่นๆ ทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้าหน้าใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาลกับโชว์รูมในห้างด้วย

                                       9.  เพิ่มหลักสูตรการสอน สัมนาวิชาการ

                                       10.  ห้องคาราโอเกะคุณภาพดี ภาพ/เสียง ได้มาตรฐานจริงๆ

                                       11.  ให้เช่าใช้ห้องบันทึกเสียงขนาดเล็กแบบตู้คาราโอเกะหลายๆห้อง เพื่อการบันทึกและออกอากาศกระจายเสียงทางอินเตอร์เน็ต(Podcasting) ห้องอาจมีหลากหลายขนาด ทั้งด้านภาพ และด้านเสียง

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459