000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > ปกิณกะ > (เครื่องเสียง) การดัดแปลง (Modified)...เหรียญสองด้าน
วันที่ : 08/03/2016
7,873 views

(เครื่องเสียง) การดัดแปลง (Modified)...เหรียญสองด้าน

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ทำไมต้องมีการดัดแปลงแก้ไขเครื่องเสียงที่เราซื้อมา  อย่าคิดว่าของอะไรก็แล้วแต่ที่เขาทำมาขายเรานั้น สมบูรณ์แบบดีแล้ว (ไม่อยากเชื่อว่ามีนักวิจารณ์เครื่องเสียงบางคนเชื่อเช่นนั้น)

          ความจริงก็คือว่า ในโลกนี้ไม่มีใครหรืออะไรที่สมบูรณ์แบบไม่มีที่ติ (Perfect) ย่อมต้องมีข้อผิดพลาด บกพร่องมาก น้อยต่างกันไป

          สาเหตุที่เราต้องมาแก้ไขดัดแปลงเครื่องเสียงที่ซื้อมา พอจำแนกได้ดังนี้

  1. ผู้ผลิตมองข้ามอะไรบางอย่าง บางจุด และคิดว่าไม่มีผล ด้วยความเชื่อเก่าๆและวางใจกับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ว่า จะไม่รบกวนกันเอง รวมทั้งการฟังที่ไม่ประณีต ละเอียด พิถีพิถัน การฟังไม่เป็น ไม่ระดับหูทอง หรือชุดฟังทดสอบของผู้ผลิต ผู้ออกแบบ ไม่มีความสมบูรณ์ ละเอียด หรือแม่นยำพอที่จะฟ้องปัญหาได้
  2. ผู้ผลิตไม่สนใจในส่วนปลีกย่อยอันมีผลต่อคุณภาพเสียง หากแต่เน้นไปที่ความสวยงาม ดูเรียบร้อยเป็นระเบียบ เข้าทำนอง สวยแต่รูปจูบไม่หอม
  3. การพิถีพิถันเก็บทุกเม็ดอย่างนั้น ในทางปฏิบัติที่การผลิตแบบใช้หุ่นยนต์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ย่อมทำไม่ได้ (การเขียนโปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำงาน สลับซับซ้อนและแพงลิบลิ่ว) ในกรณีของยี่ห้อที่ผลิตไม่เยอะ วางตัวในระดับกลาง (Mid End) ไม่ถึงกับไฮเอนด์ (Hi End) หรือสินค้าตลาด (Mass) อาจพิถีพิถันได้บางจุดแต่ไม่ทั้งหมด
  4. ผู้ผลิตพยายามทุกวิถีทางในการลดต้นทุนการผลิต วิธีหนึ่งที่จะลดต้นทุนได้อย่างมากก็คือ หาวิธีผลิตที่ง่ายที่สุด ซับซ้อนน้อยที่สุด ใช้อุปกรณ์น้อยที่สุด รวมถึงการลดคุณภาพอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ลดความแข็งแรงของโครงสร้างเครื่อง, ตู้ลำโพง ลดการตรวจเช็ค (QC)จนถึงการใช้วงจรที่ประหยัดอะไหล่ (เช่น ไม่มีแม้แต่ที่จะใช้กระ บอกฟิวส์ ใช้บัดกรีที่ตัวฟิวส์เลย) ประหยัดการซ่อมบำรุงในภายหลัง โดยใช้การป้องกันที่บั่นทอนคุณภาพเสียง การออกแบบที่สะดวกรวดเร็วในการตรวจซ่อมมากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพของงาน
  5. ผู้ผลิตวางหมากไว้ ให้มีอายุใช้งานจำกัด โดยจงใจลดคุณภาพบางจุด เพื่อให้เสียเมื่อใช้ไปสักพัก พูดง่ายๆว่า กะขายอะไหล่หลังหมดประกัน ซึ่งการทำเช่นนี้ มักลดทอนคุณภาพเสียงไปด้วย
  6. ผู้ผลิตทำมาแบบผิดๆ เป็นความผิดพลาดอย่างไม่น่าเป็นไปได้ อาจด้วยความไม่รู้จริง หรือจงใจ แม้แต่เครื่องเสียงไฮเอนด์หลายๆแสนบาทถึงเป็นล้านๆบาท ก็ทำมาผิดพลาด จึงไม่ควรใช้ราคาเป็นตัวสร้างความมั่นใจ

เราดัดแปลงไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร

          แน่นอนว่า การดัดแปลงแก้ไข ย่อมสร้างสิ่งที่แตกต่างออกไป จะดีขึ้น , เลวลง, หรือแค่ความสบายใจ (ทนทานขึ้น) พอจะแจกแจงเป้าหมายได้ดังนี้

  1. เพื่อคืนความถูกต้อง จากการที่เขาทำมาอย่างผิดพลาดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์
  2. เพื่อเพิ่มคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น เช่น การเปลี่ยนอะไหล่อุปกรณ์ที่เกรดสูงขึ้น เที่ยงตรงขึ้น บุคลิกเสียงเข้าท่าลงตัวขึ้น (หรือถูกใจเราเองมากขึ้น) อุปกรณ์ดีขึ้น ทำงานได้เสถียรมากขึ้น คงเส้นคงวา ไม่แปรผันไปตามไฟบ้าน หรือ ความร้อน ความชื้น ทำให้ทนขึ้น
  3. ดัดแปลงเพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งาน ให้คล่องตัวขึ้น หลากหลายขึ้น หรือลดตัดฟังก์ชั่นการใช้งานบางอย่าง อันจะทำให้เสียงดีขึ้น
  4. ดัดแปลงเพื่อให้ได้เสียงที่จำเพาะเจาะจง อาจเพื่อชดเชยในจุดอื่นๆของระบบ หรือเพื่อความชอบส่วนตัว ซึ่งอาจไม่ถูกต้องก็ได้

ขอบเขตของการดัดแปลงแก้ไข

          เราอาจดัดแปลงง่ายๆนิดๆหน่อยๆหรือจนถึงกับแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมเลยก็ได้ ถ้าจะแยกเป็นพิเศษคงได้ 2 แนวทาง

  1. ดัดแปลงเองง่ายๆ โดยแค่จัดแยกแบ่งสาย คลี่กระจายสาย ยกสายหนี ฟังทิศทางอุปกรณ์บางชิ้น (เช่น เส้นฟิวส์ ,สาย) เป็นการปฏิบัติแบบไม่ต้องเสียเงิน แต่รับรองว่า เห็นผล ใครก็ฟังออกว่าดีขึ้น (ตั้งแต่ 20 เปอร์เซ็นต์ถึง 100 เปอร์เซ็นต์)
  2. ดัดแปลงโดยเจาะลึก ถึงขั้นปรับแต่งแรงดันไฟใหม่ (ไบอัส) , เปลี่ยนอุปกรณ์ , บัดกรีสาย , ย้ายแผง , เจาะตัวถัง เสริมตัวถัง , เพิ่มอุปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งขั้นนี้ต้องปรึกษาผู้รู้ และมีฝีมือสักหน่อย ที่แน่ๆมีค่าใช้จ่ายแล้ว มากน้อยว่ากันไป จะทุ่มแค่ไหน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะมีผลชัดเจนเข้มข้นกว่ากรณีแรก

ข้อดีของการดัดแปลง

          ถ้าการดัดแปลงนั้นๆกระทำอย่างเป็นงานและถูกต้อง อีกทั้งผู้ดัดแปลงฟังเป็นด้วย

  1. ได้คุณภาพเกินกว่ามาตรฐานตั้งแต่ 20 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปจนถึง 100 เปอร์เซ็นต์ (จริงๆกว่านี้ก็เป็นไปได้) ยื่งถ้าเขาทำมาอย่างผิดพลาด การดัดแปลงให้ถูกต้อง จะดีขึ้นอย่างเทียบกันไม่ได้เลย
  2. อุปกรณ์นั้นๆทนทานขึ้น การดัดแปลงที่ถูกต้องทำให้ได้คุณภาพเสียงดีขึ้นทุกแง่มุม ทำให้เราใช้งานมันเบาลงจึงทนขึ้น เสถียรขึ้น แต่ถ้าการดัดแปลงแบบโลภมาก ตั้งใจบีบเค้นเอาพลังจากอุปกรณ์มากไป มันก็อาจจะเปราะได้ (แต่มีน้อย และควรเป็นข้อห้ามของการดัดแปลงอยู่แล้ว เช่น ดัดแปลงกำลังขับของภาคขยายให้มากขึ้น)
  3. ได้คุณภาพเสียงไฮเอนด์ ในราคาที่ถูกกว่ากันเป็นสิบๆเท่า เพราะวงการไฮเอนด์มีค่าการตลาดสูงมาก ทำให้ต้องตั้งราคาสูงลิบ ขณะที่มูลค่าเนื้อในไม่ได้สูงมากขนาดนั้น
  4. หลังดัดแปลงอย่างถูกต้องแล้ว มักพบว่าการติดตั้งบาลานซ์สุ้มเสียง หรือจัดวางลำโพงจะกระทำได้ง่ายขึ้น เข้าเป้าง่ายขึ้น ไม่รู้สึกเหมือนจับปูใส่กระด้ง แกว่งไม่รู้จบ
  5. การดัดแปลงให้อุปกรณ์ชิ้นนั้นๆ เข้ากับอุปกรณ์อื่นๆได้ง่ายขึ้น กลมกลืนขึ้น อีกทั้งการเลือกแผ่นฟังจะลดลง ฟังแผ่นไหน เพลงไหน ก็น่าฟัง ฟังได้หมด

ข้อเสียของการดัดแปลง

          แน่นอน ทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่า เรารู้จักใช้แค่ไหน หรือประมาณขอบเขตความสามารถของอุปกรณ์ได้ขนาดไหน

  1. ถ้าดัดแปลงไม่เป็นงาน รู้ไม่จริง อุปกรณ์อาจเสียหายได้
  2. ถ้าฟังไม่เก่ง ไม่เป็น อาจหลอกตัวเอง ได้สุ้มเสียงที่บิดเบี้ยว ผิดเพี้ยน
  3. ถ้าแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ตรงประเด็น อาจมั่วไปแก้ในจุดที่ไม่ตรงเป้า ทำให้เสียเงินทองบานปลายใหญ่โต เป็นเหยื่อนักรับดัดแปลงหรือขายชิ้นส่วนอุปกรณ์อย่างไม่รู้จบ
  4. บริษัทที่ขายจะระงับยกเลิกการรับประกัน บางคนกังวลกับประเด็นนี้มาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เครื่องเสียงที่ได้มาตรฐานมักถูกออกแบบมาให้ก้าวพ้นช่วงการรับประกันได้โดยไม่พังเสียก่อน ดังนั้น ถ้าคุณดัดแปลง (อย่างถูกต้อง) มันก็ไม่พังก่อนการสิ้นสุดรับประกัน เมื่อสิ้นสุดรับประกันเช่น 1 ปี สถานการบริการของอุปกรณ์ปกติกับอุปกรณ์ดัดแปลงก็ไม่แตกต่างกันแล้ว

          ในความเป็นจริง การดัดแปลงอย่างถูกต้อง เป็นงาน เรามักพบว่า กลับทำให้เครื่องเสียงนั้นๆทนทานยิ่งขึ้นด้วย ปัญหาของอุปกรณ์ดัดแปลงคือ เวลาเอาเข้าบริษัทซ่อม เราต้องย้ำว่า อย่าให้ช่างของบริษัทมาแก้ไขในส่วนดัดแปลงของเรา และเราควรสื่อสารกับช่างให้เข้าใจว่า เราไปดัดแปลงแก้ไขอะไรบ้าง เพื่ออะไร

  1. เมื่อดัดแปลงแล้ว มันอาจฟ้องชุดที่ใช้อยู่ว่า มีอะไรไม่ชอบมาพากล จึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่า ดัดแปลงแล้วแย่ลง

ข้อจำกัดของการดัดแปลง

          การดัดแปลงมีตั้งแต่ง่ายจนยาก บางครั้งแทบทำอะไรไม่ได้เลย ผู้ดัดแปลงควรมีเครื่องไม้เครื่องมือ อย่างครบถ้วน จะทำให้การดัดแปลงทำได้ง่ายขึ้น หลากหลายแง่มุมขึ้น ทั้งทางไฟฟ้าและทางกล

  1. ดัดแปลงผิดจุด แก้ปัญหาไม่ตรงเป้า
  2. กรณีแผงวงจรใช้อะไหล่แบบจิ๋ว (SMT) เราแทบทำอะไรไม่ได้เลย
  3. สิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่น ที่ทางแคบเกินไป แออัดเกินไป สายภายในสั้นเกินไป
  4. มีการหล่อผนึกอะไหล่ตายตัวอยู่ในโมดูล
  5. เข้าไม่ถึงจุดที่ต้องการแก้ไขดัดแปลง ต้องรื้อแทบทั้งเครื่อง เป็นเรื่องใหญ่ หรือเขาหล่อปิดผนึกมา
  6. หาอะไหล่มาเติม เพิ่ม เปลี่ยนได้ยาก เป็นอะไหล่ที่ผู้ผลิตสั่งทำโดยเฉพาะ
  7. ความเกะกะไม่สวยงามเหมือนเดิม
  8. งบประมาณจำกัด แต่จริงๆแล้วเราสามารถเริ่มการดัดแปลงได้ตั้งแต่ในส่วนเล็กๆน้อยๆ งบไม่มากก่อน ค่อยดัดแปลงใหญ่ทีหลัง แต่ต้องไม่วัดผลการดีขึ้นด้วยเงินที่เสียไป บางทีต้องจ่ายอีกเยอะเพื่อดีขึ้นนิดหน่อยอาจดูไม่คุ้ม แต่ในระยะยาวเมื่อฟังไปนานๆจะพบว่า มันดีขึ้นเยอะจนกลับไปฟังอย่างเดิมไม่ได้

เราพอจะดัดแปลงอะไรได้บ้าง

  • ทิศทางอุปกรณ์ (สาย , ฟิวส์ , ขาปลั๊กไฟ , ตัวต้านทาน , ตัวเก็บประจุ , ขดลวด , ตัวยูเสียบปลายสาย)
  • การแยกสาย (สายไฟ , สายเสียงซ้าย-ขวา , สายแพ , สายเข้า-ออกหม้อแปลง)
  • ยกสายหนี (จากการสัมผัสกับแท่น , หม้อแปลง , ขดลวดขาออกของแอมป์ , ครีบระบายความร้อน)
  • เลือกช่อง input ที่ให้มิติมีทรวดทรงดีที่สุด (Analog in , Digital in)
  • ถอดแผงวงจรที่ไม่ใช้ออกจากการเชื่อมต่อกับ main board (เช่น แผงภาครับวิทยุ , ภาคคาราโอเกะ , ภาค DAC , ภาคพัดลม , ภาค ipod in)
  • ตัดดวงไฟ LED ภายนอกเครื่อง ภายในเครื่อง บนแผง ถ้ามีหรือหาอะไรปิดเสีย (ต้องฟังดู ไม่ดีก็ไม่ทำ)
  • ปะปิดพวกรูรับสัญญาณดิจิตอล (เช่น R232 , รีโมท ฯลฯ)
  • ช็อต input ที่ไม่ใช้ ด้วยหัว RCA ที่ช็อตภายใน (ทิศทางสายช็อตด้วย) (อย่าเสียบที่ output)
  • เลือกชุดลำโพง A , B ชุดไหนเสียงเป็นตัวตนกว่า
  • เลือกช่องปรีออก กรณีมีหลายชุด
  • ปิดหรือตัดพวกมิเตอร์แสดงกำลังขับออก (เพาเวอร์แอมป์ , หน้าจอเครื่อง)
  • ตัดตัวยูปลายสายเสียบออก (สายลำโพง , สายไฟ) ใช้บัดกรีตรงเลย
  • ย้ายตำแหน่งดอกลำโพงเสียงแหลมมาชิดติดดอกกลางทุ้ม (เสียงจะอิ่ม มีเนื้อ มีทรวดทรง โฟกัส นิ่งขึ้น เบสดีขึ้น)
  • ย้ายแผงวงจรแบ่งเสียงของลำโพงออกมาไว้นอกตู้ ลดการถูกสั่นสะเทือน ยกตัวขดลวดสูงหนีจากแผงไม่ให้ไปกวนตัวอื่นๆ (หรือย้ายตัวขดลวดไปไว้ใต้แผง)
  • ตัดตัวป้องกันของลำโพงออก ไม่ว่าแบบกลมแบนสีน้ำตาล (polyswitch) หรือแบบกระเปราะแก้ว, รีเลย์ , ฟิวส์ เอาแผ่นบนล่างปิดแผงออก เอากล่องแผงวงจรออก
  • ตัดชุดปรับเสียงแหลมของลำโพงออก หลังจากเลือกค่าได้ลงตัวแล้ว
  • เอาสติ๊กเกอร์ที่ติดตูดลำโพงออก รวมทั้งพวกยางครอบ
  • หมุนหน้ากากที่ปิดดอกแหลม ถ้ามีดาวแฉกบังอยู่ หมุนองศาว่า หมุนอย่างไรได้เสียงกลาง, แหลม โฟกัสเป็นตัวแล้วทำซ้าย-ขวาให้เหมือนกัน
  • เช็คเฟสของทุกดอกลำโพง
  • ขันน็อตที่ดอกลำโพงให้แน่นและเท่ากันทั้งซ้าย-ขวา
  • เพิ่มความนิ่งของตัวเครื่องไม่ว่าเครื่องเล่น, ปรี , แอมป์ (เน้นที่แผงวงจรและหม้อแปลง)
  • เอาฝาเครื่องออก หรือนำมาเจาะรูให้พรุนมากที่สุด (นอกจากเครื่องเล่น CD , DVD เพราะฝุ่นจะเข้าไปจับหัวอ่าน)
  • ไขน็อตที่ยึดรูสัญญาณ input L,R ออก รวมทั้ง output L,R ต้องระวังเวลาดึง สายรู input ,output จะหักจากแผง ไขน็อตแล้วหยอดกาวแทน
  • เปลี่ยนฟิวส์ดีๆอย่าใช้บัดกรี ให้เพิ่มเต้าเสียบฟิวส์แทน
  • บัดกรีจุดสำคัญๆใหม่ด้วยตะกั่วอย่างดี
  • ย้ายสายไฟที่เลี้ยงพัดลมของเครื่อง ไปใช้ไฟภายนอกแทนถ้าทำได้
  • เพิ่มเกรดอุปกรณ์ หรือคัดค่าอุปกรณ์ซ้าย,ขวา ให้ตรงกัน (matched pair)
  • เปลี่ยนใช้รีโมทคุณภาพสูงแทนหรือใช้ถ่านรีโมทดีๆ (energizer ze ลิเธียม)
  • แหกสายแพ ถ้าหักงอให้ดัดจนโค้ง
  • ลองเอาฟิวส์สำรองออกจากขั้วเสียบสายไฟ IEC หลังเครื่อง
  • เพิ่มการระบายความร้อน (เพิ่มปริมาณครีบระบาย)
  • พยายามกดที่ปุ่มหน้าเครื่อง ไม่ใช้รีโมทเลย (เอาออกไปนอกห้อง) รวมทั้งพวกคอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ
  • ไม่ต่อพ่วงระบบควบคุม เช่น พวกคุมปิด-เปิดไฟในห้อง, ดึงจอขึ้นลง , เปิดโปรเจ็กเตอร์ , พ่วง PC
  • ปะแผ่นยางกันสะเทือน
  • ย้ายหม้อแปลงออกมาอยู่ภายนอก
  • เจาะโบ๋ใต้แผงวงจร เอาหน้ากากลำโพงออก
  • ฟังทดสอบทิศทางสายจั๊มป์พ่วงช่องลำโพงไบ-ไวร์ (กรณีเราใช้ single wine)
  • ห้ามใช้สายลำโพงไบ-ไวร์สำเร็จรูป

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459